เรื่องสั้นวันพุธ (11 เม.ย. 61) : วันที่ป่องจะตัดผม

เรื่องสั้น..........................วันที่ป่องจะตัดผม
โดย....ลิอ่อง



          ป่องยังไม่ได้ตัดผม และ...คงจะยังไม่ได้ตัด

         ก็เพราะแผนการที่ชาวบ้านเคยร่วมกันออกแบบและวางขั้นตอนไว้ว่าจะสร้างศาลาวัดหลังใหญ่ให้เสร็จสมบูรณ์ บัดนี้ ถ้าเป็นแผ่นกระดาษก็เท่ากับถูกพับเก็บใส่ลิ้นชักเก่าๆ ไม่มีใครเหลียวแลอีกต่อไป ซ้ำร้ายกว่านั้นอาจถูกใครขยำลงถังขยะไปแล้วก็ไม่รู้ ขณะที่ป่องมันเคยตั้งใจไว้แน่วแน่มาตลอดว่า
“คะ-คะ-คอย หะ-ให้-ให้ ศาลาใหม่ สะ-สะ-เสร็จก่อน เคาะ-เคาะ-ค่อยตัดผม”

    ผู้คนในบ้านทุ่งสะเดา ทั้งคนเฒ่าคนแก่ วัยทำงาน หนุ่มสาว และลูกเด็กเล็กแดง ต่างคุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับ “ป่อง” หนุ่มผมยาววัยเกือบสี่สิบ ผิวคล้ำ ร่างสันทัด เดินขาเขยกข้างขวาเพราะความพิการ กับการพูดลักษณะคล้ายคนติดอ่าง เพราะเส้นประสาทบนใบหน้าพิการไปแถบหนึ่ง ทำให้เวลาพูดปากเบี้ยวผิดรูปและออกเสียงได้ลำบาก
    
         ด้วยลักษณะเส้นคิ้วหนา จมูกใหญ่ ริมฝีปากใหญ่ โครงหน้าเหลี่ยมเห็นสันกรามชัดเจน เมื่อบวกกับท่าทางการเคลื่อนไหวไม่ปกติ พูดจาไม่ชัด และผมเผ้าที่ยาวรุ่ยร่ายแม้จะรวบไว้ ก็ทำให้ป่องดูเหมือนคนที่ไม่น่าจะมีใครเข้าใกล้ ทว่า สำหรับชาวทุ่งสะเดาแล้ว กลับตรงกันข้าม เพราะหนุ่มพิการคนนี้เป็นเพียงชาวบ้านคนหนึ่งที่ไม่มีพิษมีภัยกับใคร
    
        ร่วมสิบปีมาแล้วที่ป่องมีชื่อในทะเบียนคนพิการ เที่ยวขี่จักรยานเร่หาของเก่าไปเก็บรวบรวมไว้ที่บ้าน ก่อนจะคัดแยกนำไปขาย กับเข้าไปช่วยทำความสะอาดภายในบริเวณวัดสะเดาแทบทุกวัน ทั้งลานวัด และรอบกุฏิสงฆ์

        ส่วนก่อนหน้านั้น ป่องคือเด็กชายบ้านทุ่งที่เกิดมาร่างกายสมประกอบดีทุกอย่างจนกระทั่งย่างเข้าวัยหนุ่ม เขาคือชายแข็งแรงบึกบึนคนหนึ่งที่สามารถทำงานได้ทุกชนิด ดังคำที่ว่า “หนักก็เอา เบาก็สู้” ตั้งแต่ออกจากโรงเรียนหลังจบประถม 6 เพราะความที่ไม่ชอบตำรับตำรา แต่อยากหาเงินด้วยลำแข้งตัวเอง ในแบบรับจ้างขายแรง สบายใจมากกว่า
  
         เจ้าหนุ่มหาเงินใช้เองตั้งแต่อายุยังไม่เต็มสิบห้าดี ทำได้สี่ปีก็เก็บเงินไปซื้อมอเตอร์ไซค์มือสองมาใช้คันหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจเดินเข้าไปเป็นลูกจ้างในโรงงานชำแหละไก่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มาตั้งอยู่ในเขตอำเภอข้างเคียง พร้อมกับเพื่อนวัยเดียวกันสามสี่คนที่ล้วนแต่เป็นชาวบ้านทุ่งสะเดาด้วยกันทั้งนั้น

          และทั้งที่ตั้งใจกับงานในหน้าที่อย่างดี แต่ป่องก็ไม่ต่างจากหนุ่มบ้านนอกทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ตัดญาติขาดมิตรกับเรื่องเหล้ายา ก่อนจะเซ่นสังเวยวัยเบญจเพสของตัวเองให้แก่มันในค่ำคืนหนึ่งที่ลมหายใจของเขามีแต่กลิ่นเหล้า ขณะที่ตัวควบถังมอเตอร์ไซค์คันเก่งพร้อมเพื่อนสนิทซ้อนท้าย-เจ้าถึก

