QQQ นิพพานที่เห็นจากการปฏิบัติจริง เทียบกับในตำรา QQQ

...เอากระทู้เดิมที่ตั้งไว้นานแล้ว มาตั้งซ้ำอีกที เพราะข้อความบางตอนไม่สมบูรณ์...
             .........................................................................

ความหมายของนิพพาน  ที่เราเห็นเป็นคำอธิบายต่างๆนานา แปลความหมายไปในรูปแบบต่างๆ เช่น  นิโรธ  = ดับ, วิราคะ  =  ไม่มีราคะ , มะทะนิมะทะโน  = สร่างเมา , อาละยะสะมุคฆาโต = ตัดอาลัย , ปิปะสะวินะโย = ทำลายบาป , วัฏฏูปัจเฉโท  =  หักวัฏฏะสงสาร ฯฯ หรือคำแปลในความหมายอื่นๆอีกมากมาย  ในคัมภีร์อรรถกถา  ฯลฯ...

ความหมายต่างๆของนิพพานที่ยกตัวอย่างมานั้น  ล้วนแต่เป็นความหมายเทียบเคียงของคุณสมบัติของนิพพานที่ส่งผลต่อสังขารรอบด้าน หลังจากนิพพานได้ถูกเห็นแจ้งด้วยปัญญาในองค์อริยมรรค(มรรคญาณ) แล้ว ... ความหมายต่างๆเหล่านั้น จึงไม่ใช่หมายถึงตัวนิพพานจริงๆ  .ตัวนิพพานจริงๆนั้น ไม่มีคำอธิบายใดๆในภาษามนุษย์ จะชี้ชัดตรงตัวพระนิพพานได้  เพราะถ้าอธิบายไปให้คนทั่วไปที่เป็นปุถุชนทั้งหลายฟัง เมื่อเขาฟังแล้วอาจจะกล่าวหาผู้อธิบายว่าเป็นคนบ้า ... (ทำนองเราจะเรียกตัวก้อนแร่ยูเรเนียม ว่า "ตัวทำลายมหาวินาศ" หรือ " ตัวก่อพลังมหาศาล " หรือ "ตัวก่อมะเร็ง" หรือ อื่นๆ แล้วแต่เราจะบัญญัติเรียกเอา ..แต่จริงๆ ก็คือ เป็นคำเรียกคุณสมบัติของก้อนแร่ยูเรเนียมนั่น แค่นั้น   ยังไม่ใช่หมายถึงตัวก้อนแร่จริงๆ)

นั่นคือ  ความหมายต่างๆของนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าหรือนักปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลาย  ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย พยายามอธิบายออกมานั้น  ล้วนแต่เป็นการอธิบายลงในภาษาของสมมุติบัญญัติ เพื่อให้คนฟังเข้าใจแบบคร่าวๆ หยาบๆ เทียบเคียง อ้อมๆ ในระดับจินตนาการเท่านั้น ...

นิพพานตัวจริง เป็นอะไรอย่างหนึ่งที่ คงที่ ดำรงสภาพนั้นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่เคยเปลี่ยน  เพียงแต่ว่าใครจะไปเห็น(ด้วยมรรคญาณ) ได้หรือไม่ แค่นั้นเอง  ถ้ายังไม่เห็น ก็เวียนว่ายตายเกิดไปในภพชาติต่างๆนับชาติไม่ถ้วน ในวัฏฏะสงสาร  ถ้าเห็นนิพพานเมื่อใด  การเวียนว่ายตายเกิดจะหดลงเหลือนิดเดียว และ/หรือ ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  ภพชาติจะหยุดลงทันที (การเห็นนิพพาน ภาษาตำราเรียกว่า จิตหน่วงเอานิพพานมาเป็นอารมณ์)

นิพพาน อยู่ตรงศูนย์กลางจิตของสัตว์ทั้งหลาย หรือของเราแต่ละคนนั่นเอง  แต่ถูกกิเลสปกคลุมไว้มิดชิด  จะเห็นนิพพานได้ ก็ต่อเมื่อฝึกบำเพ็ญอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้สมบูรณ์ แต่ละขั้นๆไป

นิพพานมีลักษณะแทบเหมือนจิตทุกๆอย่าง  ต่างกันนิดเดียวที่ จิตมีการเปลี่ยนแปลง เกิดๆดับๆ อย่างรวดเร็ว(กระพริบตาครั้งหนึ่งจิต ก็เกิดๆดับๆไปแล้ว ประมาณ ล้านล้านดวง)  แต่นิพพานจะนิ่ง คงที่ ไม่เกิดดับ ดำรงสภาพแบบนั้นมาตลอดกาลและต่อไปไม่สิ้นสุด   และนิพพานไม่อาจจะไปรู้อารมณ์ใดๆได้  แต่จิตจะสามารถรู้อารมณ์ต่างๆได้หมดสารพัดอย่าง......

