❤ FOREHEAD ACNE : สิวหน้าผากเม็ดเล็กๆคืออะไร และจะรักษายังไง ❤

สวัสดีค่ะ วันนี้แก้วกลับมาโพสกระทู้เกี่ยวกับเรื่องสิวๆอีกครั้งหนึ่งค่ะ
เพราะเนื่องมาจากมีเพื่อนๆถามหลังไมค์กันมาเยอะ แก้วก็เลยขอเอาหนึ่งในเรื่องที่มีคนถามถึงกันเยอะ มารวบรวมเป็นข้อมูลและแชร์ค้า
เรื่องในครั้งนี้ก็คือ สิวเม็ดเล็กๆ เหมือนเป็นผดๆ อุดตันๆ ขาวๆ บนหน้าผากค่ะ


เอาจริงๆนะ แก้วคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของใครหลายๆคนเลยล่ะ เพราะตื่นมาพบว่ามีสิวเม็ดเล็กๆ คล้ายสิวผดอุดตันอยู่เต็มหน้าผาก กดสิวทิ้งก็ได้มั่งไม่ได้มั่ง แต่ที่แน่ๆคือมันกลับมาใหม่เสมอ ทำให้หน้าผากดูไม่เรียบสม่ำเสมอ แถมดีไม่ดีพัฒนาเป็นสิวอักเสบ ให้หน้าผากดูเห่อๆแดงๆอีกด้วย ทายาแต้มสิวไปก็หลายตัว หลายชนิดแล้ว ทำไมยังไม่หายไม่ดีขึ้นก็ไม่รู้  บางครั้งตื่นเช้าขึ้นมาเหมือนมันจะไม่เห่อ แต่พอเที่ยงๆอากาศร้อนๆ เห่อมาเป็นกองทัพบนหน้าผากเลย

กำลังเจอปัญหานี้อยู่ใช่มั้ยคะ

เริ่มต้นเลย ส่วนใหญ่สิวหน้าผากลักษณะอย่างที่กล่าวมา มักจะเป็นสิวที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่เป็นสิวที่เกิดจากเชื้อยีสต์เชื้อรา ที่มีชื่อว่า malassezia folliculitis ค่ะ อืมมม ออกเสียงสุดจะละติ๊นละติน~

ค่ะ อ่านถูกแล้วค่ะ มันเป็นสิวจากเชื้อยีสต์เชื้อรา ไม่ใช่แบคทีเรีย

“อ่าว มันมีสิวจากเชื้อยีสต์เชื้อราด้วยหรอ”
มีค่ะ อย่างเช่นในกรณีนี้เป็นต้นค่ะ

“อ่าว หรอ”
ใช่ค่ะ เพราะสิวไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  ก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนใช้ยารักษาสิวแบบฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้ว ถึงรักษาสิวชนิดเชื้อยีสต์เชื้อราไม่ได้

โอเค ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราถึงมีเชื้อยีสต์เชื้อราอยู่บนหน้าผากเราได้?


เดิมที เชื้อยีสต์เชื้อรา(รวมถึงแบคทีเรียด้วยค่ะ) จะมีชีวิตอยู่ตามผิวหนังของเราอยู่แล้ว -- ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว มันไม่แปลกเท่าไหร่ สำหรับเราที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์

แต่เชื้อที่ว่าจะไม่เป็นปัญหากับเราเลย ถ้าสภาพผิวของเรามีความเป็นกรดด่างสมดุล มีเกราะป้องกันผิวแข็งแรง และมีระดับการสร้างน้ำมันจากต่อมไขมันเป็นไปอย่างปกติ เราจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกว่าเชื้อดังกล่าวทำร้ายผิวเราแต่อย่างใดเลย  -- แต่เพราะมันไม่ปกติ เชื้อยีสต์เชื้อราก็เลยสามารถออกอาละวาดขึ้นมาได้

