“ปอยส่างลอง” ขึ้นทะเบียนมรดกไทย สะท้อนวิถีพุทธแม่ฮ่องสอน

ทุกปีช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ทุกอำเภอในจ.แม่ฮ่องสอน (ยกเว้นสบเมย) จะจัดงานปอยส่างลอง หรือ ประเพณีบวชสามเณร ที่เป็นการสืบทอดทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวไทใหญ่ที่ปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคนและครั้งละนาน 3-4 วัน


ความเป็นมาที่แท้จริงของประเพณีนี้ยังไม่สรุปแน่ชัด แต่ที่ชัดคือเป็นการจำลองเรื่องราวมาจากพุทธประวัติที่บันทึกไว้ในวรรณกรรมไทใหญ่ โดยคำว่า “ปอยส่างลอง” เป็นภาษาไทใหญ่ ‘ปอย” แปลว่า “งาน” “ส่าง” แปลว่า “สามเณร” และ “ลอง” มาจากคำว่า “อลอง” ที่แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่เหนือมนุษย์” หรือ “ผู้เป็นหน่อเนื้อของผู้มีบุญ” เทียบเท่ากับ “หน่อพุทธางกูร” นั่นเอง งานนี้จะมีเจ้าภาพใหญ่ที่รับอุปถัมภ์ส่างลอง ซึ่งอาจจะรับทั้งหมดหรือรับเพียงจำนวนหนึ่งแบบแบ่งกันเป็นเจ้าภาพก็ได้



หลายคนคงสงสัยว่าทำไมส่างลองต้องขี่คอพี่เลี้ยง (ภาษาไทใหญ่เรียกพี่เลี้ยงว่า “ตะแปงส่างลอง”) นั่นเป็นเพราะผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรเปรียบเหมือนหน่อพุทธางกูรที่มีบุญบารมีสูง จึงต้องมีคนดูแลตลอด ตั้งแต่อาบน้ำจนแต่งองค์ทรงเครื่อง พาไปที่ต่างๆ



ปีพ.ศ. 2561 ประเพณีปอยส่างลองได้รับการขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (intangible national heritage) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพราะเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นที่จ.แม่ฮ่องสอน จังหวัดเดียวของไทย งานนี้ริเวอร์เฮ้าส์โฮเท็ล (บ้านไม้) ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจจากกลุ่มนักวิชาการจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมที่มาพักกับเราในช่วงประเพณีด้วย   



สาเหตุที่กรมฯ เลือกมาสำรวจงานปอยส่างลองที่แม่สะเรียงเพราะแม่สะเรียงมีจำนวนส่างลองมากถ้าเทียบกับในอ.เมืองแม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ ชุมชนยังมีส่วนร่วมชัดเจน และแม่สะเรียงก็อยู่ไม่ไกลเกินไปและคนก็ไม่มากจนเกินไปด้วย บางคนอาจแย้งว่าเคยเห็นสามเณรที่บวชและแต่งหน้าแต่งตัวอย่างนี้เหมือนกัน อย่างในเชียงใหม่หรือลำพูน แต่นักวิชาการกรมส่งเสริมวัฒนธรรมชี้แจงว่า อย่างนั้นเขาเรียก “การบวชเณรลูกแก้ว” ซึ่งแม้จะมีพิธีคล้ายกันแต่ระยะเวลาสั้นกว่า


สำหรับการขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรมจะประกาศ 18 รายการทั่วประเทศ รายการเหล่านี้มีเพื่อที่ประเทศไทยจะได้ขอยื่นต่อยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อไป ซึ่งไทยมีรายการที่เตรียมยื่นไว้แล้วสองรายการ ได้แก่ “โขน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ “การนวดแผนไทย” เพราะสามารถนำไปใช้บำบัดและรักษาโรคได้จริงเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ


หลังจากที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ขึ้นทะเบียนรายการต่างๆ ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้ว ในระดับต่อไปต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากชุมชนท้องถิ่น ว่าต้องการชูวัฒนธรรมของตนให้โลกได้รับรู้ชื่นชมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด    

  
(สนับสนุข้อมูลโดยนักวิชาการ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม / ขอบคุณภาพถ่ายบางส่วนจากดร.สุชาติ คณานนท์)

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่