เรื่องเล่าจากอดีต
กรณีพิพาทอินโดจีน (๒)
พ.สมานคุรุกรรม
ข้อเรียกร้องของไทยต่อฝรั่งเศสนั้น ก็คือการขอดินแดนที่ได้เสียไปเพราะถูกบังคับเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ หรือ ร.ศ.๑๑๒ นั้นเอง
เรื่องในอดีตนั้นมีอยู่ว่า ฝรั่งเศสได้ยึดครองประเทศญวนได้แล้วก็อ้างว่า ประเทศเขมรและประเทศลาว เคยเป็นเมืองขึ้นของญวน จึงให้ไทยถอยออกจากดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศลาวและเขมร เพราะถือว่าดินแดนของญวนนั้น มีอาณาเขตจดแม่น้ำโขง
เมื่อไทยไม่ยินยอมและขอให้มีการเจรจาปักปันเขตแดน โดยถือเอาอาณาเขตที่ทั้งสองฝ่ายปกครองอยู่ในขณะนั้นเป็นเกณฑ์ ฝรั่งเศสก็ส่งเรือปืนลูแตงเข้ามาจอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ต่อมาทางฝรั่งเศสได้ส่งกองทหารเข้ามาทางประเทศเขมรและประเทศลาว เพื่อบีบบังคับเจ้าหน้าที่ไทย ซึ่งปกครองประเทศทั้งสองอยู่ จนมีการกระทบกระทั่งกัน และผู้ตรวจราชการของฝรั่งเศสถูกฆ่าตาย
ฝรั่งเศสจึงถือเป็นสาเหตุส่งเรือสลุปเองกองสตังต์ และเรือปืนโคเมท ล่วงล้ำเข้ามาในอ่าวไทย โดยมีเรือสินค้าเดินระหว่างไซ่ง่อนกับกรุงเทพ เป็นเรือนำร่อง เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖เวลา ๑๘.๓๐ น. ทหารเรือไทยประจำป้อมพระจุลจอมเกล้าได้ชักธงสอบถาม แต่ฝรั่งเศสไม่ตอบ ทหารเรือไทยจึงยิงปืนใหญ่ไม่บรรจุกระสุนเตือนไปก่อนสองนัด และยิงกระสุนจริงอีกสองนัด เพื่อให้หยุด
ฝ่ายฝรั่งเศสจึงเริ่มยิงมาทางป้อมพระจุลจอมเกล้า ขณะนั้นเรือรบของไทยห้าลำ คือ เรือมกุฎราชกุมารและเรือมูรธาวิสิตสวัสดิ์ กับเรือรบโบราณอีกสามลำ ก็เข้าสกัดกั้นเรือรบฝรั่งเศส จึงเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้น ท่านกลางสายฝนและความมืด ผลปรากฏว่า เรือสินค้านำร่องถูกกระสุนปืนของฝ่ายไทยชำรุด ต้องวิ่งเข้ามาเกยตื้น เรือสลุป และเรือปืนเสียหายหนัก แต่ก็แล่นฝ่าเข้ามาถึงหน้าสถานทูตฝรั่งเศส และจอดรวมกับเรือปืนลูแตงได้
ฝ่ายไทยเรือมกุฎราชกุมาร กับเรือรบแบบเก่าสามลำถูกยิงเสียหาย พลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินผู้บัญชาการป้องกันรักษาปากอ่าว ได้สั่งให้เรือมกุฎราชกุมารและเรือมูรธาวิสิตสวัสดิ์ ติดตามเรือรบฝรั่งเศสเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมสมทบกับเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่จอดอยู่ที่ท่าราชวรดิษฐ์ ทำการจมเรือฝรั่งเศสทั้งสามลำให้จงได้ ส่วนตัวผู้บัญชาการ ซึ่งอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้านั้น ได้ขึ้นรถไฟจากสมุทรปราการล่วงหน้ามายังกรุงเทพ เพื่อบัญชาการรบโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี
แต่แผนการสู้รบนี้ได้ระงับไป เนื่องจากทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ขอยุติการสู้รบเพื่อเจรจาทำความตกลงในทางการทูต ซึ่งฝ่ายฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดให้ไทยดำเนินการภายใน ๔๘ ชั่วโมงรวม ๖ ข้อ เมื่อคำตอบของรัฐบาลไม่เป็นที่พอใจ ฝรั่งเศสจึงประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูต และนำเรือรบทั้งสามออกไปตั้งมั่นอยู่ที่ปากอ่าวไทย สมทบกับเรือลาดตระเวน และเรือปืน เรือสลุป กับเรือตอร์ปิโด ที่ตามมาสมทบ รวมเป็น ๑๒ ลำ และประกาศปิดอ่าวไทยตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๓๖
