JJNY : ผาสุก พงษ์ไพจิตร : 'ทุนพันลึก' บทวิเคราะห์ประชารัฐผลพวงจากความสัมพันธ์ 'รัฐ-ทุน'

กระทู้คำถาม
ทัศมา ประทุมวัน : รายงาน

รายงานคำอภิปรายของ ผาสุก กับการวิเคราะห์ 'ทุนพันลึก' ว่าด้วยความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับนักธุรกิจที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ และความเหลื่อมล้ำในสังคม  ชี้ความสัมพันธ์รัฐธุรกิจที่เด่นชัดคือ ‘ประชารัฐ

ภายในห้องเรียนของศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ School Season 5 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา จัดบรรยายเรื่อง “ทุนพันลึก” โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์และนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับนักธุรกิจ เมื่อนายทุนใหญ่เข้ามามีบทบาททางการเมืองหรือมีบทบาทเกี่ยวกับนโยบายมากขึ้น จึงเกิดผลพวงที่มาจากสายสัมพันธ์นี้คือประชารัฐ ซึ่งบรรยายไว้ทั้งหมด 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

รัฐกับนักธุรกิจ

ประเด็นที่ 1 รัฐกับนักธุรกิจ ผาสุก กล่าวถึง สิ่งที่ผู้อำนวยการ TCIJ นิยาม “ทุนพันลึก” ว่ามาจากแนวคิดที่ว่าประเทศไทยมีความเป็นรัฐพันลึกที่พัวพันซับซ้อน ระหว่างเครือข่ายอำนาจและผลประโยชน์ต่างๆโดยเฉพาะหลังรัฐประหาร ทำให้ทุนใหญ่เข้ามามีบทบาทแม้แต่นโยบายชื่อว่า “ประชารัฐ” โดย ผาสุก ชี้ว่า ถ้าจับประเด็นสำคัญจากนิยามนี้คือเรื่องความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับนักธุรกิจ ผลพวงที่มีจากนโยบายอาจจะไม่ได้มีแค่ประชารัฐ อาจจะมีนัยยะอื่นๆนโยบายอื่นๆรวมทั้งเศรษฐกิจ การจัดสรรงบประมาณ การกระจายอำนาจ นโยบายเกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาสังคม สิทธิเสรีภาพของสื่อ นโยบายลดความเหลื่อมล้ำและรวมทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการด้วย

ความสัมพันธ์รัฐกับนักธุรกิจและผลพวงที่มีต่อนโยบาย ถือได้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สามารถพบเห็นได้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กรณีที่ความสัมพันธ์ของรัฐกับนักธุรกิจที่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เช่น ประเทศญี่ปุ่นนั้น รัฐกับธุรกิจได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมจนประสบความสำเร็จทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ ก้าวขึ้นเป็นสมาชิกของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD)  ได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะเป็นระบบประชาธิปไตย ไม่ค่อยมีการคอรัปชั่นที่รุนแรงประชาชนมีเสรีภาพ อีกความสำเร็จของญี่ปุ่น คือสามารถลดความเหลื่อมล้ำจนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ด้านกรณีความสัมพันธ์รัฐกับธุรกิจในรูปแบบที่ไม่น่าพอใจ ก็สามารถพบเห็นได้และอยู่ในระบอบประชาธิปไตยก็คือประเทศมาเลเซีย เป็นที่น่าสนใจคือ นาจิบ ราซัก ที่อยู่ไม่ได้ แต่ก็มีความพยายามต่างๆ ที่จะอยู่ให้ได้ เช่น เข้าไปแทรกแซงกระบวนการตุลาการและรวบรวมพรรคพวกแต่สุดท้ายก็แพ้การเลือกตั้งไป จะเห็นว่าความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นใหม่และมันมีทั้งที่เป็นผลดีและผลเสีย ประเทศไทยนั้นมีพัฒนาการที่แตกต่างจากทั้งของญี่ปุ่นและของมาเลเซีย ผลกระทบถึงนโยบายอนาคตของสังคมไทยก็จะแตกต่างเช่นกัน

