ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๖ พระเจ้านครศรีธรรมราช

.
                                                  
-------------------------------------------
บทที่ ๖ พระเจ้านครศรีธรรมราช
-------------------------------------------

ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือนอ้าย พุทธศักราช ๑๙๑๖ ปีฉลู เบญจศก

ยามสายใกล้เที่ยง ณ ท้องพระโรงพระราชวังนครปตานี บัดนี้ประชุมพร้อมไปด้วยเชื้อพระวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่คับคั่ง บ้างก็นั่งบนตั่ง บ้างก็หมอบนั่งอยู่กับพื้น บริเวณตรงกลางด้านหน้าพระที่นั่งเปิดโล่งคล้ายเว้นให้องค์ประมุขเสด็จผ่านสู่บัลลังก์ สักครู่จึงได้ยินโขลนวังขานร้อง

“พระเจ้าฤทธิเทวาเจสุตตรา เจ้านครปตานี ขอเชิญเสด็จพระเจ้าศรีมหาราช กษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชผู้เป็นใหญ่เหนืออาณาจักรตามพรลิงค์สู่พระที่นั่ง”

เสียงขานร้องลากเสียงยังไม่ทันขาดหาย ปรากฏพระวรองค์สูงใหญ่ พระพักตร์อิ่มเอิบประดับด้วยรอยแย้มพระสรวล หากดวงพระเนตรเป็นประกายเปี่ยมอำนาจสะกดผู้คน ฉลองพระองค์ด้วยชุดเครื่องทรงกษัตริย์ ประดับสร้อยสังวาลคาดพระศอถึงพระอุระ ทรงมงกุฏขนาดเท่าฝ่ามือประดับเพชรนิลจินดาแวววับ ทรงพระดำเนินเข้ามายังท้องพระโรง มีพระเจ้าฤทธิเทวาทรงพระดำเนินเยื้องเบื้องซ้ายอยู่ด้านหลังราวครึ่งก้าวพระดำเนิน ลำดับถัดมาเป็นพระนางเนรัญวีพระมเหสี พระราชธิดาวิสาณี องค์ชายอัศวเมฆ ตามด้วยมหาอำมาตย์วิษณุยันและมหาอำมาตย์วาสุธี

เมื่อทรงพระดำเนินถึงบัลลังก์ที่ประทับองค์ใหญ่ตรงกลาง พระเจ้าศรีมหาราชทรงก้าวขึ้นไปประทับเด่นเป็นองค์ประธาน ส่วนพระเจ้าฤทธิเทวาประทับบัลลังก์ทางเบื้องขวาแม้จะมีขนาดใหญ่แต่ก็องค์เล็กกว่าอยู่ส่วนหนึ่ง

พระมเหสีและพระราชธิดาทรงทรุดลงประทับพับเพียบกับพื้น ส่วนองค์ชายทรงคุกชานุกับพื้นเช่นเดียวกับมหาอำมาตย์ทั้งสองที่ตามเสด็จเข้ามา ครั้นแล้วมหาอำมาตย์วาสุธีได้นำที่ประชุมกราบทูลขึ้นว่า
“ขอเดชะ ฝ่าพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าพร้อมพระราชวงศ์และบรรดาข้าราชบริพารขอกราบถวายพระพรแด่องค์เหนือหัวทั้งสอง ณ บัดนี้” พลันทุกผู้ทุกคนเบื้องพระพักตร์องค์กษัตริย์ทั้งสองต่างถวายบังคมก้มกราบ พร้อมเสียงกระหึ่มก้องท้องพระโรงดังสนั่น “ขอถวายบังคมพระพุทธเจ้าข้า...”