เนื่องจากกำลังของไทยมีน้อยกว่า ไม่เพียงพอที่จะต่อสู้ได้ ประกอบกับพระบรม ราโชบายที่สุขุมคัมภีรภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมเสียสละประโยชน์ส่วนน้อย เพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ รัฐบาลไทย จึงจำต้องยอมตามคำขาดของฝรั่งเศส ซึ่งมีสาระสำคัญคือ สละกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น กับให้ไทยชำระเงิน ๒ ล้านฟรังก์ ค่าที่ทำความเสียหายให้แก่ชนชาติฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสจึงยกเลิกการปิดอ่าว แต่ถอยไปยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน จนกว่าไทยจะปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วน และเมื่อไทยปฏิบัติตามสัญญาเรียบร้อยแล้ว ฝรั่งเศสก็ออกจากเมืองจันทบุรี แต่กลับไปยึดเมืองตราดไว้ และเรียกร้องเพิ่มเติม คือยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้เป็นการแลกเปลี่ยนกับเมืองตราด เมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙
การกระทำของฝรั่งเศสครั้งนั้นยังคงเป็นที่จดจำต่อมา จนถึงขนาดที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาของทหารเรือไทย ได้ให้ทหารเรือสักคำว่าตราด และ ร.ศ.๑๑๒ ไว้ที่หน้าอก เพื่อจะได้ไม่ลืมเหตุการณ์ในครั้งนั้น และข้อเรียกร้องของไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ก็คือการขอดินแดนที่เสียไปในครั้งนี้คืนนั่นเอง
เมื่อฝรั่งไม่สนใจข้อเรียกร้องและเคลื่อนกำลังทหารเข้าประชิดชายแดน จึงเกิดการกระทบกระทั่งกันหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะทางอากาศ จนถึงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ เวลา ๐๘.๐๐ น. เครื่องบินของฝรั่งเศส ๕ เครื่องได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดจังหวัดนครพนม ลูกระเบิดตกหน้าเมือง ๒ ลูก ท้ายเมือง ๑ ลูก ฝ่ายไทยได้ส่งเครื่องบินขับไล่ รวม ๔ เครื่องขึ้นไปขัดขวาง ได้ต่อสู้กันประมาณ ๒๐ นาที เครื่องบินของฝรั่งเศสก็บินกลับไป โดยได้รับความเสียหาย ๑ เครื่อง ฝ่ายไทยปลอดภัยทั้งหมด
ในวันเดียวกันนั้นเอง กองทัพอากาศไทยก็ได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่ท่าแขกและสุวรรณเขตในเวลาเย็นเป็นการตอบแทน
ต่อมาในวันที่ ๒๙ พ.ย.๒๔๘๓ เครื่องบินของฝรั่งเศสได้บินล้ำเขตแดน เข้ามาเหนือบ้านศรีเชียงใหม่และอำเภอท่าบ่อ และกำลังทางพื้นดินก็ใช้ปืนยิงข้ามมายังฝั่งไทยด้วย ฝ่ายไทยจึงส่งเครื่องบินไปโจมตีทิ้งระเบิดที่ตั้งปืนของข้าศึก ริมฝั่งโขงบริเวณท่าแขกตรงข้ามจังหวัดนครพนม เมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ จนได้รับความเสียหาย
วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๓ เกิดการต่อสู้ทางอากาศเหนือจังหวัดนครพนม เมื่อเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. เครื่องบินขับไล่ฝรั่งเศส ๒ เครื่อง เข้าโจมตีเครื่องบินขับไล่ไทย ๑ เครื่อง เป็นเวลาประมาณสิบนาที จึงมีเครื่องบินขับไล่ฝ่ายไทยที่กลับจากลาดตระเวน ๒ เครื่อง เข้ามาช่วยต่อสู้ เป็น สามต่อสอง อีกประมาณห้านาที ฝ่ายฝรั่งเศสจึงบินหนีไป แต่มีข่าวว่ามีเครื่องหนึ่งที่ได้รับความเสียหาย ต้องร่อนลงทางหลังเขาทางทิศใต้ของท่าแขก
