ไม่อยากเป็น ๙ มี.ค.๖๑

ย้อนอดีต

ผมไม่อยากเป็น

พ.สมานคุรุกรรม

มีคำกล่าวไว้ว่าในชีวิตของคนที่รับราชการนั้น จะต้องอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง คือ ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกน้อง ผู้บังคับบัญชา หรือเจ้านาย และ ครู หรือ นักเรียน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง หรือทุกอย่างก็มี

ผมเคยเล่ามาแล้วว่า ครั้งแรกผมเป็นลูกจ้างใช้แรงงาน ก็ต้องเป็นลูกน้องที่มีเจ้านายมากมาย ต่อมาก็ไปเป็นพลทหารเกณฑ์ ซึ่งก็มีฐานะเหมือนเดิม ต่อมาได้เป็นครูฝึกทหารใหม่ จนเข้าสมัครเป็นนักเรียนนายสิบ ต่อมาจึงเป็นนายสิบและนายทหาร จนได้เป็นหัวหน้าแผนก ก็มีทั้งลูกน้อง และเจ้านายพร้อม ๆ กันตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปี

นอกจากนั้นผมยังเคยมีตำแหน่งที่ไม่ใช่ที่กล่าวมาข้างต้น คือเป็นที่ปรึกษา ซึ่งไม่มีปรากฏเป็นหลักฐานในหน่วยงานใดใดที่ผ่านมาเลย ตำแหน่งนี้ใคร ๆ ก็ไม่ชอบเป็น เพราะไม่มีงานทำ แต่ตำแหน่งนี้ของผม ไม่ยักว่างเหมือนที่เขาว่ากัน คือ เมื่อผมไปรับราชการพิเศษที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ครั้งหลัง ผมได้อยู่ในตำแหน่ง รองหัวหน้าฝ่ายกำลังพล

คำว่ากำลังพลเป็นศัพท์ทางทหาร หมายถึงบุคลากรในหน่วยนั้น ถ้าเป็นพลเรือนก็คงจะเป็นฝ่ายบุคคลนั่นเอง ผมเป็นรองหัวหน้าฝ่ายนั้นอยู่ ๑๔ ปี ตั้งแต่มียศร้อยเอก จนถึงพันโท พอได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ก็เกินตำแหน่ง นายจึงเอาออกจากตำแหน่งรอง ให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายกำลังพล และแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งนั้นใหม่

ตำแหน่งที่ปรึกษานั้น ความจริงโดยปกติไม่มีใครมาปรึกษาหรอกครับ เป็นตำแหน่งที่นายเมตตาที่อยู่มานานยังไม่อยากเอาออก ก็ให้นั่งเล่นอยู่สักพักหนึ่งก่อนจะเกษียณอายุ แต่สำหรับผมการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น ขณะนั้น ททบ.๕ กำลังให้บริษัทมาติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้งานในทุกฝ่าย ท่านเห็นผมอยู่ว่างจึงส่งไปเรียนคอมพิวเตอร์ที่บริษัทแถมให้ และให้นำความรู้มาสอนลูกน้องที่เป็นเสมียนในฝ่ายด้วย

ผมก็กัดฟันเรียนไปโดยไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะภาษาอังกฤษสมัยก่อนกึ่งพุทธกาลของผมนั้น มันใช้ไม่ได้เลยสำหรับ พ.ศ.นั้น เคราะห์ดีที่มีลูกน้องของฝ่ายอื่น ที่เรียนอยู่ด้วยกันเห็นใจผม จึงทำบทย่อให้ผมในแต่ละวันที่เรียน จนสามารถจบมาสอนลูกน้องในฝ่าย ตามความประสงค์ของนายได้สำเร็จ

