ภาพจำของ “คนญี่ปุ่น” ในสายตาโลกตลอดมา คือชาวเอเชียผิวขาว ใบหน้าจิ้มลิ้ม ท่าทางนอบน้อม ทั้งยังมีวัฒนธรรมวินัยที่แข็งแกร่ง แต่ในวันนี้ ด้วยการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเสรีมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ประชากรซึ่งอาศัยร่วมกันในประเทศญี่ปุ่นเอง ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปทีละน้อย
ในปี 1989 ประเทศญี่ปุ่นมีประชากรต่างชาติเพียง 980,000 คนเท่านั้น หากแต่ผ่านมาได้ราว 3 ทศวรรษ ตัวเลขกลับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.47 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงระยะหลัง ๆ ที่จำนวนการเกิดของประชากรญี่ปุ่นลดลงอย่างน่าใจหาย
นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า ในบริเวณชานเมือง หรือชนบทบางแถบของญี่ปุ่น และเป็นเมืองที่เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม อย่างเช่น “มิเอะ” เริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งชาวฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย รวมไปถึงชาวตะวันตก เช่น โปรตุเกส และชาวสเปน
“โรงเรียนประถมเคอิวะ” โรงเรียนแห่งหนึ่งในทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดมิเอะ มีนักเรียนราว 250 คน กว่าครึ่งหรือหนึ่งร้อยกว่าคน เป็นนักเรียนที่ไม่ได้มี “เชื้อชาติญี่ปุ่น” หรือเป็น “ลูกครึ่งญี่ปุ่น” แม้ว่าที่บ้านของพวกเขาจะพูดภาษาอื่นที่แตกต่างกันไป แต่เมื่ออยู่ที่โรงเรียน เด็ก ๆ สามารถพูดภาษา “ญี่ปุ่น” ได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่มีสะดุด และไม่รู้สึกแปลกแยกในสังคมญี่ปุ่นแต่อย่างใด
ภาพของโรงเรียนแห่งนี้ได้สะท้อนสังคมแห่งความแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ครั้งหนึ่งโรงเรียนเคอิวะเคยประสบปัญหาขาดแคลนนักเรียน ท่ามกลางสถานการณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว จำนวนเกิดลดลง คนอายุยืนขึ้น หลาย ๆ ชุมชนในชนบทต้องสลายตัวเนื่องจากไม่มีผู้อยู่อาศัย แต่กลับกลายเป็นว่า เมื่อแรงงานข้ามชาติย้ายเข้ามาตั้งรกรากในแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ พวกเขาทำให้ชุมชนและโรงเรียนคึกคัก มีชีวิตชีวาขึ้น
ในปี 2017 มีชาวต่างชาติย้ายเข้ามาอยู่ในมิเอะ 5,999 คน เมื่อเทียบกับกรุงโตเกียว ที่มีเพียง 5,907 คน ขณะที่ในทุกปี หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ ย้ายเข้ากรุงโตเกียวราว 100,000 คน เพื่อหางานทำหรือศึกษาต่อ ทิ้งให้บ้านเกิดเงียบเหงาลงเรื่อย ๆ
เช่นเดียวกับจังหวัดกิฟุ และชิงะ ซึ่งอยู่ติดกับมิเอะ ในปี 2017 มีผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นกว่า 80% จากปีก่อนหน้า ถึงขนาดมีบริษัทนายหน้าขายบ้านแห่งหนึ่งในกิฟุ ที่หันมาทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกับชาวละตินอเมริกาที่เข้ามาทำงานในโรงงานโซนี่ในเมืองมิโนคาโมะ บริษัทนายหน้าแห่งนี้ช่วยเหลือ หาช่องทางให้ผู้ที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นให้ซื้อบ้านได้ภายใน 5 ปี