ต่อมาฝ่ายฝรั่งเศสไม่ได้ส่งเครื่องบินเข้ามาโจมตี แต่ทางภาคพื้นดินได้ยิงมาทางฝั่งไทยเนือง ๆ จึงส่งเครื่องบินไปยิงโต้ตอบบ้าง เป็นการต่อสู้ระหว่างเครื่องบินกับทหารราบ
ในเวลาเดียวกันนี้ ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีอำนาจบังคับบัญชา แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ โดยสิทธิ์ขาด
และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ได้มีคำสั่งจัดตั้ง กองทัพบูรพา โดยให้ พันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นแม่ทัพ มีหน่วยขึ้นบังคับบัญชาคือ กองพลวัฒนา กองพลพระนคร กองพลลพบุรี กองพลจันทบุรี และกองพลหนุน
กองทัพอีสาน ให้ พันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นแม่ทัพ มีหน่วยขึ้นบังคับบัญชาคือ กองพลสุรินทร์ กองพลอุดร กองพลอุบลราชธานี กองพลพายัพ และกองพลหนุน
และตั้งแต่ ปลายเดือนพฤศจิกายนไป จนถึงต้นเดือนธันวาคม ๒๔๘๓ ได้มีล่วงล้ำดินแดน และปะทะกันทั้งทางอากาศและทางบกติดต่อกันมาตลอด ดังเช่นเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๔๘๓ ฝรั่งเศสได้นำเรือหุ้มเกราะแล่นมาระดมยิงจังหวัดหนองคาย จนถูกปืนต่อสู้อากาศยานยิงจนเกยตื้น
วันที่ ๘ ธันวาคม กองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด ๑ เครื่องและเครื่องบินขับไล่คุ้มกัน ๓ เครื่อง บินไปทิ้งระเบิดที่หมายทางทหารริมฝั่งแม่น้ำโขง เครื่องบินทิ้งระเบิดถูกยิงประมาณ ๒๐ แห่ง แต่ เรืออากาศตรีศานิต นวลมณี นักบินปลอดภัย
๙ ธันวาคม เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝรั่งเศส ได้บินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนมสามระลอก เที่ยวแรก ๔ เครื่องเที่ยวที่สอง ๓ เครื่อง ในเที่ยวนี้ครื่องบินไทยขึ้นไปต่อสู้ ๒ เครื่อง เครื่องบินข้าศึกถูกยิงตก ๑ เครื่อง ฝ่ายเราปลอดภัย เที่ยวที่สาม ๒ เครื่อง เครื่องบินขับไล่ของไทยบินขึ้นสกัดกั้น ประมาณห้านาที เครื่องบินข้าศึกก็บินกลับไป นักบินไทยได้รับบาดเจ็บถูกระสุนปืนที่เท้า แต่นำเครื่องลงได้ปลอดภัย ฝ่ายไทยจึงส่งฝูงบินไปทิ้งระเบิดที่ตั้งปืนใหญ่ที่สุวรรณเขต ทำลายเครื่องบินและสนามบินบ้านธาตุห่างสุวรรณเขตประมาณ ๒๑ ก.ม. และที่ตั้งทางทหารที่บ้านนาแพะ ห่างท่าแขกประมาณ ๑๐๐ ก.ม. ได้ผลดีฝ่ายเราปลอดภัย
ในวันเดียวกันทางด้านจังหวัดอุดรธานี ฝ่ายไทยได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด ๑ เครื่องขับไล่คุ้มกัน ๓ เครื่อง แต่หลงทางต้องกลับมาลงที่สนามบินนครพนม แต่ก็ลงไม่ได้เพราะสนามบินถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่ข้าศึก ต้องวกกลับมาลงที่สนามบินอุดรอีก จนน้ำมันหมดพอดี และเครื่องบินขับไล่เครื่องหนึ่งเลยออกไปนอกสนามหกคะเมนหงายท้องนักบินบาดเจ็บ
