วิเคราะห์ : หนึ่งด้าวฟ้าเดียว จะ"ปัง" เหมือนบุพเพออเจ้า มั้ย


จะเรียกว่าเป็น ปรากฏการณ์ ก็ว่าได้ กับละครบุพเพสันนิวาส ที่เพิ่งจบไปไม่นาน ทำให้เกิดปราฏการณ์"ออเจ้า" ที่มีกระแสนิยมแต่งชุดไทย  เที่ยวโบราณสถาน (อยุธยา และลพบุรี)  และการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะสมัยอยุธยาตอนปลาย ทำเอาการท่องเที่ยวไทย และเหล่าพ่อค้าแม่ค้าชุดไทย รายได้สะพัดกันเลยทีเดียว  ด้วยกระแสนี้เอง คาดว่าทางช่อง 3 ก็คงมองเห็นโอกาสนี้ จึงได้เข็นเอาละครพีเรียดอีกเรื่องนึง นั่นก็คือ "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในยุคอยุธยาตอนปลายใกล้เสียกรุงต่อเนื่องกับยุคกรุงธนบุรี  คาดว่าจะให้กระแสต่อเนื่องกันไป   หลังจากดูละครนี้ได้ 3-4 ตอนแล้ว ทำให้ผมตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้นว่า  ละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว จะสามารถสานต่อกระแสนิยมไทยต่อเนื่องไปอีกได้หรือไม่



ก่อนอื่น คงต้องเท้าความก่อนว่า  ละครบุพเพสันนิวาส นั้น "ดังอย่างรุนแรง"  ได้อย่างไร  ซึ่งผมจะวิเคราะห์เป็นข้อๆ ดังนี้

1. เนื้อเรื่องสามารถสร้างอารมณ์ร่วมกับให้กับผู้ชมได้อย่างมาก ไม่ใช่เพราะเนื้อหาเข้มข้นน่าติดตาม  แต่เป็นการใช้ตัวละคร (เกศสุรางค์) แทนตัวคนในยุคใหม่ ซึ่งก็คือพวกเราๆท่านๆที่ดูละครนี่เอง  ให้เข้าไปอยู่ในยุคอยุธยา เสมือนเธอเป็นไกด์นำทางเราไป  และนำเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเปิดเผยโดยอาศัยการนำเสนอของเกศสุรางค์ด้วยวิธีระลึกข้อมูลจากที่เธอได้ร่ำเรียนมาจากคณะโบราณคดี และใช้เธอเป็นคนคอยซักถามตัวละครที่มีในประวัติศาสตร์ให้เล่าเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ออกมา เสมือนเป็นการคอนเฟิร์มว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้นั้นเป็นจริง  [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
     ที่สำคัญ ผู้แต่งยังแฝงมุกต่างๆ ด้วยการเอาอาหารการกิน หรือ สิ่งประดิษฐ์ต่างๆในยุคปัจจุบัน เข้าไป โดยใช้เกศสุรางค์เป็นตัวนำไปเผยแพร่  เช่น น้ำปลาหวาน  เครื่องกรองน้ำ  หมูกระทะ ฯลฯ  ทำให้คนดูคนอ่านในยุคปัจจุบันซึ่งคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว "อิน"กับบทนิยายได้อย่างไม่ยากเย็น
    
2. ละครเน้นเรื่องของความรัก เน้นตัวพระนาง จีบกันไปจีบกันมา โดยอาศัยโลเคชั่นสมัยก่อน บรรยากาศยุคสมัยก่อน  การใช้บทพูดที่ออกแนวอ้อมค้อม หยอดนิด หยอกหน่อย  ทำให้เกิดอาการ "ฟินจิกหมอน" ของเหล่าคนดู โดยเฉพาะสาวๆจนหมอนขาดไปหลายใบ  จึงไม่แปลกว่า ทำไมคนดูถึงอินจนฟินตามได้อย่างไม่ยากเย็น