..เมื่อใดที่เกิดมรรคจิตแล้วจึงจะเห็นนิพพานเมื่อนั้น  ตอนที่นิพพานปรากฏให้จิตเห็นนั้น  จะเห็นนิพพานตรงรอยต่อ หรือรอยแยกระหว่าง รูป กับ นาม  หรือระหว่างภวังจิตดวงที่ ๑๖   ต่อกับภวังคจิตดวงที่ ๑๗ ในมโนทวารวิถี ซึ่งเป็นภวังคจิตทั้ง ๒ ดวง ...จิตดวงที่ ๑๖ ยังคงเป็นนาม (จิตเป็นนามติดต่อมาจาก ดวงที่ ๑ ถึง ๑๖) แต่จิตดวงที่ ๑๗ นี้ จะกลายเป็นรูปขึ้นมา ๑ รูป  เปรียบเทียบคล้ายกับจุดอากาศใสๆ เกิดดับติดต่อซ้อนๆไป ๑๗ ครั้ง ก็จะกลายเป็นจุดน้ำแข็งใสขึ้นมา ๑ จุด ...ตรงรอยต่อระหว่างจิต ๒ ดวงนี้เอง จะเห็นนิพพานตรงนั้น ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับจิตดังที่บอกแล้ว  แต่ว่านิพพานไม่เกิดๆดับๆ คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง  และก่อนจะเห็นนิพพาน นิพพานจะสวมรอยเป็นเนื้อเดียวกับจิต  เหมือนคนสวมเสื้อผ้าที่มีหน้าตาเหมือนกับผู้สวมเปี๊ยบ (แต่นิพพานไม่ใช่ผสมกับจิต) แต่ในทางปฏิบัติ  มรรคญาณจะแยกลงระหว่าง จิตดวงที่ ๑๗(ที่เป็นรูป)ของวิถีที่กำลังดับลง และจิตดวงที่ ๑(ซึ่งเป็นนาม)  ของวิถีถัดไป  คือเมื่อจิตดวงที่ ๑๗ ที่เป็นรูปดับลง ก่อนที่จิตดวงที่ ๑ ที่เป็นนาม ของวิถีถัดไปจะเกิด  มรรคญาณจะแยกลงระหว่างจิต ๒ ดวงนี่เอง(ระหว่างรอยต่อของ ภังคขณะ ของจิตดวงที่ ๑๗ และ อุปาทขณะของจิตดวงที่ ๑) .. (หรือในอีกจังหวะหนึ่งสำหรับบางคน มรรคญาณอาจจะแยกลงระหว่างจิตดวงที่ ๑๖ กับ ดวงที่ ๑๗ หรือ ระหว่างรอยต่อของภังคขณะของจิตดวงที่ ๑๖ และ อุปาทขณะของจิตดวงที่ ๑๗)  ก็จะเห็นนิพพานปรากฏ  ซึ่งในภาษาตำราเรียกว่า มรรคจิตได้นิพพานเป็นอารมณ์.. เมื่อเห็นนิพพาน ก็จะเห็นได้เลยทันทีนั้นว่าจิตกับนิพพานแยกกันในที แม้จะสวมรอยอยู่ด้วยกันก็ตาม เหมือนลูกแก้วแข็งใสจมอยู่ในน้ำใส  ดูเหมือนจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ที่จริงไม่ใช่  มันแยกกันอยู่ในตัวมันเอง..(ตอนที่จะเห็นนิพพานนั้น  จะเห็นวิถีจิตชัดเจน ... คือ เห็นจิต เกิดๆดับๆ เป็นดวงๆชัดเจน อย่างน้อย  ๑ วิถี  เหมือนดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์พระอภิธรรม ..จะเห็นคล้ายๆ จิตเกิดๆดับๆ ติดต่อไปช้าๆ สะโลว์โมชั่น (แต่ที่จริงไวมากๆตามปกติของจิตมันนั่นแหละ)  แต่ที่เห็นคล้ายๆช้าๆ เพราะตอนนั้นปัญญาที่เป็นมรรคญาณ มีพลังคมกล้ามหาศาล ไวมากๆ สามารถเห็นและรู้เท่าทันหมดทุกๆอย่างในสังขารทั้งปวงที่เกิดกับจิตในตอนนั้น)
  
