ชาวเน็ตอึ้งซิมการ์ด 2 แสนซิม ทลายเครือข่ายแก๊งคอลฯ โทร.ออกได้ 6 แสนครั้งต่อชั่วโมง


ชาวเน็ตถึงกับอึ้ง เมื่อได้เห็นซิมการ์ด 200,000 ซิม ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใส่เข้าไปใน SIM BOX เพื่อเชื่อมไปยังเหยื่อปลายทาง พบ SIM BOX 1 เครื่อง ใส่ได้ 32 ซิม โทร.ออกได้ประมาณ 1 หมื่นครั้งต่อนาที หรือ 1 ชั่วโมงโทรออกได้ 6 แสนครั้ง แนะตำรวจสาวถึงต้นตอซิมการ์ดเหล่านี้

วันนี้ (22 ธ.ค.) เฟซบุ๊ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยแพร่ผลการปฎิบัติงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) โดย พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ผอ.ศปอส.ตร. ), พล.ต.ท.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ รอง ผบช.ฯ ชรก.สตม. พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม.นำกำลังเข้าตรวจค้นคอนโดมิเนียมหรูย่านรัชดา-ห้วยขวาง จำนวน 6 ห้อง หลังสืบสวนพบเบาะแสว่าเป็นที่ตั้งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทำการสืบสวนจนแน่ชัด กระทั่งขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญา เข้าตรวจค้นห้องพักดังกล่าว คุมตัวผู้ต้องหาชาวจีน 6 คน พร้อมของกลางที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้แก่ 1. Sim Box จำนวน 300 เครื่อง 2. ซิมการ์ดโทรศัพท์ กว่า 200,000 ซิม 3. โทรศัพท์มือถือ จำนวน 636 เครื่อง 4. เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง 5. จอคอมพิวเตอร์ จำนวน 62 เครื่อง 6. CPU จำนวน 86 เครื่อง 7. แล็ปท็อป จำนวน 4 เครื่อง 8. คีย์บอร์ด จำนวน 8 เครื่อง 9. เมาส์ จำนวน 5 ตัว 10. เครื่องกระจายสัญญาณไวไฟ จำนวน 5 เครื่อง 11. แฟลชไดรฟ์ จำนวน 43 ชิ้น 12. RAM จำนวน 6 ชิ้น 13. สมุดบัญชีธนาคาร1 เล่ม และ 14. สมุดจดบันทึก 1 เล่ม

ตำรวจดำเนินคดีในข้อหา 1. ร่วมกัน ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต 2. ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบบอนุญาตตามมาตรา 15 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 3. ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

4. ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242 5. คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ 6. เป็นนายจ้างรับบุคคลต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานโดยผิดกฎหมาย โดยผู้ต้องหาทั้งหมดจะถูกเพิกถอนสิทธิ ถูกนำตัวส่งห้องกักขังของ สตม. และพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) จะดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 6 คน ประกอบด้วย 1. MR.FENGRAN WEN, 2. MR.ZHANG JUN, 3. MR.LI YUNING, 4. MR.PANG ZE, 5.MR.YANG QUN และ 6. MR.YAO FAN (หัวหน้าแก๊ง) โดยใช้ห้องพักในคอนโดมิเนียมทั้งหมด 6 ห้อง ในชั้น 16, 17 และชั้น 23 เป็นที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ซิมบ็อกซ์ ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 6 คน มีหน้าที่ในการดูแล ระบบซิมบ็อกซ์ทั้งหมด เช่น ไฟตก ไฟดับ หรือเครื่องพังและเสีย จะมีการสั่งเครื่องใหม่มาเปลี่ยน ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่หลอกลวงผู้อื่นจะอยู่ในต่างประเทศ โดยใช้วิธีการยิงไวไฟเข้ามายังซิมบ็อกซ์

โดยซิมบ็อกซ์ 1 เครื่อง ใส่ซิมการ์ดได้ทั้งหมด 32 ซิม โทรออกไปยังเหยื่อเพื่อหลอกลวงได้ประมาณ 1 หมื่นครั้งต่อนาที หรือ 1 ชั่วโมงโทรออกได้ 6 แสนครั้ง โดยผู้ร่วมขบวนการแต่ละคน ทำหน้าที่เปลี่ยนซิมการ์ดในเครื่องซิมบ็อกซ์ เพื่อใช้ในการสมัครบัญชีโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งของไทยและจีน เมื่อสมัครเสร็จ ระบบจะนำไปยิงโฆษณาให้คนมากด เพื่อทำเงินให้ได้ 20 หยวนต่อบัญชี เมื่อครบก็จะเปลี่ยนซิมการ์ดสมัครใหม่ไปเรื่อยๆ ยังพบว่ากลุ่มผู้ต้องหามีการใช้โปรแกรมในการลงทะเบียนสมัครบัญชีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไลน์ โดยใช้เอไอในการทำได้รวดเร็วมาก และสามารถใช้หลอกคนได้เลย