         มอเตอร์ไซค์คู่ชีพของป่องแหกโค้งเข้าไปหากอไผ่ป่า ห่างจากทางเข้าหมู่บ้านทุ่งสะเดาไม่ถึงห้าร้อยเมตร ล้อบิดและยางแตกทั้งสองล้อ โดยมีร่างของคนขี่กับคนซ้อนท้ายนอนสลบไสลเกยกันอยู่ใกล้ๆ รถ เสื้อผ้าของเจ้าหนุ่มบ้านทุ่งทั้งคู่ชุ่มเลือดสีแดงคล้ำปนกลิ่นคาวติดจมูกบางคนที่รุดไปดูอาการของพวกเขา รวมทั้งผู้ใหญ่เทพจากบ้านทุ่งสะเดาในฐานะผู้ใหญ่บ้าน

         “ไอ้ป่องกับไอ้ถึก...เมา...มอไซค์อัดกอไผ่ เขาว่าสลบไปวันรึสองวัน” เสียงคนที่รู้ข่าวบอกต่อกัน

         “ไม่ตายดอก แต่คงพิการทั้งคู่มันน่ะแหละ ไอ้บ้าเอ๊ย” ผู้ใหญ่เทพบ่นในลำคอ ขณะเดินออกมาจากบ้านเจ้าป่องหลังจากเข้าไปส่งเอกสารรับรองบางอย่างให้คนในบ้าน

         เกือบสองเดือนที่ป่องกับถึกนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด ทั้งคู่กลายเป็นคนหนุ่มในอีกสภาพหนึ่งที่สะเทือนใจบรรดาญาติๆ ยิ่งนัก เพราะเส้นประสาทที่เสียไปทำให้สมองสั่งงานได้ไม่เหมือนเดิม คิดช้าลง พูดช้า และการเคลื่อนไหวค่อนข้างติดขัด เพียงแววตาเท่านั้นที่ยังเป็นสื่อบ่งความรู้สึกภายในได้ชัดเจนเสียยิ่งกว่าคำพูดใด

         ป่องนอนทอดอาลัยบนเตียงโรงพยาบาล น้ำตาคลอเมื่อแม่กับพ่อเข้ามาจับต้องเนื้อตัว ลูบหลังลูบไหล่

         “ไม่น่าเลยไอ้นาย เอ็งมันคนหนุ่ม เคยแข็งแรงดีแท้ๆ”


       หลังพ้นสภาพผู้ป่วยในจากโรงพยาบาล ทั้งป่องและถึกกลับเข้าบ้านของตัวเองด้วยความรู้สึกที่ไม่ต่างกัน วันคืนในช่วงแรกๆ ผ่านเลยไปพร้อมกับความหดหู่ ตึงเครียด คับข้อง และบอบช้ำในหัวอกของลูกผู้ชายที่เคยมีกำลังวังชาหาเลี้ยงคนในครอบครัวได้ สำหรับป่อง สถานที่เดียวที่เขานึกถึงและพาตัวเองเข้าไปหาก็คือ วัด

        วัดสะเดาอยู่คู่หมู่บ้านแห่งนี้มานับแต่พ่อแม่ของเขาเป็นเด็กน้อย ตั้งอยู่ฝั่งทิศเหนือของโรงเรียน ในเนื้อที่ขนาดสิบไร่ ด้านหลังมีสระใหญ่เรียงรายด้วยทิวมะพร้าวเก่าแก่ นอกจากโบสถ์เล็กๆ และเมรุเผาศพ  แล้ว มีกุฏิใหญ่ด้านหน้าทางเข้าวัดหลังหนึ่ง สร้างด้วยไม้ ใช้เป็นที่พำนักของพระสงฆ์ กับศาลาไม้หลังใหญ่เคียงต้นโพอายุเกือบร้อยปี ซึ่งเพิงถูกรื้อออกด้วยมติที่ประชุมหมู่บ้านเพื่อก่อสร้างใหม่เป็นอาคารปูนที่มั่นคงแข็งแรงได้ประมาณสองปี

         เมื่อป่องเดินเข้าไปในเขตพัทธสีมาวัดครั้งแรก อาคารปูนที่ว่าขึ้นโครงเสร็จแล้ว และเริ่มก่อสร้างไปอย่างไม่เร่งร้อนดังที่พระครูพรวิชิต เจ้าอาวาสวัดท่านว่า

        “งบประมาณเราไม่มีก็ค่อยทำไป ฉันแค่อาศัยนอนเท่านั้น ข้าวปลาก็มีพวกโยมถวายให้อยู่แล้ว”

