ห้องเพลง *คนรากหญ้า* พักยกการเมือง มุมนี้ไม่มีสี ไม่มีกลุ่ม...มีแต่เสียง 17/05/2018 "26 ปี พฤษภาทมิฬ"

สวัสดีเพื่อนๆทุกคนครับ เมื่อวาน MC โดนเตือนไปสองรอบในกระทู้เดียว โดยโดนเตือนในเม้นต์ย่อยที่ตอบคุณชบาเหลือง และโดนเตือนหลังจากที่กระทู้ของตนเองโดนลบ แต่ก็ได้กำลังใจดีๆจากเพื่อนๆเข้ามาทดแทน ก็ขอบคุณทุกคนมา ณ ที่นี้ และขอให้ MC ชุนเทียนได้ล็อคอินที่ถูกเตือนเพียงครั้งเดียวแล้วยึดไปเลยคืนกลับมาให้เร็วที่สุด หลังจากที่ได้ทำเรื่องถึง pantip แล้ว

วันนี้ 17 พ.ค. 2561 เราจะมาย้อนวันวานในอดีต 17 พ.ค.2535  เหตุการณ์พฤษภาทมิฬกันครับ



วันนี้ในอดีต ย้อนไปเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์ ‘ พฤษภาทมิฬ’  ซึ่งผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ในขณะนั้น
         วันนี้ในอดีต ย้อนไปเมื่อ 26 ปีที่แล้ว...17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เกิดเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’(Black May)  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง ที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีและต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ระหว่างวันที่17-24 พฤษภาคมพ.ศ. 2535 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก  

           ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’   มีมูลเหตุมาจาก คณะ รสช.  ซึ่งมี พล.อ. สุจินดา รวมอยู่ด้วย ได้ทำการรัฐประหาร‘รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ'  ต่อมาได้มีการจัดให้มีการเลือกตั้ง ผลปรากฏว่านายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ได้คะแนนมากที่สุด แต่สุดท้ายไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากถูกรัฐบาลสหรัฐขึ้นบัญชีดำ ทำให้ พล.อ.สุจินดา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเป็นการตระบัดสัตย์ที่เคยให้สัญญาไว้ว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  จากผลดังกล่าวทำให้ประชาชนไม่พอใจการขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.สุจินดา ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย จนนำไปสู่การประท้วงทั้งการอดอาหาร การเดินขบวน


             โดยในวันที่ 17 พฤษภาคม นักศึกษาและประชาชนราว 500,000 คน ร่วมชุมนุมที่สนามหลวงตั้งแต่เวลา 15.00 น. เพื่อเรียกร้องให้พล.อ. สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมา เวลา 21.00 น. เริ่มเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าตำรวจและทหารสกัดกั้นไว้ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ผู้ชุมนุมพยายามขอร้องเจ้าหน้าที่ให้เปิดทางแต่ได้รับการปฏิเสธ บางส่วนจึงเริ่มรื้อรั้วลวดหนาม เจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเข้าใส่จนน้ำหมด แล้วสูบน้ำจากคลองรอบกรุงซึ่งเป็นน้ำเน่าเหม็นฉีดใส่ฝูงชน จากนั้นก็ได้เกิดความโกลาหล ผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่ก็ตอบโต้ด้วยการทุบตีทำร้ายประชาชน

           เวลา 00.30 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังจากนั้นได้มีกลุ่มชายหัวเกรียนสวมเสื้อเกราะในราชการสงคราม บุกเข้าทำลายและเผา สน. นางเลิ้ง โดยรัฐบาลได้ระบุว่าเป็นฝีมือของนักศึกษารามคำแหงและธรรมศาสตร์ รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้แผนไพรีพินาศขั้นที่ 3 คือปราบปรามขั้นเด็ดขาด เวลา 15.00 น. ทหารและตำรวจกว่า 6,000 นายพร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะได้เข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ โดยเรียงหน้าระดมยิงผู้ชุมนุมไล่ไปจนถึงกรมประชาสัมพันธ์และโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นเหตุให้มีนักศึกษาและประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตหลายร้อยคน สูญหายและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก  จากการแถลงของทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 600 คน