ตอนที่จิตเห็นนิพพานเมื่อเกิดมรรคจิตนั้น แม้จะเกิดเพียงขณะจิตเดียว  แป๊ปเดียว (อาจจะไวกว่าเวลา ๑ แพล๊งค์ไทม์)  จะเห็นสิ่งมหัศจรรย์มากมายในชั่วแว๊บเดียวของขณะจิตเดียวนั่นเองในมรรคจิตนั้น , ลักษณะการทำงานของปัญญาที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิในตอนนั้น และอาการอื่นๆของจิตอีก ๓๕ อาการ(เจตสิกอื่นๆอีก ๓๕ ตัว)ที่ทำงานร่วมใน ๑ ขณะของมรรคจิต นั้น เป็นไปอย่างอัศจรรย์มาก ... การถูกทำลายตัวลงของกิเลสที่เป็นอนุสัยกิเลส(เช่น สังโยชน์ ๓ ของโสดาปัตติมรรค) จะเป็นไปอย่างน่าอัศจรรย์ สุดๆๆๆ  อัศจรรย์ยิ่งกว่าสมาธิทุกๆระดับ ทั้งรูปฌาน และอรูปฌานทั้งหมด  ...อัศจรรย์ยิ่งกว่าการได้ปัญญาที่เป็นอภิญญาทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นพวก หูทิพย์ ตาทิพย์ แสดงฤทธิ์ ฯ หรืออภิญญาอื่นๆทั้งหมด ...

   (ถ้าจะเอาเหตุการณ์ที่เกิดในขณะเดียวของมรรคจิต  มาแจกแจงอธิบาย   อาจจะต้องใช้เนื้อที่อีกหลายหน้ากระดาษ ... เอาแค่นี้พอก่อนนะ ...ถ้าขืนอธิบายไป  ก็คงไม่เข้าใจอยู่ดี  เพราะไม่ได้เห็นด้วยตนเอง  เหมือนฟังมหาเศรษฐีเล่าถึงสมบัติต่างๆในคลังสมบัติของตน  คนจนๆ ฟังๆไปยังไงก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี...ดีไม่ดี  จะสงสัยในคำอธิบายว่าเป็นอย่างจริงหรือ แล้วมาด่ากลับผู้อธิบายซะอีก....)
.....................................................................
..อาการการเห็นการเกิดๆดับๆ ของจิต เป็นดวงๆ

......ตามหลักในตำรา  การจะฝึกจนเห็นจิตเกิดๆดับๆเป็นดวงๆได้  ต้องฝึกจนถึงวิปัสสนาญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณ หรือญาณที่สูงกว่านั้น   แต่ในการฝึกจนเจอของจริงนั้น จะเป็นไปตามธรรมชาติ  จะไม่มีการแยกว่าเป็นญาณอันดับไหน  เพราะจะแยกไม่ทัน  มันเป็นอัตโนมัติไปเองของมัน...

...การจะฝึกจนได้ถึงวิปัสสนาญาณระดับนั้น  ต้องฝึกจนจิตได้สมาธิที่ดีมากๆก่อน  คือได้อัปปนาสมาธิ(หรือที่เรียกว่าฌาน) จนชำนาญพอควร  สามารถบังคับกำหนดการเข้าหรือออกได้ตามใจต้องการ  สามารถบังคับให้คิดก็ได้  หรือหยุดคิดก็ได้ หรืออาจจะสามารถบังคับความรู้สึกเวทนาทางกายได้  เช่น บังคับให้รู้สึกเจ็บหรือไม่เจ็บ ก็ได้ หรือให้รู้สึกร้อน หรือ หนาว หรือไม่ร้อนไม่หนาว ก็ได้

...ถ้าฝึกจนได้สมาธิในระดับนั้นแล้ว  ต่อไปก็ฝึกพิจารณาแยกแยะทางด้านปัญญา  เริ่มฝึกแยกกาย พิจารณากายก่อน  จนชำนาญพอควรในระดับหนึ่ง  คือฝึกจนได้อุบายแยบคายมากมายเกิดมาจากการพิจารณากายนั้น  ถึงขนาดปัญญาไหลไม่หยุดทั้งวันทั้งคืน  วันๆคืนๆผ่านไป ได้อุบายแยบคายขึ้นมานับไม่ถ้วน  ทำความเพียรได้อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย  เช่น จะรู้สึกว่า  สามารถเดินจงกรมไปเรื่อยๆๆ ไม่ต้องหยุดพักก็ได้ กี่วันกี่คืนก็ได้  หรือจะอดอาหารไม่ต้องกินอะไรเลยไปนานกี่วันก็ได้ หรือ จะไม่ต้องหลับนอนพักผ่อนเลยไปตลอดกี่วันกี่คืนก็ได้  แต่จะยังคงรู้สึกสดชื่นมีพลังมากๆอยู่ตลอดเวลา

