หมออังกฤษเยือนถิ่นเก่าแม่สะเรียง ย้อนอดีต 40 ปี ลูกชายคนเล็กเกิดที่นี่

สามคนพ่อลูกชาวอังกฤษตระกูลแมนเซอร์ (Manser) มาเยือนแม่สะเรียงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ที่ผ่านมา น่าสนใจตรงที่ว่า หมอเอ็ด แมนเซอร์ผู้พ่อ (คนซ้าย) เคยเป็นหมออยู่ที่แม่สะเรียงเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ลูกชายคนโต (คนกลาง) ดร.เอ็ดเวิร์ด แมนเซอร์ โตที่เมืองไทยและวิ่งเล่นอยู่แม่สะเรียงตั้งแต่เด็ก ส่วนลูกชายคนเล็ก เพียรส์ แมนเซอร์ (คนขวา) อายุ 42 เกิดที่แม่สะเรียงในปี 1975 และในพาสปอร์ตของเขาก็ระบุที่เกิดว่า “MAE SARIANG” (แม่สะเรียง) ด้วย


ด้วยความอยากรู้อยากเห็นและที่คิดว่าไม่น่าเชื่อที่จะมีฝรั่งมาเกิดที่แม่สะเรียงเมื่อ 40 ปีก่อนได้ เราจึงเริ่มคุยกับครอบครัวแมนเซอร์ที่มาพักที่ริเวอร์เฮ้าส์โฮเท็ล (บ้านไม้) ของเราถึง 4 คืน สรุปว่าเมื่อปีที่แล้ว (2017) ภรรยาและลูกชายคนกลางของคุณหมอเอ็ดเสียชีวิต ทั้งครอบครัวจึงเหลือเพียงสามหนุ่มที่ชวนกันมารื้อฟื้นความหลัง โดยเฉพาะของผู้เป็นพ่อ

เพียรส์ แมนเซอร์ ลูกชายคนเล็ก ถึงแม้จะเกิดที่นี่แต่ไม่เคยรู้เลยว่าแม่สะเรียงเป็นอย่างไร เพราะครอบครัวย้ายกลับอังกฤษตั้งแต่เขา 2 ขวบ เพียรส์บอกว่ารู้สึกประหลาดใจกับสิ่งที่เห็น แม่สะเรียงและพื้นที่แถวนี้เป็นเหมือนอีกโลกหนึ่งสำหรับเขา ขณะที่แมนเซอร์ผู้พ่อที่ตอนนี้อายุ 80 ปี สมัยก่อนเป็นมิชชันนารี ลงเรือจากอังกฤษพร้อมครอบครัวในปี 1966 ใช้เวลาเดินทางเป็นเดือนผ่านทางคลองสุเอซ (ประเทศอียิปต์) ก่อนจะมาขึ้นเรือที่สิงคโปร์ และจับรถไฟต่อมาไทยตามลำดับ ช่วงปีแรกๆ คุณหมอเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์และทั้งคุณหมอและภรรยาก็ได้เรียนภาษาไทย จากนั้นครอบครัวย้ายไปอยู่ที่กาญจนบุรี ทำงานในหมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งหนึ่งแถวแม่น้ำแควน้อย ก่อนจะย้ายมาเป็นหมออยู่แม่สะเรียง ทั้งนี้ลูกชายคนที่สองของหมอเกิดที่เมืองกาญจน์และพิการเป็นโรคศีรษะเล็ก (microcephaly) โดยมีกลุ่มผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านคอยช่วยดูแล

แรกเริ่มเดิมทีองค์การสหประชาชาติอยากจ้างหมอเอ็ดมาประจำที่แม่สะเรียงเพื่อสอดส่องเรื่องการปลูกฝิ่นในพื้นที่เพราะเขาพูดไทยได้ แต่คุณหมอปฏิเสธและเกรงถึงความเสี่ยงที่ว่าคนท้องถิ่นอาจไม่เชื่อใจหมอและกลัวว่าตัวเองจะตกเป็นเป้าของกลุ่มค้ายา อย่างไรก็ตาม สุดท้ายหมอเอ็ดและครอบครัวได้ย้ายมาประจำอยู่ที่โรงพยาบาลคริสเตียน ถ.แหล่งพาณิชย์ อ.แม่สะเรียง ในปี 1972 (ถนนเส้นเดียวกับริเวอร์เฮ้าส์โฮเท็ล) โรงพยาบาลนี้บริหารจัดการโดยกลุ่มมิชชันนารีและปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์คริสเตียนเพื่อพัฒนาผู้พิการไปแล้ว (The Christian Center for the Development of People with Disabilities - CDPD)

หมอเอ็ดเล่าว่าสมัยก่อนแม่สะเรียงและพื้นที่โดยรอบยังคงปลูกฝิ่น ถนนแทบไม่มี และต้องอาศัยการเดินเท้าไปยังสถานที่ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น จากอ.แม่สะเรียงไปอ.แม่ลาน้อย ปัจจุบันขับรถประมาณครึ่งชั่วโมง แต่เมื่อก่อนต้องเดินเท้ากันเป็นวัน มาครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กลับมาในรอบ 40 ปี หมอเอ็ดบอกว่าตัวเมืองแม่สะเรียงเปลี่ยนไปมาก มีถนน และเจริญเลยทีเดียว (เหรอคะหมอ) คุณหมอเล่าให้ลูกชายทั้งสองฟังว่า พออยู่เมืองไทยมาหลายปีและพอกลับไปอังกฤษใหม่ๆ คุณหมอและภรรยาถึงกับต้องเผชิญกับ culture shock หรือสภาวะช็อคทางวัฒนธรรม กันเลยทีเดียว

ตอนนั้นที่คุณหมอมาอยู่แม่สะเรียง โรคพิษสุนัขบ้ากำลังระบาด ชาวบ้านและชาวเขาติดโรคกันเยอะ การรักษาเดิมทีต้องใช้ 21 เข็ม ซึ่งไม่สะดวกกับความเป็นจริงเพราะชาวเขาส่วนมากไม่สามารถกลับมารักษาได้ทันตามกำหนดจนเสียชีวิตกันมาก ภายหลังหมอจึงค้นคว้าทดลองการรักษาให้ลดลงเหลือเพียง 3 เข็ม 3 วัน (human diploid cell vaccine) เพื่อรักษาชีวิตผู้คนได้มากขึ้น ขณะที่ตัวหมอต้องคอยไล่ยิงหรือวางยาพิษสุนัขเป็นจำนวนมากและส่งหัวสัตว์เหล่านี้ไปตรวจที่เชียงใหม่ว่ามีอะไรผิดปกติในสมองพวกมัน หมอเล่าว่าวันหนึ่งส่งหัวหมาไปกับคนรถที่ไปเชียงใหม่แต่คนรถดันลืมเอาหัวหมาลงจากรถ จนมันส่งกลิ่นเหม็นเน่าคลุ้งกันเลยทีเดียว

ประเด็นคือ ตอนนี้หลายคนคงสงสัยว่าแล้วตอนแรกสุดเลย ทำไมหมอเอ็ดจึงคิดพาครอบครัวลงเรือมาเมืองไทย อันนี้ดิฉันก็คงจะต้องขอตอบเองตามการสังเกตที่มีมาคือ คนผิวขาวมักมีสัญชาติญาณของนักเดินทางอยู่ในตัวตั้งแต่ประวัติศาสตร์แล้วและไม่เคยหวั่นไม่ว่าเส้นทางข้างหน้าแห่งการผจญภัยจะเป็นอย่างไร (แบบ “ฟอลคอน” เลยยยย)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่