แต่ยังไม่หมดกรรมแค่นั้น ทางฝ่ายเทคนิคได้รับคำสั่งให้จัดทำโปรแกรม ที่จะใช้ในแต่ละฝ่าย ท่านหัวหน้าฝ่ายเทคนิคในขณะนั้น จึงเชิญหรือความจริงเรียกให้ผมไปร่วมงานด้วย เป็นผู้ออกแบบการบันทึกประวัติกำลังพล ซึ่งผมก็ไม่ได้ทำอะไรมากนอกจากเขียนเป็นภาษาไทยธรรมดา แล้วท่านไปจัดทำให้เป็นภาษาคอมพิวเตอร์อีกทีหนึ่ง พอเริ่มใช้ยังไม่ทันทราบผลว่าขัดข้องหรือไม่ประการใด ผมก็พ้นหน้าที่ไปเสียก่อน

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อไปช่วยราชการที่ ททบ.๕ แล้ว ความที่ได้คลุกคลีอยู่กับนิตยสารทหารสื่อสารมานาน ท่านก็ให้เป็นผู้ร่วมจัดทำหนังสือที่ระลึก วันสถาปนา ๒๕ มกราคม ของทุกปี โดยให้ตำแหน่งเป็นเลขานุการของคณะผู้จัดทำ

ผลก็คือต้องเป็นผู้ประสานติดต่อกับคณะบรรณาธิการ ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการผลิตนิตยสารชื่อดังในท้องตลาด เป็นผู้ติดตามขอเรื่องจากผู้เขียนที่เป็นเจ้าหน้าที่ ททบ.แต่ละฝ่าย ตรวจพิสูจน์อักษรทุกเรื่องที่จะนำลงพิมพ์ ไม่ให้ผิดนโยบายของผู้บังคับบัญชา จัดเรียงภาพของผู้บริหารของสถานีระดับกองทัพบก ไม่ให้ผิดพลาดเพราะเป็นระยะเวลาการปรับย้ายประจำปี รวบรวมภาพข่าวของสถานีตลอดปีเพื่อประชาสัมพันธ์ โดยท่านผู้เป็นประธานคณะผู้จัดทำ คอยรับรายงานจากผมเมื่อมีข้อขัดข้องเท่านั้น

ผมก็ทำหน้าที่นั้นอยู่เกือบสิบปี โดยมีข้อผิดพลาดบกพร่อง น้อยบ้างมากบ้าง แต่ก็รอดจากการงดบำเหน็จมาได้อย่างเฉียดฉิว พอถึงปีสุดท้าย ท่านผู้เป็นประธานครบกำหนด เกษียณอายุราชการ ก่อนหนังสือจะเสร็จ นายขี้เกียจตั้งคนใหม่เลยเลื่อนชื่อผมขึ้นไปเป็นประธานให้โก้ไปเลย

แต่เมื่อผมเกษียณออกมาบ้าง พอถึงปีที่ ททบ.มีอายุครบ ๓๖ ปี คณะผู้จัดทำหนังสือที่ระลึกที่เป็นนายทหารนอกเหล่าทหารสื่อสาร ต้องการประวัติของสถานีตั้งแต่ก่อกำเนิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ และประวัติของผู้อำนวยการสถานี ตั้งแต่ท่านแรกซึ่งจัดจากเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ถึงปีนั้นรวม ๑๐ ท่าน เลขานุการของคณะผู้จัดทำ ก็อุตส่าห์ดั้นด้นมาหาผมที่บ้าน โดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเลย

ท่านเป็นพันเอกหญิง ที่ได้รับคำแนะนำจากท่าน โฆษกพิธีสวนสนามรักษาพระองค์ในปัจจุบัน ให้มาเชิญผมไปเป็นที่ปรึกษาคณะจัดทำ เพื่อจะได้ให้ผมช่วยดำเนินการในเรื่องนี้ ผมก็ยินดีรับเชิญ เพราะผมยังมีข้อมูลที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ สามารถเอามาแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัยสำหรับ พ.ศ.๒๕๓๗ ได้อย่างเหมาะเจาะพอดี ซึ่งเป็นหลักฐานสำหรับจะค้นคว้าหาข้อมูล การจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ ของกองทัพบกได้ต่อไปในอนาคตอันไกลไปถึงรอบ ๑๐๐ ปีทีเดียว

