บทเรียนกับ SUPER ขอให้ทำจริง โดย มิตร กัลยาณมิตร เว็บ Share2Trade

ดราม่าเรื่อง SUPER ดูท่าจะจบยาก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ก็หันมาพึ่งผู้คุมกฎอย่าง "สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์" หรือ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย ให้เป็นแหล่งระดมทุน และแหล่งลงทุนที่มีประสิทธิภาพของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป

    ทราบกันหรือยัง "ก.ล.ต." มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินงาน นอกเหนือจากนโยบายที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มอบหมาย ยังมีหน้าที่กำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งรับผิดชอบการดำเนินงานประจำวันในเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติคำขอต่างๆ รวมไปถึงพิจารณาการกระทำที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และ พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ ซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมี "เลขาธิการ" เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
    ปัจจุบัน มีข้อสงสัยกับการทำงานของ สนง.ก.ล.ต. ในบางคดี แต่ก็เข้าใจคนทำงาน ว่าทุกอย่างไม่ง่ายอย่างที่คิด ทำให้เกิดข้อกังขากับการทำงาน โดยเฉพาะประเด็นการใช้ "ดุลพินิจ" ตรงนี้ถือว่าไม่เข้าตากรรมการ ซึ่งก็คือนักลงทุน เหมือนกับจะขัดหูขัดตายังไงไม่รู้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ชุดนี้ ถือว่าทำงานสอบผ่านในหลายๆ คดี แต่บางคดีก็ยังชวนให้นักลงทุนต้องสงสัยกันอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการใช้ "ดุลยพินิจ" เข้าใจว่า บางคดี มีข้อมูลบางอย่าง ที่พอน่าเชื่อถือ แต่หลักฐานไม่พอ เลยต้องใช้เข้ามาประกอบการตัดสินใจ

    กรณีของ SUPER จะมีข่าวออกมาตลอดเรื่องการเพิ่มทุนบ้าง ยื่นไฟลิ่ง IFF ไม่ได้บ้าง หรือถ้าไม่มีเรื่องอะไรเลย ก็ขุดเอาเรื่องการจ่ายไฟโครงการต่างๆ ของบริษัท ว่ามีปัญหา ล่าสุดนี้ "จอมทรัพย์ โลจายะ" ประธานคณะกรรมการ บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ก็เปิดโต๊ะแถลงโต้ทุกข่าวลือที่ถล่มราคาหุ้นให้ดิ่งฟลอร์เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
    โดยเฉพาะประเด็นการเพิ่มทุน ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันบริษัทยังมีเงินสดจากการดำเนินงานสูงถึง 5,200 ล้านบาท/ปี จำนวน 3,300 ล้านบาท แบ่งชำระหนี้สถาบันทางการเงิน ส่วนที่เหลืออีกราว 1,900 ล้านบาท ก็นำไปใช้ในการขยายงานใหม่ๆ
    ปัจจุบัน หลังทำจัดทำอันดับเครดิต ก็จะสามารถออกหุ้นกู้ได้ไม่เกิน 36,000 ล้านบาท หรือไม่เกิน 50% ของมูลค่าทั้งหมด โดยจะออกหุ้นกู้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐทั้งหมด และได้ทำประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไว้เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการโต้ข่าวลือทั้งหลายที่ถูกนำมาถล่มราคาหุ้นเวลาหุ้นตก
    ส่วนกระแสข่าวลือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ทำให้ราคาหุ้นร่วงฟลอร์นั้น ถ้าจะว่ากันในเชิงปัจจัยพื้นฐาน นอกจาก SUPER จะเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง แผนการดำเนินธุรกิจยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้แล้ว (COD) 740.06 เมกะวัตต์ (MW) และตั้งเป้าหมายภายในปี 61 จะมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 854 เมกะวัตต์ โดยในเดือน มิ.ย.นี้ โครงการโรงไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงทดแทนจากสิ่งปฏิกูลที่ไม่เป็นของเสียอันตราย สัญญาขายไฟฟ้า (PPA) 9 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดสระแก้ว จะเริ่มผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์
    ที่เวียดนาม ยังได้เข้าไปเซ็นสัญญาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดกำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 56,000 ล้านบาท บริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วน 51% กำลังจะเริ่มก่อสร้าง และยังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมด้วย ซึ่งน่าจะชัดเจนภายในปีนี้ ส่วน IFF หรือ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน  หลังจากทางสำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) เพื่อยกเว้นหลักเกณฑ์สำหรับการลงทุนในโครงการที่มูลค่าต่ำกว่า 500 ล้านบาท ก็น่าจะยื่นไฟลิ่งในช่วงปลายเดือน มิ.ย. หลังจากเกณฑ์ต่างออกมาชัดเจน และเข้าซื้อขายภายในปีนี้ ว่ากันหลายครั้ง ก็ย้ำกันอีกที ถือว่า พื้นฐานแน่นหนาชัดเจน

