JJNY : อิริค โอลิน ไรท์ และ อิริช ฟรอมม์ ว่าด้วยชนชั้นกลาง: ชนชั้นกลางไทยกับประชาธิปไตย

กระทู้คำถาม
สัพพัญญู วงศ์ชัย

    “...ชนชั้นกรรมาชีพไม่อาจเป็นพลังหนึ่งเดียวในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ แต่ยังมีพลังอื่น ๆ (นั้นก็คือ ชนชั้นกลาง ๆ ที่เขาเรียกว่าตำแหน่งที่ตั้งทางชนชั้นที่มีลักษณะขัดแย้งภายใน) ที่จะสามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…” (Erik Olin Wright, “What is middle about the middle class?,”

    - อ้างใน เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2560, น.39)


ในการศึกษาชนชั้น (Class) ในฐานความคิดแบบมาร์กซ์ (Marxism) นั้นเริ่มเดิมที มีการจำแนกชนชั้นออกเป็นสองชนชั้นที่ตัดขาดออกจากกันคือ ชนชั้นนายทุน (Capitalist) และชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat/Working Class) โดยการอธิบายของมาร์กซ์ (Karl Marx) ได้มองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นที่อยู่กึ่งกลางของชนชั้นล่างสุด และบนสุด อีกทั้งยังมองว่าในท้ายที่สุดชนชั้นที่อยู่กึ่งกลางจะค่อย ๆ ลดจำนวนลงและกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพ (Proletarianization)[1] จะมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ยังคงสภาพหรือพัฒนามาเป็นนายทุน งานของมาร์กซ์จึงพูดถึงชนชั้นกลางน้อยมาก แต่มีการนำความคิดของมาร์กซ์มาพัฒนาใหม่ ซึ่งได้แก่กลุ่มที่เรียกว่า มาร์กซ์ใหม่/นวมาร์กซ์ หรือนีโอมาร์กซิสต์ (Neo Marxism)

สำนักนีโอมาร์กซิสต์ ได้พัฒนาแนวคิดของมาร์กซ์และเริ่มให้ความสำคัญในการมองชนชั้นกลาง (Middle Class) มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยมองว่าชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ไม่ต้องใช้แรงงาน (Non-manual) โดยเป็นชนชั้นที่ยกระดับตัวเองมาจากชนชั้นกรรมาชีพต่าง ๆ เช่น หัวหน้างานกรรมกร อีกทั้งยังมีชนชั้นกลางระดับบน (Upper Middle Class) เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นชนชั้นกลางทั้งสิ้น โดยชนชั้นกลางเหล่านี้มีการเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ที่เกิดการขยับเคลื่อนตัวของชนชั้นทางสังคม (Social Mobility) ชนชั้นกลางเหล่านี้มีรายได้มากกว่า ชั่วโมงทำงานที่น้อยกว่า และสวัสดิการที่ดีกว่าชนชั้นกรรมาชีพ แต่กระนั้นชนชั้นกลางเหล่านี้จะสามารถควบคุมการผลิตได้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตในระบบเศรษฐกิจอยู่ดี ซึ่งแตกต่างจากชนชั้นกระฎุมพี และกระฎุมพีน้อย ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเอง[2] ดังนั้นชนชั้นกลางในลักษณะนี้ จึงเป็นชนชั้นกลางใหม่ ที่พัฒนามาจากสายงานวิชาชีพต่าง ๆ และเข้ามามีบทบาทอย่างใกล้ชิดกับทั้งชนชั้นกรรมาชีพ และชนชั้นนายทุน

