[CR] ...หนาวนี้ที่ Leh Ladakh... ความสุขกับวิวหลักล้าน ณ ขอบเขาหิมาลัย

สวัสดีค่ะ กระทู้นี้เป็นกระทู้ที่ 2 ที่มารีวิวเที่ยวต่างประเทศนะคะ ปีที่แล้วไปจีนมาค่ะ ฝากกระทู้กับเพจด้วยนะค้า ^^
กระทู้รีวิวเที่ยวจีน (Changsha-Zhangjiajie-Fenghuang)
https://ppantip.com/topic/36480911
FB Lovely Trip
https://www.facebook.com/lovely.trip.tj/
รูปสวยๆจากตากล้องคนนี้ของเราค่ะ
https://www.facebook.com/taechit.taechamanodom
ทริปนี้ไปวันที่ 11-17 เมษายน 2561 นะคะ (5 วัน 6 คืน) ไปกันทั้งหมด 9 คนค่ะ เกริ่นก่อนว่านี่เป็นทริปถ่ายรูปนะคะ ถ่ายรูปเป็นจริงเป็นจังมาก พวกกิจกรรมอื่น เช่น ขี่อูฐ, ขับ ATV ก็เลยจะไม่ได้รีวิวนะคะ >< และนี่คือ plan คร่าวๆของเราค่ะ
Day 1 : BKK --> DEL
Day 2 : DEL --> LEH (Rest at guest house, Shanti stupa)
Day 3 : Around Leh city (Shanti stupa, Sankar gompa, Leh market, Leh palace, Namgyal Tsemo gompa)
Day 4 : Leh --> Lamayuru --> Nubra valley (Lamayuru, Sangam point, Khardung La pass 5600 m, Nubra valley)
Day 5 : Nubra valley --> Panaong lake (Diskit gompa, Hunder sand dunes, Pangong lake)
Day 6 : Pangong lake --> Leh (Pangong lake, Changla pass 5390 m, Stakna Gompa, Shey palace, Thiksey gompa)
Day 7 : LEH --> DEL --> BKK

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Leh Ladakh
- ประเทศอินเดีย มีทั้งหมด 29 รัฐ โดย Leh อยู่ในรัฐ Jammu and Kashmir มีเมืองหลวง 2 เมืองคือ Srinakar (winter) , Jammu (summer)
- รัฐ Jammu and Kashmir แบ่งเป็นอีก 3 เขต คือ Kashmir, Jammu, Ladakh โดย Ladakh ประกอบด้วย 2 เมืองคือ Leh, Kargil
- คำว่า Ladakhi ใช้เรียกคนใน Ladakh ค่ะ มีภาษา Ladakhi ด้วย แต่แทบจะทุกคนสามารถพูดอังกฤษได้หมด คือไม่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารแน่นอน คนที่นี่นับถือทั้งศาสนาอิสลาม พุทธ และฮินดู
- บรรยากาศขึ้นกับฤดูกาลเลยค่ะ ช่วง winter จะเจอหิมะแน่นอน ถนนบางเส้นผ่านไม่ได้เพราะปกคลุมด้วยหิมะ ไม่ค่อยมีคนเที่ยวช่วงนี้นะคะ ถ้าช่วง spring-summer พื้นที่จะดูอุดมสมบูรณ์ขึ้น ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจีทีเดียวค่ะ อย่างเราไปช่วงปลาย winter ก็ยังหนาวอยู่นะคะ อากาศแห้งมาก ต้นไม้แห้งหมด ยังเห็นหิมะปกคลุมยอดเขาอยู่บ้างค่ะ
- Agency : เที่ยวเลห์ไม่ยากเลยค่ะ เริ่มจากการติดต่อหา agency ซึ่งก็หาได้ใน google เค้าจะเตรียมให้เราทุกอย่างค่ะ มีแพลนเที่ยวให้ หาที่พัก หารถให้ เราแค่บอกว่าไปกี่คนกี่วัน ปรับเปลี่ยนสถานที่ที่อยากจะไปได้ แต่ถ้าจะเปลี่ยนแพลนระหว่างเดินทางก็ตกลงกับคนขับรถได้เลยนะคะ เราไปกับที่นี่ค่ะ http://www.ancienttracks.com
- อาหาร : ส่วนใหญ่มีเนื้อไก่กับเนื้อแกะ และมังสวิรัติ ใครเป็นคนกินง่ายบอกเลยว่าชิวค่ะ รสชาติมันอาจจะไม่ได้ถูกปากคนไทยก็จริง แต่กินได้อยู่นะ บางอย่างเรียกว่าอร่อยเลยแหละ ถ้าอยู่ในตัวเมืองขอแนะนำร้าน "Gesmo restaurant" ค่ะ ดีงามมากๆๆ อาหารฝรั่งก็ดี อาหารอินเดียก็อร่อย เริ่ดๆๆ
- ห้องพัก : จัดว่าโอเคนะ คือสะอาดใช้ได้ มีห้องน้ำในตัว มีน้ำอุ่น (ที่ใช้เวลาในการทำความอุ่นนานมาก) ชักโครกเป็นแบบนั่งฟินๆ (สายฉีดก็แล้วแต่ที่ค่ะ) ที่พีคคือฮีตเตอร์ไม่มี!! คือยังมีความงงว่า มันมีบางห้อง หรือมันเปิดแค่บางเวลา เอาเป็นเวลาชุดนอนก็ต้องใส่แบบจัดเต็มอะคะ บางที่พักไม่ได้ปูพรมที่พื้นก็คือพื้นเย็นมากๆๆๆ มากแบบเย็นทะลุถุงเท้าอะ เตรียม slipper ไปใส่ที่นั่นจะเวิร์คมาก ไม่ก็ใส่รองเท้าเดินในห้องไปเลยค่ะ
- การเดินทาง : บินจากไทยไปลง New Delhi แล้วบินไปลง Leh อีกต่อนึงค่ะ พอถึง Leh ก็พึ่งคนขับรถรัวๆค่ะ เราจะเกาะติดกันไปในทุกๆที่ มีทั้งรถเล็กรถใหญ่นะคะ แล้วแต่จำนวนคนค่ะ สำหรับ skill การขับรถคือ Fast 8 มากๆ แต่ปลอดภัยนะคะ

สรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประมาณ 30,000-35,000 บาท (ค่ากินอยู่ที่เลห์ไม่ถึง 3,000 บาท ถ้าไม่ซื้อของฝาก)
- ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ (กรุงเทพ-นิวเดลี) Jet airway 10,000 บาท/คน
- ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ (นิวเดลี-เลห์) Go air 4,000 บาท/คน
** ขาไปต้องจองที่นั่งติดหน้าต่างฝั่งซ้ายนะคะ แต่ขากลับจะจองฝั่งขวาหรือไม่ก็ได้ค่ะ เพราะว่าขาไปเค้าจะบินช้าๆให้เราได้ดื่มด่ำกับความงดงามของเทือกเขาหิมาลัยแบบฟินสุดๆ แต่ขากลับคือบินผ่านๆไปเลยค่ะ**
- ค่าตั๋วเครื่องบินกลับ (เลห์-นิวเดลี) Jet airway 1,600 บาท/คน
**ความพีคคือ อยู่ดีๆ Go air นางก็ mail มาว่าเพิ่มไปลงเมือง Srinakar ก่อนแล้วค่อยมาถึง New Delhi ซึ่งพวกเราลองคำนวณเวลากัน ก็จะเหลือเวลา transit ไม่เกิน 2 ชม. อาจจะตกเครื่องกลับไทยได้ ก็เลยซื้อตั๋วขากลับใหม่เป็นของ Jet airway ค่ะ ถ้าเป็นไปได้แนะนำซื้อตั๋วสายการบินเดียวไปเลยจากกรุงเทพถึงเลห์ เพราะ พนง. สแกนกระเป่าที่สนามบินนิวเดลี ลำไยมากๆๆๆ ทำงานเรื่อยเปื่อยขั้นสุด เสียเวลารอตรงนี้นานมากค่ะ**
- ค่า agency 13,500 บาท/คน (รวมที่พักพร้อมอาหารเช้า คนขับรถ ยิ่งคนเยอะยิ่งถูก)
- ค่าทิปคนขับรถ 50 บาท/วัน/คน
- ค่าข้าว 50-150 บาท/คน/มื้อ
- ค่าวีซ่าอินเดียแบบ e-visa 1,800 บาท (50 $) ใช้เวลาทำแค่ 1-2 วันเองค่ะ ง่ายมากๆ ตามลิงค์นี้เลยนะคะ
https://indianvisaonline.gov.in/evisa/tvoa.html
- ค่าประกันเดินทางของ MSIG (แบบคุ้มครองกระเป๋าเดินทาง) 650 บาท

