ทำไมในอดีตพม่าถึงย้ายเมืองหลวงจากหงสาวดีมาอยู่ที่อังวะครับ

พอดีมีโอกาสได้ดูละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว ซึ่งฝ่ายไทยจะเรียกทหารพม่าว่าพวกอังวะตลอด แต่ในตำนานสมเด็จพระนเรศวรเรียกว่าพวกหงสาเลยอยากรู้ว่า ทำไมพม่าถึงต้องย้ายเมืองหลวงครับ ขอบพระคุณสำหรับคำตอบล่วงหน้าครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
ก่อนอื่นลบภาพพม่าที่เป็นหนึ่งเดียวออกจากหัวไปเสียก่อน       ชนชาติพม่าดั้งเดิมนั้นไม่ได้รวมเป็นเอกภาพแต่แบ่งเป็นหัวเมืองและอาณาจักรย่อยๆหลายอาณาจักรเช่นแปร ตองอู อังวะซึ่งแต่ละอาณาจักรก็มีราชาของตน     และขนาบล้อมรอบไปด้วยอาณาจักรของชนชาติอื่นเช่นมอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ ยะไข่      ซึ่งต่อมาพระเจ้าตะเบงชะเวตีและพระเจ้าบุเรงนองจากตองอูมีความสามารถจัดการปราบอาณาจักรพม่าอื่นๆรวมไปถึงมอญและไทใหญ่ได้สร้างเป็นจักรวรรดิตองอู   จากนั้นพระเจ้าบุเรงนองก็ไปตั้งเมืองหลวงที่เมืองหลวงมอญเดิมคือหงสาวดี      ส่วนเมืองอื่นที่เคยเป็นอาณาจักรของชาวพม่าพระเจ้าบุเรงนองก็จัดให้บรรดาพี่น้องลูกหลานไปครอง

ต่อมาเมื่อพระนเรศวรพิชิตพระมหาอุปราชได้และยกทัพมาหมายจะพิชิตหงสาวดี      พระเจ้านันทบุเรงก็หมดกำลังใจจะสู้และถูกตองอูพาตัวไปก่อนที่จะสังหารทิ้ง      ทำให้จักรวรรดิตองอูล่มสลายลงแต่ละหัวเมืองก็แยกตัวเป็นอิสระ     ในจำนวนนั้นก็มีเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ตองอูคนหนึ่งที่ตั้งตัวอยู่ที่อังวะและปราบอาณาจักรพม่าอื่นๆได้ก่อตั้งเป็นราชวงศ์ตองอูยุคใหม่      อังวะก็มีสถานะเป็นเมืองหลวงอยู่นานจนในที่สุดก็ถูกพวกมอญทำลายราชวงศ์ตองอูสิ้นสุดลง

เมื่อราชวงศ์ตองอูสิ้นสุดลงก็มีคนพม่าชื่ออองไจยะรวบรวมผู้คนเพื่อต่อต้านมอญ     การก่อการได้ผลมากจนสามารถทำลายอาณาจักรมอญลงได้อย่างราบคาบ     อองไจยะจึงสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าอลองพญาก่อตั้งราชวงศ์คองบองและใช้อังวะเป็นเมืองหลวง     ซึ่งต่อมาถึงสมัยพระเจ้าปดุงก็ย้ายเมืองหลวงไปอมรปุระ    สมัยพระเจ้ามินดงก็ย้ายเมืองหลวงไปมัณฑะเลย์    พออังกฤษยึดพม่าเป็นอาณานิคมได้ก็ตั้งย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงแทน     ในที่สุดรัฐบาลทหารพม่าก็ย้ายเมืองหลวงมาที่เนปิดอว์ในปัจจุบัน
ความคิดเห็นที่ 9
เสริมจากคุณ zodiac28 คือ แต่โบราณมานั้นศูนย์กลางอำนาจการปกครองของชาวพม่าอยู่ที่เมืองอังวะและบริเวณพม่าตอนบน ส่วนบริเวณพม่าตอนล่างในปัจจุบันเป็นเป็นดินแดนของชาวมอญมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงหงสาวดี เป็นคนละอาณาจักรกันครับ

ก่อนที่พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองจะขึ้นมามีอำนาจ เจ้าฟ้าไทใหญ่ในรัฐฉานมีอิทธิพลมากจนรวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐ ขยายอำนาจลงมาพิชิตดินแดนพม่าตอนบนทั้งหมดรวมถึงกรุงอังวะไว้ในอำนาจได้ใน ค.ศ. ๒๐๗๐ ทำให้อาณาจักรอังวะโบราณล่มสลาย ไทใหญ่ปกครองดินแดนพม่าตอนบนยาวนานถึง ๓๐ ปี เมืองใหญ่น้อยที่เคยอยู่ใต้อำนาจของอังวะเช่น แปร และ ตองอู ต่างก็แยกตนเป็นอิสระ