๑๐ ธันวาคม เวลา ๐๕.๐๐ น. เครื่องบินของฝรั่งเศส ๑ เครื่องเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดอุดรธานี เป็นเหตุให้ราษฎรเสียชีวิต ๒ คนบาดเจ็บ ๖ คน เมื่อถึงเวลา ๐๗.๓๐ น. กองทัพอากาศจึงได้ส่งฝูงบินจำนวนมากไปทำการโจมตีทิ้งระเบิดที่ตั้งทางทหารในนครเวียงจันทร์อย่างหนัก ในคราวนี้เครื่องบินทิ้งระเบิดที่มี ร.ต.ศานิต ฯ เป็นนักบินถูกยิงด้วยปืนกลจากพื้นดิน พลปืนหลังเสียชีวิต นักบินถูกกระสุนปืนที่เข่า เครื่องบินไฟไหม้ ต้องบินกลับฝั่งไทย แต่นักบินต้องโดดร่มออกมา ก่อนที่เครื่องบินจะตกลงในหนองน้ำบ้านพรานพร้าว อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และนักบินก็ตกลงในหนองเดียวกันโดยมีบาดแผลไฟลวกอาการสาหัส ได้ส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลทหารกรุงเทพ ถึงวันที่ ๒๓ ธันวาคมก็เสียชีวิต
และต่อมาในวันที่ ๑๒ ธันวาคม เวลา ๐๑.๐๐ น. ร.ต.จวน สุขเสริม ได้นำเครื่องบินขับไล่ขึ้นสกัดกั้น เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝรั่งเศสที่เข้ามาทิ้งระเบิดจังหวัดนครพนม แต่เสียทีถูกข้าศึกยิงตกบริเวณบ้านตาด และเสียชีวิตอีก ๑ นาย รวมเป็นสามนายทั้งพลปืนหลังด้วย
ในปลายเดือนธันวาคม ก็มีการปะทะข้าศึกทางพื้นดินตลอดเวลา จนถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๓
และปีนี้ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็นเดือน มกราคม ๒๔๘๔ การปะทะกันจึงล่วงเลยมาจนถึงวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๔ ฝรั่งเศสได้ยิงปืนใหญ่ทำลายประตูชัยที่ชายแดนด้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ ขณะนั้นเป็นจังหวัดปราจีนบุรี กองทัพบกไทยจึงเคลื่อนที่เข้าตีข้าศึกพร้อมกันทุกด้าน เป็นการเริ่มสงครามทางภาคพื้นดินอย่างเต็มขนาด ตามแผนยุทธการตั้งแต่บัดนั้น
ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามตอนหน้า.
###########
กรณีพิพาทอินโดจีน(๒) ๖ มี.ค.๖๑
กรณีพิพาทอินโดจีน (๒)
พ.สมานคุรุกรรม
ข้อเรียกร้องของไทยต่อฝรั่งเศสนั้น ก็คือการขอดินแดนที่ได้เสียไปเพราะถูกบังคับเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ หรือ ร.ศ.๑๑๒ นั้นเอง
เรื่องในอดีตนั้นมีอยู่ว่า ฝรั่งเศสได้ยึดครองประเทศญวนได้แล้วก็อ้างว่า ประเทศเขมรและประเทศลาว เคยเป็นเมืองขึ้นของญวน จึงให้ไทยถอยออกจากดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศลาวและเขมร เพราะถือว่าดินแดนของญวนนั้น มีอาณาเขตจดแม่น้ำโขง
เมื่อไทยไม่ยินยอมและขอให้มีการเจรจาปักปันเขตแดน โดยถือเอาอาณาเขตที่ทั้งสองฝ่ายปกครองอยู่ในขณะนั้นเป็นเกณฑ์ ฝรั่งเศสก็ส่งเรือปืนลูแตงเข้ามาจอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ต่อมาทางฝรั่งเศสได้ส่งกองทหารเข้ามาทางประเทศเขมรและประเทศลาว เพื่อบีบบังคับเจ้าหน้าที่ไทย ซึ่งปกครองประเทศทั้งสองอยู่ จนมีการกระทบกระทั่งกัน และผู้ตรวจราชการของฝรั่งเศสถูกฆ่าตาย
ฝรั่งเศสจึงถือเป็นสาเหตุส่งเรือสลุปเองกองสตังต์ และเรือปืนโคเมท ล่วงล้ำเข้ามาในอ่าวไทย โดยมีเรือสินค้าเดินระหว่างไซ่ง่อนกับกรุงเทพ เป็นเรือนำร่อง เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖เวลา ๑๘.๓๐ น. ทหารเรือไทยประจำป้อมพระจุลจอมเกล้าได้ชักธงสอบถาม แต่ฝรั่งเศสไม่ตอบ ทหารเรือไทยจึงยิงปืนใหญ่ไม่บรรจุกระสุนเตือนไปก่อนสองนัด และยิงกระสุนจริงอีกสองนัด เพื่อให้หยุด