...เมื่อจิตมีพลังสมาธิในระดับนั้นแล้ว และฝึกพิจารณากายจนได้ละเอียดพอควรแล้ว  ต่อไปก็ค่อยๆพิจารณาจิต อาการปรุงแต่งของจิตที่เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

...วิธีพิจารณาคือ ฝึกจับตัวที่ง่ายที่สุดก่อน คือฝึกจับตัวนึก แล้วย้อนทวนลงไปหารากหรือหาจุดเริ่มต้นที่ตัวนึกนั้นเริ่มปรุงแต่งขึ้นมา  ....หมายถึงจับตอนที่มันยังเป็นตัวนึก แค่แว๊บแรกเท่านั้น อย่าให้มันทันปรุงแต่งเลยเถิดเป็นตัวคิด  เพราะปกติ ตัวนึก ตัวคิด จะปรุงแต่งมาเกือบพร้อมๆกัน  ไวมากๆ  ไวกว่าฟ้าแลบหลายแสนเท่า  ..ต้องฝึกจับให้ทัน แยกแยะให้ทัน..

...เมื่อตอนที่จิตนิ่งๆ แล้วตัวนึกมันเริ่มปรุงแว๊บออกมา ก็จับให้ทันแล้วกำหนดไล่ย้อนทวนกลับไป  ทำนองคล้ายๆเราอยู่บนผิวน้ำ  จับใบบัวไว้  แล้วเราก็ดำน้ำลงไปเพื่อให้ถึงรากบัวที่พื้นดินข้างใต้น้ำนั้น โดยการเอามือจับก้านบัวไล่ลงลึกลงไปเรื่อยๆๆ..(ใบบัวเปรียบเหมือนตัวนึก, ก้านบัวเปรียบเหมือนการปรุงแต่งของจิตแต่ละดวงที่ปรุงแต่งติดต่อซ้อนๆๆขึ้นมา)

...ถ้าเมื่อใด ได้จังหวะดีๆ  ก็จะได้เห็นจิตที่เกิดๆดับๆเป็นดวงๆ  น่าอัศจรรย์มากๆ  การเห็นครั้งแรก  อาจจะนับไม่ทัน เพียงแต่จะรู้สึกว่า  ดูคล้ายๆมันจะปรุงแต่งไปติดต่อกันสัก ๒๐ กว่าถึง ๓๐ ดวง  ทำนองนั้น  ลักษณะคล้ายๆฟองน้ำที่ผุดออกมาท่ออากาศใต้น้ำในจากตู้เลี้ยงปลา  หรือคล้ายๆ ถ้าเรามองไปบนท้องฟ้ามืด  อาจจะเห็นดวงไฟแว๊บๆๆ ที่แว๊บๆๆ ติดๆๆ ไปเรื่อยๆๆ..เป็นจังหวะๆ ของดวงไฟจากเครื่องบินบางลำที่กำลังบินอยู่ในระดับสูงขณะนั้น , การเห็นจิตเกิดๆดับๆนี้ จะคล้ายๆจุดใสๆของอากาศขนาดเล็กสุดๆเล็กยิ่งกว่าความเล็กใดๆทั้งหมดในเอกภพ  คงจะเล็กกว่าอนุภาคโฟตอนของแสงอีกไม่รู้กี่เท่า?..  แต่นั่นคือจุดของความรู้หรือตัวรู้   จุดที่คล้ายๆจุดใสๆนี้ เมื่อเกิดๆดับๆติดต่อไปประมาณ ๒๐ ครั้ง (ที่แท้คือ ๑๗ ครั้ง) มันจะกลายเป็นจุดแข็งๆขึ้นมา ๑ จุด คล้ายๆกับจุดของอากาศใสๆแข็งตัวเป็นจุดน้ำแข็งใสๆ ทำนองนั้น (ในตำราคือ กามวิถี ๑ วิถี...ซึ่งมี ๑๗ ขณะจิต..,จุดแข็งๆ ๑ จุดนี้ คือรูป ๑ รูป  และรูปอันนี้แหละคือรูปที่กล่าวไว้ในปฏิจจสมุปบาท อันเดียวกันนั่นแหละ)  และและถ้าเมื่อเกิดจุดแข็งๆนี้(รูป) รวมๆกัน นับไม่ถ้วน  นั่นแหละก็จะกลายมาเป็นความนึก ๑ ความนึก  ..ซึ่งจะเห็นว่า  ความนึก  ๑ ความนึกในใจเรานั้น ที่แท้จะเกิดจากการปรุงแต่งของตัวรู้ ซ้อนๆๆกันมานับไม่ถ้วน  ทำนองเดียวกับภาพบนจอทีวี  ๑ ภาพก็จะเกิดจากจุดพิ๊กเซลล์เรียงต่อกันนับไม่ถ้วน  ซึ่งจุดพิ๊กเซลล์แต่ละจุดนั้น กว่าจะมาเป็นจุดพิ๊กเซลล์ ๑ จุดบนจอ มันก็ผ่านการปรุงแต่งมาเยอะแยะเช่นกัน เริ่มมาจากจุดแรกที่ยิงออกมา