ความสัมพันธ์รัฐ-ธุรกิจในการเมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่ระบอบทักษิณจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นที่ 2 ความสัมพันธ์รัฐธุรกิจในการเมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่ระบอบทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบัน ผาสุก อธิบายว่า ถ้าหากย้อนไปสมัยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในปี 2490-2500 ก่อนสมัยของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นสมัยซึ่งนักธุรกิจไทยยังไม่เข้มแข็งภาคเกษตรมีความสำคัญกว่าภาคอุตสาหกรรม ในระบบการปกครองข้าราชการเป็นใหญ่มีสหรัฐและธนาคารโลกคอยหนุนหลังด้านนโยบายด้านเศรษฐกิจ นักธุรกิจจึงเป็นรองมักจะอยู่ข้างหลังและถูกกำกับด้วยข้าราชการหรือนักการเมือง แทบจะไม่มีบทบาทที่จะเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายเขาจึงเรียกระบบนี้ว่ารัฐราชการวิสาหกิจ

หลังจากมีแผนเศรษฐกิจจนถึงสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ เริ่มมีการปรับเปลี่ยน มีอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นนักธุรกิจเริ่มเข้ามามีบทบาท แต่อำนาจการเมืองยังไม่อยู่ในภาวะรวมศูนย์กระจายเป็นหลายขั้วอำนาจ รัฐบาลที่เกิดขึ้นคือการรวมกลุ่มของนักการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคในลักษณะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าหากว่าเกิดการรัฐประหารขึ้นก็ไม่ได้มีการควบรวมอำนาจไปอยู่ที่คนๆ เดียว จึงเปิดช่องให้กลุ่มธุรกิจต่างๆ หาวิธีสร้างสายสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์มีทั้งระดับนายพลและรัฐมนตรี จึงเริ่มมีการแข่งขันและเรียกกันว่าระบบอุปถัมภ์ที่มีการแข่งขัน

นักธุรกิจสามารถเข้าถึงทรัพยากรบางอย่างที่ต้องการ เข้าถึงนโยบาย สัมปทาน สิทธิพิเศษจากระบบรัฐที่สามารถเพิ่มกำไรให้ธุรกิจได้ เช่น สามารถเช่าที่รัฐบาลหรือได้โครงการจากรัฐบาล ได้สัมปทานโครงการใหญ่ๆ นี่เป็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองไทยมาตั้งแต่ประมาณปี 2504 มาจนถึงสมัยคุณทักษิณเมื่อปี 2544 ในยุคนี้ก็เกิดระบอบพรรคพวกนิยมทักษิณ เกิดขึ้นในกรอบโครงของประชาธิปไตยที่แน่นหนาแต่เป็นประชาธิปไตยที่สังคมยังลองผิดลองถูกอยู่ ในบริบทที่ หลักการนิติรัฐและระบบกฎหมายที่จะกำกับการใช้อำนาจของผู้บริหารในระบบการปกครองระดับสูงยังไม่ลงหลักปักฐาน และในขณะเดียวกันในรัฐธรรมนูญ 2540 ได้ให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีสูงมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ

ระบอบพรรคพวกนิยมนั้นหมายถึงกลุ่มที่เป็นพรรคพวกของคุณทักษิณ มีทั้งธุรกิจครอบครัวและนักธุรกิจที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ มีลักษณะพิเศษ 2 ประการ
อย่างแรกคือพรรคไทยรักไทยทำตามนโยบายที่หาเสียงอย่างรวดเร็ว ผู้ได้รับประโยชน์ที่เป็นคนระดับล่างทั้งในเมืองและชนบท จึงสร้างความประทับใจส่งผลให้ระบบรัฐสภาประชาธิปไตยเป็นที่นิยมอย่างล้นหลาม
ประการที่สองของพรรคพวกนิยมระบอบทักษิณสู่การรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองอยู่ที่กลุ่มของทักษิณ ระบบความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ขาดความโปร่งใสขัดแย้งกับความยุติธรรม อีกนัยหนึ่งคือขัดกับหลักการของประชาธิปไตย แม้รัฐบาลชุดนี้จะส่งผลดีก็จริง แต่มันก็ยังมีจุดอ่อนอย่างที่ได้กล่าวมา ซึ่งจุดอ่อนนี้ก็ทำให้ระบบทักษิณอยู่ได้ไม่นานไม่ยั่งยืนและถูกทดแทนโดยรัฐประหารและประชารัฐ

มาถึงสมัย คสช. กลุ่มที่แต่งตั้งตัวเองเป็นรัฐบาลหลังรัฐประหารปี 2557 แทนที่จะทำลายระบอบพรรคพวกนิยมทักษิณ แต่สิ่งที่เกิดคือเป็นการปรับและทำให้เข้มแข็งขึ้น อีกนัยหนึ่งก็คือทำให้เป็นระบบยังมีความพยายามจะใช้กรอบกฎหมายมากำกับด้วย ในรูปของการเขียนรัฐธรรมนูญและรูปกฎหมายอื่นๆ ที่เอื้อกับกรอบประชารัฐ ประชารัฐมีพรรคพวกที่กว้างขวางจากหลากหลายกลุ่มมากขึ้น มีทั้งข้าราชการที่ประจำการและเกษียร ทั้งทหารที่ประจำการและพลเรือนรวมทั้งฝ่ายตุลาการ มีกองทัพ 4 เหล่าเป็นผู้ปกป้องต่อมามีการเชิญชวนนักธุรกิจใหญ่ระดับนำ ให้เข้ามาร่วมรวมในศูนย์กลางอำนาจ ในการกำหนดนโยบายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ความสัมพันธ์รัฐกับธุรกิจและผลพวงนโยบายที่เป็นรูปธรรมบางประการ

ประเด็นที่ 3 ความสัมพันธ์รัฐกับธุรกิจและผลพวงนโยบายที่เป็นรูปธรรมบางประการ ประเด็นนี้ ผาสุก พูดถึงประชารัฐ ที่มาของคำ, แนวคิดและการตีความ ได้มีโอกาสอ่านงานของ อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องประชารัฐในมติชนรายวันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดเมื่อเดือนกันยายน 2558 ในเวทีสานพลังประชารัฐบอกว่า ประชารัฐไม่ใช่เรื่องใหม่ มันต่อเนื่องกับธรรมาภิบาลใช้มาตั้งแต่แผน 8 ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้เขียนและเสนอแนวคิดประชารัฐอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยเปรียบเทียบว่า ประชานิยมเอาเงินไปแจกชาวบ้าน ประชารัฐเสริมสร้างความเข้มแข็งประชาชนฐานรากให้หายจน มีเกียรติพึ่งตนเองได้ ควบคุมนักการเมืองทำให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง

สำหรับคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าประชารัฐไม่ใช่แนวคิดใหม่ เป็นเรื่องการทำงานต้องทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ,เอกชนและประชาชน ต่อมา อ.พิชญ์ ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าประชารัฐเป็นวาทกรรมที่รองรับความชอบธรรมของการปกครองและการเมืองในยุค คสช.ใช้แนวคิดชาตินิยมและธรรมาภิบาล ฐานของประชารัฐก็คือกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO ส่วนหนึ่งและกลุ่มข้าราชการนักธุรกิจ และที่ว่าเป็นวาทกรรมนั้นก็เพราะว่าเรื่องจริงมันคือความขัดแย้งในระดับพื้นที่ เช่น การใช้ ม.44 หรือประชาชนไม่มีส่วนร่วมจึงทำให้รู้สึกว่าขาดสิทธิเสรีภาพต่างๆ