ฝ่ายฝรั่งเศสจึงเริ่มยิงมาทางป้อมพระจุลจอมเกล้า ขณะนั้นเรือรบของไทยห้าลำ คือ เรือมกุฎราชกุมารและเรือมูรธาวิสิตสวัสดิ์ กับเรือรบโบราณอีกสามลำ ก็เข้าสกัดกั้นเรือรบฝรั่งเศส จึงเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้น ท่านกลางสายฝนและความมืด ผลปรากฏว่า เรือสินค้านำร่องถูกกระสุนปืนของฝ่ายไทยชำรุด ต้องวิ่งเข้ามาเกยตื้น เรือสลุป และเรือปืนเสียหายหนัก แต่ก็แล่นฝ่าเข้ามาถึงหน้าสถานทูตฝรั่งเศส และจอดรวมกับเรือปืนลูแตงได้
ฝ่ายไทยเรือมกุฎราชกุมาร กับเรือรบแบบเก่าสามลำถูกยิงเสียหาย พลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินผู้บัญชาการป้องกันรักษาปากอ่าว ได้สั่งให้เรือมกุฎราชกุมารและเรือมูรธาวิสิตสวัสดิ์ ติดตามเรือรบฝรั่งเศสเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมสมทบกับเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่จอดอยู่ที่ท่าราชวรดิษฐ์ ทำการจมเรือฝรั่งเศสทั้งสามลำให้จงได้ ส่วนตัวผู้บัญชาการ ซึ่งอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้านั้น ได้ขึ้นรถไฟจากสมุทรปราการล่วงหน้ามายังกรุงเทพ เพื่อบัญชาการรบโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี
แต่แผนการสู้รบนี้ได้ระงับไป เนื่องจากทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ขอยุติการสู้รบเพื่อเจรจาทำความตกลงในทางการทูต ซึ่งฝ่ายฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดให้ไทยดำเนินการภายใน ๔๘ ชั่วโมงรวม ๖ ข้อ เมื่อคำตอบของรัฐบาลไม่เป็นที่พอใจ ฝรั่งเศสจึงประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูต และนำเรือรบทั้งสามออกไปตั้งมั่นอยู่ที่ปากอ่าวไทย สมทบกับเรือลาดตระเวน และเรือปืน เรือสลุป กับเรือตอร์ปิโด ที่ตามมาสมทบ รวมเป็น ๑๒ ลำ และประกาศปิดอ่าวไทยตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๓๖
เนื่องจากกำลังของไทยมีน้อยกว่า ไม่เพียงพอที่จะต่อสู้ได้ ประกอบกับพระบรม ราโชบายที่สุขุมคัมภีรภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมเสียสละประโยชน์ส่วนน้อย เพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ รัฐบาลไทย จึงจำต้องยอมตามคำขาดของฝรั่งเศส ซึ่งมีสาระสำคัญคือ สละกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น กับให้ไทยชำระเงิน ๒ ล้านฟรังก์ ค่าที่ทำความเสียหายให้แก่ชนชาติฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสจึงยกเลิกการปิดอ่าว แต่ถอยไปยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน จนกว่าไทยจะปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วน และเมื่อไทยปฏิบัติตามสัญญาเรียบร้อยแล้ว ฝรั่งเศสก็ออกจากเมืองจันทบุรี แต่กลับไปยึดเมืองตราดไว้ และเรียกร้องเพิ่มเติม คือยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้เป็นการแลกเปลี่ยนกับเมืองตราด เมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙
การกระทำของฝรั่งเศสครั้งนั้นยังคงเป็นที่จดจำต่อมา จนถึงขนาดที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาของทหารเรือไทย ได้ให้ทหารเรือสักคำว่าตราด และ ร.ศ.๑๑๒ ไว้ที่หน้าอก เพื่อจะได้ไม่ลืมเหตุการณ์ในครั้งนั้น และข้อเรียกร้องของไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ก็คือการขอดินแดนที่เสียไปในครั้งนี้คืนนั่นเอง
