ชี้ ‘บ.เงินกู้’ คิดดอกเบี้ยโหดเพราะ กม.มีช่องโหว่

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกโรงเตือนไปยังผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ให้ดูแลการเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าบริการทางการเงินอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อให้เป็นไปตามประกาศ ธปท.นั้น ล่าสุดแหล่งข่าวในวงการธุรกิจเช่าซื้อ เปิดเผยว่า หากพิจารณาบรรดาธุรกิจจำนำทะเบียนรถที่ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ทำกับลูกหนี้โดยส่วนใหญ่ที่อ้างว่า จำนำทะเบียนนั้นล้วนทำเป็นสัญญาเงินกู้ยืม ที่บังคับเอาหลักประกันกับลูกหนี้ทั้งสิ้น มีเพียงบางบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเช่าซื้ออย่างตรงไปตรงมา อย่างบริษัทไฮเวย์ จำกัด บริษัทศรีสวัสดิ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสินเชื่อ “เงินด่วนทันใจ” และ บริษัททิสโก้ ลิสซิ่ง ในเครือธนาคารทิสโก้ ที่มีการทำสัญญา เช่าซื้อถูกกฎหมายตามสัญญามาตรฐานที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนด มีการจำแนกเงินต้น ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและกำหนดตารางผ่อนชำระค่างวดอย่างชัดเจน ทั้งยังยอมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % เข้ารัฐ

ขณะที่บริษัทลิสซิ่ง หรือ บริษัทสินเชื่อรายย่อย รายอื่นๆ รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจ สินเชื่อรถรายอื่นๆ ต่างหันไปทำเป็นสัญญาเงินกู้แบบมีหลักประกันที่กำหนดให้ลูกหนี้ นำเอารถหรือจักรยานยนต์ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งสิ้น บางรายบังคับปล่อยกู้ระยะสั้นเพียง 3-4 เดือน ทำให้มีโอกาสที่จะตามไปยึดทรัพย์ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้เพื่อนำมาขายทอดตลาดฟันกำไรอีกต่อได้ทันที

แหล่งข่าวเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังและธปท.ไม่เคยลงไปตรวจสอบเลยว่า ธุรกิจเหล่านี้ต่างอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย เป็นใบเบิกทาง ทำสัญญาเอาเปรียบลูกหนี้ เพราะธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล(P loan) และสินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับ (นาโน ไฟแนนซ์) ที่รัฐเปิดทางให้ผู้ประกอบการ คิดดอกเบี้ยได้สูงถึง 28-36% นั้น ด้วยเห็นว่าสินเชื่อเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง แต่สินเชื่อดังกล่าวต้องเป็นสินเชื่อแบบไร้หลักประกัน (Clean loan) เท่านั้น แต่ธุรกิจจำนำทะเบียนรถส่วนมากอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายดังกล่าวเป็นช่องทางหลบ vat โดยทำสัญญาเงินกู้ยืมแทนสัญญาเช่าซื้อและคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด 15%

ส่วนกรณีที่บริษัทนำทะเบียนรถรายหนึ่ง ได้แถลงข่าวยืนยันว่า บริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถ แต่เป็นการให้บริการสินเชื่อ แบบมีหลักประกัน โดยยืนยันอัตราดอกเบี้ย ที่คิดกับลูกค้า 15% และค่าธรรมเนียมสูงสุดไม่เกิน 8% นั้นทำถูกต้องตามกฎหมาย ก็เท่ากับเป็นการยืนยันว่าตนเองทำธุรกิจสินเชื่อแบบมีหลักประกัน ซึ่งเป็นสัญญาเงินกู้ยืมแบบมีหลักประกันหรือบังคับหลักประกันจากลูกหนี้ หมายความว่าสัญญาเงินกู้ยืมดังกล่าวถือเป็นสัญญาเงินกู้ปกติ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ที่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่บัญญัติ ห้ามคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ ทั้งอาญาและแพ่งจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา : http://www.naewna.com/business/327583
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่