เมื่อเป็นเช่นนี้ชนชั้นกลางจึงมีลักษณะของการเป็นชนชั้นที่สามารถสมาคมเข้ากับทั้งชนชั้นนายทุน และชนชั้นกรรมาชีพ คือมีลักษณะที่เลื่อนไหล ไม่แน่นอน และเปราะบาง นิคอส ปูลองซาส (Nicos Poulantzas) ได้ให้ทรรศนะว่า ชนชั้นกลางนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งทางชนชั้นขึ้น ชนชั้นกลางก็จะลังเลว่าจะเข้าไปสนับสนุนชนชั้นกรรมาชีพ หรือชนชั้นนายทุน หรือในบางกรณีชนชั้นกลางก็เป็นชนชั้นที่ สามารถเข้าได้ทั้งสองฝ่าย ทั้งนายทุนและกรรมาชีพ[3] และอีกทรรศนะหนึ่งจากนักคิดสำนักนีโอมาร์กซิสต์ คือมองว่าชนชั้นกลางจะเข้าสนับสนุนชนชั้นใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพทางสังคม และการเมือง โดยมองว่าชนชั้นกลางในยุโรปมีความก้าวหน้า ชนชั้นกลางมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมทำกิจกรรมกับชนชั้นล่างมากกว่าชนชั้นสูง ต่างกับชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาที่มีความร่วมมือที่ไม่ชัดเจนระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง[4]

แต่การอธิบายชนชั้นนำที่กล่าวในข้างต้นนั้น ไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ทางการผลิต และการขูดรีดได้ (Exploitation Concept) ในการอธิบายชนชั้นกลางที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือแนวคิดเรื่องชนชั้นกลางของ อิริค โอลิน ไรท์ (Erik Olin Wright) โดย ไรท์ ได้ใช้แนวคิดเรื่องการขูดรีด และผสานเข้ากับแนวคิดเรื่องการครอบงำ (Domination) มาอธิบายชนชั้นกลาง โดยสร้างแนวคิดเรื่อง ตำแหน่งแห่งที่ของชนชั้นที่มีลักษณะขัดแย้งภายใน (Contradictory Class Location) โดยไรท์ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องชนชั้นกลาง ที่มุ่งวิเคราะห์เรื่องของผลประโยชน์ทางชนชั้น จิตสำนึก และการก่อตัวทางชนชั้น โดยเฉพาะในแง่ของผลประโยชน์ ที่มีลักษณะขัดแย้งในตัวเอง (Contradictory Interest) โดยข้อเสนอที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ไรท์มองชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพ คือเป็นผู้ขูดรีด (Exploiter) โดยเป็นผู้ควบคุมทรัพยากรในการผลิต รวมถึงควบคุมแรงงานด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ชนชั้นกลางเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นผู้ถือครองปัจจัยการผลิตแต่ขายแรงงานของตนเอง ให้กับนายทุนอีกทีหนึ่ง ชนชั้นกลางจึงมีลักษณะของการถูกขูดรีด (Exploited) ในเวลาเดียวกันด้วย[5]

ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ถูกขูดรีดโดยชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นชนชั้นผู้ถือครองปัจจัยการผลิต ชนชั้นกลางมีฐานะเป็นช่วงชั้นกลางระหว่าง ชนชั้นสูง กับชนชั้นล่าง ในฐานะของการเป็นพนักงานที่มีตำแหน่งสูงทั้งในภาคเอกชน และภาคราชการ ชนชั้นกลางเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากกว่าชนชั้นกรรมาชีพ แต่ไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มหน่วยเท่ากับชนชั้นนายทุน ชนชั้นกลางเหล่านี้คือชนชั้นที่ได้รับส่วนแบ่งจากการขูดรีดจากชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งในมุมมองของไรท์ ชนชั้นกลางมักจะมีแนวโน้มเข้าร่วมกับชนชั้นนายทุนมากกว่าชนชั้นกรรมาชีพ เนื่องจาก ชนชั้นนายทุนมียุทธวิธีในการครองอำนาจนำ (Hegemony) ได้มากกว่าชนชั้นกรรมาชีพ โดยดำเนินการให้ชนชั้นกลางเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากการขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพมากขึ้น

ในอีกแนวคิดหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันกับแนวคิดเรื่อง ชนชั้นที่มีความขัดแย้งในตัวเอง คือแนวคิดเรื่อง บุคลิกเชิงอำนาจ (Authoritarian Personality) ของ อิริช ฟรอมม์ (Erich Fromm) โดยพัฒนาแนวคิดดังกล่าวจาก แมกซ์ ฮอร์ไคเมอร์ (Max Horkheimer) ในงาน Authority and Family โดย ฟรอมม์ ใช้แนวคิดจิตวิเคราะห์ในการอธิบาย เกี่ยวกับบุคลิกเชิงอำนาจในแต่ละช่วงวัย และในแต่ละสถาบันทางสังคม[6] โดยฟรอมม์ อธิบายเกี่ยวกับบุคลิกเชิงอำนาจที่เกิดจากสถาบันครอบครัว ไปสู่สถาบันทางการศึกษา และไปจนถึงในสถานที่ทำงานในสังคมโดยทั่ว ฟรอมม์ อธิบายว่า อำนาจในครอบครัวนั้น พ่อ มักจะมีอำนาจมากที่สุด และใช้อำนาจนั้นกับแม่ และการใช้อำนาจเหล่านั้นก็ส่งทอดมาสู่ลูก เป็นไปในลักษณะเดียวกันภายในโรงเรียนคือ จากครูใหญ่ มาสู่ครู และส่งไปถึงนักเรียน และในที่ทำงานคือ จากเจ้านายระดับสูง ไปสู่เจ้านาย และลงไปสู่ลูกน้อง เป็นเช่นนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ ในทุกภาคส่วนของสังคม (เยอรมนี- ซึ่งเป็นสังคมที่ฟรอมม์ใช้ศึกษา) โดยสะท้อนผ่านโครงสร้างเดียวกัน โดย อำนาจสูงสุดคือ ฮิตเลอร์ ส่งมาสู่คนเยอร์มัน และส่งไปสู่คนยิว ซึ่งเป็นคนระดับล่างสุดในสังคมเยอรมัน

ลักษณะดังกล่าว ฟรอมม์ได้ใช้แนวคิดขยายความคิดของ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) คือความขัดแย้งกันของบุคลิกที่แสดงออกมาในสองลักษณะคือ กลายเป็นคนที่นิยมชมชอบการใช้ความรุนแรง และชอบที่จะถูกใช้ความรุนแรงในเวลาเดียวกัน ในภาษาจิตวิเคราะห์เรียกว่าเป็นลักษณะแบบ ซาโด-มาโซดิสติก (Sado-masochistic Character) คือเป็นคนที่สยบยกย่องให้กับอำนาจ แต่ในขณะเดียวกัน คนเหล่านั้นก็อยากมีอำนาจและอยากให้ผู้อื่นสยบแก่ตน มีลักษณะของความเป็นซาดิสม์ (Sadism) คือนิยมการใช้ความรุนแรงกดขี่แก่คนที่อ่อนแอกว่า แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีลักษณะของความเป็นมาโซคิสม์ (Masochism) คือรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยไร้กำลัง จำยอมต่ออำนาจภายนอก จึงต้องการลดทอดความรู้สึกเช่นนี้ ด้วยการใช้วิธิการแบบซาดิสม์ ในการกดขี่ผู้ที่อยู่ต่ำกว่า เป็นทั้งคนที่จำนนต่ออำนาจที่เหนือกว่า และก็พร้อมที่จะใช้อำนาจต่อคนที่ด้อยกว่าตน[7]

