👍👌~มาลาริน~ลุงตู่ได้หน้า....เซฟ ค่าโง่คลองด่านเกือบหมื่นล้าน ได้หน้า-ตอกนักการเมืองโกงมีภาพลักษณ์ทุจริตชัดเจนเห็นชัดๆ



ถือเป็นอภิมหากาพย์คดีทางการเมืองไทยคดีหนึ่ง สำหรับโครงการ "ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน" จ.สมุทรปราการ ที่เริ่มแนวคิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และได้มีการอนุมัติวงเงิน 23,000 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา

    โดยมีกลุ่มบริษัท “NVPSKG” ที่ประกอบไปด้วย บริษัท นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจของอังกฤษ แต่ภายหลังได้ถอนตัวออกไป, บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท ประยูรวิศการช่าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง และบริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาแบบเหมารวม หรือ “Turnkey”

    แต่ภายหลังการอนุมัติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิด นายวัฒนา อัศวเหม รมช.มหาดไทยขณะนั้น เนื่องจากพบว่า มีการกว้านซื้อที่ดินชาวบ้านในท้องที่ด้วยวิธีการข่มขู่ ออกเอกสารสิทธิพื้นที่สาธารณะโดยมิชอบ บางพื้นที่ยังเป็นป่าชายเลน ซึ่งเป็นที่สงวน

    ทำให้ในปี 2546 กรมควบคุมมลพิษ (ค.พ.) ได้มีคำสั่งให้กิจการร่วมค้า “NVPSKG” ยุติการดำเนินโครงการ และระงับการจ่ายเงิน หลังดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 95% คิดเป็นมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านบาท ทำให้กลุ่มบริษัท “NVPSKG” ทำการเรียกร้องให้จ่ายเงินที่เหลืออยู่ โดย “อนุญาโตตุลาการ” ได้ตัดสินให้

     “ค.พ.” แพ้คดี!!!!


    แม้รัฐพยายามจะต่อสู้ ด้วยการไปฟ้องต่อยังศาลชั้นต้น และศาลปกครอง แต่ผลสุดท้ายคือ มีการยืนตามคำตัดสินอนุญาโตตุลาการ ทำให้รัฐต้องจ่ายส่วนที่เหลือกว่า 9.6 พันล้านบาท ให้กับกลุ่มบริษัทดังกล่าว จนเรียกขานกันต่อมาว่า

    “คดีค่าโง่คลองด่าน”!!!

    เพราะนอกจากรัฐจะไม่ได้อะไรแล้ว ยังต้องมาเสียงบประมาณมหาศาลให้กับเอกชน ถือเป็นคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายมากที่สุดคดีหนึ่งในประเทศไทย
  
    สำหรับการจ่ายเงินให้กับกลุ่มการค้า “NVPSKG” คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2558 ในยุคของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงบประมาณเบิกจ่ายงบชำระเงินออกเป็น 3 งวด

    งวดแรกวันที่ 21 พ.ย.58 จำนวน 3,174 ล้านบาท งวดที่สอง วันที่ 21 พ.ค.59 จำนวน 2,380 ล้านบาท และงวดที่สาม วันที่ 21 พ.ย.59 จำนวน 2,380 ล้านบาท เพราะต้องปฏิบัติตาม “อนุญาโตตุลาการ” หลังรัฐเป็นฝ่ายแพ้คดี

    ทว่า ในปีเดียวกันกับที่ ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อใช้ในการจ่ายค่าเสียหาย “บิ๊กตู่” เองก็ได้สั่งการให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ติดตามข้อมูลการฟ้องร้องคดีความระหว่างรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกับบริษัทต่างประเทศหรือในประเทศ คดีความของข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ดูทั้งที่รัฐบาลเป็นโจทก์และจำเลย เน้นให้ความสำคัญกับคดีที่มีวงเงินสูงตั้งแต่หลักพันล้านถึงหมื่นล้านบาท ประมาณ 12 คดี เพื่อหาทางต่อสู้เพื่อเป้าหมาย

    “รักษางบประมาณ”!!!