พระเจ้าศรีมหาราช องค์พระกษัตริย์แห่งนครศรีธรรมราชซึ่งบัดนี้ประทับเหนือบัลลังก์องค์ใหญ่ มีพระดำรัสขึ้นว่า
“ขอบใจท่านทั้งหลายมาก เชิญลุกขึ้นนั่งกันเถอะ”

พระมเหสีเนรัญวี พระราชธิดาวิสาณี องค์ชายอัศวเมฆและพระราชวงศ์ซึ่งเฝ้ารออยู่ก่อนต่างลุกขึ้นประทับบนพระแท่นที่จัดเตรียมไว้ ส่วนมหาอำมาตย์และข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ต่างขึ้นนั่งประจำที่บนตั่งของตน คงเว้นไว้แต่ข้าราชบริพารระดับกลางลงไปที่นั่งหมอบราบประจำอยู่กับพื้น

“หม่อมฉันยินดีที่พระองค์เสด็จมาเยือนนครปตานีตามคำทูลเชิญของหม่อมฉันในครั้งนี้ หากถวายการต้อนรับผิดพลาดในสิ่งใดหรือไม่เป็นที่สบพระทัย หม่อมฉันต้องขอพระราชทานอภัยด้วยเถิด” พระเจ้าฤทธิเทวากราบทูลขึ้น
“หามิได้เลย ต้องขอขอบพระทัยท่านและชาวเมืองที่ได้จัดพิธีต้อนรับเราอย่างดี.. ตลอดทางที่เราผ่าน เห็นผู้คนต่างโห่ร้องต้อนรับ ด้วยอาการยิ้มแย้มมีความสุข ช่างเป็นเมืองที่อบอุ่น สมบูรณ์ เราเชื่อว่าเพราะมีผู้ปกครองดี บ้านเมืองจึงสงบสุขและเจริญเรียบร้อยเช่นนี้” พระผู้มีพระราชอำนาจเหนือ ๑๒ เมืองนักษัตรตรัสชมเชย

“พระองค์ทรงเยินยอหม่อมฉันมากเกินไปแล้ว ประชาชนต่างโห่ร้องด้วยอาการยิ้มแย้มก็เพราะปลื้มปิติที่ได้มีโอกาสถวายการต้อนรับพระประมุขแห่งอาณาจักรของพวกเรา แม้พวกเขาจะมีความทุกข์กังวลใดอยู่ภายในใจ หม่อมฉันเชื่อว่าบัดนี้ในหัวใจของพวกเขาคงคลายทุกข์กังวลมีแต่ความปิติเต็มเปี่ยมอยู่เท่านั้น”
“ท่านนี้ช่างฉลาดเจรจานัก”

แล้วสองกษัตริย์ต่างทรงพระสรวลแก่กันด้วยความสนิทสนม ต่างทรงสอบถามถึงเหตุการณ์บ้านเมืองแลกเปลี่ยนกัน บ้างเป็นเรื่องการค้า การปกครอง เรื่องเขตแดน รวมถึงการเมืองระหว่างนครรัฐ

“ตั้งแต่เมื่อครั้ง ๘๐ ปีก่อน พระเจ้าเกียรตินครแห่งแคว้นชวาสิงหัดส่าหรี ทรงมุ่งมั่นจะรวบรวมเกาะสุมาตราของแคว้นมลายูให้อยู่ในพระราชอำนาจ ปราบได้ทั้งเมืองปาเล็มบังและเมืองจัมบี นี่ถ้าไม่ทรงคิดการณ์ใหญ่เกินพระองค์บุกมาถึงคาบสมุทรสุวรรณภูมิของเรา ป่านนี้คงรวมแคว้นมลายูบนเกาะสุมาตราไว้ได้แต่ครั้งนั้นแล้ว” พระเจ้าศรีมหาราชรับสั่งถึงการเมืองระหว่างสองหมู่เกาะใหญ่ในทะเลใต้เป็นข้อสนทนา

“หม่อมฉันเห็นจริงด้วย ตอนที่บุกขึ้นมาบนคาบสมุทรสุวรรณภูมิ แม้ศึกแรกจะตีได้เมืองปะหัง กลันตรัง สายบุรี รวมถึงปตานี แต่คงคิดไม่ถึงว่าเมืองนครฯ จะยกกองทัพมาช่วย ศึกสุดท้ายจึงพ่ายแพ้ยับเยินอยู่ที่สมรภูมิเมืองเก่าปตานี... ครั้นหนีข้ามทะเลกลับไปถึงเมืองไม่นานก็ทรงเสียทีให้กับพวกกบฏจนสิ้นราชวงศ์ ต่อมาเมื่อพวกกบฏถูกปราบลงจึงกำเนิดราชวงศ์ใหม่ขึ้น คือมัชปาหิต... หลังจากนั้นชวามัชปาหิตก็ดูเหมือนมิใคร่มุ่งมั่นต่อการยึดครองแคว้นมลายูนัก”

