Review: มะลิลา The Farewell Flower การจากลาอันงามสงบ สู่การค้นพบอันแสนพิสุทธิ์ (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)

(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญและฉากจบของภาพยนตร์แบบถึงแก่น ยังไม่ได้ดูโปรดพึงระวัง)
.
.
.
.

ความดีนั้นงามยิ่ง
แต่ความจริงนั้นงามกว่า
ดุจดอกมะลิลา
งามตรึงตาก่อนลาโรย...


“มะลิลา” เป็นภาพยนตร์ไทยที่กำกับโดยอนุชา บุญยวรรธนะ ผ่านตัวละคร เชน เจ้าของสวนมะลิ (เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ) กับพิช (โอ-อนุชิต สพันธุ์พงศ์) ศิลปินนักทำบายศรีและเป็นอดีตคนรักของเชน หนังเล่าเรื่องราวการกลับมาพบกันอีกครั้งของคนทั้งคู่ โดยสอดแทรกวัฒนธรรมไทย ข้อคิดวิถีพุทธ และเรื่องรักร่วมเพศ

“มะลิลา” ดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย แต่มีประเด็นหลากหลายซ่อนให้คิดได้หลายแง่มุม ในบทความนี้จะวิเคราะห์สาระสำคัญของภาพยนตร์ผ่านแนวคิดในศาสนาพุทธ

ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ ทุกสิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เราถือว่าชีวิตนั้นเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เราต้องเกิดตายนับครั้งไม่ถ้วน ไม่สิ้นสุดจนกว่าจะสามารถละวางอวิชชา สู่จุดหลุดพ้นคือนิพพาน ที่ซึ่งไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

เชน เจ้าของสวนมะลิเล็กๆในชนบทแห่งหนึ่งที่ล้มเหลวในชีวิตครอบครัว ภรรยาทิ้ง ลูกสาวเสียชีวิต เขาตื่นมาทำงาน ปลูกและขายดอกมะลิไปวันๆ โดยปราศจากจุดมุ่งหมาย ไร้อนาคต และที่สำคัญ เชนไม่มีความสุข

(ทุกข์เกิดเพราะยึดติดกับการสูญเสียลูกสาว)

การปล่อยวางครั้งแรกของเชนเกิดขึ้นเมื่อกลับมาพบพิชอีกครั้ง ประโยคที่พิชพูดว่า “คนตายไปแล้ว เขาไม่รับรู้อะไรหรอก” นั้นเสมือนกุญแจปลดล็อคความรู้สึกผิดที่เกาะกินใจของเชน

(ทุกข์ดับเพราะปล่อยวางจากการตายของลูกสาว)

ทั้งนี้นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ในภาพยนตร์ ความทุกข์ของเชนเกิดขึ้นและดับไปหลายครั้ง เหมือนกับบายศรีที่เหี่ยวแล้วก็ทำใหม่ ทุกข์เกิดเมื่อยึดติด ทุกข์ดับเมื่อปล่อยวาง มันเกิดและดับหลายต่อหลายครั้งจนกว่าจะหลุดพ้น

หนังค่อยๆเผยให้เห็นความสุขและเป้าหมายใหม่ในชีวิตเชน อันได้แก่บายศรีของขวัญแทนการเริ่มชีวิตใหม่ รอยยิ้มที่หาได้ยากยิ่ง การวางแผนออกบวช และคำชวนให้พิชมาอยู่ด้วยหลังสึก (ตามธรรมเนียมไทย ชายหนุ่มมักจะบวชก่อนแต่งงาน หรือที่เรียกกันว่า “บวชก่อนเบียด” แสดงให้เห็นว่าเชนตั้งใจจะสร้างอนาคตร่วมกับพิชอย่างจริงจัง) แล้วพิชก็ด่วนจากไปเสียก่อน

หนังแสดงให้เห็นความเหมือนในความทุกข์ของเชน ครั้งแรก เชนดื่มสุราหนักจนเมา ไม่ทันไปช่วยลูกสาวที่ถูกงูรัดจนเสียชีวิต

ครั้งที่สอง ภรรยาทอดทิ้งเขาไป จากคำพูดของพิช เป็นเพราะเชนติดสุรา (ทว่าถ้าหากเราพิจารณาลักษณะตัวละครของเชน มีความเป็นไปได้อื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่? นอกจากเรื่องลูก เธออาจตีจากเพราะเขาไม่ได้ร่ำรวย เพราะเขาไม่ใช่คนทะเยอทะยาน หรืออาจเพราะเธอรู้ว่าเขาชอบผู้ชายด้วยกันด้วยซ้ำไป!)