ขณะที่ชาวญี่ปุ่นเองก็ต้อนรับชาวต่างชาติมากขึ้น “โทชิยูกิ ชิรากิ” เจ้าของบริษัทนายหน้าชันโชว์ อินดัสตรี้ ให้สัมภาษณ์ว่า “หากเป็น 5 ปีที่แล้ว การที่ชาวละตินอเมริกัน พยายามจะลงหลักปักฐานในชุมชนญี่ปุ่นนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ยังไงก็โดนต่อต้านแน่ ๆ แต่ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นก็ดูจะต้อนรับมากขึ้น แม้ว่าชาวต่างชาติจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมหรือระเบียบวินัยชาวญี่ปุ่นอีกมากก็ตาม เช่น วิธีการแยกขยะ เป็นต้น”
ในระดับชาติเอง นายกรัฐมนตรี”ชินโซ อาเบะ” ก็ได้ประกาศนโยบายรับแรงงานเพิ่ม ทั้งแรงงานระดับล่าง เพื่อสานต่องานด้านการก่อสร้าง ที่ขาดแคลนคนงานหนัก ตลอดจนแรงงานหัวกะทิ ในเดือนที่แล้ว อาเบะระบุว่ากำลังออกแผนปฏิรูปประเทศใหม่ในเดือนนี้ โดยมีเรื่องการดึงแรงงานต่างชาติเข้าประเทศเพิ่มด้วย แม้ว่าจะยังไม่ได้ให้สถานะพลเมือง และจำกัดช่วงเวลาการอยู่อาศัยก็ตาม
ปัจจุบันชาวต่างชาติในญี่ปุ่นคิดเป็นราว 2% จากประชากร 127 ล้านคน แต่ในบางเมืองและบางจังหวัด สัดส่วนชาวต่างชาติ มากถึง 5% เช่น เมืองโออิซูมิ และ 17% ในจังหวัดกุนมะ ขณะเดียวกัน หลายท้องถิ่นก็เริ่มมองเห็นถึงความสำคัญของการเข้ามาของชาวต่างชาติ ที่สามารถเข้ามาทดแทนรายได้ท้องถิ่น ตลอดจนแรงงานที่หายไป หลาย ๆ โรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าวก็เริ่มหันมาจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อชาวต่างชาติ เพื่อดึงให้ชาวต่างชาติส่งลูกมาเรียน อย่างสมาคมแลกเปลี่ยนแห่งหนึ่งในจังหวัดมิเอะเอง ก็ออกหนังสือเรียนสำหรับสอนชาวต่างชาติ ชื่อว่า “มิเอโกะ ซาน โนะ นิฮนโกะ” สำหรับระดับประถมและมัธยมต้นเพื่อใช้ในการสอนในห้องเรียน
กล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นในปัจจุบัน จากที่เคยเป็นชาตินิยมมาก่อน ได้กลายเป็นสังคมมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับราว 70 ปีที่แล้ว ซึ่งมีชาวต่างชาติเพียง 6 แสนคนเท่านั้น และชาวต่างชาติที่ว่า ไม่ใช่เพียงกระจุกตัวในหัวเมืองใหญ่ แต่กระจายไปตั้งแต่เมืองเล็ก ๆ เหนือจดใต้
นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมญี่ปุ่นมองว่า ประเทศญี่ปุ่นได้เปิดรับ และคุ้นเคยกับชาวต่างชาติมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้มาใหม่จากภายนอกประเทศ ก็ได้เข้ามาทดแทนฟันเฟืองที่หายไป และช่วยต่อลมหายใจให้หลายชุมชนที่ใกล้ร้าง ให้กลับมามีความเคลื่อนไหวมากขึ้น
จึงไม่แน่ว่าสภาพการณ์ญี่ปุ่นปัจจุบัน ที่รัฐบาลเร่งดึงแรงงานนอกประเทศเข้ามา อาจทำให้ญี่ปุ่นในอนาคต กลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย เหมือนหลาย ๆ ประเทศในตะวันตกก็เป็นได้
ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/foreign-soft-news/news-135559