    1 ใน 12 คดี มี “คดีค่าโง่คลองด่าน” อยู่ด้วย และเหมือนโชคจะเข้าข้างรัฐบาล เมื่อในปลายปีเดียวกันนั้นเอง ปรากฏว่า ศาลอาญาตัดสินจำคุกนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กับพวก ทุจริตคดีคลองด่าน รัฐจึงนำคำพิพากษาของศาลอาญาที่ระบุว่า มีการทุจริตร่วมกันระหว่างข้าราชการ เอกชน มาเป็นข้อเท็จจริงใหม่ในการนำไปขึ้นสู้คดีที่ศาลปกครองอีกครั้ง พร้อมกับให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดเงิน 2 งวดที่รัฐจ่ายให้กับกลุ่มบริษัทดังกล่าวไว้ก่อน

    กระทั่งที่สุดศาลปกครองกลางได้มีคำเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินให้กับกลุ่ม “NVPSKG” ซึ่งในทางปฏิบัติกลุ่มเอกชนน่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อ “ศาลปกครองสูงสุด” ที่เป็นจุดชี้ขาดสุดท้ายของคดีนี้

    กับอีกคดีที่ต้องลุ้นให้เข้าทางรัฐคือ กรณีที่ “ค.พ.” ยื่นฟ้องกลุ่มบริษัท “NVPSKG” ฉ้อโกงสัญญาก่อสร้าง ที่ศาลแขวงดุสิตนัดเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ไปเป็นวันที่ 30 พ.ค.นี้ โดยในศาลชั้นต้นเคยพิพากษาจำคุก แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ซึ่งคดีนี้หากรัฐชนะได้ จะถือเป็นผลดีทางอ้อม สำหรับการต่อสู้คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด

    แต่ที่แน่ๆ คนที่ได้หน้าที่สุดตอนนี้เห็นจะเป็น “รัฐบาลบิ๊กตู่” เพราะสามารถนำมาพูดได้ว่า สามารถรักษางบประมาณของประเทศไว้ได้จำนวนเกือบหมื่นล้านบาท ทั้งที่ตอนแรกต้องเสียอยู่รอมร่อแล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้งบประมาณก้อนนี้เอาไปทำประโยชน์ หรือปั่นโครงการอื่นๆ ได้อีกด้วย

    และอีกทางหนึ่งยังได้สวนกลับนักการเมือง ด้วยการตอกย้ำภาพลบเรื่องการทุจริตให้เด่นชัดยิ่งขึ้นจาก “คดีค่าโง่คลองด่าน”

    อย่างน้อยบริหารประเทศมาจนวันนี้ เฉพาะตัว “บิ๊กตู่” ก็ยังไม่มีมลทินในเรื่องนี้แม้แต่เรื่องเดียว

http://www.thaipost.net/main/detail/4590

ย้อนคดี ทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน



โครงการทุจริตก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียมูลค่ากว่า 23,700 ล้านบาท ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ถือเป็นมหากาพย์เรื่องยาวที่มีประเด็นการทุจริตคอรัปชั่นใน 2 ประเด็น คือ การซื้อขายที่ดิน และการแก้ไขสัญญาที่เอื้อต่อบริษัทเอกชนจนนำสู่การยกเลิกก่อสร้าง เมื่อปี 2546 ทั้งที่เกือบจะแล้วเสร็จ

ปฐมบทโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2538 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคนั้น ริเริ่มแนวคิดโครงการบำบัดนำเสียขึ้น จนนำมาสู่การเสนอให้คณะมนตรีเห็นชอบและเริ่มโครงการเมื่อปี 2540 โดยมีการรวบรวมที่ดินจากชาวบ้านและที่ดินสาธารณะ เพื่อก่อสร้างโครงการกว่า 1,900 ไร่

ต่อมาปี 2542 ภาคประชาชนในพื้นที่ได้เข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จนนำมาสู่การชี้มูลความผิดนักการเมือง 3 คน คือ นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และนายวัฒนา อัศวเหม ในคดีแรกเมื่อปี 2550

ต่อมาปี 2551 ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติ 8 ต่อ 1 ตัดความผิดนายวัฒนา มีโทษจำคุก 5-20 ปี ใช้อำนาจข่มขืนใจ หรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน จ.สมุทรปราการ สาขาบางพลี ออกโฉนดที่ดิน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี แต่นายวัฒนาหลบหนีจึงออกหมายจับ

ส่วนคดีที่ 2 ป.ป.ช.มีมติ เมื่อปี 2554 ชี้มูลความผิดนายวัฒนาและอดีตข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ แต่ให้ยุติคดีกับนายยิ่งพันธ์เพราะเสียชีวิต ส่วนนายสุวัจน์คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด ต่อมาปี 2554 คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินที่ค้างและค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้กับกิจกรรมร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) รวมเป็นเงินกว่า 9,600 ล้านบาท และศาลปกครองสูงสุดได้มีความเห็นชอบให้จ่ายค่าเสียหายให้เอกชน

กระทั่งเดือน พ.ย.2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จ่ายเสียหายและดอกเบี้ยตามคำสั่งศาล โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด โดยได้จ่ายเงินงวดแรกไปแล้วกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบข้อกฎหมาย เพราะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินว่าคดีนี้มาการทุจริต

ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังก็ได้ร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิตและคำพิพากษาของศาลอาญาที่มีการตัดสินลงโทษอดีตข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการ 23,000 ล้านบาท

https://news.thaipbs.or.th/content/270781



เผยเบื้องหลังคนทำคดี “บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน” จนชนะคดี




วันนี้ (7 มี.ค.) นายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า คดีตำนานค่าโง่คลองด่านซึ่งเดิมคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยให้รัฐจ่ายค่าเสียหายให้แก่กลุ่มบริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับเหมาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ต่อมาศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาให้รัฐชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านเป็นเงิน 9,600 ล้านบาท ยืนตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งรัฐโดยกระทรวงการคลังได้มีการจ่ายแล้วบางส่วน และต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญา ได้มีคำพิพากษาว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลที่เกี่ยวขัองในโครงการนี้มีการกระทำทุจริต คณะรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 2559 ได้มีมติให้กระทรวงการคลังไปหาทางรื้อฟื้นคดีเพื่อให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินค่าโง่ให้แก่กลุ่มบริษัทที่ชนะคดีในศาลปกครองสูงสุด

นายประภาสเล่าว่า ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ ดูแลกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ไม่ได้ดูแลกำกับกรมบัญชีกลางที่ต้องดำเนินการเรื่องนี้โดยตรง แต่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ตนดำเนินการเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษนอกเหนือภารกิจปกติ หลังจากที่ได้รับมอบหมายแล้วตนก็ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด โดยดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมบัญชีกลาง และประสานกันอย่างใกล้ชิดกับกรมควบคุมมลพิษ ที่สำคัญคือได้ลงมือร่างหนังสือลำดับเหตุการณ์เรื่องนี้ทั้งหมดด้วยตนเอง เพราะต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ในการปิดแง่มุมทางกฎหมายให้รอบคอบที่สุด ต้องศึกษารายละเอียดคำพิพากษาของศาลปกครอง ศาลยุติธรรม และคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการทุกฉบับ และได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่

“ผมเชื่อมั่นว่าด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ได้ส่งหนังสือไปจากกระทรวงการคลัง ในที่สุดสำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ที่ศาลปกครองกลาง และได้เสนอให้ทั้งกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังต้องร่วมกันยื่นคำร้องในคดีนี้ เพราะคาดหมายได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าถ้าลำพังกระทรวงการคลังเป็นผู้ยื่นศาลอาจจะยกคำร้องเพราะกระทรวงการคลังมิได้เป็นคู่ความอยู่ในคดีเดิมโดยตรง แม้ว่าจะต้องเป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้ชนะคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก็ตาม ต่อมาทั้งกระทรวงการคลังและกรมควบคุมมลพิษก็ได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง

และในที่สุดเมื่อวานนี้ (6 มี.ค.) ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินค่าโง่อีกต่อไป แม้ว่าคำพิพากษาจะระบุว่ากระทรวงการคลังไม่มีอำนาจยื่นคำร้องตามที่ผมคาดไว้ตั้งแต่ต้น แต่ศาลก็ได้วินิจฉัยว่ากรมควบคุมมลพิษเป็นผู้มีอำนาจยื่นคำร้องในคดีนี้และผลคดีก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจมาก ผมรู้สึกยินดีและภูมิใจมากครับที่ได้มีส่วนสำคัญในการทำเรื่องนี้จนสำเร็จทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าโง่ถึง 9,600 ล้านบาท แม้ว่าจะต้องเหนื่อยยากที่ต้องลงมือเขียนเอกสารเองทั้งหมดด้วยตนเอง แต่ก็หายเหนื่อยครับที่สามารถปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติไว้ได้” นายประภาสกล่าว

https://mgronline.com/politics/detail/9610000022909



ว่าอย่างไรล่ะคะ  นักการเมืองทั้งหลาย ในที่สุดก็ต้องเสียค่าโง่เสียงบประมาณ

ได้ลุงตู่มากอบกู้งบประมาณแผ่นดินไว้เกือบหมื่นล้าน  ได้เงินมาทำโครงการดีๆให้ประชาชนได้อีก

ต่างกับพวกนักการเมืองทำความผิดพลาดล้มเหลวเสียหายงบแผ่นดิน

บางคนหอบเงินหมื่นล้านหนีไม่ใช้หนี้ค่าเสียหายอีกด้วยซ้ำ

นักการเมืองที่เคยจ้อเรื่องทุจริต  ตอนนี้ก็หุบบบปากกกไปเลยนะคะ

ลุงตู่ไม่เคยมีมลทินสักเรื่องเดียว.....ปลื้มปริ่มปลื้มปริ่มปลื้มปริ่มปลื้มปริ่มปลื้มปริ่ม


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่