ครั้งที่สาม เชนมีความสัมพันธ์ทางกายกับพิชทั้งที่สุขภาพอีกฝ่ายอ่อนแอ (แม้จะด้วยความเต็มใจของพิชก็ตาม) และวันต่อมาก็ทรุดลงจนถึงขั้นเสียชีวิต

หนังตอกย้ำความทุกข์แบบเดิมที่เชนเคยมี นั่นคือการสูญเสียคนที่มีความหมายกับเขาไปถึงสามครั้ง โดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย และทุกครั้งดูเหมือนจะเป็นความผิดของเขา

(ทุกข์เกิดจากการสูญเสียคนที่รัก)

พิชเป็นตัวละครที่รู้จักปล่อยวาง เขาผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาจนแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง และส่งผลให้เขาดำเนินชีวิตด้วยความเข้าใจในหลายแง่มุม เช่น ไม่ถือสาที่ชาวบ้านใส่ความแม่เขาว่าเป็นผีปอบ ทำบายศรีเสร็จแล้วก็สบายใจที่ได้เอาไปลอยน้ำ ไม่หมกมุ่นเรื่องที่ป่วยอันเป็นความทุกข์ที่ร้ายแรงที่สุด

พิชเลือกที่จะไม่เคร่งเครียดกับการรักษา แม้ว่ามะเร็งไม่เคยหายไปไหน มันยังคงเป็นส่วนหนึ่งในตัวพิช แต่มันไม่ได้รบกวนจิตใจพิช แล้วอาการก็ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์

(ทุกข์เกิดเพราะป่วยเป็นมะเร็ง ทุกข์ดับเพราะเลิกวิ่งไล่ตามการรักษา)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิชพบเชนอีกครั้ง เขาไม่อาจปล่อยเชนไปได้เลย (แทบทุกฉาก พิชเป็นฝ่ายเข้าหา เริ่มบทสนทนา ให้ดอกไม้ก่อน เริ่มสัมผัสเชนก่อน กอดเชนก่อน) แม้จะรู้ว่าร่างกายของตนเองมีขีดจำกัด เขาก็ยังเลือกที่จะเกาะเกี่ยวเชนเอาไว้จนถึงที่สุด และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือโรคมะเร็งในตัวหวนกลับมาแผลงฤทธิ์

(ทุกข์เกิดจากการยึดติดในความปรารถนา)

หลังจากนั้น เชนออกบวชและออกธุดงค์ไปกับพระสัญชัย พระสัญชัยน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการปล่อยวางที่ชัดเจน ท่านตั้งใจเข้าสู่หนทางหลุดพ้นด้วยการถือธุดงควัตร (ภาพยนตร์บอกเราว่าธุดงควัตรนั้นไม่ใช่ข้อบังคับ ไม่เหมือนกับศีลที่ห้ามขาด) เพื่อปล่อยวางจากกิเลส แต่การถือธุดงค์แต่ละข้อนั้นลำบากยากยิ่ง บวกกับสภาวะที่ไม่เป็นใจ (นอนโคนต้นไม้โดยไม่ให้หลังแตะพื้น ในป่าที่มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายคืน) ก็ทำให้ร่างกายเจ็บป่วยจนออกบิณฑบาตไม่ไหว แต่ท่านก็ไม่ยอมล้มเลิก หนักเข้าก็ถึงขั้นไม่ได้สติและเพ้อ

(ทุกข์เกิดจากการยึดติดกับการปล่อยวาง ซึ่งย้อนแย้งอย่างไม่น่าเชื่อ)

ตัวละครพิช กับพระสัญชัยนั้นมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือเปิดตัวมาในเรื่องด้วยลักษณะของคนที่ปล่อยวางได้แล้วในระดับหนึ่ง จากนั้นก็ติดกับดักในบทเรียนถัดไป เรียกได้ว่าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ แต่ยังไม่ดับ

สำหรับพระบวชใหม่ เชนต้องผ่านหลากหลายประสบการณ์ที่ไม่น่ารื่นรมย์นัก ภาพยนตร์นำเราและพระเชนไปสู่ความจริงอันยอมรับได้ยากที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นคือการตาย ทั้งพระเชนและคนดูต้องทนดูภาพซากศพ (ซึ่งความรุนแรงด้านภาพที่กระแทกพระเชน ก็กระแทกคนดูที่ไม่ยอมละสายตาได้พอๆกัน) การพิจารณาซากศพ รวมถึงการเห็นความทุกข์ของพระพี่เลี้ยงช่วยปลดล็อคเชนอีกครั้ง