          เช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ภาพเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก ผู้รอดชีวิตบางส่วนได้ย้ายไปชุมนุมต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

          วันที่ 20 พฤษภาคม ช่วงค่ำกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเคอร์ฟิวส์ ห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลา 21.00 น.-04.00 น. แต่กลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังคงปักหลักและเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าแสนคน เวลา 23.30 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้แพร่ภาพ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นำ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง  ซึ่งเป็นผู้นำมวลชน และ พล.อ. สุจินดา เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชน

         วันที่ 23 พฤษภาคม พล.อ. สุจินดา ได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง และวันต่อมา 24 พฤษภาคม ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้เหตุการณ์สงบลง

ขอบพระคุณ http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/277321


ส่วนเหตุการณ์ที่เป็นที่มาของเหตุการณ์จนถึงภายหลังเกิดเหตุการณ์จนได้รัฐบาลใหม่มาแทนได้ประมาณนี้ครับ

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council - NPKC) เป็นคณะนายทหารที่ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก และพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ

คณะ รสช. ให้เหตุผลในการยึดอำนาจว่า

พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง รัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นรัฐบาล บุฟเฟ่ต์คาบิเนต ร่ำรวยผิดปกติ
ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต
รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา
การทำลายสถาบันทางทหาร
การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อขจัดภยันตรายที่มีต่อประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากรัฐบาลละเลยคดีลอบสังหารเชื้อพระวงศ์ โดยอ้างอิงคำสารภาพของ พันเอกบุลศักดิ์ โพธิเจริญ ส.ส. พรรคพลังธรรม จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งให้การซัดทอด พลตรีมนูญ รูปขจร (พลตรีมนูญกฤต รูปขจร




หลังจากนั้น ก็ได้คลอดรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ออกมา ท่ามกลางข้อครหาเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย และการสืบทอดอำนาจของ รสช  จนพลเอกสุจินดา คราประยูร ต้องออกมาพูดเพื่อลดกระแสว่าตนเองและคณะจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


ภาพเมื่อครั้งพลเอกสุจินดาประกาศไม่ขอรับตำแหน่งนายกฯ

รัฐธรรมนูญ 2534 ที่มีปัญหา


แต่แล้วในที่สุดหลังจากการเลือกตั้งครั้งที่ 18 ของประเทศไทย หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม คือ นายณรงค์ วงศ์วรรณ  พรรคสามัคคีธรรมถูกตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนแกนนำของคณะ รสช. และอาจจะกล่าวได้ว่าแกนนำของ คณะ รสช. บางคน มีส่วนสนับสนุนพรรคนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ หลังการเลือกตั้ง  นาย ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนมากที่สุด ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ ได้ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ นั้นเป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด ในที่สุด จึงมีการเสนอชื่อ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน


พลเอกสุจินดารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับวาทกรรมประจำตัว "เสียสัตย์เพื่อชาติ"



วันแรกในการแถลงการณ์คณะ รมต. หุ้นตกวูบทันที 43 จุด



7 พ.ค. 2535 พลเอกสุจินดาชี้แจงพูดถึงเหตุผลที่เข้ารับตำแหน่งว่า เพราะ หนึ่ง รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้สอง กล่าวพาดพิงถึง พล.อ. ชวลิต ว่าเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยแบบสภาเปรซิเดียมและ กลุ่มที่เคลื่อนไหวนอกสภาก็เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การปกครองแบบนี้ สาม ได้รับการขอร้องจากชาวพุทธที่กำลังถูกกลุ่มหนึ่งก่อตั้งศาสนาใหม่ และ สี่ การที่นายกฯ เป็นคนกลางจะทำให้ควบคุมการคอรัปชันได้ดีที่สุด ในขณะที่นายกฯ ชี้แจงอยู่นั้น ได้มีเสียงตะโกนและเสียงโห่แสดงความไม่พอใจของ ส.ส. ฝ่ายค้านตลอดเวลา หลังจากชี้แจงแล้ว ประธานรัฐสภาได้กล่าวปิดการประชุมทันที