ตองอูนั้นเป็นดินแดนหลักของชาวพม่าเป็นดิที่เป็นอิสระ (ส่วนเมืองแปรอยู่ข้างไทใหญ่) จึงเริ่มขยายอำนาจมากขึ้น ตองอูตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของพม่า มีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ มีเทือกเขาขนาบและถูกโอบด้วยสันดอนทราย และไม่ได้เป็นแหล่งชลประทานสำคัญของพม่าอย่างที่ราบลุ่มในลุ่มแม่น้ำอิรวดีทำให้แห้งแล้งยากต่อการเพาะปลูก ภาคเหนือของตองอูก็ตกอยู่ใต้อำนาจของไทใหญ่ ทางตะวันตกก็มีเมืองแปรที่เป็นพันธมิตรกับมอญในเวลานั้น ทางใต้ก็อยู่ในอำนาจมอญ ด้วยสภาวการณ์ดังกล่าวทำให้ตองอูถูกล้อมจากรัฐอื่นๆ โดยรอบ และไม่มีทางออกทางทะเล ตองอูจึงต้องขยับขยายอาณาเขตเพื่อความอยู่รอด

เวลานั้น รามัญเทศะหรือหัวเมืองมอญทางภาคใต้ของพม่ามีเมืองท่าติดทะเลจำนวนมากที่ดึงดูดชาวต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งก็นำอาวุธยุทโธปกรณ์และวิทยาการจากตะวันตกเข้ามามากตามไปด้วย มีพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์สะดวกต่อการเพาะปลูก ทำให้พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงตัดสินพระทัยขยายอำนาจลงใต้เพื่อครอบครองหัวเมืองมอญทั้งหมดไว้ในอำนาจ สันนิษฐานว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จะทรงประเมินแล้วว่าตองอูในเวลานั้นยังมีไม่ศักยภาพมากพอจะเอาชนะไทใหญ่ทางเหนือได้ จึงทรงขยายอำนาจลงไปรามัญเทศะเพื่อสะสมฐานกำลังให้เข้มแข็งก่อน หลังจากนั้นจึงทรงขยายอำนาจไปยังไทใหญ่ต่อไป

ด้วยเหตุนี้เมื่อพิชิตกรุงหงสาวดีของชาวมอญได้แล้ว พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงทรงย้ายศูนย์กลางการปกครองของพระองค์มาอยู่ที่หงสาวดีแทน สืบทอดมาจนถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนองที่ใช้หงสาวดีเป็นฐานกำลังขยายอำนาจจนสร้างจักรวรรดิจนยิ่งใหญ่ได้


ในสมัยพระเจ้านันทบุเรง อาณาจักรหงสาวดีอ่อนแอลง หัวเมืองประเทศราชใหญ่น้อยที่ต่างมีพระญาติวงศ์ปกครองในฐานะกษัตริย์ทั้ง แปร ตองอู เชียงใหม่ต่างก็แยกตนเป็นอิสระและทำสงครามชิงอำนาจกันเอง ในเวลานั้นพระเจ้าญองรัม (Nyaungyan Min) หรือมังรายนันทมิตร พระอนุชาต่างมารดาของพระเจ้านันทบุเรงขึ้นไปตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ที่กรุงอังวะและราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ให้พระนามว่า "สีหสูรมหาธรรมราชา" ทรงขยายอำนาจตีชิงดินแดนในพม่าตอนบนไว้ในอำนาจได้เป็นอิสระองค์หนึ่ง

ที่เมืองแปร โอรสพระเจ้านันทบุเรงก็แยกตนเป็นอิสระองค์หนึ่ง

ที่เมืองตองอู พระเจ้าตองอูซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้านันทบุเรงก็แยกตนเป็นอิสระ ภายหลังพระเจ้าตองอูร่วมมือกับยะไข่ลงไปตีหงสาวดีแตก แล้วพาพระเจ้านันทบุเรงขึ้นไปอยู่ที่เมืองตองอู ส่วนหงสาวดีถูกเผาทำลายทิ้งทั้งเมือง


ภายหลัง พระเจ้าอังวะมหาธรรมราชาโอรสของพระเจ้าญองรัมทรงมีอำนาจ ก็สามารถพิชิตดินแดนมอญพม่าที่แตกแยกกลับมาเป็นหนึ่งได้ทั้งหมด พระองค์จึงย้ายราชธานีกลับมาที่หงสาวดีโดยหวังจะให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรเช่นเดียวกับสมัยพระเจ้าบุเรงนอง แต่เนื่องจากหงสาวดีเสียหายมาก จึงทรงทำได้แค่สร้างตำหนักเล็กๆ พออาศัยเท่านั้น ซึ่งประทับอยู่จนสวรรคต


