[SR] [หนังโรงเรื่องที่ 230] Kids On The Slope : ช่วงชีวิตของวัยรุ่น บอกเล่าผ่านเพลงแจ๊ส by ตั๋วหนังมันแพง


[หนังโรงเรื่องที่ 230] Kids On The Slope : ช่วงชีวิตของวัยรุ่น บอกเล่าผ่านเพลงแจ๊ส

คะแนนความชอบ : A++ (จากสเกล D-A)

(Takahiro Miki, 2018)
by ตั๋วหนังมันแพง

*ไม่มีมีการสปอยล์เนื้อเรื่องสำคัญ
**มีการวิจารณ์ซับไตเติลที่ไม่เกี่ยวกับหนังในช่วงท้าย

เรื่องย่อ: เนื้อเรื่องย่อ: "นิชิมิ คาโอรุ" (Yuri Chinen) เด็กหนุ่มนิสัยช่างเก็บตัวเนื่องจากตนต้องย้ายบ้านไปๆมาๆ ตามที่ทำงานของพ่อตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ไม่กล้าเปิดใจหาคนอื่นมากนัก (เพราะกลัวใจจะเจ็บยามจาก) และงานอดิเรกที่เขาชอบและทำได้ดีมากก็คือ "การเล่นเปียโนคลาสสิค"

แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อเขาเข้าเรียนที่คิวชู และได้พบกับหนุ่มมือกลองมาดนักเลงหัวไม้ "คาวาบูจิ เซนทาโร่" (Taishi Nakagawa) และสาวน้อยลูกเจ้าของร้านแผ่นเสียง "มุคาเอะ ริตสึโกะ" (Nana Komatsu) ที่ได้ชักชวนให้คาโอรุเข้าสู่โลกของดนตรีแจ๊สที่ลึกล้ำเหลือคณา.
.
.


หนังเรื่องนี้สร้างจากการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังที่เคยสร้างปรากฏการณ์มาแล้วในชื่อว่า "Sakamichi no Apollon" หรือแปลไทยก็คือ "อะพอลโลแห่งเนินนั้น" ซึ่งอะพอลโลเองก็ขึ้นชื่อว่าเป็นเทพแห่งศิลปะและดนตรี หนังเรื่องนี้จึงมีแกนหลักของเรื่องที่ว่าด้วย "มิตรภาพ/ความรัก"

โดยมีพื้นหลังเป็น "ดนตรีแจ๊ส" ที่เป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์ที่อ่อนไหวและการถ่ายทอดความรู้สึก ดังนั้นหากคุณอินในเรื่องของดนตรี ก็ขอรับประกันว่ามันจะเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีอย่างแน่นอน
.
.

📖 การดำเนินเรื่อง 📖


setting ของหนังจะอยู่ในญี่ปุ่นยุค 1966 ซึ่งอยู่ในยุคที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังเยียวยาตัวเองหลักเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในวิถีชีวิตมากขึ้นสืบเนื่องมาจากการเข้ามาแทรกแซงและตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาตามเมืองชายฝั่งต่างๆ

ดังนั้น ธีมที่หนังถ่ายทอดออกมามันจึงมีกลิ่นอายของความคลาสสิคฟุ้งไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการจีบสาวด้วยโทรศัพท์หยอดเหรียญ ร้านขายแผ่นเสียงไวนิล รวมไปถึงสภาพบ้านเมืองต่างๆ ในยุคนั้นที่หนังถ่ายทอดออกมาได้ค่อนข้างดี ทำให้การคุมโทนได้ไม่ยาก

แกนหลักของเรื่องไม่มีอะไรซับซ้อน มันก็เป็นเรื่องราวมิตรภาพของเด็กหนุ่มสองคนกับเด็กสาวอีกหนึ่งคน ที่มีทั้งเรื่องสนุก เรื่องเศร้า ความรักที่ไม่สมหวัง และการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้างอันเป็นวิสัยปกติของวัยรุ่น ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนต้องเคยประสบกับเหตุการณ์พวกนี้หมดแหละ