3. เพลงประกอบละครก็เป็นตัวสำคัญ  ต้องบอกเลยว่า เพลงประกอบหลัก 4 เพลง ซึ่งได้แก่  บุพเพสันนิวาส   เพียงสบตา  ออเจ้าเอย  และ เธอหนอเธอ  ไพเราะจับใจ และด้วยการนำเอาเครื่องดนตรีไทยมาประกอบ จึงทำให้บรรยากาศแห่งความรักของทั้งสองพระนางนั้น สวยงามชวนจิกหมอนยิ่งนัก  ไม่เพียงแค่ชมคนแต่งเพลงเท่านั้น  แต่ต้องชมคนใส่เสียงเพลงประกอบละครในแต่ละช่วงนั้น หลายๆครั้งมันทำให้หัวใจพองโต และขนลุกไปด้วยกันเลยทีเดียว

4. เป้าหมายหนึ่งของผู้แต่ง คือ การแสดงให้เห็นว่า เกศสุรางค์ในร่างการะเกด เอาความดี ชนะใจเหล่าผู้ที่เกลียดชังการะเกด   ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจบ่าวไพร่  การพูดจาและวางตัวที่สุภาพ  ความเพียรพยายาม  การแสดงอารมณ์สดใส ฟรุ้งฟริ้ง  ซึ่งต้องชื่นชมเบลล่า ที่เธอสามารถแสดงสิ่งเหล่านี้ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม จนคนดูเชื่อได้อย่างสนิทใจ
    อีกจุดหนึ่งที่เป็นสิ่งยืนยันได้ดี คือ ตอนที่เกศสุรางค์ในร่างแม่การะเกดรับโทษลงหวาย แล้วบ่าวทั้ง 2ของเธอก็เข้ามารับหวายแทน ถึง2 คราว เป็นซีนอารมณ์ที่เชื่อได้ว่าสร้างความสะเทือนใจ และสงสารนางเอกได้เป็นอย่างดี  

หันมาดู หนึ่งด้าวฟ้าเดียว กันบ้าง  ละครเรื่องนี้เป็นอย่างไร
1. ในความเห็นของผม  เป็นละครแนวสายลับ ปน สืบสวน ที่ใช้บุคคลและโลเคชั่นในยุคอยุธยาตอนปลาย(ใกล้เสียกรุง)  ร่วมกับ สอดแทรกเรื่องความรักชาติ  ซึ่งบอกได้เลยว่า แกนเรื่องนั้น ซีเรียส เพราะเกี่ยวพันกับการชิงดีชิงเด่น การฆาตกรรม ตีรันฟันแทง และการรบพุ่ง   แม้จะมีมุกตลกหยอดอยู่บ้าง แต่ก็ประปราย พอให้ยิ้มได้  เรื่องความฟินจิกหมอนของคู่พระนาง น่าจะน้อยในตอนนี้ เนื่องจาก พระเอกยังสวมรอยเป็นขันที และทั้งสองฝ่ายยังมีระยะห่างความสัมพันธ์กันอยู่ (แม้จะสนิทกันเพิ่มขึ้นก็ตาม)   และแม้ว่าภายหลังพระเอกจะเผยตัวว่าเป็นชายก็ตาม แต่เชื่อได้ว่า คงไม่ฟินจิกหมอนมากมายเหมือนกับ เรื่องบุพเพฯ  เพราะโดยนิสัยของพระเอก (ออกหลวงศรีขันทิน) ค่อนข้างเป็นคนจริงจัง และโดยอายุก็น่าจะแตกต่างจากนางเอก (แม่แมงเม่า) พอสมควร  ดังนั้นใครชอบดูละครแบบฟินๆจิกหมอน ไม่เครียด  สนุกสนาน ก็คงไม่น่าจะชอบเรื่องนี้

2. โดยลักษณะของละครจะเน้นการเล่น "กลบท" เอามาเป็นพล็อตหลักที่ใช้ซุกซ่อนสารลับ ซึ่งนอกจากจะต้องค้นหาที่ซ่อนสารลับแล้ว ยังต้องมาแก้กลบทอีกว่าสารลับนั้นระบุว่าอะไร  ซึ่งถ้าคนที่ชอบแก้ปริศนา ก็น่าจะชอบแนวนี้
    
    
     หลักใหญ่ของกลอักษร คือ ถอดตัวซ้ำ ย้ำเดินหน้า  ย้ำถอยหลัง  พ้องบังคับ  ครุ  ลหุ
    ซึ่งก็มีเทคนิคของกลอักษรได้หลายแบบ เช่น   กลอนกลอักษรคมในฝัก  กลอนกลอักษรงูกินหาง  กลอนกลอักษรนกกางปีก   กลอนกลอักษรคุลาซ่อนลูก   กลอนกลอักษรถอยหลังเข้าคลอง  กลอนกลอักษรม้าลำพอง  กลอนกลอักษรเมขลาโยนแก้ว  เป็นต้น  
    สามารถศีกษากลอักษรแต่ละแบบได้ตามลิงก์นี้นะครับ http://www.klonthaiclub.com/index.php?topic=3859.0