(จบตอนที่ ๑)

(ตอนที่ ๒)

ก่อนที่ผมจะครบเกษียณอายุราชการ ผมได้เป็นประธานนักเรียนนายสิบรุ่น พ.ศ.๒๔๙๗ มาตั้ง ๑๔ ปี ตั้งแต่มียศร้อยโทจนถึงพันเอก พอถึงปีสุดท้ายก็ประกาศในที่ประชุมใหญ่ประจำปีว่า ผมขอถอนตัวจากหน้าที่นี้ เพราะต้องการจะพักผ่อนและทำงานส่วนตัวตามอัธยาศัย ขอให้เลือกเพื่อนที่ยังมีอายุน้อยแต่มีอาวุโสทางราชการสูง เพื่อดำเนินกิจการต่อไป

เขาก็เลือกผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าผม ๖ ปี แต่เป็นพันเอกพิเศษ เป็นประธานคนใหม่ ท่านประธานคนนี้ก็เลยแต่งตั้งให้ผมเป็นที่ปรึกษาของประธานต่อไป

พอเขาเป็นมาได้ร่วมสิบปี และเกษียณอายุแล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่ายในหน้าที่อันมีเกียรติ ที่เพื่อนฝูงมอบให้อยากจะหาคนมาเปลี่ยน หลายปีก็ไม่สำเร็จ ไม่มีผู้ใดจะแทนเขาได้ เพราะเขาอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุน้อยที่สุด ทุกคนในรุ่นได้เกษียณอายุหมดแล้ว

ผมจึงหาเสียงให้เขาเป็นประธานรุ่นต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย เขาไม่มีหนทางปฏิเสธ จึงต้องเป็นต่อไปด้วยความขมขื่น เขาจึงแก้เผ็ดผมด้วยการตั้งให้ผมเป็นประธานอีกคนหนึ่ง คือเป็นประธานคณะที่ปรึกษา แล้วเขาก็ปรึกษาทุกเรื่องที่เขาจะทำ ไม่ใช่ที่ปรึกษาว่างงาน จนถึงบัดนี้

ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการนั้น ผมเป็นหัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ มีหน้าที่ในการผลิตนิตยสารทหารสื่อสารด้วย ในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ มีหัวหน้ากองวิทยาการเป็นบรรณาธิการ เมื่อได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ก็เป็นตำแหน่งลอย ๆ แต่ให้ช่วยราชการที่กรมการทหารสื่อสาร ทางกรมก็สั่งให้ผมไปช่วยราชการที่แผนกเดิม และให้ผมเป็นที่ปรึกษาของบรรณาธิการ

ผมก็บอกกับหัวหน้าแผนกคนใหม่ ซึ่งเป็นลูกน้องเก่าของผม ว่าผมจะเป็นที่ปรึกษาของผู้ช่วยบรรณาธิการดีกว่า มีอะไรจะให้ช่วยก็บอก เธอซึ่งเป็นพันโทหญิงก็บอกให้ผมเขียนเรื่องส่งอย่างเดียวก็พอ เพราะเธอเรียนรู้การผลิตนิตยสารฉบับนี้มาเท่ากับผมเหมือนกัน แล้วเธอก็จัดทำนิตยสารฉบับนี้ ซึ่งดูเหมือนจะดีกว่าที่ผมทำเสียอีก

ปัจจุบันนี้เธอได้เลื่อนยศเป็นพันเอก อัตราพันเอกพิเศษ ติดคอคฑาไขว้แล้ว ส่วนผมก็ยังเป็นนักเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับความหลังอยู่เหมือนเดิม

