[CR] รีวิว The Wailing ฆาตกรรมอำปีศาจ

อมยิ้ม11อมยิ้ม11  “ ไม่ใช่ทุกอย่างที่เคลื่อนที่ได้ หายใจได้ พูดได้ จะต้องมีชีวิตเสมอไป..... ”  อมยิ้ม11อมยิ้ม11

ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลี ที่เคยได้ไปโลดแล่นในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ผลงานของ นาฮงจิน ที่เคยฝากผลงานกำกับ The Chaser, The Yellow Sea โดยเฉพาะเรื่องที่รีวิวนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลผกก.ยอดเยี่ยม จากเวที Asian Film Awards ด้วย

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

The Wailing เล่าถึงเหตุการณ์แปลกประหลาดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่มีคดีฆาตกรรมยกครอบครัวเกิดขึ้นหลายคดีโดยไม่รู้สาเหตุหรือแรงจูงใจ ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีอาถรรพ์ เรื่องราวดังกล่าวนี้เป็นเพียงแค่เรื่องบังเอิญอุปาทานหมู่หรือมีใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สุดสยองที่เกิดขึ้น


หนังเปิดเรื่องมาด้วยปมหลายอย่างที่เป็นปริศนา ซึ่งสร้างความสับสนงวยงงชนิดที่ว่าจับต้นชนปลายไม่ถูกเลยทีเดียวให้กับคนดูรวมถึงพระเอกซึ่งมีอาชีพเป็นตำรวจในเรื่องอย่าง จองกู (ควัก โด วอน) ที่คาแรคเตอร์ช่วงต้นเรื่องดูจะเอื่อยเฉื่อยอ่อนปวกเปียกเหลือเกิน


หลังจากโยนปริศนาใส่คนดูแล้ว หนังเลือกที่จะเดินเรื่องแบบง่ายๆแต่ก็ใส่หลุมพรางวางกับดักคนดูไว้อย่างแยบยล คาแรคเตอร์ลูกสาวของจองกู อย่าง ฮโยจิน (คิม ฮวาน ฮี) และชายญี่ปุ่นปริศนา (จุน คูนิมูระ) เข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางเนื้อเรื่องที่มีความชัดเจนมากขึ้นเหมือนบอกเป็นนัยๆว่า ไอ้ที่งงๆช่วงต้นแรกหนังจะเริ่มเฉลยแล้วนะ


ควัก โด วอน กับ 2 บทบาทของจองกู (ฐานะตำรวจ ฐานะพ่อ) ทำให้เราเห็นคาแรคเตอร์ของชายธรรมดาคนหนึ่งที่อยากจะแก้ปัญหาตรงหน้าให้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหนก็ตาม การรับส่งบทพ่อลูกกับ คิม ฮวาน ฮี ช่วยเกื้อหนุนให้เขาเข้าถึงตัวตนของ จองกู ได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งนอกจาก ควัก โด วอน แล้ว 2 นักแสดงสมทบชายอย่าง จุน คูนิมูระ กับ ฮวาง จอง มิน ก็ทำได้ดีในคาแรคเตอร์ที่ต้องแสดง โดยเฉพาะรายหลังที่บทบาทเพิ่งจะมาโผล่ช่วงครึ่งหลังของเรื่อง ทำให้หนังมีมิติที่หลากหลาย กระตุ้นให้คนดูใส่ใจกับรายละเอียดต่างๆที่หนังจงใจใส่เข้ามา


สิ่งที่หนังได้ดีเลยคือ ลำดับเรื่อง ท่ามกลางความยาวของหนังถึง 2 ชั่วโมง 30 นาทีเมื่อดูจนจบกลับมองว่าหนังยังใส่รายละเอียดได้มากกว่านี้อีกด้วยซ้ำ แม้จะไม่รวดเร็วฉับพลันแต่ชวนให้น่าติดตามอยู่ตลอด ถึงจะไม่ได้เป็นตัวแทนของเกาหลีใต้ไปชิงออสการ์ (ปีนั้นThe Age of Shadows เป็นตัวแทน) การจับเอาเรื่องสืบสวนสอบสวนมายำผสมกับเรื่องสยองขวัญที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้  The Wailing คือ หนังแนวนี้อีกเรื่องหนึ่งที่มีทำออกมาได้ยอดเยี่ยม และมีประเด็นให้ถกอย่างสนุกเลยทีเดียว


เกร็ดกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 92
ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐาน โดยไม่มีหมายค้น เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น และในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน
(2) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้า กำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
(3) เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้าขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น
(4) เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า สิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน
(5) เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านและการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตามมาตรา 78
เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ค้นด้วยตนเอง ไม่ต้องมีหมายค้นก็ได้ แต่ต้องเป็นในกรณีที่อาจออกหมายค้นหรือค้นได้ตามประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 102 วรรคแรก
การค้นในที่รโหฐานนั้น ก่อนลงมือค้นให้เจ้าพนักงานผู้ค้น แสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และเท่าที่สามารถจะทำได้ ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น หรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน

ฉากที่ จองกู กับ ซองบค เข้าไปค้นบ้านของชายญี่ปุ่น เป็นการค้นที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?


ตามกฎหมายแล้วป.วิอาญา เรื่องของการค้นมีอยู่กันหลายมาตรา ซึ่งต้องแยกให้ออกว่าสถานที่ที่ค้น เป็นสาธารณสถานหรือที่รโหฐาน เพราะหากเป็นสาธารณสถาน (สถานที่ใด ๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้) กฎหมายไม่ได้บัญญัติบังคับให้ต้องขอให้ศาลออกหมายค้น ดังนั้น จึงสามารถค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น แต่การค้นจะต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเท่านั้น

ในทางกลับกัน ที่รโหฐาน (ที่ต่างๆ ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถานอันบุคคลทั่วไปจะเข้าไปได้ เช่น บ้านพักอาศัย, สถานที่ส่วนบุคคล เป็นต้น) จะทำค้นโดยไม่มีหมายค้นไม่ได้ก่อนทำการค้น เจ้าพนักงานผู้ค้นจึงจะต้องขอให้ศาลออกหมายค้นก่อน ถึงกระนั้นเองกฎหมายก็มีข้อยกเว้นให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่ต้องมีหมายได้ 5 กรณี ตาม (1)-(5) ของมาตรา 92 ข้างต้น

ดังนั้นใน The Wailing แม้จองกู กับ ซองบค จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีอำนาจค้นก็ตาม แต่การค้นบ้านของชายญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นที่รโหฐาน การจะค้นได้ จองกู ต้องไปขอให้ศาลออกหมายค้นเสียก่อน ประกอบกับในฉากดังกล่าวไม่ปรากฏเหตุการณ์ตาม (1)-(5) ของมาตรา 92 แห่ง ป.วิอาญา ที่ จองกูจะสามารถค้นโดยไม่มีหมายค้นได้ จึงเป็นที่สรุปได้ว่า การค้นของจองกู กับ ซองบค เป็นการค้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย




หากรีวิวผิดพลาดประการใด แนะนำติชมกันมาได้ครับ
ติดตามการรีวิวภาพยนตร์ แทรกเนื้อหาหลักกฎหมาย เพิ่มเติมได้ที่
FB เพจ ดูหนังหากฎหมาย
https://www.facebook.com/DooMovieFindLaw/
ชื่อสินค้า:   .
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่