แนวคิดดังกล่าวของฟรอมม์ มีลักษณะคล้างคลึงกันกับแนวคิดของ ไรท์ ที่ได้กล่าวในข้างต้น แต่แนวคิดทั้งสองแตกต่างกันในแง่ของการใช้กรอบความคิดในการมอง ในขณะที่ไรท์ใช้แนวคิดเรื่องการขูดรีด และผลประโยชน์ทางชนชั้น ในทางเศรษฐกิจ และใช้อธิบายชนชั้นกลางอย่างชัดเจน ว่าเป็นชนชั้นที่มีลักษณะขัดแย้งกันในตัวเอง คือเป็นทั้งชนชั้นที่ถูกขูดรีดเอาเปรียบ แต่ในขณะเดียวกันก็ขูดรีดชนชั้นล่างไปด้วย แต่ในอีกทางหนึ่ง ฟรอมม์ใช้แนวคิดแบบจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ในการอธิบายบุคลิกลักษณะของคนในสังคมเยอรมัน ในช่วงเวลาของการขึ้นมาสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงชนชั้นกลางอย่างตรงไปตรงมา แต่ในที่นี่ผู้เขียนเล็งเห็นว่า แนวคิดของฟรอมม์ สามารถนำมาใช้อธิบายลักษณะของชนชั้นกลางซึ่งในบทความนี้จะเป็นการอธิบายชนชั้นกลางไทย (Thai Middle Class) โดยจะเป็นในมุมมองเชิงจิตวิทยา ประกอบกับแนวคิดเรื่องการครอบงำ และใช้คู่กับแนวคิดเรื่องการขูดรีด และผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจแบบไรท์ด้วย จะใช้ในการอธิบายเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ว่าด้วยเศรษฐกิจ และส่วนที่ว่าด้วยจิตวิเคราะห์ และความคิด

ในช่วงเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้รับบทเรียนอย่างใหญ่หลวงกับ ปฏิบัติการที่ทำโดยชนชั้นกลางในเมือง/ชนชั้นกลางบน ผ่านเวทีของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เด่นชัดที่สุดคือการเคลื่อนไหวชุมนุมกันของขบวนการ กปปส. หรือชื่อเต็มคือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ทำการเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเสนอให้มีการนำนายกคนนอกเข้ามาแทนที่ จนในท้ายที่สุดกลับได้การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 มาแทน และได้รัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน (พฤษภาคม 2561) โดยลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่งของการเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้น จะต้องสืบสาวไปตั้งแต่ก่อนการทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 ที่เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดใหญ่สองขบวนการด้วยกัน อันได้แก่ ขบวนการพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น และอีกฝ่ายคือขบวนการเสื้อแดง หรือ นปช. ที่เป็นฝ่ายออกมาสนับสนุนรัฐบาลในขณะนั้น ความขัดแย้งดังกล่าวดำเนินผ่านตัวแสดงหลักสำคัญคือชนชั้นกลางในเมือง และชนชั้นกลางในชนบท รวมไปถึงชนชั้นล่าง หรือที่เรียกว่าชนชั้นรากหญ้า

การก่อเกิดขึ้นของขบวนการทางการเมืองไทยโดยชนชั้นกลางนั้นเป็นสิ่งที่นักทฤษฎีทางการเมือง และทางสังคมศาสตร์ อธิบายไว้หลากหลายแง่มุม แต่ได้ข้อสรุปว่า ชนชั้นกลางเป็นตัวขับเคลื่อนทางการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่แปลกเลยว่า การเข้ามามีส่วนเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนชั้นกลางนั้นเริ่มก่อตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ภายหลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ.2535 และสืบเนื่องมาจนถึงขบวนการพันธมิตรฯ สะท้อนจากทั้งตัวของผู้นำ ดาราศิลปิน และชนชั้นกลางในเมือง โดยเฉพาะเมืองหลวงกรุงเทพฯ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์ทางการเมืองในแนวทางของตน การก่อเกิดขึ้นของชนชั้นกลางในเมืองนั้น มีท่าทีจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาอย่างไปอาจละทิ้งได้ คือ ชนชั้นกลางในชนบท ที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการกระจายถ่ายโอนทรัพยากรไปสู่ภมิภาคและท้องถิ่นต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาล ไทยรักไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ.2544-2549)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่