พอผมเกษียณออกมาได้ไม่กี่ปี ถึง พ.ศ.๒๕๓๙ เหล่าทหารสื่อสารก็มีอายุครบ ๗๒ ปี เพราะก่อกำเนิดขึ้นในกองทัพบกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ นิตยสารทหารสื่อสารก็จัดทำฉบับพิเศษในโอกาสนี้ ท่านเจ้ากรมขณะนั้นรู้จักคุ้นเคยกับผมมาก่อน ท่านจึงเชิญไปเป็นที่ปรึกษา ให้เขียนประวัติของเหล่าทหารสื่อสารจากเดิม เพิ่มเติมจนถึงปีนั้น และเป็นผู้ไปขอเรื่องของท่านอดีตเจ้ากรมการทหารสื่อสาร มาลงพิมพ์ ซึ่งเป็นงานเก่าของผม จึงไม่มีอะไรยุ่งยาก

แต่ไม่ทราบว่าเป็นความบังเอิญหรืออย่างไร หนังสือเล่มนี้ไม่มีชื่อคณะผู้จัดทำในท้ายเล่มอย่างเคย ก็เลยไม่มีใครรู้ว่าผมเป็นที่ปรึกษาอยู่ด้วย

ปีถัดมามีการปรับย้ายเจ้ากรมแทนท่านเก่าที่เกษียณอายุ เจ้ากรมท่านใหม่นี้ท่านเคยเรียนหลักสูตรชั้นนายพันพร้อมกับผม ได้ร่วมกินร่วมนอนร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกันอยู่ทั้งในโรงเรียนและในภาคสนามที่ค่ายเขาชะโงกอย่างสนิทสนม ท่านเรียกผมว่าพี่

เมื่อทราบว่าท่านได้รับตำแหน่งสูงสุดของทหารสื่อสาร และปรารภถึงผมด้วย ผมจึงรีบไปคำนับแสดงความยินดีกับท่าน และก็ได้รับมอบให้เรียบเรียงรายชื่อ อดีตหัวหน้าเหล่าทหารสื่อสาร ตั้งแต่ท่านแรก พ.ศ.๒๔๖๗ จนถึงตัวท่านเอง เพื่อทำแผ่นป้ายขนาดใหญ่ติดไว้บนกองบัญชาการกรม ซึ่งไม่เคยมีท่านใดทำมาก่อน

ผมก็สนองความต้องการของท่านได้ไม่ยาก เพราะผมเคยรับคำปรึกษาจากท่าน เมื่อสมัยที่ท่านเป็นผู้บังคับการกรมทหารสื่อสารที่ ๑ ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อจัดทำแหนบสัญลักษณ์ ของ พลเอก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาของเหล่าทหารสื่อสาร สำหรับติดปากกระเป๋าเสื้อมาก่อน โดยไม่ต้องตั้งเป็นที่ปรึกษาให้เอิกเกริกเลย

ครั้นอยู่ต่อมาอีกหลายปี ท่านเจ้ากรมถัดมาจากครั้งก่อนสามท่าน เกิดสนใจพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร ที่ผมได้วางมาตรฐานไว้เมื่อเป็นหัวหน้าแผนก หลังจากที่เก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๘ ท่านอยากจะปรับปรุงให้ทันสมัยน่าเข้าเยี่ยมชม มากกว่าที่ผมได้ทำไว้แล้ว เจ้ากรมท่านนี้เคยเป็นหัวหน้าแผนกของผมเมื่อท่านยังมียศพันตรี ท่านจึงเรียกผมไปปรึกษาหารือ

ผมก็สนับสนุนให้ดำเนินการเพื่อเป็นเกียรติประวัติของท่านเอง ท่านจึงออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร และมีชื่อผมเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการด้วย

เมื่อผมไปเข้าประชุมครั้งแรก ท่านเลขานุการคณะกรรมการก็ขอปรึกษาผมทันที ท่านเอาแผนการปรับปรุงของท่านมากางให้ผมดู และอธิบายรายละเอียดทุกขั้นตอนที่จะปรับปรุง และถามผมว่าจะเห็นเป็นอย่างไร ผมก็ได้แต่ตอบว่า เหมาะสมแล้วเท่านั้นเอง ก็ไม่ต้องไปประชุมอีกเลย จนเขาปรับปรุงเสร็จ ก็ได้กรุณา เชิญผมไปเป็นเกียรติในงานวันทหารสื่อสาร ที่เป็นวันเปิดพิพิธภัณฑ์ ใหม่ เพื่อต้อนรับอดีตเจ้ากรมที่มาเยี่ยมชมด้วย

