เจาะหุ้น NFC ก่อนกลับมาเทรดใหม่ : โดย มิตร กัลยาณมิตร เว็บ Share2Trade

เจาะหุ้น NFC ก่อนกลับมาเทรดใหม่
http://www.share2trade.com/index.php?route=content/content&path=9&content_id=2908
มิตร กัลยาณมิตร

    หุ้นกลับมาเทรดใหม่ หรือ Resume Trade หลังหายไปนานอย่าง NFC หรือ บริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) ร่างเดิมของเขาก็คือ บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด ก่อตั้งเมื่อเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2525 ภายใต้โครงการปุ๋ยแห่งชาติของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการผลิตปุ๋ยเพื่อทดแทนการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ มีที่ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 50 ล้านบาท โดยใช้ชื่อการค้าคือ "ปุ๋ยแห่งชาติ"

    เริ่มจากนำเข้า ก่อนจะนำไปสู่การผลิตด้วยตัวเอง โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีการเพิ่มทุนเป็น 4,000 ล้านบาท และเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 26 สิงหาคม 2538 ช่วงนี้ก็เริ่มก่อสร้างโรงงาน กำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน 2540 ปรากฎว่า การก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาไม่สามารถส่งมอบงานได้ และยังเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาท ตรงนี้นี่เอง ที่เป็นเหตุให้บริษัทต้องเผชิญกับต้นทุนมหาศาล ผลการดำเนินงานเริ่มขาดทุน ซ้ำยังโดนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง กระทบไปทุกประเทศทั่วโลกตั้งแต่ปี 2541 ยิ่งทำให้บริษัทเจอกับปัญหาหนักมากขึ้นจนขาดสภาพคล่องจนกระทั่งต้นปี 2546 หลังงบปีออก ปรากฎว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์ กลายเป็นเหตุให้เข้าข่ายถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากตลาด จนทำต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางในปี 2546

    เคราะห์ซ้ำกรรมซัด หลังเข้าสู่กระบวนฟื้นฟูกิจการ ปี 2547 ก็ได้ผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามาประมาณ 10 ราย แต่ที่โดดเด่นนั่นคือ "ณัฐภพ รัตนสุวรรณ" และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "บริษัท ปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน)" เหมือนจะสำเร็จแล้ว แต่ในปี 2548 ก็เจอปัญหาใหม่ นั่นคือ เครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตเริ่มหมดสภาพ ผลผลิตที่ออกมาเริ่มแย่  ไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ เงินทุนใหม่ที่เข้ามาเริ่มไม่พอ จำต้องหยุดผลิตในปี 2549 และยังเจอปัญหาส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์อีกครั้ง จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกับศาลล้มละลายกลางกันอีกรอบ แม้จะมีปัญหาเจ้าหนี้บางรายไม่ยอม แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอม

    กระบวนตรงนี้นำไปสู่การปรับโครงสร้างทุน งานนี้ผู้ถือหุ้นเจ็บระนาว เพราะลดทุนจากพาร์ 1 บาท เหลือแค่ 0.16 บาท และชำระหนี้บางส่วนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนกับเจ้าหนี้ แม้จะคุยกันลำบาก แต่สุดท้ายศาลก็เป็นผู้ตัดสินว่าสามารถทำได้ และนำไปสู่การเพิ่มทุนอีกครั้งให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) จำนวน 2,125 ล้านหุ้น ในราคา 0.16 บาท รวมมูลค่า 340 ล้านบาท ให้แก่บริษัท อินเตอร์ สเปค โกลบอล จำกัด และนายพิทยากร เนาถาวร ซึ่งเงินจำนวนนี้ ได้ถูกนำไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน

    จากนั้นในปี 2559 ก็ได้เปลี่ยนโครงสร้างอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ ผ่านการออกหุ้นใหม่ให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) เพื่อซื้อกิจการของ บริษัท เคมีคัลส์ แอนด์ อโรเมติก (ประเทศไทย) เข้ามา ซึ่งเป็นธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าเคมีภัณฑ์ประเภทแอมโมเนีย และแอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ พร้อมทั้งรวบพาร์ใหม่ จาก 0.16 บาท มาเป็น 0.50 บาท จากจำนวนหุ้น 8,498.70 ล้านหุ้น เป็น 2,719.58 ล้านหุ้น และในปี 2560 ก็รวบพาร์อีกรอบ จาก 0.50 บาท มาเป็น 1.25 บาท ทำให้ปริมาณหุ้นจาก 2,719.58 ล้านหุ้น มาเป็น 1,087.83 ล้านหุ้น แล้วทำการลดทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 543.92 ล้านบาท จากของเดิม 1,359.79 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 815.87 ล้านบาท และลดมูลค่าหุ้น หรือลดพาร์ จาก 1.25 เหลือ 0.75 บาท เพื่อล้างขาดทุนสะสม ซึ่งกระบวนการตรงนี้ ไม่กระทบกับผู้ถือหุ้น เพราะปริมาณหุ้นยังเท่าเดิมคือ 1,087.83 ล้านหุ้น ทั้งหมดนี้ทำให้บริษัทสามารถกลับมาเทรดใหม่ภายใต้งบการเงินที่สดใส สะอาด พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "บริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ NFC

    มาถึงตรงนี้ ทำให้ร่างเดิมของ NFC ที่ผลิตปุ๋ย ขายปุ๋ย หายไป กลับกลายมาเป็นผู้ดำเนินธุรกิจในการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ประเภท แอมโมเนีย แอมโมเนียไฮดรอกไซด์ และกรดกำมะถัน และการให้บริหารคลังสินค้า บริหารด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้าเหลว การให้บริการท่าเทียบเรือในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งทั้งหมดนี้  "ณัฐภพ รัตนสุวรรณ" คือ ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอยู่ในธุรกิจมายาวนาน

    แต่เดี๋ยวก่อน ธุรกิจใหม่ของ NFC ธุรกิจหลักเป็น "เทรดดิ้ง" กินส่วนต่างมาร์จิ้นเท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุด นี่เป็นการทุ่มสุดตัวของ "ณัฐภพ" เพราะได้นำธุรกิจของตัวเองเข้ามาเสียบไว้ที่นี่ ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ แม้จะเป็นเทรดดิ้ง แต่ธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในนี้ ก็ไม่ได้น้อยหน้า เพราะอยู่ในพื้นที่ EEC

    ปัจจุบัน NFC จำหน่ายเคมีภัณฑ์ 3 ชนิด ได้แก่ แอมโมเนีย แอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ และกรดกำมะถัน มีฐานลูกค้าประมาณ 55 ราย กลุ่มลูกค้าแอมโมเนีย  ในปี 2560 มีรายได้ 574.57 ล้านบาท หรือ 58% ของการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ลูกค้า 42 ราย ประกอบด้วยกลุ่มลูกค้าประเภทผู้ค้ำส่ง (Trader) และกลุ่มลูกค้ำ ประเภทผู้ใช้ขั้นปลาย (End User) กลุ่มลูกค้า เช่น อุตสาหกรรมผงชูรส อุตสาหกรรมน้ำยางข้น อุตสาหกรรมความเย็น อุตสาหกรรมผลิตสารเคมี ฯ โดยมีลูกค้ารายใหญ่ คือ บจ.ไทย-เอ็มซี สัดส่วนสูงถึง 66.47%

    ส่วนรายได้จาก แอมโมเนียไฮดรอกไซด์ 22.69 ล้านบาท หรือ 2.29% ของรายได้จากเคมีภัณฑ์ มีลูกค้า 12 ราย คือมีทั้งลูกค้าค้าส่ง (Trader) และกลุ่มลูกค้าขั้นปลาย กลุ่มลูกค้าก็จะอยู่ในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ อุตสาหกรรมกำจัดมลพิษ อุตสาหกรรมยาง ชาวสวนยางพารา  ในกลุ่มนี้มีลูกค้ารายใหญ่ คือ บจ.เอเชี่ยนไซเอนติฟิค สัดส่วนสูงถึง 47.97%

    สุดท้ายคือ "กรดกำมะถัน" ทั้งสิ้น 393.41 ล้านบาท หรือ 39.71% ของรายได้เคมีภัณฑ์ มีลูกค้าค้าส่ง (Trader) 2 ราย คือ บริษัท ศักดิ์ศรีอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ไทยแลนด์ จำกัด

