เปิดฎีกาเอาผิดเช่าซื้อ-จำนำทะเบียนรถแสบ หลังพบทำสัญญามัดมือชกบังคับหลักประกันลูกหนี้เกือบทั้งระบบ

รายงานข่าวเปิดเผยว่าหลังกลุ่มลูกหนี้ผู้เสียหายจากสัญญาปล่อยเงินกู้รวมตัวกันยื่นเรื่องร้องเรียนกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้เข้ามาสอบสวนเอาผิดกับผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้ ลิสซิ่ง จำนำทะเบียนรถทั้งหลายที่มีการทำสัญญาหลบเลี่ยงกฏหมายและเอาเปรียบลูกหนี้เงินกู้เกือบทั้งระบบนั้น จากการเปิดเผยของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายล่าสุดพบว่า มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 ที่วางบรรทัดฐานบังคับแก่เจ้าหนี้-ลูกหนี้ที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่เจ้าหนี้(โจทก์)คิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้(จำเลย) ร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ  15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.)มาตรา 654  มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธ์ได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจะนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิ์คิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระไปชำระเงินต้นทั้งหมด

ทั้งนี้คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ใช้บังคับต่อเจ้าหนี้-ลูกหนี้ในการจัดทำสัญญาเงินกู้และเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า แม้การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดไปเพียง 0.6% ศาลถือว่าเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ขัดกฎหมายจึงพิพากษาให้ตกเป็นโมฆะทั้งหมด “ยิ่งในส่วนของ พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2560 ใหม่ได้บัญญัติบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายรุนแรงขึ้น โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งยังบัญญัติถึงการกระทำที่ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้เอาไว้อย่างละเอียดใน(1)-(3) ด้วยแล้ว ถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงกว่ากฎหมายเดิมชัดเจน

แหล่งข่าวในกลุ่มผู้เสียหายรายหนึ่งเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสัญญาเงินกู้ของบริษัทลิสซิ่งรายใหญ่ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีสาขาท่ัวประเทศนับพันสาขาพบว่า สัญญาเงินกู้จำนำทะเบียนรถที่บริษัทอ้างว่าดำเนินการถูกกฎหมาย โดยคิดดอกเบี้ย 15% และค่าบริการ 8% หรือธุรกิจที่อ้างว่าให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ทั้งที่เป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงินขนาดใหญ่และธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ต่างทำสัญญาเงินกู้ที่กำหนดให้ลูกหนี้ต้องนำรถยนต์หรือจักรยานยนต์มาเป็นหลักทรัพย์ประกัน นั้น หากอิงตามฎีกา 2131/2560 ย่อมเกินกว่ากฎหมายกำหนดแน่นอน

“สัญญาเงินกู้ในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะสัญญาเช่าซื้อตามกฎหมายเช่าซื้อ หรือสินเชื่อส่วนบุคคลตามที่อ้างกัน แต่ถือเป็นสัญญาเงินกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ต้องอยู่ในบังคับพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 15%เท่านั้น"แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/economic/315978#.WqJD7O183d4.lineme
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่