นักวิเคราะห์จากสื่อสำคัญท่านหนึ่งพูดไว้น่าสนใจว่า คุณสมคิดเวลาพูดอยู่ในสายสัมพันธ์ประชารัฐต่างๆ จะให้ความสำคัญกับคนจน,เกษตร,ผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นคือ นิเคอิ เข้าใจผิดแล้วก็เขียนออกมาว่าประเทศไทยย้อนกลับไปอยู่ในสมัยทักษิณ แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกๆแล้วจะพบว่ากลุ่มประชารัฐมีแผนแยกแตกต่าง มีการแก้ข้อผิดพลาดในอดีตที่ว่าประชานิยมต้นทุนสูงและมีความต้องการลบทุกอย่างของรัฐบาลทักษิณ อาจจะเพิ่มเติมว่า แนวคิดประชารัฐเป็นการต่อกรกับประชานิยมที่ต้องการลบความยึดแน่นในประชาธิปไตยจากชาวบ้าน แล้วสร้างฐานสนับสนุนขึ้นมาใหม่ที่เป็นมวลชนมายึดแน่นกับระบบการกุศลโดยรัฐ และมีบัตรคนจนแบบไม่ต้องเช็คว่าจนจริงไหม

ประชารัฐมีรูปธรรมอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือเรื่องคณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศ 12 ชุด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเชิญนักธุกิจใหญ่ให้มาร่วมในคณะทำงานระหว่างภาคราชการและภาคเอกชน ในคณะทำงานทั้ง 12 ชุด หัวหน้าจะเป็นการประกบคู่กันระหว่างเจ้าหน้าที่กระทรวงและ CEO ของกลุ่มบริษัทใหญ่ เช่น ประชารัฐสามัคคีทั่วประเทศเพื่อเศรษฐกิจฐานราก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจับคู่กับผู้อำนวยการใหญ่บริษัทไทยเบฟฯ จึงเกิดสถานการณ์ที่นักธุรกิจขนาดใหญ่สามารถทำงานใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจการเมืองสูงสุดในประเทศได้ ในกรอบโครงของคณะทำงานนี้

สำหรับรูปธรรมในเรื่องอื่นๆ เช่น การยกเลิกระบบข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ 70:30 ชาวไร่อ้อยและโรงงานโดยฝ่ายชาวไร่แทบจะไม่มีส่วนร่วม เรื่องนี้จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากและยังไม่มีสื่อลงไปทำอย่างลึกซึ้ง มีเพียงบทความของ อ.วีรพงษ์ รามากูร ในมติชนรายวัน ซึ่งผลพวงของประชารัฐที่ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน – ไทย โครงการนี้ก็มีการถกเถียงกันมากว่าคุ้มทุนหรือไม่แต่ก็ยังดำเนินการสร้างต่อ

การตั้งบริษัทประชารัฐ รัฐสามัคคีประเทศไทย จำกัดเป็น Holding company และก็ยังมีการจัดตั้งบริษัทลูกในอีก 77 จังหวัด บริษัทเหล่านี้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในท้องถิ่น ในการส่งเสริมอาชีพผ่านกลุ่มงานเกษตรแปรรูปและการท่องเที่ยว ตามนโยบายการดำเนินงานสานพลังประชารัฐ บริษัทใหญ่ๆ ที่เข้ามาร่วมทุนกับโครงการนี้ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี มีบริษัทชั้นนำบางแห่งที่พร้อมจะเข้าไปลงทุน 99.99% แล้วในกลุ่มอื่นๆ ก็ลงทุนระดับที่น้อยลงมา บริษัทประชารัฐส่วนใหญ่ทำในเรื่องการส่งเสริมเกษตร ส่งเสริมคนท้องถิ่นต่างๆ ให้มีกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ที่เชียงใหม่ประชารัฐพยายามส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไผ่แทนข้าวโพด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่