ของที่ต้องเตรียมไป
1. เอกสาร : e-visa, passport, ตั๋วเครื่องบิน
2. อุปกรณ์กันหนาว : ก็ขึ้นอยู่กับว่าไปช่วงฤดูไหน อย่างพวกเราไปช่วงปลาย winter แนะนำเลยว่าจัดไปให้สุดค่ะ!!
- เสื้อ เราใส่ 4 ชั้น (ฮีทเทคเสื้อ+กางเกง, เสื้อไหมพรม, เสื้อโค้ทแบบสวยๆไม่หนามากไว้ถ่ายรูป, เสื้อโค้ทกันหนาวกันลม)
- หมวกหรือฮู้ดของเสื้อโค้ทก็ได้ เพราะลมแรงมาก ผมกระเซิงสุดๆ
- ผ้าพันคอที่พันปิดหน้าได้ หรือ mask
- ถุงมือ ถุงเท้า หนาๆ กันหนาวดีๆ เพราะถึงตัวจะอุ่น แต่ถ้ามือเท้าหนาวมันก็หนาวอยู่ดี TT
- รองเท้า ไม่ได้เดินเยอะ หรือลุยน้ำลุยหิมะอะไรมากมาย แต่เอาสีเข้มๆกันหนาวหน่อยก็ดี เพราะมันจะเลอะฝุ่นทรายมากๆ
ปล. ส่วนตัวไม่ได้ใส่ชุดนอนเลยสักวันค่ะ เพราะฮีตเตอร์ไม่มี หรือบางที่มีก็ดันปิดตอนดึกๆ กลางคืนมันหนาวแบบติดลบอะ เลยใส่ชุดที่จะเที่ยววันต่อไปนอนเลยค่ะ ตื่นมาล้างหน้าแปรงฟันแต่งหน้าเสร็จพร้อมเที่ยว ง่ายดี
3. ยาสามัญ
- Diamox (acetazolamide) อันนี้ห้ามขาดค่ะ ไว้ป้องกันและรักษา Acute mountain sickness (AMS) หรือ altitude sickness (มีอาการ เช่น ปวดหัว เวียนหัว เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ หายใจเร็ว) ควรกินเมื่อขึ้นที่สูงมากกว่า 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และต้องกินก่อนเดินทาง 24-48 ชม. ยานี้ใช้มีคุณสมบัติหลายอย่างนะคะ เช่น รักษาต้อหิน เพราะฉะนั้นปริมาณยาจะแตกต่างกันค่ะ ถ้าแค่เพื่อป้องกัน AMS ให้กินครั้งละ 125 mg วันละ 2 ครั้ง (เท่าที่ไปหาซื้อเห็นแต่เม็ดละ 250 mg ก็กินครั้งละครึ่งเม็ด เช้า เย็น ค่ะ) ที่ไทยขายอยู่ที่เม็ดละ 6-7 บาท แต่ที่สนามบินเลห์ขายเม็ดละ 1 บาทกว่าๆ ถึงกับอึ้งกับราคาเลยทีเดียว จุดนี้ควรหาข้อมูลอ่านเพิ่มเติมหรือปรึกษาแพทย์นะคะ เป็นขึ้นมาจะไม่คุ้มจริงๆค่ะ
- paracetamol  ปวดหัวจาก AMS ก็กินได้ค่ะ
- ยาสำหรับท้องเสีย
- ยาประจำตัว ที่เลห์ไม่ค่อยมีร้านขายยานะคะ เตรียมตัวไปเองจะดีที่สุดค่ะ ใครมีโรคประจำตัว ปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ เผื่อมีคำแนะนำเพิ่มเติมโดยเฉพาะ
4. ไดร์เป่าผม : สำหรับผู้หญิงผมยาวทั้งหลาย ผมมันจะพันกันเหนียวยุ่งเหยิงมาก ห้องพักมีน้ำอุ่นก็สระผมได้ฟินๆเลยค่ะ แต่ไม่มีไดร์เป่าผมเลยสักที่ พกไปเองนะคะ
5. ครีมบำรุงและครีมกันแดด : หน้าแห้งมากจ้า แห้งแบบแสบหน้าไปหมดอะ กลางวันก็แดดแรง เพราะฉะนั้นทาครีมกันไว้ก่อนจะดีที่สุดนะคะ
6. Adaptor : เป็นแบบรูกลมค่ะ พวกที่ชาจแบตกล้องหรือไดร์เป่าผม เสียบตรงๆได้เลยค่ะ มีไอโฟนเนี่ยแหละต้องใช้ adaptor

