เมื่อผู้ให้บริการคลาวด์อย่าง "Dropbox" เข้าตลาดหุ้น


"Dropbox" ได้เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น Nasdaq ที่สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ในช่วงเดือนที่ผ่านมาหลายคนอาจจะพอได้ยินกันมาอยู่บ้างสำหรับข่าวนี้ โดยตั้งแต่วันแรกที่เข้าตลาดราคาก็สูงขึ้นจนทำให้บริษัทมีมูลค่าตลาดพุ่งทะลุ 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว ทำให้ Drew Houston ผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัทในวัยเพียง 35 ปี มีความมั่งคั่งกว่า 63,000 ล้านบาทจากการถือหุ้นใน Dropbox ซึ่งหลายๆคนในพันทิปก็อาจจะลูกค้าเค้าอยู่เหมือนกันนะเพราะช่วยทำให้การทำงานสะดวกมากขึ้นจริงๆ

แล้ว "Dropbox" คืออะไรกันแน่ ?

Dropbox เป็นธุรกิจให้บริการฝากไฟล์และแชร์ไฟล์ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต (หรือที่เรารู้จักกันว่า คลาวด์) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 โดย Drew Houston และ Arash Ferdowsi


สำหรับตัว Houston เองนั้นสนใจด้านคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก และเป็นเซียนเกมที่ไฟแรงมากถึงขนาดที่ส่งอีเมลไปคอมเม้นท์เรื่อง Bug ในซอฟแวร์ของเกมที่เขาเล่นอยู่ จนทำให้เขาในวัย 14 ปี ได้รับการเสนองานจากบริษัทผู้พัฒนาเกม! อันนี้ถือว่า Houston เองก็เจ๋งมากๆ เลย จะมีเด็กสักกี่คนที่เจอ Bug แล้วส่งอีเมลล์แจ้งเพื่อที่จะแก้ไข หลายคนโตมาขนาดนี้เวลาเล่นเกมส์แล้วเจอ Bug ก็ช่างมัน ทนๆเล่นมันต่อไป (ฮ่า)

Houston เข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่ MIT ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆของโลก อาจจะเหมือนกับหลายคนที่เวลาทำงานก็จะเซฟไฟล์เข้า USB (และหลายคนอาจจะส่งไฟล์เข้าอีเมลอีกครั้งเพื่อความชัวร์ ฮ่า)

สมัย Houston เรียนที่ MIT เขาก็ทำเช่นนั้น แต่เขาดันชอบลืม USB อยู่บ่อยๆ ด้วยความหงุดหงิดที่ตัวเองขี้ลืมนั้น เขาจึงลุกขึ้นมาเขียนโค้ดฝากไฟล์ซะเองเลย! ทำให้บริษัทถือกำเนิดขึ้นภายใต้ไอเดียที่เจ๋งๆสุด ว่า ชีวิตมันคงจะง่ายขึ้นมากถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญในเวลาไหนก็ได้และบนเครื่องมืออะไรก็ได้ หลังจากนั้นก็กลายเป็นบริษัท Startup ที่มาแรงในเวลาต่อมา

ปฏิเสธเงินหลัก "ร้อยล้านดอลลาร์" เพื่อธุรกิจ "หลักพันล้าน" ในเวลาต่อมา
ภายหลังก่อตั้งบริษัทมาได้แค่ 2 ปี Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple ก็ขอพบ Houston เป็นการส่วนตัวเพื่อเสนอซื้อ Dropbox โดยให้ราคาสูงถึงหลักร้อยล้านดอลลาร์ แต่ Houston ตัดสินใจไม่ขาย โดยให้เหตุผลว่าเขายังสนุกกับการสร้างธุรกิจของตัวเองอยู่ ในเวลานั้นยังถูก Jobs ปรามาสไว้เลยว่า Dropbox นั้นไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นแค่ Feature เสริมเท่านั้น และยังขู่ด้วยว่า Apple นี่แหล่ะที่จะสร้างคลาวด์มาฆ่า Dropbox เอง (และสิ่งนั้นก็คือ iCloud นั่นเอง) แต่ผลลัพธ์จากการปฏิเสธ Apple ไปในวันนั้น ก็ทำให้ Dropbox ก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจหลักพันล้านดอลลาร์ในเวลานี้

แล้วรายได้ของ "Dropbox" มาจากไหน ?