“แม้มิได้ยกทัพเรือกระทำศึก แต่อิทธิพลของมัชปาหิตบนเกาะสุมาตรากลับเปลี่ยนจากนอกมาเป็นใน จนเราออกจะหวั่นใจอยู่บ้าง”
“พระองค์ทรงหมายความกระไร ทรงช่วยอธิบายให้หม่อมฉันทราบด้วยเถอะ”

“ท่านก็ทราบ เมืองปาเล็มบังไม่เพียงเป็นเมืองหลวงของแคว้นมลายูเท่านั้น แต่เคยเป็นหนึ่งในสามเมืองศูนย์กลางของจักรวรรดิศรีวิชัยมาหลายร้อยปี ชาวชวาเพียรยกทัพหักตีจากภายนอกพอยึดได้ก็ต้องเฝ้าระวังการต่อต้านจากภายใน บางครั้งเหมือนจะผนวกดินแดนมลายูได้สำเร็จเด็ดขาดก็เกิดเรื่องวุ่นวายในเกาะชวา ฉุดรั้งกองทัพกลับไป...
แต่ช่วงหลังที่ผ่านมา ฝ่ายชวามัชปาหิตดำเนินแผนการใช้เมืองรองยึดเมืองหลวง เจริญสัมพันธไมตรีกับเมืองจัมบีผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างสองราชวงศ์ ขณะที่ใช้การทหารกดดันเมืองปาเล็มบัง... พระเจ้าเมืองจัมบีย่อมทรงยินดีในการสนับสนุนที่ทางชวามัชปาหิตมอบถวายให้ ไม่นานเมืองจัมบีก็เข้มแข็งขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งใหม่ของเกาะสุมาตราไปในสมัยพระเจ้าอาทิตยวรมัน ”

“หม่อมฉันได้ยินมาว่า พระเจ้ามัชปาหิตทรงได้พระราชธิดาสองพระองค์ของพระเจ้าจัมบีมาอภิเษกสมรส พระธิดาองค์พี่ได้ประสูติพระโอรสซึ่งต่อมาได้ครองเมืองมัชปาหิตคือพระเจ้าชัยนคร ส่วนพระธิดาองค์น้องพระราชทานคืนให้กับเจ้าชายของเมืองจัมบี และได้ประสูติพระโอรสซึ่งต่อมาได้ครองเมืองจัมบีคือพระเจ้าอาทิตยวรมัน”

“ที่ท่านกล่าวมานั้นเป็นความจริง ความสัมพันธ์ทางสายพระโลหิตที่เกิดขึ้นย่อมทำให้สัมพันธไมตรีระหว่างสองเมืองแน่นแฟ้นยิ่ง... แต่อย่างไรก็ตาม มลายูแห่งเกาะสุมาตราก็ยังดำรงอยู่ หาใช่เมืองภายใต้การปกครองของชวามัชปาหิตไม่ ในรัชกาลปัจจุบันของพระเจ้าราชสะนครแห่งชวามัชปาหิตเราเริ่มเห็นเค้าลางของสงครามอีกครั้ง เพื่อผนวกรวมสุมาตราเข้ากับดินแดนของชวา”
“อะไรทำให้พระองค์ทรงดำริเช่นนั้นหรือ”

พระเจ้าศรีมหาราชทรงสูดพระอัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) ลึก ผินพระพักตร์เยื้องไปเบื้องขวา สายพระเนตรคล้ายทอดไปไกลข้ามโพ้นทะเลถึงเกาะชวา ตรัสตอบด้วยพระสุรเสียงทุ้มลึกว่า
“เพราะพระเจ้าราชสะนครคือกษัตริย์ซึ่งมีพระราชมารดาสืบสายพระโลหิตจากราชวงศ์จามปา (อาณาจักรที่เคยปกครองดินแดนซึ่งปัจจุบันคือตอนกลางของประเทศเวียดนาม) หาใช่ราชวงศ์มลายูดังเช่นพระเจ้าชัยนครกษัตริย์กาลก่อน”

พระเจ้าชัยนครมีพระมารดาเป็นพระราชธิดาแห่งเมืองจัมบี ส่วนพระเจ้าราชสะนครกลับมีพระอัยกี (ยาย) เป็นพระราชธิดาแห่งเมืองจามปา หาได้เกี่ยวข้องใดกับราชวงศ์มลายู...

