RCI ถูกกินกลางตลอดตัว โดย อีหล่าน้อย เว็บ Share2Trade

กระทู้ข่าว
http://www.share2trade.com/index.php?route=content/content&path=9&content_id=2955
    คนในตระกูล แสงศาสตรา ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทมหาชนจดทะเบียนที่กินส่วนแบ่งกระเบื้องปูพื้นในระดับตลาดล่างมากสุด เข้าซื้อหุ้นบริษัทที่เคยเป็นคู่แข่งและมีปัญหาทางการเงินอีกราย แล้วบอกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น น่าเชื่อในเหตุผลมากน้อยแค่ไหน เป็นปริศนาที่น่าใคร่ครวญว่า ทำไปเพื่ออะไร
     เป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัท ไดนาสตี้เซรามิค จำกัด (มหาชน) หรือ DCC นั้นมีส่วนแบ่งการตลาดในกระเบื้องปูพื้นที่เป็นตลาดล่างเหนียวแน่นมายาวนาน แม้จะไม่สามารถเจาะตลาดกรุงเทพและปริมณฑลได้มากนัก และที่สำคัญมีแฟรนไชส์ขายปลีกสินค้าของตนเองที่ทำให้มีจุดแข็งแกร่งทางการเงิน มีผลประกอบการทรากำไรจนสามารถจ่ายปันผลได้ทุกไตรมาสมาโดยตลอดหลายปีนี้
    ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริการของ DCC มาจากคนในตระกูลแสงศาสตรายาวนาน แต่เรื่องของวิศวกรรมการเงิน M&A นั้น ยังไม่เคยปรากฏ
    การเข้าซื้อหุ้นเพื่อลงทุนในบริษัทที่มีการบริหารการตลาดร่วมกันอย่างบริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ RCI จึงมีคำถามว่า อนาคตของ RCI น่าจะถูกควบรวมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร DCC
    คำถามนี้ ผู้บริหารDCC ยังไม่ยอมตอบ แต่ปล่อยให้เป็นปริศนาเสียอย่างนั้น
    วันที่ 14 มิถุนายน 2561 เกิดรายการซื้อขายหุ้นบิ๊กล็อตหุ้น RCI อยู่ 2 รายการ จำนวน 30 ล้านหุ้น มูลค่าซื้อขาย 63 ล้านบาท เทรดในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 2.10 บาท ต่ำกว่าราคาบนกระดานเทรดหลักที่ 2.54 บาท คิดเป็น 4.86% ของทุนชำระแล้วที่มี 616.84 ล้านหุ้น คำถามคือใครขาย และใครซื้อ
    คำถามดังกล่าว จะได้คำตอบช้ามากหากว่าจำนวนซื้อขายในบุคคลเดียวต่ำกว่า 5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด บังเอิญว่ามี"รายการเกี่ยวข้องกัน"เพราะฝ่ายผู้ซื้อนั้นนามสกุล แสงศาสตรา ที่ทำให้คนในตระกูลนี้ถือหุ้นรวมกันเกินกว่า 5% เมื่อรวมกับจำนวนที่เคยถือเดิม
    ความจำเป็นต้องรายงาน ทำให้นายมารุต แสงศาสตรา หนึ่งในกรรมการของ DCC และ RCI ออกมายอมรับว่า รายการบิ๊กล็อตหุ้น RCI ดังกล่าว เป็นการทำดีลซื้อของนายมนต์รัก แสงศาสตรา ซึ่งเป็นกรรมการของ DCC และเป็นกรรมการของ RCI ด้วย
    การเข้าซื้อหุ้นเพิ่มใน RCI ในฐานะส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับ DCC ทำให้นายมารุตเอาตัวรอดจากคำถามที่ว่า ความเป็นไปได้ที่ DCC และ RCI จะรวมตัวกันหรือไม่ ไม่ยากเย็นนัก "ก็ไม่แน่...ตอบได้อย่างไร...ตอนนี้เราก็มีการบริหารงานร่วมกันอยู่แล้ว"
    โดยข้อเท็จจริง ความจำเป็นที่ DCC จะควบรวมกับ RCI ไม่มีเอาเสียเลย เพราะการเป็นบริษัทที่มีการบริหารตลาดร่วมกัน แต่การบริหารอื่นๆ เป็นอิสระต่อกัน ทำให้ทั้ง RCI และ DCC ได้รับประโยชน์มากกว่าจะควบรวมกัน
