[CR] [Movie Review] Three Billboards Outside Ebbing, Missouri (7/10) ...เมื่อความเศร้าแค้น ผลักขอบเขตของการทวงคืนยุติธรรม

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri (2017)
กำกับโดย Martin McDonagh (In Bruges, Seven Psychopaths)
7/10



ที่เมืองนอก กระแสหนังแตกเป็นสองฝั่งมาก ซึ่งดันเห็นด้วยทั้งสองฝั่งเลย ถ้าชมว่าหนังเป็นการสำรวจอย่างแรงๆถึงความเครียดแค้นเศร้าโศกหลังโศกนาฏกรรม และมุมมองความยุติธรรมส่วนบุคคลที่ตามมา ก็คงเห็นด้วย แต่ถ้าจะด่าว่าหนังเละเทะไปทั้งการคุมโทน การบอกธีม และการสร้างมุมมองศีลธรรม ก็คงจะเห็นด้วยเช่นกัน เพราะมันเป็นหนังที่มีหลายเส้นเรื่องเล่าและตัวละครพัวพันมาก จนบางส่วนที่ยอดเยี่ยมสุดๆก็ดันตั้งคู่ไปกับส่วนที่ชวนเอือมเสียเหลือเกิน

ปัญหาคือ ส่วนที่ดีของหนังก็แยกให้อยู่เดี่ยวๆของมันไม่ได้นี่สิ เช่น ชอบการปฏิสัมพันธ์ และพื้นที่ศีลธรรมที่เปลี่ยนไป ระหว่างสองตัวละครหลัก ที่พานักแสดงชนะออสการ์คู่ อย่าง มิลเดร็ด (แฟรนเซส แมคดอร์แมนด์) กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจสัน (แซม ร็อคเวลล์) มาก สู้กันไม่รามือชวนจับตาสุดๆ แต่ก็หนังก็คอยให้เห็นเรื่อยๆว่า “พื้นที่ศีลธรรมที่เปลี่ยนไป” ของตัวละครเจสัน มันเกิดจากทัศนคติ racist, homophobic และ misogynistic ล้วนๆ ซึ่งก็รู้สึกว่าทัศคติฝังลึกเหล่านี้ไม่ใช่ “ลักษณะ” ที่เปลี่ยนง่ายๆ แต่หนังมีความเล่าเหมือนเป็นจุดด้อยที่เมื่อรู้แล้วสามารถขยับมุมมองได้เลย ยิ่งในสถานที่อย่างย่านชนบทอเมริกาด้วยแล้ว มีประวัติของการฝังลึกทัศคติเหล่านี้มายาวนาน จนไม่ซื้อมากๆว่าเขาจะเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองทำนิดนึง แล้วเกิดการ “ขยับ” ได้หน่อย ก่อนไปปะทะกับมิลเดร็ดตามพล๊อตต่อ ในบริบทที่จุดยืนทางศีลธรรมของทั้งสองคนเปลี่ยนไป (อันนี้รู้สึกมากว่าเกิดจาก คนนอกอเมริกาเขียนถึงเรื่องราวในอเมริกา แบบยังไม่เข้าใจประเด็นที่หยั่งรากตามสถานที่นั้นๆเพียงพอ แถมการใช้คำด่า c-word อาจจะใช้กันบ่อยสำหรับชาวอังกฤษหรือไอริช ที่เป็นสัญชาติของ ผกก.และคนเขียนบท  มาร์ติน แมกโดแนก แต่มันแปร่งมากที่ตัวละครชนบทอเมริกาเหล่านี้ใช้กันพร่ำเพรื่อเท่าๆกับ f-word)