จากนั้นผมก็อยู่อย่างสบายใจ ไม่ต้องเป็นที่ปรึกษาเงาของใครมาหลายปี โดยเขียนเรื่องส่งให้นิตยสารทหารสื่อสาร ปีละเรื่องสองเรื่อง ส่วนกิจการในแวดวงการเขียนภายนอกนั้น ก็ดำเนินไปด้วยดีพอได้อาศัยมีค่าโซดาผสมเบียร์ ให้อายุยืนบ้างตามความสามารถเฉพาะตัว

กาลเวลาได้ล่วงมาจนถึง พ.ศ.๒๕๕๑ เมื่อผมได้รับหนังสือที่ระลึกวันทหารสื่อสาร หลัง ๒๗ พฤษภาคม ซึ่งมีเรื่องของผมลงพิมพ์อยู่ด้วยตามปกติ ก็พบสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นในหน้าแรก คือมีชื่อของผมปรากฏว่าเป็นที่ปรึกษา แทรกอยู่ในระหว่างชื่อของอดีตเจ้ากรม สิบกว่าท่าน

ผมขนลุกซู่ว่าเดี๋ยวนี้เขาเลื่อนชื่อของผมขึ้นไปเทียบเท่าอดีตเจ้ากรมระดับ พลเอก แล้วหรือ แต่ก็นึกขึ้นมาได้ว่าก็เป็นการพิมพ์ผิดและตรวจข้ามไปอย่างแน่นอน จึงยกหูโทรศัพท์ต่อเข้าไปหาผู้ช่วยของผู้ช่วยบรรณาธิการ ซึ่งเป็นนายทหารหญิงยศร้อยเอก ที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการใหม่ ๆ ก็ได้ความว่าเป็นการผิดพลาดของเธอเอง ชื่อของผมควรจะอยู่ในกองบรรณาธิการ ได้กระโดดสูงข้ามไปตั้งหลายขั้นได้อย่างไรไม่ทราบ
ผมก็บอกว่าคุณเตรียมแก้ตัวกับเจ้านายไว้เถิด และขอให้โชคดี

เรื่องที่ว่านั้นก็เงียบหายไป นอกจากมีเพื่อนคนหนึ่งอยู่ทางเมืองกาญจนบุรี โทรศัพท์มาแสดงความยินดีที่ผมได้เลื่อนฐานะสูงขึ้น ก็ต้องชี้แจงความจริงให้ฟังแล้วก็หัวเราะชอบใจกันไป

แต่อีก ๓-๔ เดือนต่อมา ผมก็ได้รับหนังสือของทหารสื่อสาร ที่ออกใหม่อีกฉบับหนึ่ง คือ วารสารกรมการทหารสื่อสาร คราวนี้มีชื่อของผมปรากฏอยู่ในกลุ่มที่ปรึกษา ซึ่งเป็นอดีตเจ้ากรมเช่นเดิม แต่เข้าไปต่อเป็นชื่อสุดท้าย แสดงว่ามีการตรวจพิสูจน์อักษรถูกต้องตามลำดับอาวุโสแล้ว

รายชื่อเจ้ากรมทั้งสิบกว่าท่านนี้ มีทั้งยศ พลตรี พลโท และพลเอก แล้วผมจะไปต่อท้ายได้อย่างไร

ผมจึงรีบโทรศัพท์ไปหาท่านนักเขียนชื่อดังของสื่อสาร ยศพันเอก(พิเศษ) ที่คุ้นเคยกันมานานขอให้ช่วยแจ้งผู้รับผิดชอบให้เอาชื่อของผมออกจากแถวของที่ปรึกษานั้นด้วย

ก็ผมไม่อยากเป็น ที่ปรึกษา โดยไม่เจตนานี่ครับ.


#############
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่