    โดยพื้นฐาน RCI ผลกระเบื้องภายใต้แบรนด์ RCI ทำตลาดมาได้หลายทศวรรษ จนชื่อ RCI ติดตลาด ในฐานะแบรนด์สำหรับตลาดกลางและบน แต่มีปัญหาทางการเงินในระยะหลัง จากที่ลงทุนเพิ่มเพื่อซื้อเครื่องจักรจากประเทศอิตาลีสำหรับงานผลิตกระเบื้องแกรนิโต้โดยเฉพาะ มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ รายได้ลดลงต่อเนื่องและกำไรเริม่ติดลบมากขึ้นจากการแข่งขันที่รุนแรง จำต้องหาพันธมิตรมาช่วยกอบกู้สถานการณ์
    หลังจากผ่านการลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง โมเดลธุรกิจใหม่ได้เริ่มขึ้น
    อังคารที่ 13 มีนาคม 2560 RCI ได้ประกาศว่าจะร่วมมือให้ DCC ทำสัญญารับจ้างบริหารจัดการ เพื่อดำเนินการ ดูแลงาน ด้านการผลิต การตลาด และ บริหารธุรกิจ ในอัตราเดือนละ 1 ล้านบาท กำหนดอายุสัญญา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะแจ้งให้ทราบ
    ตามเงื่อนไข DCC ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนัง ได้รับจ้างบริหารจัดการให้ RCI โดยมีกรรมการและผู้บริหารของ DCC เข้าร่วมเป็นกรรมการใน RCI เพื่อให้สามารถบริหารจัดการงานได้ตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นโอกาสในการขยายตลาดกระเบื้องปูพื้นและบุผนังให้ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคทุกระดับ และครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ
    จุดเด่นของพลังผนึกทางการผลิตและการตลาดที่วาดเอาไว้คือ ที่ผ่านมา DCC ยังมีตลาดในกรุงเทพฯ ไม่มากนัก ในขณะที่ตลาดของ RCI ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและต่างประเทศ และเป็นการพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้มีโอกาสเสริมสร้างประสบการณ์ได้มากขึ้น อีกทั้งยังทำให้สาขาทั่วประเทศของ DCC มีสินค้าจำหน่ายหลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ยอดขายของทั้ง 3 บริษัทเพิ่มมากขึ้น
    ถ้ายึดตามเงื่อนไขดังกล่าว ข้อตกลงพันธมิตรทางการผลิตและากรตลาดระหว่าง RCI กับ DCC น่าจะหมดอายุลงไปแล้ว เพราะไม่ได้มีการแจ้งต่อสาธารณะว่ามีการต่ออายุเพิ่มเติม แต่การที่คนในตระกูลแสงศาสตรา ยังคงนั่งเป็นกรรมการ-และผู้บริหารใน RCI ต่อไป น่าจะส่งสัญญาณได้ว่าทั้งสองฝั่งพึงพอใจกับการเป็นพันธมิตรร่วมดังโมเดลนี้
    งบการเงินไตรมาสแรกของ RCI ที่กลับมาโดดเด่น มีรายได้โตก้าวกระโดด และกลับมามีกำไรสุทธิ  ประสบความสำเร็จสวยงามจากการร่วมมือกับ  DCC
    ส่วนงบการเงินของDCC แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า ได้รับระโยชน์จากพันธมิตรการผลิตและการตลาดร่วมนี้ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเสื่อมถอยลงน่ากังวล
    การซื้อหุ้นRCI เพิ่มของคนในตระกูลแสงศาสตรา จึงน่าจะเป็นการมองเห็นนอาคตที่สดใสมากขึ้นอดีตบริษัทที่ตนเองเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง
    ส่วนจะเป็นความมั่นใจ เพราะรู้และใช้ประโยชน์ข้อมูลวงใน ทำการซื้อขายหุ้นหรือไม่ เป็นคำถามที่ ก.ล.ต.มีหน้าที่ไปค้นหาว่าเข้าข่ายหรือไม่
    สำหรับนักลงทุนระดับแมงเม่า ก็รู้เพียงแค่ว่า 1) ราคาหุ้นที่นายมนต์รักซื้อไปนั้น ตอนนี้ ทำกำไรอื้อซ่าเรียบร้อยแล้ว 2) การรุกคืบของคนตระกูลแสงศาสตราใน RCI ที่ผ่านมานั้นเข้าข่าย "งูกินหาง" ดังท่อนที่ว่า "กินหัวหรือกินหาง?..กินกลางตลอดตัว"
         ผิดไปจากนี้ ถือว่า เป็นข้อมูลใหม่ที่ยังไม่เปิดเผย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่