โดยสาเหตุที่ทำให้เชื้อราอาละวาดได้นั้น อาจเป็นเพราะต่อมไขมันบนหน้า สร้างไขมันออกมามากเกินไป ทำให้มีไขมันเป็นแหล่งอาหารให้เชื้อยีสต์เชื้อราได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการอุดตันและอักเสบบริเวณต่อมไขมันและรูขุมขน เกิดเป็นสิวดังที่เห็นค่ะ

ดังนั้น ยิ่งเรามีปัจจัยทำให้ต่อมไขมันบนหน้าสร้างไขมันมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีปัญหาสิวดังกล่าวมากขึ้น
จึงไม่แปลกที่คนในประเทศร้อนชื้นจะมีปัญหาหน้ามัน และสิวขึ้นที่หน้าผากแบบนี้กันเยอะ เพราะส่วนใหญ่แล้วจะจบลงที่หน้ามันแพล่บกันเยอะ

ดังนั้นวิธีที่รักษา ควรมาโฟกัสที่การควบคุมน้ำมันบนหน้า และรักษาเชื้อรามากกว่าค่ะ


1.เลือกสกินแคร์ที่เหมาะสม

    สำคัญมากกกกก ที่เราจะต้องไม่เลือกสกินแคร์ที่มีไขมันกลุ่มที่เป็นอาหารให้กับเชื้อยีสต์เชื้อรา เพราะไม่อย่างนั้นหน้าผากเราจะหายนะมากค่ะ โดยไขมันที่เชื้อ malassezia ใช้เป็นอาหาร จะเป็นกรดไขมันที่มีคาร์บอนยาวจำนวน 11-24 ตัวตามนี้ค่ะ

Undecylenic Acid (C11)
Lauric / Dodecanoic (C12)
Tridecylic (C13)
Myristic / Tetradecanoic (C14)
Pentadecanoic (C15)
Palmitic / Hexadecanoic (C16)
Palmitoleic / Hexadecenoic (C16:1)
Margaric (C17)
Stearic / Octadecanoic (C18)
Oleic / Octadecenoic (C18:1)
Linoleic (C18:2)
α-Linolenic (C18:3)
Nonadecylic (C19)
Arachidic / Eicosanoic (C20)
Heneicosylic (C21)
Behenic / Docosanoic (C22)
Tricosylic (C23)
Lignoceric / Tetracosanoic (C24)

ดังนั้น ลิสต์อันยืดยาวดังกล่าวนี่ ก็คือลิสต์กรดไขมันที่เราควรหลีกเลี่ยงไม่ใช้ค่ะ ซึ่งเพื่อนๆสามารถพลิกดูส่วนผสมของผลิตภัณฑ์นั้นๆได้เลยค่ะ

แต่อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ เพื่อนๆหลายคนอาจจะพลิกดูแล้วไม่เจอกรดไขมันดังกล่าว ก็เลยเข้าใจว่าใช้ได้
….แต่ยังไม่จบเรื่องแค่นี้ค่ะ เพราะกรดไขมันดังกล่าว เมื่อนำมาผลิตเป็นสกินแคร์แล้ว มักจะมาในรูปแบบเอสเตอร์ (Ester) ได้ ( ซึ่งเอสเตอร์ก็คือสารที่มักจะลงท้ายด้วยคำว่า -ate (เอตๆ เบตๆ ทั้งหลาย) )

และเอสเตอร์นี่ ก็ผลิตมาจากกรดไขมัน ผสมกับสารที่มีกลุ่มแอลกอฮอล์อีกครั้งค่ะ

ดังนั้นเมื่อเราใช้สกินแคร์ที่มีเอสเตอร์ดังกล่าวลงบนหน้าไปแล้ว  เชื้อmalassezia ก็จะทำการย่อยโครงสร้างเอสเตอร์ให้แตกออก กลับมาเป็นกรดไขมันและสารกลุ่มแอลกอฮอล์อีกครั้ง