ต่างชาติแห่ตั้งรกราก “ชนบทญี่ปุ่น” ต่อลมหายใจชุมชนใกล้ตาย
ภาพจำของ “คนญี่ปุ่น” ในสายตาโลกตลอดมา คือชาวเอเชียผิวขาว ใบหน้าจิ้มลิ้ม ท่าทางนอบน้อม ทั้งยังมีวัฒนธรรมวินัยที่แข็งแกร่ง แต่ในวันนี้ ด้วยการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเสรีมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ประชากรซึ่งอาศัยร่วมกันในประเทศญี่ปุ่นเอง ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปทีละน้อย
ในปี 1989 ประเทศญี่ปุ่นมีประชากรต่างชาติเพียง 980,000 คนเท่านั้น หากแต่ผ่านมาได้ราว 3 ทศวรรษ ตัวเลขกลับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.47 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงระยะหลัง ๆ ที่จำนวนการเกิดของประชากรญี่ปุ่นลดลงอย่างน่าใจหาย
นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า ในบริเวณชานเมือง หรือชนบทบางแถบของญี่ปุ่น และเป็นเมืองที่เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม อย่างเช่น “มิเอะ” เริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งชาวฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย รวมไปถึงชาวตะวันตก เช่น โปรตุเกส และชาวสเปน
“โรงเรียนประถมเคอิวะ” โรงเรียนแห่งหนึ่งในทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดมิเอะ มีนักเรียนราว 250 คน กว่าครึ่งหรือหนึ่งร้อยกว่าคน เป็นนักเรียนที่ไม่ได้มี “เชื้อชาติญี่ปุ่น” หรือเป็น “ลูกครึ่งญี่ปุ่น” แม้ว่าที่บ้านของพวกเขาจะพูดภาษาอื่นที่แตกต่างกันไป แต่เมื่ออยู่ที่โรงเรียน เด็ก ๆ สามารถพูดภาษา “ญี่ปุ่น” ได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่มีสะดุด และไม่รู้สึกแปลกแยกในสังคมญี่ปุ่นแต่อย่างใด
ภาพของโรงเรียนแห่งนี้ได้สะท้อนสังคมแห่งความแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ครั้งหนึ่งโรงเรียนเคอิวะเคยประสบปัญหาขาดแคลนนักเรียน ท่ามกลางสถานการณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว จำนวนเกิดลดลง คนอายุยืนขึ้น หลาย ๆ ชุมชนในชนบทต้องสลายตัวเนื่องจากไม่มีผู้อยู่อาศัย แต่กลับกลายเป็นว่า เมื่อแรงงานข้ามชาติย้ายเข้ามาตั้งรกรากในแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ พวกเขาทำให้ชุมชนและโรงเรียนคึกคัก มีชีวิตชีวาขึ้น
ในปี 2017 มีชาวต่างชาติย้ายเข้ามาอยู่ในมิเอะ 5,999 คน เมื่อเทียบกับกรุงโตเกียว ที่มีเพียง 5,907 คน ขณะที่ในทุกปี หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ ย้ายเข้ากรุงโตเกียวราว 100,000 คน เพื่อหางานทำหรือศึกษาต่อ ทิ้งให้บ้านเกิดเงียบเหงาลงเรื่อย ๆ
เช่นเดียวกับจังหวัดกิฟุ และชิงะ ซึ่งอยู่ติดกับมิเอะ ในปี 2017 มีผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นกว่า 80% จากปีก่อนหน้า ถึงขนาดมีบริษัทนายหน้าขายบ้านแห่งหนึ่งในกิฟุ ที่หันมาทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกับชาวละตินอเมริกาที่เข้ามาทำงานในโรงงานโซนี่ในเมืองมิโนคาโมะ บริษัทนายหน้าแห่งนี้ช่วยเหลือ หาช่องทางให้ผู้ที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นให้ซื้อบ้านได้ภายใน 5 ปี