จนเป็นที่มาของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อ ปี 2535


ลำดับเหตุการณ์คร่าวๆ

ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2535
· 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 - คณะ รสช.ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
· 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 - มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ พรรคสามัคคีธรรม ของนายณรงค์ วงศ์วรรณ ได้รับเลือกตั้งมาเป็นลำดับหนึ่ง แต่ถูกขึ้นบัญชีดำผู้ค้ายาเสพย์ติดจากสหรัฐอเมริกา
· 7 เมษายน - พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
· 8 เมษายน - ร.ต.ฉลาด วรฉัตร เริ่มอดอาหารประท้วงวันแรก
· 17 เมษายน - มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
· 20 เมษายน - พรรคฝ่ายค้านเริ่มการปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
· 4 พฤษภาคม - พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เริ่มอดอาหารประท้วงวันแรก
· 6 พฤษภาคม - พล.อ.สุจินดา แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้าร่วม ขณะเดียวกันบริเวณหน้ารัฐสภามีผู้ชุมนุมร่วมประท้วง จนต้องมีการปิดประชุมโดยกระทันหัน
· 8 พฤษภาคม - พล.อ.สุจินดา แถลงถึงเหตุผลที่ต้องมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
· 9 พฤษภาคม - นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาประสานให้พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านร่วมกันตกลงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประการ และ พล.ต.จำลอง ประกาศเลิกอดอาหาร แต่ต่อมาพรรคร่วมรัฐบาลได้ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายหลัง
· 11 พฤษภาคม - พล.ต.จำลอง ประกาศสลายการชุมนุมและประกาศชุมนุมใหม่อีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคม
· 17 พฤษภาคม - รัฐบาลจัดคอนเสิร์ตต้านภัยแล้งสกัดม็อบที่สนามกีฬากองทัพบกและวงเวียนใหญ่ โดยขนรถสุขาของกรุงเทพ ฯ มาไว้ที่นี่หมด ช่วงเที่ยงคืนเริ่มเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับทหาร ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม
· 18 พฤษภาคม - ก่อนรุ่งสาง รัฐบาลเริ่มจัดการกับผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เวลาบ่าย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม
· 19 พฤษภาคม - กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ถูกจับกุมย้ายสถานที่ชุมนุมไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
· 20 พฤษภาคม - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ผู้นำทั้งสองฝ่าย คือ พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง เข้าเฝ้า โดยผู้ที่นำเข้าเฝ้าคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
· 24 พฤษภาคม - พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง แถลงการณ์ร่วมกันผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและ พล.อ.สุจินดาได้ลาออกและประกาศยุบสภา
· 10 มิถุนายน - นายอานันท์ ปันยารชุน กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
· 13 กันยายน - มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วทั้งประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับหนึ่ง นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนี้นอกจากเสียสัตย์เพื่อชาติแล้ว ยังเป็นที่มาของฉายาในสภา มีดโกนอาบน้ำผึ้งของคุณชวน หลีกภัย  มีเรื่องราวมากมายเช่นไอ้แหลมวิทยุป่วนทหาร พรรคเทพ-พรรคมาร  ม็อบมือถือ  ม็อบมอเตอร์ไซค์  รวมไปถึงศิลปะข้างกำแพงที่พ่นต่อต้านรัฐบาลขณะนั้นมากมาย  ตามหน้าสื่อโทรทัศน์กับวิทยุถูกรัฐบาลควบคุมไว้ได้หมด  แต่สื่อทางหน้าหนังสือพิมพ์กลับรายงานโดยไม่กลัวการคุกคามจากรัฐแต่อย่างใด  ตามร้านขายวีดีโอในเขตชุมชนต่างๆเปิดคลิปเหตุการณ์การชุมนุมให้ผู้คนสัญจรได้ดู ไทยมุงยืนดูให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเพราะหาดูไม่ได้จากสื่อช่องหลัก






เปิดกระทู้ห้องเพลงคนรากหญา รำลึก 26 ปี พฤษภาทมิฬด้วยเพลง หวัง จากพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ครับผม

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  การเมือง การ์ตูนการเมือง
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่