[CR] วัดบางขนุน...กับความเปลี่ยนแปลงในบางกรวย

บางกรวย
        พื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี แหล่งชุมชนขนาดใหญ่ที่ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พื้นที่เกษตรกรรมผลิตผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอดีต ซึ่งทุกวันนี้ ความเจริญจากเมืองใหญ่ขยับขยายเข้ามา นำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่บางกรวย เรือกสวนกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร คูคลองตื้นเขิน สร้างบรรยากาศเสมือนชานเมืองธรรมดา ๆ ที่หาได้ทั่วไป
    คลองอ้อมนนท์ คลองสายเล็กที่แทบมองไม่ออกว่า ครั้งหนึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่กว้างขวางและเคยเป็นเส้นทางสัญจรหลัก พื้นที่ริมคลองนั้นยังคงปรากฏวัดเก่าแก่มากมายหลายสิบวัด เกือบทุกวัดมีประวัติย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และแต่ละวัดก็มีเอกลักษณ์ จุดที่น่าสนใจต่างกันออกไป

    และวัดนี้ ก็เป็นหนึ่งในวัดที่มีความพิเศษไม่เหมือนที่ใด...

วัดบางขนุน



    การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังอำเภอบางกรวยในปัจจุบันนี้ แสนสะดวกสบาย เนื่องจากถนนหลายสายอย่างถนนราชพฤกษ์ ถนนนครอินทร์ และทางด่วนพิเศษได้ตัดเข้ามาถึงพื้นที่นี้ ใช้เวลาเพียงไม่ถึงชั่วโมงก็เดินทางข้ามจังหวัดมาอย่างไม่รู้ตัว
        จากเดอะวอล์ค ถนนราชพฤกษ์ เข้าซอยที่อยู่ถัดไปเพียงหนึ่งกิโลเมตรกว่า ๆ ก็จะถึงซุ้มประตูทางเข้าของ “วัดบางขนุน” ในพื้นที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

    วัดบางขนุน สันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากปรากฏลักษณะฐานของอุโบสถแอ่นโค้งเหมือนเรือสำเภา และตัวอาคารหันหน้าไปทางคลองอ้อมนนท์ หรือแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักในยุคนั้น
        ความเปลี่ยนแปลงอย่างแรกที่สังเกตได้ จึงเป็นการที่ตัวอุโบสถหันหลังให้กับถนนที่ตัดเข้ามาใหม่ในภายหลัง หลาย ๆ วัดในบางกรวย และพื้นที่รอบคลองอ้อมนนท์ ก็เป็นลักษณะอย่างนี้...การคมนาคมได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว

    หน้าบันอุโบสถเป็นปูนปั้นประดับกระจกสี เจาะช่องประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 2 ช่อง

        ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นทรงบันแถลง หรือทำรูปหน้าบันย่อส่วน มักพบในวัดสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น



    การมาเที่ยวชมวัดแห่งนี้ในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจะเหมาะที่สุด เนื่องจากอุโบสถจะเปิดให้เข้ากราบสักการะพระพุทธรูปโบราณ ที่ประดิษฐานบนฐานชุกชีเดียวกัน แต่ละองค์มีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยปี




    และยังเป็นโอกาสดีที่จะได้ชม “ภาพจิตรกรรมฝาผนัง” สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ยังคงความงามแบบดั้งเดิม มิได้ถูกซ่อมแต่งเติมใหม่ในยุคปัจจุบัน

    หากมองเผิน ๆ แล้ว จิตรกรรมฝาผนังวัดนี้อาจจะเหมือนกับวัดอื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน แต่หากลองพินิจดูแล้ว จะพบว่า...ตำแหน่งการวางภาพ สลับกัน!
    ในคติแบบประเพณีนิยม จิตรกรมักนำภาพพุทธประวัติตอน มารผจญ วาดไว้บนผนังฝั่งตรงข้ามพระประธาน และนำภาพตอนโปรดพระพุทธมารดา หรือภาพไตรภูมิไว้หลังพระประธาน เพื่อสื่อถึงการหันหลังให้กับการเวียนว่ายตายเกิด และมุ่งหน้าสู่พระโพธิญาณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    แต่ที่วัดบางขนุน กลับนำภาพมารผจญ ไปวาดไว้ด้านหลังพระประธาน และนำภาพโปรดพระพุทธมารดา รวมถึงตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ ไปวาดบนผนังตรงข้ามพระประธานแทน


    ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่ “แหวกแนว” เป็นอย่างมาก เพราะการฝ่าฝืนคติประเพณีนิยมถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม  การที่จิตรกร “กล้า” เปลี่ยนแปลงรูปแบบดังกล่าว จึงกลายเป็นข้อถกเถียงว่ามีที่มาจากสาเหตุใด
    รองศาสตราจารย์สน สีมาตรัง จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเสนอแนวคิดไว้ว่า อาจเป็นเพราะการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ต้นรัชกาลที่ 4 ซึ่งนำแนวคิดแบบเสรีก็เข้ามาในงานศิลปะไทยด้วย การยึดถือคติที่สืบทอดต่อกันมาอย่างเคร่งครัดก็มีอิสระมากขึ้น จิตรกรจึงสามารถวางตำแหน่งภาพให้ต่างไปจากเดิมได้

    อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบางขนุน ยังคงยึดตามคติประเพณีนิยม โดยวาดเทพชุมนุมที่ผนังทั้งสองด้าน พนมมือหันหน้าไปทางพระประธาน  







        ผนังด้านหน้าและด้านหลังวาดภาพพุทธประวัติ แบ่งตอนด้วยการใช้เส้นหยักที่เรียกว่าเส้นสินเทา



