ขอเป็นคนดีของสังคม

" เห็นสนใจธรรมะ ทำไมเธอไม่บวชเป็นพระเสียเลยล่ะ " < หลวงพี่พูดกับผม
ผมนิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่งเพื่อทบทวนดูความต้องการของตัวเองก่อนจะพูดตอบหลวงพี่ไปว่า
  " ผมขอเป็นคนดีของสังคมได้หรือเปล่าครับ "
หลวงพี่นิ่งเงียบไปครู่หนึ่งเหมือนกันแต่แล้วท่านก็เปลี่ยนเรื่องคุยไปเสียเฉยๆ
แต่พอตกเย็นหลังจากจบภารกิจช่วยเหลืองานวัดแล้วท่านจึงได้พูดคุยกับผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อ
ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหลวงพี่ต้องใช้ความคิดอะไรมากมายกับคำพูดที่ผมพูดกับท่าน
หรือเพียงแค่นึกอยากจะพูดขึ้นมาเฉยๆ ถึงได้พูดต่อในเรื่องที่พูดกันค้างเอาไว้ดังกล่าว
  " เป็นแบบที่คุณว่ามันก็ดีเหมือนกันนั่นแหละ แบบนั้นมันก็ดีเหมือนกัน ทำเพื่อผู้อื่น"
หลวงพี่ไม่กล่าวอะไรเพื่อเป็นการขัดแย้งเลย นั่นทำให้ผมรู้สึกสบายใจนิดหน่อยเมื่อได้ฟัง
   ความจริงแล้วหลวงพี่เฝ้าวนถามผมอยู่แบบนั้นทุกวันตั้งแต่วันแรกที่มาถึงแล้ว
พอหลวงพี่ถามแบบนี้ทีไรผมก็รู้สึกตะกิดตะขวงใจทุกทีจากนั้นจึงพูดจาเฉไฉยเพื่อปฏิเสธไปต่างๆ
เช่น "เดี๋ยวขอลองศึกษาดูก่อนครับ" หรือ "ขอปฏิบัติไปเรื่อยๆก่อนครับ" อย่างนี้เป็นต้น
และบางทีผมก็อยากสละละทิ้งทางโลกเสียให้รู้แล้วรู้รอดไปเพราะหลวงพี่มาย้ำอยู่แบบนี้
มันทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่จริงใจกับการปฏิบัติธรรมะหรือเป็นพวกใจไม่แน่จริงนั่นเอง
ซึ่งความจริงแล้วลึกๆ ผมก็คิดว่าถ้าหากสำเร็จได้จริงๆ ผมอยู่ในที่แบบนี้ทางเลือกก็คงไม่ไปใหนเสียอยู่แล้ว
แต่ที่ผมพูดออกไปว่า "ผมขอเป็นคนดีของสังคมได้หรือเปล่าครับ " นั้น
ดูเหมือนว่าเป็นครั้งแรกที่ผมใช้ความคิดไตร่ตรองแล้วในขณะนั้นก่อนจะตัดสินใจพูดออกไป
ในการตอบเชิงกึ่งตอบกึ่งถามความเห็นจากท่านนั้น
  ผมอยู่ปฏิบัติธรรมได้เพียงสัปดาห์เดียวก็ลากลับทั้งที่ตั้งใจจะอยู่เป็นเพื่อนหลวงพี่ไปจนถึงออกพรรษา
อาจเป็นเพราะใจคอของผมยังไม่มั่นคงพอด้วยละมั้งเมื่อไม่สบายใจที่จะอยู่ปฏิบัติต่อ ผมจึงลากลับบ้าน
มาวันนี้ผมได้คิดถึงเรื่องที่ผมพูดไว้กับเหลวงพี่อีกครั้ง เพราะผมคิดว่าคำตอบนั้น
มันน่าจะเป็นทางเลือกและทางเดินของผมที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ต้นและสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
  และเมื่อผมได้ลองพิจรณาบทสวดมนต์สรรเสิญคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในหลายๆ บทแล้ว
ผมก็ได้เข้าใจว่าความจริงแล้วมุนีที่พระพุทธเจ้าของพวกเราเป็นนี้ความจริงก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม
หรือพิธีกรรมแต่อย่างใด
เนื่องจากผมพิจรณาเห็นความหมายของ "มุนี" อย่างนี้ว่า
คือผู้ที่สามารถเอาชนะใจตนเอง มีความเสียสละและละวางแล้ว มีน้ำใจอันกว้างขวางไม่เห็นแก่ตัว
จึงไม่มีเชื้อกิเลสหรือทุจริตอกุศลในจิตใจเลย
ผมพิจรณาเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นคนแบบนั้นมีจิตใจแบบนั้นจากบทสรรเสริญคุณของท่าน
และได้พิจรณาต่อไปอีกว่าความจริงแล้วเราทุกคนก็เป็นแบบนั้นได้เหมือนกัน
เพียงแค่เอาชนะใจตนเอง เสียสละ และไม่เห็นแก่ตัว กันได้เพียงเท่านั้น
และหากคนในสังคมของเราต่างก็มีความไม่เห็นแก่ตัวด้วยกัน
สังคมนั้นก็จะเต็มไปด้วยพระอรหันต์เป็นแน่

ข้อความข้างต้นเป็นการบอกเล่าเรื่องราวและความเข้าใจของอรชุนเองครับ
หากว่ามีข้อบกพร่องหรือผิดพลาดตรงจุดใดขอให้ผู้อ่านช่วยอดโทษตำหนิติเตียน
และช่วยให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่อรชุนด้วยครับ
ขอบคุณครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่