สรุปแล้ว เชื้อmalasseziaก็ได้แหล่งอาหารของมันอีกครั้งนั่นเอง

ดังนั้น เราจำเป็นต้องระวังถึงสารกลุ่มเอสเตอร์ด้วยเช่นเดียวกันค่ะ ว่ามันเป็นเอสเตอร์ที่สร้างมาจากกรดไขมันต้องห้ามที่เป็นคาร์บอน 11-24 ตามลิสต์ของเรารึเปล่า

ซึ่งส่วนใหญ่เอสเตอร์ที่จะเจอกันบ่อยและเป็นปัญหากับสิวกลุ่มนี้ ก็คือ Polysorbate ตามนี้ค่ะ เพราะเนื่องจากว่ามีกรดไขมันที่เป็นคาร์บอน 11-24
Polysorbate 20 = sorbitan monolaurate (lauric acid, C12)
Polysorbate 40 =sorbitan monopalmitate (palmitic acid, C14)
Polysorbate 60 =sorbitan monostearate (stearic acid, C18)
Polysorbate 80 =sorbitan monooleate (oleic acid, C18:1)

ดังนั้น หลักๆแล้ว เราต้องระวังกรดไขมันและเอสเตอร์จำพวกนี้ค่ะ! เพราะยิ่งทา ก็ยิ่งทำให้เชื้อ malassezia เติบโตขึ้นได้อย่างยิ่งใหญ่กว่าเดิม


2.กำจัดเชื้อรา
ตรงไปตรงมาเลยค่ะ ถ้าเชื้อมันคือเชื้อยีสต์เชื้อรา เราก็ต้องกำจัดเชื้อชีสต์เชื้อรา ไม่ใช่แบคทีเรียค่ะ

เริ่มต้นจากมองหา ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือยาตัวอื่นที่เป็นกลุ่มยาฆ่าเชื้อราเหมือนกันค่ะ

เพื่อนๆอาจจะเจอยาฆ่าเชื้อราในรูปแบบแชมพูและครีม ซึ่งสามารถใช้ทั้ง 2 ชนิดนี้มารักษาได้ค่ะ

ถ้าอยากเห็นผลเร็ว อาจจะใช้ยารูปแบบชมพูมาทาหน้าผากทิ้งเอาไว้สักประมาณ 5-10 นาที หลังจากล้างหน้าเสร็จ  ทำสองครั้งตอนเช้ากับก่อนนอน จากนั้นก็ล้างทิ้งค่ะ  แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยใช้ยารูปแบบครีมมาทาหน้าผากตาม

การรักษาจะเร็วหรือช้าแค่ไหน ขึ้นกับคนและความรุนแรงของแต่ละคนค่ะ แต่ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณสัปดาห์ก็จะเริ่มเห็นผลค่ะ


อีกตัวที่สามารถฆ่าเชื้อราได้ก็คือซัลเฟอร์ (Sulfur) ค่ะ
โดยซัลเฟอร์จะไปผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกที่เชื้อราอยู่ให้หลุดออกมา รวมถึงสร้างสารที่มีชื่อว่ากรดเพนตะไธโอนิค (Pentathionic acid) ซึ่งเป็นพิษต่อเชื้อรา ทำให้เชื้อราถูกกำจัดได้ค่ะ

ข้อเสียของการใช้ยาคีโตโคนาโซลรูปแบบแชมพู(ไม่นับรูปแบบครีมนะคะ) กับซัลเฟอร์ ก็คืออาจจะทำให้ผิวแห้งได้ ดังนั้นอย่าลืมที่จะหาครีมให้ความชุ่มชื้นดีๆบำรุงผิวด้วยนะคะ (เชคด้วยนะ ว่ามีกรดไขมันในลิสต์ด้านบนรึเปล่า)