    ประเด็นที่น่ากลัว คือ "ประเดช กิตติอิสรานนท์" หนึ่งในผู้ถือหุ้นของ SUPER ที่ถูกนำไปโยงการขาย "ช็อตหุ้น" SUPER เป็นจำนวนมาก จนเป็นสาเหตุให้ราคาร่วงฟลอร์นั้นล่าสุดก็ได้ออกมา "ปฏิเสธ" และยังชี้แจงการขาย "บิ๊กล็อต" ว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้มาในช่วงปีที่แล้วเพื่อเข้าซื้อหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) แล้วมาถือ SUPER-W4 แทน เพราะยังมีความเชื่อมั่นต่อปัจจัยพื้นฐานของ SUPER ว่าเป็นบริษัทที่ดี มีอนาคตที่สดใส จะให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้นได้แน่นอน
    แล้วหุ้นลงได้อย่างไร ก็จะเป็นคำถามยอดฮิต พร้อมๆ กับกระแสตามมาว่า ขายแบบนี้ มีแต่รายใหญ่เท่านั้นที่มีหุ้นเทกระจาดจนร่วงฟลอร์ได้ เรื่องนี้ก็ต้องย้ำว่า ก่อนหน้ามีการช๊อตหุ้นเอาไว้เยอะพอสมควร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะมีกำลังมากถึงขนาดกดราคาได้ขนาดนี้ แต่เป็นการอาศัยช่วงตื่นตะหนก บวกกับข่าวลือเรื่องราคา 1.50 บาท ว่าจะมีการบิ๊กล็อตอีกครั้ง เลยทำให้เกิดอาการตกใจ หรือ อุปทานหมู่ จนเป็นที่มีของการ "ขายแบบบ้าระห่ำ" ร่วงติดฟลอร์ เพราะคนที่มีต้นทุนต่ำ ก็ต้องขายล็อกกำไร เป็นอาการของรายย่อย ที่กำลังหนีตาย
    เมื่อต้นเหตุมาจากข่าวในห้องไลน์ ถูกส่งต่อๆ ไป ราคาขึ้นไปทะลุเป้าหมาย ทำให้มีการขายนำ จนนำไปสู่การขายตาม และเกิดอาการ "อุปทานหมู่" จนพากันทิ้งแบบไม่สนใจอะไร ซึ่งเป็นความกลัวที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น โดยมีเบาะแสเดียวคือ "ประเดช" จะขายช่วงราคา 1.50 บาท แค่นั้น เป็นกระแสที่บังเอิญปลุกขึ้น และมีกระบวนการจงใจทำให้นักลงทุนรายย่อยมองเห็นว่า "มันคือความจริง" แค่นั้นเอง

    ประเด็นนี้ เป็นที่น่าติดตาม เพราะ "ประเดช กิตติอิสรานนท์" ถูกมองเป็นแพะ ในสายตาของนักลงทุน การออกจดหมายเรียกร้องให้ ก.ล.ต.พิสูจน์หาข้อเท็จจริง จึงเป็นเรื่องปกติ อย่างน้อย หวังให้ผู้กระทำดังกล่าว ได้ชดใช้ในความเสียงหายของนักลงทุนที่เกิดขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางการว่าจะเห็นอย่างไร เพราะครั้งนี้ถือว่า "ความผิดชัดเจน" และในช่วงที่เกิดเหตุ ลูกๆ ของเขาก็ยังเข้าไปซื้อเพิ่มเติม ในราคาที่สูงพอสมควร
    เกมนี้หากสำนักงาน ก.ล.ต.จะจัดการ ทำง่ายๆ แค่เช็คทรานเซ็กชั่น ซึ่งในแต่ละวันสามารถเช็คได้อยู่แล้ว ว่าการซื้อขายแบบนี้ "ใครนำ" ทีมไหน โบรคไหน แก๊งไหน เชื่อมโยงกันอย่างไร แม้จะลบไลน์ทิ้ง แต่ความผิดสำเร็จแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเรียกไลน์เก่ากลับมาได้ "เกมก็จบ" คนผิดได้รับการลงโทษ
    ฟังดูเหมือนง่าย แต่ก็สามารถทำได้ "แค่เร็วหน่อย" ไม่ใช่ปล่อยให้ยืดเยื้อไปเป็นปี จนหลักฐานหายนะครับ เพราะเทคโนโลยีมันเร็วมาก แค่เปลี่ยนเครื่อง ตั้งไลน์ใหม่ ประวัติเดิมก็ไม่มีแล้ว นี่แหละที่ว่า "ช้าไม่ได้"
    หวังว่า กรณีนี้ จะเป็นกรณีศึกษาอีกกรณีหนึ่ง เพราะยังมีอีกหลายตัว ที่มีพฤติกรรมไม่ได้แตกต่างกัน ขายกดราคาลงมาเหมือนกัน หวังพึ่งพาทางการจัดการ เพื่อให้หลาบจำกันบ้างก็ดีนะครับ
///////////////
ขอบคุณบทความจาก www.facebook.com/Share2Trade/
http://www.share2trade.com/index.php?route=content/content&path=9&content_id=2886

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่