ขณะที่ชาวญี่ปุ่นเองก็ต้อนรับชาวต่างชาติมากขึ้น “โทชิยูกิ ชิรากิ” เจ้าของบริษัทนายหน้าชันโชว์ อินดัสตรี้ ให้สัมภาษณ์ว่า “หากเป็น 5 ปีที่แล้ว การที่ชาวละตินอเมริกัน พยายามจะลงหลักปักฐานในชุมชนญี่ปุ่นนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ยังไงก็โดนต่อต้านแน่ ๆ แต่ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นก็ดูจะต้อนรับมากขึ้น แม้ว่าชาวต่างชาติจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมหรือระเบียบวินัยชาวญี่ปุ่นอีกมากก็ตาม เช่น วิธีการแยกขยะ เป็นต้น”
ในระดับชาติเอง นายกรัฐมนตรี”ชินโซ อาเบะ” ก็ได้ประกาศนโยบายรับแรงงานเพิ่ม ทั้งแรงงานระดับล่าง เพื่อสานต่องานด้านการก่อสร้าง ที่ขาดแคลนคนงานหนัก ตลอดจนแรงงานหัวกะทิ ในเดือนที่แล้ว อาเบะระบุว่ากำลังออกแผนปฏิรูปประเทศใหม่ในเดือนนี้ โดยมีเรื่องการดึงแรงงานต่างชาติเข้าประเทศเพิ่มด้วย แม้ว่าจะยังไม่ได้ให้สถานะพลเมือง และจำกัดช่วงเวลาการอยู่อาศัยก็ตาม
ปัจจุบันชาวต่างชาติในญี่ปุ่นคิดเป็นราว 2% จากประชากร 127 ล้านคน แต่ในบางเมืองและบางจังหวัด สัดส่วนชาวต่างชาติ มากถึง 5% เช่น เมืองโออิซูมิ และ 17% ในจังหวัดกุนมะ ขณะเดียวกัน หลายท้องถิ่นก็เริ่มมองเห็นถึงความสำคัญของการเข้ามาของชาวต่างชาติ ที่สามารถเข้ามาทดแทนรายได้ท้องถิ่น ตลอดจนแรงงานที่หายไป หลาย ๆ โรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าวก็เริ่มหันมาจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อชาวต่างชาติ เพื่อดึงให้ชาวต่างชาติส่งลูกมาเรียน อย่างสมาคมแลกเปลี่ยนแห่งหนึ่งในจังหวัดมิเอะเอง ก็ออกหนังสือเรียนสำหรับสอนชาวต่างชาติ ชื่อว่า “มิเอโกะ ซาน โนะ นิฮนโกะ” สำหรับระดับประถมและมัธยมต้นเพื่อใช้ในการสอนในห้องเรียน
กล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นในปัจจุบัน จากที่เคยเป็นชาตินิยมมาก่อน ได้กลายเป็นสังคมมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับราว 70 ปีที่แล้ว ซึ่งมีชาวต่างชาติเพียง 6 แสนคนเท่านั้น และชาวต่างชาติที่ว่า ไม่ใช่เพียงกระจุกตัวในหัวเมืองใหญ่ แต่กระจายไปตั้งแต่เมืองเล็ก ๆ เหนือจดใต้
นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมญี่ปุ่นมองว่า ประเทศญี่ปุ่นได้เปิดรับ และคุ้นเคยกับชาวต่างชาติมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้มาใหม่จากภายนอกประเทศ ก็ได้เข้ามาทดแทนฟันเฟืองที่หายไป และช่วยต่อลมหายใจให้หลายชุมชนที่ใกล้ร้าง ให้กลับมามีความเคลื่อนไหวมากขึ้น
จึงไม่แน่ว่าสภาพการณ์ญี่ปุ่นปัจจุบัน ที่รัฐบาลเร่งดึงแรงงานนอกประเทศเข้ามา อาจทำให้ญี่ปุ่นในอนาคต กลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย เหมือนหลาย ๆ ประเทศในตะวันตกก็เป็นได้
ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/foreign-soft-news/news-135559