เมื่อฝรั่งไม่สนใจข้อเรียกร้องและเคลื่อนกำลังทหารเข้าประชิดชายแดน จึงเกิดการกระทบกระทั่งกันหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะทางอากาศ จนถึงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ เวลา ๐๘.๐๐ น. เครื่องบินของฝรั่งเศส ๕ เครื่องได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดจังหวัดนครพนม ลูกระเบิดตกหน้าเมือง ๒ ลูก ท้ายเมือง ๑ ลูก ฝ่ายไทยได้ส่งเครื่องบินขับไล่ รวม ๔ เครื่องขึ้นไปขัดขวาง ได้ต่อสู้กันประมาณ ๒๐ นาที เครื่องบินของฝรั่งเศสก็บินกลับไป โดยได้รับความเสียหาย ๑ เครื่อง ฝ่ายไทยปลอดภัยทั้งหมด
ในวันเดียวกันนั้นเอง กองทัพอากาศไทยก็ได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่ท่าแขกและสุวรรณเขตในเวลาเย็นเป็นการตอบแทน
ต่อมาในวันที่ ๒๙ พ.ย.๒๔๘๓ เครื่องบินของฝรั่งเศสได้บินล้ำเขตแดน เข้ามาเหนือบ้านศรีเชียงใหม่และอำเภอท่าบ่อ และกำลังทางพื้นดินก็ใช้ปืนยิงข้ามมายังฝั่งไทยด้วย ฝ่ายไทยจึงส่งเครื่องบินไปโจมตีทิ้งระเบิดที่ตั้งปืนของข้าศึก ริมฝั่งโขงบริเวณท่าแขกตรงข้ามจังหวัดนครพนม เมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ จนได้รับความเสียหาย
วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๓ เกิดการต่อสู้ทางอากาศเหนือจังหวัดนครพนม เมื่อเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. เครื่องบินขับไล่ฝรั่งเศส ๒ เครื่อง เข้าโจมตีเครื่องบินขับไล่ไทย ๑ เครื่อง เป็นเวลาประมาณสิบนาที จึงมีเครื่องบินขับไล่ฝ่ายไทยที่กลับจากลาดตระเวน ๒ เครื่อง เข้ามาช่วยต่อสู้ เป็น สามต่อสอง อีกประมาณห้านาที ฝ่ายฝรั่งเศสจึงบินหนีไป แต่มีข่าวว่ามีเครื่องหนึ่งที่ได้รับความเสียหาย ต้องร่อนลงทางหลังเขาทางทิศใต้ของท่าแขก
ต่อมาฝ่ายฝรั่งเศสไม่ได้ส่งเครื่องบินเข้ามาโจมตี แต่ทางภาคพื้นดินได้ยิงมาทางฝั่งไทยเนือง ๆ จึงส่งเครื่องบินไปยิงโต้ตอบบ้าง เป็นการต่อสู้ระหว่างเครื่องบินกับทหารราบ
ในเวลาเดียวกันนี้ ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีอำนาจบังคับบัญชา แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ โดยสิทธิ์ขาด
และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ได้มีคำสั่งจัดตั้ง กองทัพบูรพา โดยให้ พันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นแม่ทัพ มีหน่วยขึ้นบังคับบัญชาคือ กองพลวัฒนา กองพลพระนคร กองพลลพบุรี กองพลจันทบุรี และกองพลหนุน
กองทัพอีสาน ให้ พันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นแม่ทัพ มีหน่วยขึ้นบังคับบัญชาคือ กองพลสุรินทร์ กองพลอุดร กองพลอุบลราชธานี กองพลพายัพ และกองพลหนุน
และตั้งแต่ ปลายเดือนพฤศจิกายนไป จนถึงต้นเดือนธันวาคม ๒๔๘๓ ได้มีล่วงล้ำดินแดน และปะทะกันทั้งทางอากาศและทางบกติดต่อกันมาตลอด ดังเช่นเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๔๘๓ ฝรั่งเศสได้นำเรือหุ้มเกราะแล่นมาระดมยิงจังหวัดหนองคาย จนถูกปืนต่อสู้อากาศยานยิงจนเกยตื้น
วันที่ ๘ ธันวาคม กองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด ๑ เครื่องและเครื่องบินขับไล่คุ้มกัน ๓ เครื่อง บินไปทิ้งระเบิดที่หมายทางทหารริมฝั่งแม่น้ำโขง เครื่องบินทิ้งระเบิดถูกยิงประมาณ ๒๐ แห่ง แต่ เรืออากาศตรีศานิต นวลมณี นักบินปลอดภัย