ต้องมีสักหนที่เราทะเลาะกับเพื่อนด้วยเหตุผลโง่ๆ บางอย่าง แต่ด้วยทิฐิที่ค้ำคอก็ทำให้เราไม่ได้คุยกันอีกเลยจนถึงทุกวันนี้ หรือแม้กระทั่งความรู้สึกแอบรักแอบชอบคนที่อยู่ไกลเกินเอื้อมโดยมีความเจ็บช้ำเป็นรางวัลความพยายาม มันไม่ใช่เรื่องพิเศษหรือแปลกใหม่อะไร แต่มันกลับ "กระแทก" เราได้ตรงจุดด้วยความธรรมดาของมัน

สิ่งที่ผู้เขียนรักที่สุดสำหรับหนังเรื่องนี้คือวิธีการเล่าเรื่องในลักษณะที่ "ให้ภาพมันเล่าเรื่อง" (Show, don't tell) มากกว่าที่จะยัดเยียดข้อมูลหรือความซึ้งต่างๆ ผ่านบทบรรยายหรือบทพูดของตัวละคร คือถ้าว่ากันตามจริงแล้วหนังแทบไม่ได้จูงมือคนดูเลยแม้แต่น้อย เรื่องราวปูมหลังของตัวละครก็แทบไม่ได้พูดถึง (ยกเว้นเรื่องของเซ็นทาโร่)

แต่ถึงจะไม่ได้บอกอะไรเลย เราก็จะรู้ได้เองผ่านการแสดงออก สีหน้า แววตา รวมไปถึงอารมณ์ที่ตัวละครใส่เข้าไปขณะเล่นดนตรี เช่นอารมณ์นี้อาจจะกระโชกโฮกฮาก อารมณ์นี้อาจจะนุ่มนวลเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งมันเป็นความงดงามในการเล่าเรื่องแบบที่ผู้เขียนชอบมากๆ

หากจะยกตัวอย่างฉากที่ชอบที่สุดในเรื่อง ก็คงเป็นฉากที่ตัวเอกทั้งสองเล่นดนตรีคู่กัน (Duet) แบบไม่ได้เตี๊ยมกันมาก่อน แต่ทั้งสองต่างก็ประยุกต์ (Improvise) เข้าหาอีกฝ่ายชนิดที่ว่าไม่มีใครยอมใคร และในขณะที่เล่นๆ อยู่จู่ๆ มือกลองก็เกิดเร่งจังหวะขึ้นมาแบบไม่บอกกล่าว และอีกฝั่งหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนจังหวะเร่งตามให้ทัน

ซึ่งความดีเลิศของมันก็คือ "หนังไม่บอกเราเลย" ว่ามันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น มีเพียงอารมณ์และโทนของดนตรีเท่านั้นที่มาสะกิดให้เรารับรู้เรื่องพวกนี้ ซึ่งความ subtle ตรงนี้นี่แหละที่ทำให้หนังมันเวิร์กที่สุด

สิ่งที่คิดว่าหนังบกพร่องไปก็มาพร้อมกับข้อดีของมันนั่นแหละ นั่นก็คือในบางประเด็นหนังมันพูดไม่เคลียร์ อย่างเช่น สรุปว่าพ่อของพระเอกนี่ไปอยู่ไหนกันแน่ ไม่รู้ว่ายุ่งมาก? เสียชีวิต? หรือไปอยู่ต่างเมือง? ซึ่งเนื้อหาตรงนี้มันก็มีผลต่อความอินกับเนื้อเรื่องส่วนของพระเอกมากด้วย

หรือจะเป็นเนื้อเรื่องของตัวละครเสริมอย่าง "พี่จุน-คัตสึรากิ จุนอิจิ" (Dean Fujioka) ที่หนังปูให้เรารู้จักในฐานะนักศึกษานักเคลื่อนไหวทางการเมือง (Activist) แต่กลับไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์มากนัก เดี๋ยวไปเดี๋ยวมาโดยที่ไม่มีเรื่องราวรองรับ ซึ่งก็ถือว่าน่าเสียดาย
.
.