พระเจ้าฤทธิเทวาย่อมทรงเข้าพระทัยถึงความนัย... ความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติระหว่างราชสำนักย่อมมีผลกับการเมืองระหว่างแคว้น เมื่อเกลียวสนิทผ่านสายเลือดระหว่างมลายูกับชวาเริ่มคลายออก มีแต่สงครามระหว่างเกาะเท่านั้นที่รออยู่

--------------------------------------------------

เจ้าทิพนั่งหมอบอยู่ด้านนอกท้องพระโรงใกล้พระทวารใหญ่ทางด้านหน้า ลักษณะภายนอกเป็นระเบียงรายรอบท้องพระโรงทั้งสี่ทิศ อยู่ภายใต้ปีกหลังคาพระที่นั่งที่ลดระดับลงมาครอบคลุมพื้นที่ระเบียง สำหรับข้าราชบริพารผู้น้อยการได้มาหมอบเฝ้าอยู่ด้านนอกยังพอมีข้อดีตรงได้กระซิบพูดคุยต่อกันบ้าง ไม่ต้องนั่งระวังกิริยาเหมือนอำมาตย์ข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเข้าเฝ้าอยู่ด้านใน คงมีเพียงเจ้าทิพที่นั่งนิ่งเงียบอยู่ลำพังหาได้มีผู้ใดสนใจจะกระซิบพูดคุยด้วย สิ่งเดียวที่เรียกความสนใจของทุกคนคือแขนสองข้างของชายหนุ่มที่ผูกคลุมด้วยผ้าพันแผลจากต้นแขนเสมอข้อมือ ผ้าสีขาวถูกย้อมด้วยคราบเลือดและคราบยาสมุนไพรเป็นวงเปรอะอยู่

สักครู่จึงได้ยินเสียงโขลนวังร้องประกาศเรียกนามเซียงจือกงและคณะอัญเชิญสิ่งของบรรณาการเข้าน้อมถวายแด่พระเจ้าศรีมหาราชพระเจ้าเมืองนครฯ

เสียงขานร้องรับต่อกันจากท้องพระโรงสู่ศาลาเรือนรับรองด้านนอก ไม่นานจึงเห็นเซียงจือกงและไต้ซีหงพร้อมคณะเดินมา มีจ่านายวังที่ทำหน้าที่นำเข้าเฝ้าเดินประกบอยู่ด้านขวา ด้านหลังเป็นทหารวังที่ช่วยกันแบกหามหีบเครื่องของบรรณาการจำนวน ๓ ใบใหญ่ เมื่อเซียงจือกงเดินมาถึงพระทวารท้องพระโรงจึงหันมามองเจ้าทิพที่หมอบนั่งอยู่ใกล้ๆ แม้มิมีโอกาสพูดจาปราศรัยกันแต่สายตาที่ทอดมองมาช่างอบอุ่นใกล้ชิด จนเจ้าทิพแทบจะเผลอกายลุกขึ้นเดินตามร่วมไปในขบวนด้วยเหมือนเมื่อครั้งเข้าเฝ้าพระเจ้าฤทธิเทวา

เมื่อทั้งขบวนลับหายผ่านพระทวารเข้าไปเจ้าทิพก็ได้แต่นั่งหมอบต่อไป หาได้มีสิ่งใดให้ตนกระทำไม่ บางครั้งได้ยินเสียงอึงอลและหัวเราะร่วนด้วยความยินดีมาจากภายในท้องพระโรง ตนคาดว่าคงเป็นบรรยากาศที่ดีระหว่างกันของสองแผ่นดิน จนเวลาผ่านไปเกือบครึ่งชั่วยามจึงได้ยินเสียงวุ่นวายสับสนจากด้านใน ชายหนุ่มคิดในใจว่าท่านอาจือกงของตนคงจะเสร็จพิธีการไปแล้ว น่าจะเป็นเรื่องอื่นใดสอดแทรกเข้ามาจนเกิดความวุ่นวาย...