แม้แต่ส่วนที่ชวนอินที่สุดของหนัง อย่างความเศร้าแค้นของมิลเดร็ด ก็ยังเจอปัญหาด้านบทที่จงใจจนไม่เชื่อมากๆ เช่น การบังเอิญได้ยินเบาะแสสำคัญในบาร์อย่างเหมาะเหม็ง (แล้วหนังพยายามจะตีกลับเบาะแสในเวลาต่อมาอย่างไม่ชวนเชื่อเลย) และจุดต่ำ(ตม)สุดของหนังใน flashback การทะเลาะกันระหว่างแม่ลูก ที่ให้ประโยคสุดท้ายที่ทั้งสองคนพูดต่อกัน จงใจจะบีบความบังเอิญเศร้ารุนแรง ที่คำมันกลับทื่อและชัดโต้งๆ จนเป็นความบังเอิญตลกแบบไม่เชื่อว่าจะเขียนออกมาได้แทน อันที่จริง ตัวบทของหนังมีปัญหา และประเด็นหลักก็เสียงแตกซะจนกลบปัญหาเล็กๆน้อยๆข้างทางไปเยอะเลย อย่างตัวละครที่เล่นโดย ปีเตอร์ ดิงค์เลจ (ที่คนดูคงคุ้นตาจาก ทีเรียน แลนนิสเตอร์ ใน Game of Thrones) ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าหนังแย่ไปหน่อยที่คิดว่าแค่ให้ตัวละครเขามาพูดยืนหยัดเพื่อตัวเองในตอนท้าย แล้วมันจะช่วยลบ หรือทดแทนการเหยียดหยามดูถูกรูปลักษณ์ที่เขาเจอมาตลอดทั้งเรื่อง ที่ใส่เข้ามาเพื่อเป็นมุกเกือบหมดเลย



แต่ถึงแม้มีข้อเสียมากมายแค่ไหน คอนเซ็ปเริ่มเรื่องหลักของหนังก็แข็งแรงพอที่สร้างความติดตามได้ตลอด และคนเขียนบทเองก็คอยใส่จุดหันเหของเรื่องเข้ามาเป็นระยะๆ ให้ประเด็นและการปะทะกันซับซ้อนขึ้นไปอีก แถมบางฉากก็ทำออกมาได้ดีในการหักฉากแรงๆหยาบๆ เปลี่ยนทิศอย่างไม่คาดฝัน จนเผยความอ่อนโยนข้างใต้ตัวละครหรือเนื้อเรื่องได้ เช่น ฉากการไต่สวนระหว่าง มิลเดร็ด กับ ตัวละครหัวหน้าตำรวจที่เล่นโดย วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน ที่เปลี่ยนสวิตช์จากการปะทะเลือดร้อน เป็นความห่วงใยในทันที จนเสียดแทงใจมาก ตัวสามนักแสดงหลักเอง ไม่ว่าจะได้บทพูดหรือเนื้อเรื่องตัวละครมาดีแย่แค่ไหน ทั้ง แม็คดอร์แมนด์, ร็อคเวลล์, กับ ฮาร์เรลสัน ก็เล่นออกมาอินลึกสุดๆทุกคน จนยกระดับแม้แต่ส่วนที่มีปัญหาหน่อยขึ้นมาได้

แอบเสียดายเหมือนกัน ที่ส่วนดีแย่ของหนัง แยกกันไม่ได้ง่ายๆอย่างที่ว่ามาข้างต้น เพราะถ้ามองเดี่ยวๆ ฉากจบเรื่องมีความงดงามและเพอเฟ็คมากในการเป็นจุดหมายปลายทางของหนังที่มีหลายโทนปนเปกันเหลือเกิน ก่อนที่หนังจะเตือนให้จำได้ว่าจุดยืนของตัวละครคนหนึ่งนั้น “ขยับ” มาจากจุดที่ไม่ชวนอินตามจุดไหน แต่ถึงอย่างไร ทางลงของหนังก็ยังมีความทิ้งค้างอย่างตราตรึงได้อยู่ดี ในการตัดแล้วปล่อยให้คนดูครุ่นคิดถึงธรรมชาติของตัวตนคนเรา และของความถูกต้องยุติธรรม ว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ในเหตุการณ์ต่อจากนั้น



ติดตามรีวิวหนังและข่าวน่าสนใจในโลกภาพยนตร์อื่นๆของผมได้ที่  www.facebook.com/themoviemood ครับ
ชื่อสินค้า:   Three Billboards Outside Ebbing, Missouri
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่