📖 ความบันเทิง 📖


นอกเหนือความเพลิดเพลินไปกับดนตรีแจ๊สเพราะๆ แล้ว หนังก็ยังสอบผ่านในแง่ของความเป็นคอเมดี้ (Comedy) ด้วย ด้วยการยิงมุกคลีนๆ มาใส่คนดูอย่างเราเป็นระยะๆ ซึ่งข้อดีของมันก็คือมันเป็นมุกตลกที่ค่อนข้างซื่อๆ ใสสะอาดที่สอดรับกับโทนของความเป็นวัยรุ่น และความโก๊ะในรูปแบบต่างๆ ของตัวเอกทั้งสามตัว ดังนั้นบรรยากาศการหัวเราะคิกคักกันทั้งโรงจึงเป็นภาพที่ไม่แปลกตาเท่าไรนัก

กระนั้นหนังก็ยังเน้นขายความดราม่าและความขัดแย้ง (Conflict) ของปมตัวละครมากกว่า ดังนั้นในแง่ของความตลกขบขันอาจไม่ใช่โจทย์หลักที่น่าติดตามดู ไม่ก็มุกบางมุกอาจจะดูเชยและล้าสมัยไปแล้ว ด้วยความที่มันเป็นบริบทของปี 1960s ดังนั้นให้คิดว่ามันเป็นส่วนเสริมเติมแต่งเล็กๆ น้อยๆ มากกว่า
.
.

📖 ตัวละคร 📖


ผู้เขียนคิดว่าสำหรับคนที่จะอินกับความสัมพันธ์ตัวละครของหนังเรื่องนี้ได้จะต้องอินกับความเป็นญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมด้วย เช่นเรื่องวัฒนธรรมการเรียกชื่อโดยมี "คำมารยาท" (Honorific) แบบสไตล์ญี่ปุ่น ที่มีคำว่า จัง ซัง ซามะ หรือแม้แต่สรรพนามแทนตัวอีกล้านแปด  

ไม่งั้นเราก็อาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไมนางเอกเรียกว่าพระเอกว่า "คุณคาโอรุ" (Kaoru-san) ที่มันให้ความรู้สึกห่างเหินเหลือเกิน ในขณะที่เรียก "เซ็นทาโร่" เฉยๆ เป็นต้น มันเป็นมู้ดของความสัมพันธ์ที่แฝงอยู่ในคำพูดธรรมดาๆ พวกนี้ ที่จะทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของตัวละครมากขึ้น

นานะ โคมัตสึผู้รับบท "ริตสึโกะ" คือตัวละครที่ดีและสำคัญที่สุดในเรื่องราววุ่นๆ ของวัยรุ่นสามคนนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสาวจิ้นระดับมาม่าซังเลยก็ว่าได้ เพราะบทบาทของเธอหากดูเผินๆ อาจจะไม่มีความสำคัญอะไร แต่ก็เป็นตัวละครนี้แหละที่คอยพยายามลงมือแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

และในทุกๆ การกระทำของเธอก็ไม่ได้มีแรงจูงใจที่เห็นแก่ตัวหรือบิดเบี้ยวด้วยความคิดฉันท์ชู้สาว ทุกอย่างที่เธอเลือกทำเธอทำเพื่อรักษา "มิตรภาพ" เล็กๆ ของเธอไว้ และความจริงใจนี้ก็คือกาวสมานใจที่เชื่อมเอาทุกอย่างในหนังเรื่องนี้เข้าไว้ด้วยกัน
.
.

สรุปแล้ว Kids On The Slope ก็คือหนึ่งในอีกประสบการณ์ที่สวยงามที่ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือถ่ายทอดที่ยอดเยี่ยม มันเป็นความพิเศษในความเรียบง่าย มันคือความรู้สึกอันซับซ้อนที่แฝงอยู่บนสถานการณ์ที่แสนจะตื้นเขิน ขอรับประกันได้เลยว่าถ้าได้ไปดูในโรงร่วมกับคนที่มีหัวอกเดียวกันจริงๆ ได้แบ่งปันความรู้สึกด้วยกัน มันจะเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมแน่นอน

ป.ล.ขอบพระคุณสำหรับตั๋วรอบสื่อจาก MONGKOL CINEMA ครับ
..
..