...ที่กล่าวมานั้น ยังไม่ถึงอริยมรรควิถี  ถ้าถึงอริยมรรควิถี การเห็นจิตเกิดๆดับๆ นั้นจะยิ่งละเอียด ชัดเจน นับได้เกือบทัน  จะเห็นว่า มันจะมีจำนวนประมาณเกือบ ๒๐ (ซึ่งแท้จริงคือ ๑๗ ขณะนั่นแหละ)
...ถ้าเห็นจิตเกิดๆดับๆ ในระดับอริยมรรควิถี  รายละเอียดจะมากมายอีกแบบ  ...ไม่อยากบอกในที่นี่ จะยาวไปอีกมากมาย..

...ถ้ามีคำถามว่า  ทำไมจิตจึงสามารถไปเห็นความไวระดับนั้นได้ ?  

...คำตอบคือ ตอนนั้นจิตจะมีปัญญามาก  พลังของปัญญาอยู่ในระดับเกือบจะเป็นอัปปนาวิถี หรือเป็นระดับอัปปนาวิถี  คือ ปัญญาในระดับเดียวกับที่ได้อภิญญา  ...ถ้าเปรียบเทียบคือ ปัญญาของคนธรรมดาทั่วไปที่มี IQ 100 จะเท่ากับหิ่งห้อยตัวหนึ่ง  ..แต่ปัญญาของคนที่เห็นจิตเกิดดับในขณะนั้น จะเท่ากับสป็อตไลท์ ๕ แสนแรงเทียน..

...หรือถ้าเทียบความไว  เช่น ถ้าเราลอยตัวอยู่ในอวกาศ  มีคนยิงปืนออกมาด้วยกระสุนที่ไวระดับความเร็วเท่าดับความเร็วแสง ผ่านตัวเราไป  ซึ่งเราย่อมไม่เห็นลูกกระสุนนั่นเลย แต่ถ้าสมมุติว่าในขณะนั้น ตัวเราก็เคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วเท่าแสง และเท่ากับความเร็วของลูกกระสุนตอนนั้น วิ่งเคียงคู่ลูกกระสุนนั้นไป เราก็ย่อมเห็นลูกระสุนนั้นชัดเจน  ทำนองเดียวกัน...

...ปัญญาในระดับอัปปนาวิถี  จะเป็นปัญญาในระดับ ญาณ  ย่อมสามารถรู้เห็นสิ่งแปลกๆ มากมายในธรรมชาติ ที่คนธรรมดาสามัญชน ปุถุชนทั้งหลายมองไม่เห็น...

   ( ....มีต่อข้างล่าง....)
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 22
ผมเห็นด้วยกับคุณ เพราะฉะนั้นคนที่บรรลุธรรมแล้ว พอพูดธรรมะออกมาจะถูกเพ่งโทษด้วยปริยัติ พอไม่เหมือนในปริยัติจะถูกเพ่งโทษ
ว่าหลงวิมุตติบ้าง หลงสภาวะบ้สง ให้เป็นที่น่าสังเวชใจ อริยะหลาย ๆ คนก็เก็บตัวใช้ชีวิตเหมือนคนปกติธรรมดาทั่วไป พอเปิดเผยตัวก็จะโดนรุม
อย่างหลวงตัวบัวท่านก็รำคาญเหมือนกัน ถึงขนาดบ่นออกมาว่า ให้พูดเรื่องบรรลุธรรมมันให้พูดไม่ได้ กิเลสมันจะเหยียบปากไว้ ....อะไรทำนองนี้
เพราะฉะนั้น คนที่บรรลุธรรมแล้วเขาจึงยินดีสนทนากับคนที่บรรลุธรรมด้วยกันแล้ว สนทนากับคนที่ยังไม่บรรลุไม่มีทางเข้าใจหรอก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่