   เท่าที่ผมดูมา 3-4 ตอน ทำให้พอเข้าใจได้ว่า  การเล่นกลบทนั้น มี 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ  
    - การแก้กล นั่นคือ การหาความสัมพันธ์ของตัวใบ้ที่ให้มาเพื่อนำไปสู่ โคลงหรือกลอนที่ให้ไว้ 2 วรรคแรก
    - การแต่งกลอน หรือโคลง 2 วรรคที่เหลือ ให้เข้ากันได้กับ 2 วรรคแรกที่ให้มา
   การเล่นกลบท (หรือ กลอักษร) นั้น ผมว่ายาก  เพราะไม่ใช่แค่แก้กลเบื้องต้นเท่านั้น แต่ต้องแต่งโคลงกลอนให้เข้ากับโจทย์ที่ให้มาอีก แต่ต้องชื่นชมผู้สร้างละคร ที่สามารถอธิบายขยายความโจทย์ และวิธีแก้กลได้อย่างดี ทำให้คนดูเข้าใจตามได้ (ผมต้องดูซ้ำ 2-3 รอบกว่าจะเก็ต)

3. เพลงประกอบละคร  ก็ยังคงตามสไตล์ของทีวีซีน คือ ค่อนไปทางแนวปัจจุบันซะเยอะ  จริงๆก็ไพเราะนะ  แต่ผมว่ามันยังไม่ซึ้งเหมือนเพลงประกอบละครบุพเพฯ  แต่ถ้าพูดถึงเพลงบรรเลงประกอบช่วงที่ตื่นเต้น ลึกลับ หรือ ฮีกเหิม ต้องบอกว่า ทำได้ดี  เร้าอารมณ์ดีมากเลย


4. ด้วยธีมหลักของเรื่อง มุ่งประเด็นไปที่การสืบสวน  การต่อสู้  การรบเพื่อป้องกันบ้านเมือง  ดังนั้น เรื่องการชูประเด็นวัฒนธรรม จึงไม่เด่นชัดมากพอที่จะทำให้คนดูสนใจในประเด็นนั้น (แม้จะมีการสวมใส่ชุดไทย  การเล่นกลอักษร ก็ตาม)

5. ถ้าพูดถึงเรื่อง dialogue บทละครของทีวีซีนแต่ละเรื่องนั้น ต้องขอชื่นชมว่า สวยงามไพเราะ เข้าได้กับยุคสมัยนั้นจริงๆ  ซึ่งก็ต้องชมผลงานของคุณเอกลิขิต ที่เป็นขาประจำทำบทละครให้ทีวีซีน ตั้งแต่ ขุนศึก  ลูกทาส เรื่อยมา   ส่วนบทบู๊เนี่ย  ผมว่าทำได้ขึงขัง หนักแน่น สมจริง โดยเฉพาะเสือขุนทอง ฟันฉับๆแบบโหดๆตามแบบฉบับเฮียเต๋าสมชาย


โดยสรุปแล้ว  ด้วยการวิเคราะห์ต่างๆเหล่านี้ จึงน่าจะบอกได้ว่า  หนึ่งด้าวฟ้าเดียว  คงไม่ได้"ปัง" เรียกเรตติ้งถล่มทลาย สร้างกระแสต่อเนื่องเหมือน บุพเพฯ  แม้ว่าเรตติ้งเปิดตัว อาจจะสูงกว่า บุพเพฯ ก็ตาม
แต่ขอบอกเลยว่า  ละครพีเรียดของทีวีซีน  ตั้งแต่ ขุนศึก ลูกทาส  ข้าบดินทร์   เพชรกลางไฟ  มาจนถึง หนึ่งด้าวฟ้าเดียว เป็นละครน้ำดี ที่น่าดู   สนุก น่าติดตาม และให้ข้อคิดสอนใจมากมาย  แนะนำว่าควรดูอย่างยิ่งครับ [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่