พระเจ้าสาลุนที่เป็นโอรสของพระเจ้ามหาธรรมราชาทรงมีนโยบายต่างจากพระบิดา พระองค์ทรงเห็นว่าชาวมอญมักก่อกบฏต่อพม่าและควบคุมได้ยากกว่าไทใหญ่ ดังที่มีตัวอย่างในอดีตว่าเมื่อกษัตริย์พม่าลงมาตั้งศูนย์กลางอำนาจอยู่ในดินแดนของชาวมอญก็มักจะถูกต่อต้านจากชาวมอญที่เป็นระชากรส่วนใหญ่อยู่เสมอ  นอกจากนี้แม่น้ำเมืองหงสาวดีก็ตื้นเขินกว่าในอดีตทำให้การทำการค้าทางทะเลไม่สะดวกเหมือนในอดีต พ่อค้าต่างประเทศคืออังกฤษและดัตช์ก็สนใจค้าขายกับอยุทธยามากกว่า ประกอบกับในอดีตมีภัยคุกคามจากชาติต่างประเทศที่เข้ามามีอิทธิพลในหัวเมืองมอญมากเกินไป ทำให้พระองค์ทรงย้ายราชธานีกลับไปที่อังวะ ด้วยทรงเห็นว่าแม้จะอยู่ในพม่าตอนบนก็ทรงสามารถคุมหัวเมืองตอนล่างได้ง่ายกว่าการควบคุมหัวเมืองพม่าตอนบนจากหัวเมืองมอญ

เหตุที่ย้ายราชธานีกลับไปอยู่ที่พม่าตอนบนนั้น มีการวิเคราะห์เหตุผลไว้หลายประการคือ

- อังวะเป็นฐานอำนาจเดิมของราชวงศ์ และเป็นถิ่นดั้งเดิมของอารยธรรมและวัฒนธรรมพม่า มีความพร้อมในด้านกำลังคน ทั้งชาวพม่าและไทใหญ่ ต่างจากหัวเมืองมอญที่ประชากรเบาบางและทรุดโทรมอย่างมากจากผลของสงครามในอดีต

- อังวะตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ สามารถควบคุมเขตชลประทานสำคัญของอาณาจักรหลายแห่ง

- อังวะอยู่ในจุดศูนย์กลางที่จะสามารถควบคุมหัวเมืองรัฐฉานและหัวเมืองมอญไว้ในอำนาจได้ โดยเฉพาะรัฐฉานซึ่งเป็นแหล่งอัญมณีสำคัญ และยังสามารถควบคุมเส้นทางการค้าข้ามภูมิภาคที่เชื่อมต่อการค้าทางบกกับตอยใต้ของจีน สู่การค้าทางทะเลที่อ่าวเบงกอล

ดูเผินๆ เหมือนว่าพระเจ้าสาลุนจะทรงแยกตัวโดดเดี่ยวจากการค้าต่างประเทศ แต่พระองค์ไม่ได้ละทิ้งผลประโยชน์ในส่วนนี้ พระองค์ทรงแต่งตั้งข้าหลวงจากส่วนกลางมาปกครองหัวเมืองมอญและเปิดเมืองท่าสิเรียมสำหรับการทำการค้ากับต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายเช่อมต่อกับการค้าทางบกที่กล่าวมาแล้ว ทำให้พม่ามีความรุ่งเรืองจากการค้าขายได้โดยไม่จำเป็นต้องลงมาอยู่ที่หัวเมืองมอญอีก

ด้วยเหตุนี้กษัตริย์พม่าหลังจากนั้นจึงตั้งราชธานีอยู่ที่อังวะมาจนถึงสิ้นราชวงศ์ตองอูครับ


เมื่อพระเจ้าอลองพญาขึ้นครองราชย์ พระองค์และกษัตริย์องค์ต่อๆ มาก็ยังคงตั้งราชธานีอยู่ที่พม่าตอนบนเหมือนในอดีต แต่มีการย้ายราชธานีหลายครั้ง อยู่ที่อังวะจริงๆ แค่ในช่วงสมัยพระเจ้ามังระถึงต้นรัชกาลพระเจ้าปดุง และก็มีย้ายกลับมาบ้างเป็นครั้งคราวครับ


ส่วนเรื่องที่ละครเรียกว่า อังวะ พิจารณาตามหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เขียนถึงช่วงสงครามเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ ส่วนใหญ่ก็ใช้คำว่า "พม่า" ตลอด แทบไม่ใช้คำว่า อังวะ เลยนอกจากการเรียกเมืองหรือเรียกกษัตริย์ว่า "พระเจ้าอังวะ" แต่ที่ละครไม่ใช้คำว่า "พม่า" สันนิษฐานว่าคงจงใจไม่ใช้เพราะเกรงกระทบความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านกระมังครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่