Day 1 : BKK —> DEL
• เราเลือกบินไฟลท์กลางคืนกันค่ะ ไปถึงอินเดียก็ประมาณเกือบตี 1 ตม. ที่นี่ไม่โหดนะคะ แค่ดู e-VISA ไม่ถามไรเราเลยค่ะ สแกนนิ้วมือนิดหน่อยก็ผ่านได้เลย
• จากนั้นเรา check-in สายการบิน Go Air ไปลงที่ Leh ค่ะ แล้วเดินไปรอที่ terminal 2 ตอนนี้ก็ตี 3 กว่าๆได้ แต่บินประมาณ 8 โมงกว่า เลยนอนเก็บแรงกันก่อนค่ะ
• น้ำในสนามบินราคาไม่แน่ไม่นอนนะคะ แล้วแต่ดวงว่าจะจั่วได้ที่ไหน ซื้อที่แถวรอกระเป๋าขวดประมาณ 600 ml ราคา 10 รูปี แต่พอมาซื้อที่ terminal2 ประมาณขวดลิตร ราคา 100 รูปี งงมากว่าจะต่างกันอะไรได้เบอร์นี้

Day 2 : DEL —> LEH
• เช้านี้ตื่นมาด้วยความสดใสและตื่นเต้นขั้นสุด >< แนะนำให้เตรียมเสื้อกันหนาวไว้ตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่องเลยค่ะ เพราะพอลงไปถึง Leh แล้วจะสัมผัสลมหนาวแบบไม่ทันตั้งตัวเลย
• ณ จุดนี้ ต้องนั่งริมหน้าต่างฝั่งซ้ายเท่านั้นค่ะ! จะได้พบเจอความสวยงามที่แท้ทรู ช่วงใกล้ถึง Leh จะเจอวิวยอดเขาที่มีหิมะปกคลุม สวยฟินมาก กัปตันจะบินช้าๆ พร้อมกับอธิบายนู่นนี่นั่นให้ฟังด้วย ไม่รู้อธิบายไรบ้างนะคะ เพราะไม่ได้ฟัง ถ่ายรูปอย่างเดียวเลย 5555

• พอถึงสนามบิน Leh จะมีใบให้กรอกก่อนเข้าเมืองเล็กน้อย ยื่นเสร็จก็ออกไปหารถที่เอเย่นเตรียมไว้ให้เราได้เลยค่ะ
• คนขับรถพาเรามาส่งที่เกสเฮ้าท์ค่ะ เก็บของเรียบร้อยก็พาออกไปหาข้าวกลางวันกิน จากนั้นกลับมานอนพักค่ะ ให้เราพักผ่อนให้เต็มที่เพื่อเป็นการปรับตัวกับที่สูง เนื่องจากออกซิเจนเบาบาง มันจะเหนื่อยง่ายมากกก แค่เดินขึ้นบันได 2-3 ชั้นก็หอบอย่างกับวิ่งเป็นกิโลแหนะ TT เพราะฉะนั้นวันแรกๆอย่าเพิ่งทำตัวซ่ากันนะคะ
Shanti Stupa มาเก็บแสงเย็นที่นี่กันหน่อยค่ะตามประสาทริปถ่ายรูป เตรียมเสื้อกันหนาวไปให้เต็มขั้นเลยนะคะ พอดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้วบวกกับลมที่พัดแรงเหลือเกินก็ทำให้หนาวสุดๆไปเลยค่ะ ต้องใจเย็นๆหน่อยนะคะกับวิวกลางคืน เพราะเมืองที่นี่เปิดไฟช้ามากจริงๆ หลังจากเราเก็บภาพกันจนหนำใจแล้วก็ได้เวลาข้าวเย็นค่ะ คนที่นี่กินข้าวเย็นกันช้านะคะประมาณ 2 ทุ่ม เป็นเวลาปกติของเค้าแหละค่ะ
ชื่อสินค้า:   Leh, Ladakh, India
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่