การจับกุมดังกล่าว สืบเนื่องจากทางตำรวจ ตม. ได้พบความผิดปกติ ซึ่งต้องการมาตรวจสอบเรื่องบุคคลต่างที่ทำผิดกฎหมาย จากคอนโดฯ แห่งนี้ จึงได้นำกำลังเข้ามาตรวจสอบ กระทั่งพบความผิดปกติจึงขอศาลออกหมายค้น จนพบของกลางดังกล่าว โดยซิมมือถือส่วนใหญ่เป็นซิมไทยทั้งหมด ซึ่งตนได้ประสานให้ตำรวจไซเบอร์เข้ามาทำการสืบสวนเพิ่มเติม ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มาพบซิมจำนวนขนาดนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่กองปราบปรามจับกุมก็ใกล้เคียงกัน

สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ได้เดินทางเข้ามาในเมืองไทยด้วยวีซ่านักเรียน-ท่องเที่ยว ได้ไม่เกิน 4 เดือน และมาเช่าที่แห่งนี้ประมาณ 2 เดือน นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้ต้องหาได้มีการเดินทางเข้าประเทศลาวและประเทศกัมพูชา มาก่อนหน้านี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากแก๊ง Call Center ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ยังขาดผู้ต้องหาอีก 3 คน ที่อยู่ระหว่างออกหมายจับนำเข้าสู่ระบบ Watch list และกระจายหมายจับไปตามแนวชายแดนแล้ว ส่วนผู้ต้องหาที่จับกุมได้ทั้งหมด ควบคุมตัวพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน บก.สตม. เพื่อแจ้งข้อหาก่อนผลักดันผู้ต้องหากลับออกนอกประเทศต่อไป

ด้านชาวเน็ตต่างแสดงความคิดเห็น ดังนี้

- เจ้าของสัญญาณปล่อยขายมาได้ยังไง 200,000 ซิมคะ กฎหมายควรครอบคลุมดำเนินการกับเจ้าของสัญญาณด้วย
- 2 แสนซิมนี้ซื้อต้องลงทะเบียนมั้ยครับ พวกบริษัทสื่อสารนี้ต้องรับผิดชอบด้วยถ้าใครโดนหลอกโดยพวกนี้ มันน่าจะออกกฏหมายตัวนี้ออกมาครับ
- 2 แสนซิมเอามาจากไหน ค่ายไหน? ขายได้ยังไง? ลงทะเบียนผู้ซื้อมั้ย? แล้วไม่ผิดสังเกตเลยหรือว่าซื้อไปทำอะไรมากมายขนาดนั้น ธนาคาร ค่ายมือถือต้องรับผิดชอบด้วย

- บริษัทที่ให้บริการซิมควรมีมาตรการคนใช้ได้กี่ซิมและถ้าเปลี่ยนเบอร์ควรตรวจสอบว่าเบอร์เก่ายกเลิกยัง
- ซิมการ์ด 2 แสนซิม ลงทะเบียนยังไงถึงได้มา

- ในขณะที่ประชาชนอย่างเราต้องใช้บัตรประชาชน พร้อมถ่ายรูปหน้าให้ตรงบัตร 2 แสนซิม ค่ายมือถือปล่อยมาได้อย่างไร ค่ายมือถือต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ด้วย

- เชิญคนขายซิมเข้าคุกด้วยค่ะ ต้นเหตุ คนที่ซื้อซิมไปขนาดนี้ไม่ตรวจสอบหน่อยเหรอ ที่คอลเซ็นเตอร์ระบาดหนักทุกวันนี้ก็คนขายซิมต้นเหตุด้วยนะ
- การซื้อ Sim Card จำนวนมาก ผู้ขายหรือผู้ให้บริการควรส่งรายงานการซื้อขายให้ตำรวจด้วย เหมือนกับการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคาร เข้าใจได้คงเป็นลักษณะซื้อไปขายปลีกจึงไม่ต้องลงทะเบียนผู้ซื้อเหมือนขายปลีกทั่วไป แต่ควรต้องออกกฎหมายมาควบคุมได้แล้วจะได้ป้องกันหรือทราบผู้กระทำผิดเพื่อหาทางป้องกันได้ตั้งแต่ต้นทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติลองนำไปพิจารณาดูนะครับ

เครดิต จาก manager online

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000122676
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่