๙ ธันวาคม เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝรั่งเศส ได้บินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนมสามระลอก เที่ยวแรก ๔ เครื่องเที่ยวที่สอง ๓ เครื่อง ในเที่ยวนี้ครื่องบินไทยขึ้นไปต่อสู้ ๒ เครื่อง เครื่องบินข้าศึกถูกยิงตก ๑ เครื่อง ฝ่ายเราปลอดภัย เที่ยวที่สาม ๒ เครื่อง เครื่องบินขับไล่ของไทยบินขึ้นสกัดกั้น ประมาณห้านาที เครื่องบินข้าศึกก็บินกลับไป นักบินไทยได้รับบาดเจ็บถูกระสุนปืนที่เท้า แต่นำเครื่องลงได้ปลอดภัย ฝ่ายไทยจึงส่งฝูงบินไปทิ้งระเบิดที่ตั้งปืนใหญ่ที่สุวรรณเขต ทำลายเครื่องบินและสนามบินบ้านธาตุห่างสุวรรณเขตประมาณ ๒๑ ก.ม. และที่ตั้งทางทหารที่บ้านนาแพะ ห่างท่าแขกประมาณ ๑๐๐ ก.ม. ได้ผลดีฝ่ายเราปลอดภัย
ในวันเดียวกันทางด้านจังหวัดอุดรธานี ฝ่ายไทยได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด ๑ เครื่องขับไล่คุ้มกัน ๓ เครื่อง แต่หลงทางต้องกลับมาลงที่สนามบินนครพนม แต่ก็ลงไม่ได้เพราะสนามบินถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่ข้าศึก ต้องวกกลับมาลงที่สนามบินอุดรอีก จนน้ำมันหมดพอดี และเครื่องบินขับไล่เครื่องหนึ่งเลยออกไปนอกสนามหกคะเมนหงายท้องนักบินบาดเจ็บ
๑๐ ธันวาคม เวลา ๐๕.๐๐ น. เครื่องบินของฝรั่งเศส ๑ เครื่องเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดอุดรธานี เป็นเหตุให้ราษฎรเสียชีวิต ๒ คนบาดเจ็บ ๖ คน เมื่อถึงเวลา ๐๗.๓๐ น. กองทัพอากาศจึงได้ส่งฝูงบินจำนวนมากไปทำการโจมตีทิ้งระเบิดที่ตั้งทางทหารในนครเวียงจันทร์อย่างหนัก ในคราวนี้เครื่องบินทิ้งระเบิดที่มี ร.ต.ศานิต ฯ เป็นนักบินถูกยิงด้วยปืนกลจากพื้นดิน พลปืนหลังเสียชีวิต นักบินถูกกระสุนปืนที่เข่า เครื่องบินไฟไหม้ ต้องบินกลับฝั่งไทย แต่นักบินต้องโดดร่มออกมา ก่อนที่เครื่องบินจะตกลงในหนองน้ำบ้านพรานพร้าว อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และนักบินก็ตกลงในหนองเดียวกันโดยมีบาดแผลไฟลวกอาการสาหัส ได้ส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลทหารกรุงเทพ ถึงวันที่ ๒๓ ธันวาคมก็เสียชีวิต
และต่อมาในวันที่ ๑๒ ธันวาคม เวลา ๐๑.๐๐ น. ร.ต.จวน สุขเสริม ได้นำเครื่องบินขับไล่ขึ้นสกัดกั้น เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝรั่งเศสที่เข้ามาทิ้งระเบิดจังหวัดนครพนม แต่เสียทีถูกข้าศึกยิงตกบริเวณบ้านตาด และเสียชีวิตอีก ๑ นาย รวมเป็นสามนายทั้งพลปืนหลังด้วย
ในปลายเดือนธันวาคม ก็มีการปะทะข้าศึกทางพื้นดินตลอดเวลา จนถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๓
และปีนี้ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็นเดือน มกราคม ๒๔๘๔ การปะทะกันจึงล่วงเลยมาจนถึงวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๔ ฝรั่งเศสได้ยิงปืนใหญ่ทำลายประตูชัยที่ชายแดนด้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ ขณะนั้นเป็นจังหวัดปราจีนบุรี กองทัพบกไทยจึงเคลื่อนที่เข้าตีข้าศึกพร้อมกันทุกด้าน เป็นการเริ่มสงครามทางภาคพื้นดินอย่างเต็มขนาด ตามแผนยุทธการตั้งแต่บัดนั้น
ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามตอนหน้า.
###########