    นอกนั้นก็เป็นธุรกิจให้บริการ เป็นการให้บริการคลังสินค้า และการให้บริการโลจิสติกส์และคลังสินค้าเหลว มีการให้บริการท่าเทียบเรือ ให้แก่กลุ่มลูกค้าในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นสินค้ำประเภทเทกอง เช่น เหล็กรีดเย็นชนิดม้วน เหล็กรีดร้อนชนิดม้วน เหล็กโครงสร้าง ถ่านหิน ยิปซั่ม เป็นต้น ซึ่งบริษัทมีทีมงานที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการให้บริการธุรกิจเกี่ยวกับท่าเทียบเรือ

    เรื่องของคลังสินค้า ปัจจุบันคลังสินค้าในประเทศกว่า 95% เป็นแบบดั้งเดิม ที่เน้นให้เช่าพื้นที่คลังสินค้า และให้บริการระบบสาธารณูปโภค/สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น แต่ปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการบางส่วนได้เริ่มปรับรูปแบบคลังสินค้าแบบดั้งเดิมให้เป็นคลังสินค้าให้ทันสมัยมากขึ้น ที่มีการออกแบบอาคารที่เอื้อต่อระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจร และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลังสินค้า ทั้งหมดนี้จะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต เพราะจะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถผลิต หรือส่งสินค้าได้รวดเร็ว จะช่วยลดภาระต้นทุน ลดระยะทาง ลดเวลา และค้าใช้จ่ายในการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แม้วันนี้จะอยู่ในสถานะทรงตัว แต่การลงทุนของภาครัฐในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ตรงนี้จะทำให้การลงทุนมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นโอกาสของธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน

    จะเห็นว่าธุรกิจการให้บริการของ NFC ไม่ว่าจะเป็นด้านโลจิสติกส์ และคลังสินค้า ที่ว่าเป็นโอกาส เพราะอยู่ในทำเลที่ตั้ง มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

    ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ที่สำคัญของประเทศ รวมทั้ง NFC มีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ (Panamax) และมีพื้นที่หลังท่าเทียบเรือ พร้อมที่จะพัฒนาเพื่อสนับสนุน และเพิ่มศักยภาพการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าในอนาคตได้เป็นอย่างดี

    นี่เป็นภาพรวมๆ ของ NFC ก่อนจะกลับมาเทรดใหม่ จาก "ปุ๋ยแห่งชาติ" ได้พลิกตัวเองมาสู่ธุรกิจใหม่ ที่รอการพิสูจน์ว่าจะดีกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหน และสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนมากน้อยแค่ไหน คงตอบไม่ได้ นอกจากต้องติดตามกันต่อไป

    และที่สำคัญ "เกมหุ้น" ที่จะกลับมาเทรดใหม่ แค่รวบพาร์ ลดพาร์ เพิ่มทุน ถ้ากลับมาเทรดแล้ว เกมดี ก็จะเป็นอานิสงส์ของผู้ถือหุ้นเดิม แต่ถ้าถามรายใหม่ๆ จะเข้ามาสู่เกมด้วย ก็ต้องระวังให้ดี เพราะเห็นมีรายใหญ่สิงอยู่ในนี้ด้วยเช่นกัน แต่การกลับมาเทรดใหม่วันแรก ไม่มีซิลลิ่ง ฟลอร์ เสมือนหนึ่งเป็นเกมการพนันที่พร้อมจะฟาดฟันได้ทั้งสองมุม

    สองมุมที่ว่า เหมาะกับคนที่ชำนาญการเทรดแบบนี้เท่านั้น ส่วนรายอื่นๆ แนะนำให้นั่งดูเฉยๆ เพราะผลประกอบการของเขายังไม่นิ่ง ยังเหวี่ยงๆ อยู่ครับ
        ขอให้ทุกท่านโชคดี

        ผมให้ข้อมูล คุณตัดสินใจ
///////////////////////////////
ขอบคุณบทความจาก www.facebook.com/Share2Trade/
http://www.share2trade.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่