        พระครูพรวิชิต หรือ “อาจารย์พร” ตามที่ชาวบ้านถนัดเรียก คือลูกหลานบ้านทุ่งสะเดาที่เข้ามาสู่สมณเพศแต่ครั้งเป็นสามเณรรุ่นหนุ่ม กระทั่งอุปสมบทเป็นภิกษุและได้ครองวัดในตำแหน่งเจ้าอาวาสที่มีสมณศักดิ์ชั้นพระครู และเจ้าคณะตำบล ด้วยลักษณะบุคลิกเป็นคนพูดน้อยแทบนับคำได้ ทั้งยังค่อนข้างเก็บตัว จึงทำให้ไม่ใคร่มีคนเข้าไปพบปะท่านนอกจากมีกิจนิมนต์ไปงานโดยตรง ขณะที่พระภิกษุอื่นซึ่งยังเหลือจำพรรษาอยู่ในวัดเวลานี้มีเพียงสามรูปเท่านั้น และล้วนแต่ชราภาพทั้งสิ้น วัดสะเดาจึงเป็นวัดเล็กๆ ที่ออกจะเงียบเหงา

        วันนั้น ท่านแลดูเจ้าป่องเดินโขยกเขยกเข้าไปหาด้วยความสงสัยเล็กน้อย ครั้นเจ้าหนุ่มเข้าไปกราบและบอกความในใจ สมณเจ้าก็พยักหน้ารับฟัง

        “ผะ-ผะ-ผม ผิดไปแล้วครับ ละ-ละ-หลวงพ่อ....ผม-ผม เมาเหล้า...กะ-กะ-กรรมเวรเลยตามสนอง..”

        เจ้าหนุ่มนั่งพนมมือพูดอย่างตั้งอกตั้งใจ เขาว่าอยากขอเข้าไปช่วยงานในวัดตามแต่ท่านจะมีกิจเรียกใช้ เมื่อได้ไถ่ถามถึงลักษณะความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต หลวงพ่อจึงสรุปความให้เจ้าหนุ่มเป็นผู้ดูแลความสะอาดบริเวณลานวัด เก็บรวบรวมและกำจัดขยะตามที่เห็นสมควร

        นั่นคือโลกใหม่ของป่องที่เขาได้เลือกแล้วด้วยตนเอง ขณะที่เจ้าถึกยังต้องใช้ชีวิตในบ้านกับพ่อของตัวและลูกสาวที่แม่ของเธอเลิกรากับเขาไปหลายปีก่อน

        “เกะ---เกะ-เก็บ-ขวดเปล่าไว้หะ-หะ-ให้ฉันดาเด้อ” ครั้งแรกๆ ป่องเที่ยวเดินร้องบอกตามบ้านเรือนตั้งแต่เลาะรั้ววัดมาจนถึงบ้านของตนเองอันรวมเป็นระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตร

        ภาพที่คุ้นตาใครต่อใครในบ้านทุ่งสะเดาในเวลาต่อมาก็คือ ป่องเดินกะโผลกกะเผลกจูงจักรยานบ้าง ถีบบ้าง และก้มลงเก็บขวดเปล่า ทั้งขวดพลาสติก ขวดแก้ว ก่อนจะใส่มันลงไปในถุงปุ๋ยเก่าๆ ที่มัดติดข้างอาน และหากมีกระดาษลังจากบรรดาร้านค้า เขาก็จะค่อยๆ รื้อรูปทรงเดิมออกเพื่อทำให้มันแบนราบและวางซ้อนกันเป็นแผง ใช้เชือกฟางมัดติดเบาะท้ายกลับไปบ้าน  

        บ้านของป่องอยู่ริมทางออกไปอำเภอ ติดกับสี่แยกที่มีร้านค้าของแห้ง พ่อของเขาปลูกต้นรางจืดเครือให้มันเลื้อยเป็นรั้วโดยรอบ สีม่วงหวานของดอกรางจืดกับใบที่เขียวเข้มจนเป็นมันเป็นของกำนัลทางสายตาให้แก่คนที่สัญจรผ่านไปมา และเมื่อแลเลยเข้าไปหลังรั้ว ก็จะเห็นถุงตาข่ายขนาดใหญ่ที่ภายในบรรจุขวดเปล่าพลาสติกหลากชนิดเป็นร้อยเป็นพันใบวางอยู่เคียงกับมัดกระดาษลังที่เรียงซ้อนกันไว้อย่างเป็นระเบียบบนลานดินรอบบ้านที่ป่องคอยเป็นพนักงานปัดกวาดเสียจนเตียนโล่งตา  

(ต่อกรอบล่าง)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่