🔥 ตรงนี้เป็นส่วนพิเศษที่จะขอบ่นทีมซับไตเติล ไม่เกี่ยวกับหนัง 🔥


สิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับหนังเรื่องนี้ก็คือ "ซับไตเติล" ที่ถือว่า below-standard มากๆ โดยมีปัญหาหลักๆ คือนักแปลน่าจะไม่เข้าใจบริบทความเป็นญี่ปุ่นมากพอ และยังติดแปลมาจากคำแปลภาษาอังกฤษล้วนๆ คือมันเป็นหนังภาษาที่ 3 ที่เราฟังไม่ออกทุกคำอยู่แล้ว มันยิ่งส่งผลไปถึงโทนและการสื่อ
ความหมายของหนังที่มันบกพร่องมากๆ ผมจะขอเจาะเอาเรื่องที่แย่ๆ มาไว้เป็นข้อ ดังนี้

๑.ตั้งแต่ฉากเริ่มเรื่องเลย ครูแนะนำตัวพระเอกให้เพื่อนร่วมชั้นฟังว่า "พ่อหนุ่มคนนี้ชื่อ คาโอรุ นิชิมิ" ... ซึ่งถ้าใครเคยอ่านการ์ตูนมาบ้างก็คงจะรู้ดีว่ามันผิด ในสังคมญี่ปุ่นจริงๆ ไม่มีใครเขาเอาชื่อต้นมาอ่านก่อนนามสกุลกันหรอก ถ้าฝรั่งเขียนชื่อพระเอกว่า Kaoru Nishimi ก็แสดงว่าเราต้องอ่านจาก
หลังไปหน้าต่างหาก!

๒.การใส่สัญลักษณ์ "จุดสามจุด/..." (ellipsis) ได้พร่ำเพรื่อและเลอะเทอะมากๆ คือในวงการแปลจะรู้กันว่าการใช้ ellipsis มันมีเป้าหมายเพื่อบอกให้รู้ว่าตัวละครมันยังพูดไม่จบนะ มันยังมีประโยคตามหลังมาอีกนะ เช่น "ผม ... (เงียบไปสามวินาที) รักคุณ" เป็นต้น แต่ในหนังเรื่องนี้ พี่แกเล่นใส่มาแทบ
ทุกประโยคเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นประโยคจบในคำอยู่แล้ว ไม่มีพูดต่อแล้ว พอมันมีอีจุดพวกนี้มาพ่วงท้ายประโยคแล้วมันไม่มีคนพูดต่อ ทีนี้ก็พากันงงเลย ไม่รู้ว่าจะใส่มาทำไมจริงๆ

๓.wordchoice ที่เละเทะมาก เข้าใจว่าทีมแปลอยากเล่นสำเนียงชนบทของญี่ปุ่น มันเลยมีหางเสียงที่พ่วงคำว่า นิ เนาะ เนอะ เนะ มาเต็มไปหมด หรือจะเป็นคำว่า "เค้า" ที่เอามาใช้แทนคำว่า "เขา" ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ผิดอะไรหรอก แต่มันทำให้โทนหนังเพี้ยนได้เหมือนกัน ลองนึกสภาพตัวละครที่เป็น
นักเลงหัวไม้แต่แทนตัวเองว่า "เค้า" สิ ตลกไหมล่ะ

๔.ช่องไฟของซับไตเติลแย่มาก บางคำที่น่าจะเขียนติดกันในประโยคเดียว ดันมีช่องว่างเล็กๆ ให้เราต้องเว้นวรรคหยุดอ่านไปด้วย แต่อันนี้เข้าใจว่าน่าจะมีข้อจำกัดจาก format ของซับภาษาอังกฤษ ทำให้ต้องยืดขนาดซับภาษาไทยตามไปด้วย ส่งผลให้ช่องไฟมันเหมือนโดนเคาะ spacebar ตลอดเวลา ... แต่ถ้าไม่ใช่ก็แย่หน่อยล่ะ

#ตั๋วหนังมันแพง

ถูกใจรีวิวก็สามารถมาแสดงความคิดเห็นและกดไลค์ + แชร์ เพื่อสนับสนุนเพจได้ครับ: https://www.facebook.com/expensivemovie/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่