Dropbox มีรายได้โตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2015 ทำไปได้ที่ 19,000 ล้านบาท ในปี 2016 โตขึ้นเป็น 26,600 ล้านบาท และปี 2017 รายได้ยังโตต่อไปที่ 35,000 ล้านบาท โตขึ้นจากปีที่แล้วถึง 31% แหน่ะ ซึ่งแม้ว่าหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจะยังมีผลขาดทุนสุทธิก็ตาม แต่รายได้ที่โตขึ้นแต่ละปีก็ทำให้ขาดทุนสุทธิลดลงเช่นกัน จากปี 2015 ที่มีผลขาดทุนสุทธิถึง 10,300 ล้านบาท เหลือเพียง 3,500 ล้านบาทในปีที่แล้ว ดูจะเป็นแนวโน้มที่ดี


แม้ว่าบริษัทจะทำรายได้โตขึ้นเรื่อยๆ แต่มีลูกค้าของ "Dropbox" แค่เพียง 2% เท่านั้นที่ยอมจ่ายเงินเพื่ออัพเกรดการใช้บริการ !
พูดง่ายๆ คือ Dropbox มีบัญชีผู้ใช้บริการทั้งหมดกว่า 500 ล้านบัญชีจาก 180 ประเทศทั่วโลก แต่มีเพียง 11 ล้านบัญชีเท่านั้นที่ยอมจ่ายเงินเพื่ออัพเกรดบริการรับฝากข้อมูล โดยผู้ใช้บริการ 1 ราย จ่ายค่าบริการเฉลี่ยรายละ 3,500 บาทต่อปี นอกนั้นเลือกที่จะใช้บริการฟรีเท่านั้น (ฮ่า) แต่พอมาดูแนวโน้มการเปิดบัญชีใหม่ตัวเลขก็ยังดีอยู่นะ โดยจากยอดรวม 500 ล้านบัญชีนั้น จำนวนกว่า 100 ล้านบัญชีเพิ่งสมัครใช้บริการในปี 2017 นี่เอง และกว่า 90% ของผู้ใช้บริการที่เสียเงินนี้ก็ยังเป็นผู้กด Subscription ด้วยตัวเองอีกด้วย อันนี้แตกต่างจากบริษัทที่ให้บริการคลาวด์ที่อื่นๆ ที่มักจะต้องพึ่งพาการขายของทีมเซลล์เป็นหลัก

โดย Dropbox เองมีการ Subscription ให้เลือกหลายรูปแบบตั้งแต่ระดับรายบุคคลไปจนถึงระดับองค์กร และกว่า 40% ของลูกค้าองค์กรก็ขยายฐานมาจากลูกค้ารายบุคคลที่ใช้บริการแล้วพอใจ ดังนั้นแล้วตัวเลขฐานบัญชีรายย่อยที่ Dropbox มีนี่แหละที่บริษัทเชื่อว่าจะนำมาซึ่งการ Subscription ระดับองค์กรอีกมากมายในอนาคต

แม้ว่าปัจจุบันตัวเลขผู้ใช้บริการที่ยอมเสียเงินจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วริบหรี่เหลือเกิน แต่ก่อนจะเริ่มเสียเงินเป็นสมาชิกกับอะไรสักอย่างเราก็อยากเริ่มจากใช้บริการฟรีก่อนทั้งนั้น ดังนั้น จากฟังก์ชั่นให้บริการฟรีเนี่ยแหล่ะที่น่าจะดึงผู้ใช้บริการให้ยอมจ่ายเงินได้ในอนาคต

ซึ่งปัญหานี้  Fintech แทบทุกที่ต้องเจอกันทั้งนั้นเลย เพราะเวลาที่เราก็เปิดให้ลูกค้าเข้ามาใช้ฟรีเพื่อหวังว่าเมื่อเค้าถูกใจก็จะยินดีจ่ายเงินเพื่อใช้บริการต่อ แต่หลายครั้งไม่ใช่แบบนั้น จังหวะที่เราเก็บค่าบริการแต่คู่แข่งยังฟรีอยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยว่าทำคนถึงย้ายไปหาคู่แข่งได้ง่ายดาย ส่วนตัวคิดว่าคำถามแรกที่ต้องตอบให้ได้ก่อนเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างก็คือ เราจะหาเงินจากธุรกิจนี้ได้ยังไงมากกว่า แค่พื้นฐานที่ว่าให้ชีวิตคนสบายขึ้น ง่ายขึ้น ยุคนี้มันไม่เพียงพอที่จะทำให้เรารอดจากสภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นแบบสุดๆในยุคปัจจุบัน

ที่มา บทความต้นฉบับ : https://goo.gl/uL7A1C

ติดตามเรื่องเล่าเข้าใจง่ายๆของ Money Buffalo ได้ที่
> Website : www.moneybuffalo.in.th
> Facebook : fb.com/moneybuffalo
> LINE : https://goo.gl/GAQxF8

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่