หรืออีกตัวยาที่สามารถรักษาได้ก็คือ Salicylic acid หรือ BHA ค่ะ
เจ้าตัวนี้โผล่มาแทบจะทุกผลิตภัณฑ์สิวๆเลยก็ว่าได้ เชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนคงคุ้นหูคุ้นตากันมาบ้างแล้ว
เจ้าSalicylic acidตัวนี้ เป็นได้ทั้งตัวแก้อักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และฆ่าเชื้อราได้ด้วยค่ะ -- อ่ะโหว ดูดีขึ้นมาอีก  แต่ข้อเสียก็คือทำให้ผิวแห้งได้ค่ะ (เพราะมันผลัดเซลล์ผิวเราได้ แถมมีความเป็นกรดด้วย)


และถ้าใครจะมาสายธรรมชาติ ก็มานี่ได้เลยค่ะ Tea Tree Oil
นี่ก็อีกตัวที่ฆ่าได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราค่ะ
แต่ต้องระวังว่าใช้ความเข้มข้นไม่สูงเกินไปนะคะ ไม่อย่างนั้นจะระคายเคืองผิวมากๆ (ส่วนใหญ่ใช้กันที่ประมาณไม่เกิน 1%ค่ะ)


ตัวสุดท้ายที่อยากพูดถึงในการเอามาใช้รักษา ก็คือยูเรีย (Urea) ค่ะ
หากใครที่มีผลกระทบผิวแห้ง ไม่อยากใช้ตัวรักษาที่ทำให้ผิวแห้งไปกว่าเดิม ยูเรียอาจเป็นตัวเลือกได้ค่ะ
ยูเรียมีคุณสมบัติผลัดเซลล์ผิว ทำให้เชื้อราที่ผิวหลุดออกไปด้วย แต่ก็ไม่ส่งผลให้ผิวแห้ง เพราะยูเรียมีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นกับผิวเราได้ด้วยเช่นเดียวกันค่ะ



และนี่คือการรักษา 2 ประเด็นหลักๆของการรักษาสิวเชื้อยีสต์เชื้อรา malassezia บนหน้าผากของเราค่ะ
หลีกเลี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันที่เป็นแหล่งอาหารให้เชื้อ malassezia  และใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกำจัดเชื้อราค่ะ

แน่นอนว่านอกจากนี้ เรื่องหลักๆที่ดูแลผิว ก็ยังคงต้องทำค่ะ
ต้องมั่นใจจริงๆ ว่ารูขุมขนบนหน้าไม่อุดตัน การทำความสะอาดบนผิวหน้าถูกต้องและเรียบร้อย ฮ่าาา

และนี่ก็คือข้อมูลที่แก้วอยากเอามาแชร์ให้กับเพื่อนๆทุกคนที่มีปัญหาสิวดังกล่าวบนหน้าผากค่ะ
หวังว่าจะได้ความรู้ไปไม่มากก็น้อย และขอให้ทุกคนมีสภาพผิวที่ดีขึ้น ผิวมีปัญหาน้อยลงค่ะ

ขอออกตัวอีกรอบ แก้วเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยตรง แต่นี่คือสิ่งที่แก้วชอบและได้รวบรวมข้อมูลมาแชร์ค่ะ ถ้าข้อมูลช่วยเหลือเพื่อนๆได้ จะดีใจมาก ฮ่าาา
ปัญหาสิว เป็นปัญหาที่ซับซ้อนกว่าที่ใครหลายๆคนคิดค่ะ แก้วอยากจะย้ำในเรื่องนี้ เพราะสิวเป็นเรื่องที่เกิดได้จากปัจจัยภายใน-ภายนอก ได้หลายสาเหตุ  และการที่จะดูแลตัวเองให้ถูกต้องนั้น ต้องเริ่มมาจากการรักษาต้นตอของปัญหาได้ถูกจุด

ขอบคุณมากค่ะที่แวะมาอ่านกระทู้แก้ว
แล้วไว้เจอกันใหม่ค้า


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่