    รายละเอียดที่แทรกอยู่ในภาพหลักล้วนแสดงวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ตั้งแต่ภาพ  เมขลา – รามสูร สะท้อนความเชื่อเรื่องฟ้าฝน ภาพบ้านเรือนไทย
        หรือกระทั่ง ภาพทวารบาล หลังบานประตูและหน้าต่าง ที่นอกจากจะสะท้อนความเชื่อเรื่องผู้ปกปักรักษาอาคารแล้ว ยังแสดงออกในเรื่องการแต่งกาย และลวดลายผ้านุ่งที่งามวิจิตร




    ไม่มีอะไรที่แน่นอน แม้กระทั่งความสวยงามที่สร้างจากความศรัทธา...ปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงอีกสามอย่างได้เข้ามาถึง และสร้างปัญหากับจิตรกรรมฝาผนังของที่นี่ อย่างมี่หนึ่งคือ กาลเวลา อันทำให้สภาพความมั่นคงเสื่อมลง จิตรกรรมหลุดลอกลงไป
        อย่างที่สองซ้ำหนักลงไป คือ ความชื้น ทั้งจากหยาดฝน ไหลงมาจากบนหลังคา ชะล้างภาพที่หลุดร่อนอยู่แล้วลงมา และจากในดิน ที่คืบคลานขึ้นมาตามผนัง ทำให้ตัวภาพเปื่อยยุ่ยเละ และร่วงลงเป็นเศษ
         ภาพจิตรกรรมบนผนังระหว่างประตูและหน้าต่างในอุโบสถวัดบางขนุน แทบไม่เหลือร่องรอยอะไรให้เห็นในวันนี้


        ปัจจัยสุดท้าย คือ บุคคล แม้ว่าการสอบถามพูดคุยกับพระที่วัดทำให้ทราบว่า ทางวัดได้ทำการบูรณะซ่อมแซมศาสนวัตถุอื่น ๆ อยู่เป็นระยะ ดังเช่นการบูรณะปิดทองพระพุทธรูปใหม่เมื่อต้นปี ๒๕๖๑ นี้ แต่สำหรับจิตรกรรมฝาผนังที่เสื่อมโทรม จำเป็นต้องใช้หลักวิชาการที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ ลำพังเพียงบุคคลในวัด และงบประมาณจำนวนหนึ่งที่มี จะพอซ่อมแซมได้หรือ...?
        สามปัจจัยนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่หลาย ๆ วัดในพื้นที่บางกรวย วัดที่มีโบราณสถานเก่าแก่ แต่มิได้ขึ้นทะเบียน ได้ทยอยถูกรื้อถอนลง สาเหตุสำคัญคือ เกินกำลังจะบูรณะ และ สร้างให้สวย ให้ ใหม่ตามที่คนศรัทธา
    วัดบางขนุนยังไม่ถึงจุดนั้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีอะไรจะยืนยันได้อีกว่า หากวันใดวันหนึ่งที่มีการบูรณะซ่อมแซมขึ้นมา สภาพของภาพจิตรกรรมฝาผนัง จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร...
...
    นอกจากอุโบสถ ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกสามแห่ง ได้แก่
วิหารหลวงพ่อสังฆ์ศรีสรรเพชญ์ หรือวิหารพระพุทธไสยาสน์ เดิมน่าจะเป็นอาคารโถง แล้วทำการติดกระจกใหม่


หอพระไตรปิฎกกลางน้ำ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในเก็บรักษาตู้พระธรรมเก่าแก่ เดิมเคยมีภาพเขียนลายเส้นรูปทวารบาล เก่าแก่ถึงสมัยอยุธยา...น่าเสียดาย...ภาพเหล่านั้นถูกลบทิ้งแล้ววาดใหม่ไปเสียแล้ว


        ภายในวัดยังมีกุฏิไม้โบราณหมู่เล็ก ๆ ใกล้หอไตร และมีศาลาการเปรียญ เป็นที่ตั้งของธรรมาสน์ยาว สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน


บางกรวย...ดินแดนประวัติศาสตร์ใกล้กรุง อดีตพื้นที่สีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งผลหมากรากไม้ และศิลปกรรมอันล้ำค่า     
ในวันที่ความเจริญได้ขยายตัวมาถึง ถนนหนทางนำความศิวิไลซ์เนรมิตพื้นที่สวน กลายเป็นที่อาศัย ความทันสมัยเป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหา หลาย ๆ ค่านิยมความคิด ที่ทำให้ความเก่าแก่กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนปฏิเสธ และเลือกที่จะทำลาย...

ไร้การเหลียวแล...ไร้การทบทวน...ว่าความเสื่อมโทรมที่อยู่ ณ ที่นั้น ครั้งหนึ่งมีคุณค่าอย่างไร

ไม่ใช่แค่ในบางกรวย...แต่ทุกที่ในเมืองไทย ที่งานศิลปกรรมโบราณกำลังประสบชะตากรรมเดียวกัน

หรือว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดาเสียแล้ว กับการปล่อยให้ความสวยงามจากอดีต ถูกความเปลี่ยนแปลงของกระแสยุคปัจจุบัน กลืนกินในอนาคตอันใกล้นี้...?

วัดบางขนุน
37 หมู่2 ถนนบางกรวย-จงถนอม ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย นนทบุรี 11130
ปกติ อุโบสถไม่เปิดให้เข้าชม ยกเว้นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หากนอกเหนือจากนั้น ต้องติดต่อกับเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์ผู้ดูแล

ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ใกล้จะถึงนี้ หากยังไม่มีตัวเลือกว่าจะเดินทางไปทำบุญที่ไหน วัดเล็ก ๆ ในย่านบางกรวย ที่มีงานศิลป์สวยงาม บรรยากาศแบบชานเมือง อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ที่ชื่อ "วัดบางขนุน" ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
ชื่อสินค้า:   วัดบางขนุน
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่