สักครู่ได้ยินเสียงโขลนวังร้องประกาศ
“มีพระราชดำรัสให้เจ้าทิพเข้าเฝ้า”

เจ้าทิพสะดุ้งใจด้วยไม่ได้คิดหมายว่าเป็นตนที่ถูกเรียกให้เข้าเฝ้ากลางที่ชุมนุมซึ่งปั่นป่วนอยู่ในขณะนี้ ได้แต่ลุกย่อเดินตามโขลนวังผู้หนึ่งที่เฝ้าอยู่หน้าพระทวารเข้าไป เมื่อข้ามพ้นธรณีพระทวารก็คลานเข่าตามเข้าไป เห็นพระเจ้าศรีมหาราชประทับเป็นประมุขอยู่ตรงกลาง พระเจ้าฤทธิเทวาประทับอยู่เบื้องขวา พระแท่นที่ประทับจัดวางเรียงรายสำหรับพระมเหสี พระราชธิดาวิสาณี องค์ชายอัศวเมฆ นางสุชีราผู้รับพระราชทานราชนิกุล ด้านหน้าออกมาเป็นตั่งของมหาอำมาตย์วาสุธี มหาอำมาตย์วิษณุยัน ขุนพลสิงหล เจ้ากรมท่าของทั้งสองนคร ส่วนเซียงจือกงและคณะนั่งบนตั่งอีกฟากตรงข้ามกับมหาอำมาตย์ของสองเมือง

เมื่อเริ่มคลานเข่าเข้าไปในท้องพระโรง ตนสังเกตเห็นทุกสายตาของข้าราชบริพารต่างพากันจับจ้องมาที่ตนพร้อมกับซุบซิบปรึกษากัน จนเมื่อเข้าไปถึงกึ่งกลางสถานที่ประชุมเสียงกระซิบกระซาบที่ประสานกันดังขรมจึงค่อยสงบลง โขลนวังหยุดนำแล้วผายมือชี้จุดให้เจ้าทิพคลานเข่าต่อไปยังเบื้องซ้ายเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าฤทธิเทวา ตนจึงรู้ด้วยนัยว่าเป็นพระราชดำรัสของพระเจ้าปตานีให้ตนเข้าเฝ้า เมื่อหยุดในตำแหน่งเฝ้าแล้วจึงถวายบังคมพระเจ้าเหนือหัวทั้งสองพระองค์

ชายหนุ่มลอบสังเกตเห็นพระพักตร์พระเจ้าฤทธิเทวาเครียดขึ้งขณะที่สีพระพักตร์ของพระเจ้าศรีมหาราชเพียงดูเป็นพระกังวลเล็กน้อย
“เราให้ขุนพลสิงหลรายงานผู้เข้าร่วมประลองชิงตำแหน่งขุนพลฉลูนักษัตร ทำไมจึงมีชื่อเจ้าปรากฏอยู่ จงตอบมาเดี๋ยวนี้” พระเจ้าฤทธิเทวารับสั่งถามขึ้นทันทีที่เจ้าทิพถวายบังคมเสร็จ

เจ้าทิพได้แต่นั่งนิ่ง หันไปมองขุนพลสิงหล ตั้งสติสักครู่จึงกราบทูลตอบด้วยเสียงราบเรียบ
“เมื่อวานเย็นอันเป็นเวลาสุดท้ายของการรับสมัครเข้าประลองขุนพลนักษัตร ข้าพระองค์ผู้มีสิทธิ์ส่งผู้เข้าสมัคร ได้เสนอชื่อตนเองเป็นผู้ร่วมประลอง พระเจ้าค่ะ” กราบทูลเสร็จก็มีเสียงอุทานอึงอลทั่วท้องพระโรง

“เจ้าไม่มีทั้งสิทธิ์ที่จะส่งใครเข้าประลอง และตัวเจ้าก็ไม่มีสิทธิ์เข้าประลองด้วย” รับสั่งด้วยพระสุรเสียงช้าชัดแข็งกร้าว คล้ายพระดำรัสสั่ง
“ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า ข้าพระองค์ขอยืนยันว่ามีสิทธิ์ที่จะเสนอบุคคลเข้าร่วมประลองได้ พระเจ้าค่ะ”

(มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่