มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกระทุ้งพาณิชย์-สาธารณสุข ขึ้นบัญชีควบคุม “บริการรักษาพยาบาล” จัดระเบียบ รพ.เอกชน ขึ้นบัญชียากว่า 1 พันรายการเป็นสินค้าควบคุม พร้อมกำหนดราคายา-ค่ารักษา-ค่าหัตถกรรม-ค่าวิชาชีพอย่างยุติธรรม และบริการฉุกเฉิน ชี้ค่าบริการ รพ.เอกชน แพงกว่า รพ.รัฐ 10 เท่าตัว
https://www.prachachat.net/general/news-140622
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกระทุ้งพาณิชย์-สาธารณสุข ขึ้นบัญชีควบคุม “บริการรักษาพยาบาล” จัดระเบียบ รพ.เอกชน ขึ้นบัญชียากว่า 1 พันรายการเป็นสินค้าควบคุม พร้อมกำหนดราคายา-ค่ารักษา-ค่าหัตถกรรม-ค่าวิชาชีพอย่างยุติธรรม และบริการฉุกเฉิน ชี้ค่าบริการ รพ.เอกชน แพงกว่า รพ.รัฐ 10 เท่าตัว
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกรมการค้าภายใน ให้เสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณามาตรการกำกับดูแลการกำหนดราคาค่ารักษาพยาบาลเป็นธุรกิจบริการในบัญชีควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน ทั้งนี้ การยื่นหนังสือครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2558 หลังจากนี้เตรียมจะยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงสาธารณสุขในสัปดาห์หน้า
จี้คุมราคายากว่า 1 พันรายการ
“คณะกรรมการเพียงติดตามให้ขายยาไม่เกินฉลากราคาข้างขวด แต่ประเด็นอื่นไม่คืบหน้า ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะปัญหาที่พบเรื่องนี้เป็นเรื่องการกำหนดราคาแพงไม่สอดคล้องกับต้นทุน ที่ผ่านมามูลนิธิได้รับร้องเรียนจากคนไข้รายหนึ่งที่ไปผ่าตัดเส้นประสาทคอ ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ได้แจ้งอัตราค่ารักษาพยาบาล 5 แสนบาท ขณะที่โรงพยาบาลอีกแห่งรักษาโดยแพทย์คนเดียวกันแจ้งราคาเพียง 4.3 แสนบาท ทั้งที่ยังไม่ได้ต่อรองราคาเลย สะท้อนว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการแข่งขันด้านราคา ผู้ป่วยตัดสินใจไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งที่ 2 แต่ปรากฏว่าแพ้ยา ทำให้ค่ารักษาพยาบาลพุ่งจาก 4.3 เป็น 7 แสน ต้องติดหนี้ ทำให้โรงพยาบาลฟ้องผู้ป่วย”
สำหรับแนวทางการดูแลราคาการรักษาพยาบาล ทางมูลนิธิขอให้ควบคุมราคายากว่า 1,000 รายการ ที่ใช้ในบริการฉุกเฉิน เพราะยากลุ่มนี้เป็นยาที่โรงพยาบาลเอกชนยอมรับ, ค่าวิชาชีพ ค่าหัตถการที่ต้องดูแล โดยกรมการค้าภายในสามารถใช้ข้อมูลโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาพยาบาล จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ, สำนักงานประกันสังคม หรือกรมบัญชีกลางมาปรับใช้ได้
รพ.รัฐ-เอกชนราคาต่าง 10 เท่า
พร้อมกันนี้ ขอให้กำหนดขอบเขตนิยามการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉิน (กล่องสีแดง) ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 กำหนดว่าโรงพยาบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษา แต่ปรากฏว่าผู้ป่วยที่ประเมินว่าอาการตัวเองฉุกเฉินแล้วเข้าไปรักษา กลับกลายเป็นว่าโรงพยาบาลจัดว่าผู้ป่วยรายนั้นไม่ได้มีอาการฉุกเฉิน (กล่องสีส้ม) นั่นคือ ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาเองในระดับราคาที่โรงพยาบาลกำหนด
นางสาวสารีกล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ใช้กลไกที่มีอยู่กำกับดูแลค่ารักษาพยาบาล อาจเกิดผลกระทบต่อระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ และระบบประกันสังคม เพราะเมื่อค่ารักษาราคาสูง ยิ่งทำให้หมอ พยาบาลย้ายเข้าทำงานในโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า บริการด้านสาธารณสุข เป็นบริการเชิงคุณธรรม ภาครัฐควรจะเข้าไปกำกับดูแล คล้ายกับสินค้ากลุ่มผ้าอนามัย ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นถูกจัดอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม
“เพราะบริการนี้เป็นบริการเชิงคุณธรรม ผู้ป่วยต้องขายที่ขายบ้านมารักษาพยาบาล ราคาค่ารักษาโรงพยาบาลรัฐและเอกชนต่างกัน 10 เท่า รัฐต้องฟังเหตุผลความจำเป็นทั้งสองฝ่าย ต้องช่วยสร้างความเป็นธรรม โรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่ต้องทำกำไรแต่ต้องถ่วงดุลกับความมีมนุษยธรรมด้วย ตอนนี้เกิดการโยนกันไปมาระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข คนเดือดร้อนคือประชาชน”
ด้านนางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ต้องการผลักดันให้มีการตั้งวงหารือเรื่องนี้ เหมือนกรณีร้องเรียนเรื่องอาหารแพงไข่เจียวปูจานละ 1,000 บาทแพง กรมยังไปดู แต่ค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าเป็นล้านควรต้องดูแลเช่นกัน และที่ผ่านมา กกร.มีการประชุมใหญ่ปีละ 1 ครั้งทำงานอย่างนี้ไม่ทันกิน โลกเปลี่ยนไป 4.0 แล้ว
พาณิชย์รับลูกเตรียมหารือ
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน หลังจากนี้จะทำหนังสือประสานงานเรื่องนี้ไปยังกระทรวงสาธารณสุขว่าหากเสนอให้กำหนดเป็นธุรกิจบริการควบคุม
สาเหตุที่ผ่านมาค่ารักษาพยาบาลยังไม่กำหนดเป็นบริการควบคุม เพราะโดยทั่วไปการกำหนดรายการสินค้าหรือบริการควบคุมจะต้องเสนอ กกร. ขณะนี้จึงมีการกำกับดูแลตามประกาศ กกร. ฉบับที่ 50/2560 ที่กำหนดให้แสดงราคาสินค้าบริการไว้ในที่เปิดเผยชัดเจน หรือทำเป็นเอกสารหรือเว็บไซต์ของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบค่ายา ค่ารักษาและตัดสินใจใช้บริการได้
ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขก็กำกับดูแลโดยอาศัย พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการสถานพยาบาลจะต้องแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการ และสิทธิของผู้ป่วยที่สถานพยาบาล หากไม่แสดงมีบทลงโทษกำหนด ปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งในทางปฏิบัติแต่ละโรงพยาบาลจะแจ้งอัตราค่าบริการเบื้องต้นให้ผู้รับบริการทราบ
“เดิมเมื่อเกิดปัญหาค่ารักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลราคาแพง และมีคณะกรรมการดำเนินงานแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ไปร่วม มีหน้าที่ดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของทั้งภาครัฐและเอกชน มีอัตราค่ารักษาพยาบาลแต่ละโรคเบื้องต้นแจ้งไว้ ยกเว้นค่าบริการฉุกเฉินทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าฉุกเฉินเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ที่ผ่านมาเคยหารือเรื่องนี้มาหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2558 แต่ไม่ได้ส่งเรื่องมาให้กำหนดเป็นบริการควบคุม อย่างไรก็ตาม การขึ้นบัญชีควบคุมมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ต้องขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายด้วย”
รพ.เอกชนขู่เลือกรับคนไข้
รายงานข่าวระบุว่า เคยมีการหารือประเด็นการกำหนดราคารักษาพยาบาลกับทางโรงพยาบาลเอกชนแล้ว แต่โรงพยาบาลเอกชนให้ความเห็นว่าหากกำหนดราคาแล้วรักษาไม่ได้ตามราคานั้น อาจต้องปิดกิจการ หรืออาจต้องตั้งข้อกำหนด “เลือกรับคน” เช่น รับคนต่างชาติอย่างเดียว เพราะโรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกสำหรับประชาชน แนวทางของโรงพยาบาลเอกชนอาจจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน
คุมค่าบริการ รพ.เอกชน
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้