(ทุกข์ดับจากการปลงอนิจจังในการสูญเสีย)

ว่าด้วยเรื่องของ “บายศรี”

บายศรีเป็นสัญลักษณ์ที่ล้อรับกับแนวคิดเชิงพุทธในภาพยนตร์ได้ชัดเจนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการยึดติด/ปล่อยวาง การเกิด/ดับ ขั้นตอนการทำบายศรีให้สวยงามจะต้องพับเย็บและ “ยึด” ให้ “ติด” กันอย่างแนบเนียน และเมื่อเสร็จสิ้นการใช้งาน (อันแสนสั้น) ก็จะนำไปลอยน้ำ เป็นตัวอย่างที่ดีว่าไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในที่สุด

บายศรีรับใช้ประเด็นนี้ของหนัง “มะลิลา” ในหลายครั้ง ดังนี้

บายศรีเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการปล่อยวาง ซึ่งเป็นทางออกของพิชในการเยียวยาโรคมะเร็ง ทุกครั้งที่พิชทำบายศรีเสร็จหนึ่งองค์ เขาจะรู้สึกว่ามีอาการดีขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องนำไปลอยน้ำ จึงจะถือว่าทำเสร็จสมบูรณ์

(การเกิด = ป่วยหนักขึ้น, สร้างบายศรี /การดับ = อาการป่วยทุเลาลง, ลอยบายศรี)

บายศรีองค์แรกเป็นบายศรีใบตองประดับดอกไม้สีขาวที่พิชประกอบขึ้นเพื่อนำไปใช้ในพิธีอุปสมบท และนำไปลอยน้ำ

(มีการเกิดและดับ สอดคล้องกับการป่วยของพิชที่เกิดขึ้น แต่ทุเลาลงมากในขณะนั้น)

บายศรีองค์ที่สองในภาพยนตร์เป็นบายศรีองค์เล็กๆ ประดับดอกไม้หลากสี พิชมอบให้เชนเป็นของขวัญเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในภาพยนตร์ ไม่มีฉากที่นำบายศรีองค์นี้ไปลอยน้ำ

(มีการเกิด แต่ยังไม่มีการ “ดับ” สอดคล้องกับความสัมพันธ์ของพิชกับเชนที่เพิ่งเริ่มต้น)

บายศรีองค์ที่สามที่ทำขึ้นเพื่องานบวชของเชนนั้น “ทำไม่เสร็จ” คือทั้งประกอบไม่เสร็จ และไม่มีฉากให้เห็นว่าได้นำไป “ลอยน้ำ”

(มีการเกิด แต่ยังไม่มีการ “ดับ” สอดคล้องกับความปวดร้าวที่ทบทวีขึ้นของเชน)

อาจเปรียบเทียบได้ว่า บายศรีองค์สุดท้ายนั้นคือตัวพระเชนเอง การเปลื้องสบงจีวรออก แล้วลงไปแช่น้ำในฉากสุดท้าย เปรียบได้กับการเก็บเอาเครื่องตกแต่งบายศรีออกแล้วนำไปลอยน้ำตามธรรมเนียม

(การดับ = การแช่น้ำที่เทียบเคียงได้กับการลอยบายศรี, บทบรรลุในตัวพระเชน)

หนังไม่ได้สรุปปมว่าเชนปล่อยวางได้จริงหรือไม่ หรือทุกข์น้อยลงเพียงใด แต่เชน “เลือก” ที่จะปล่อยวาง อากัปกิริยาที่มีสติและเต็มไปด้วยความสงบ แสดงให้เห็นว่าการเยียวยาของตัวละครนี้เสร็จสมบูรณ์


“มะลิลา” ยังเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนประเด็น “ก้าวข้ามพ้นวัย” (Coming of Age) ได้ด้วย

พิชอาจจะไม่มีทัศนคติอย่างที่เห็นได้เลย หากไม่เคยป่วย ไม่เคยผิดหวังจากเชนจน "เป็นบ้าไปเลยล่ะ"

พระสัญชัยอาจไม่เพียรพยายามที่จะหาหนทางพ้นทุกข์จนมาสู่จุดที่นิ่งอย่างในหนังได้เลย หากไม่เคยเป็นทหารมาก่อน

การก้าวข้ามพ้นวัยของเชนใน “มะลิลา” ให้ความรู้สึกคล้ายกับการก้าวข้ามพ้นวัยของตัวละคร ซาคุทาโร่ จากภาพยนตร์เรื่อง Crying Out Love in the Center of the World (2004) ของผู้กำกับอิซาโอะ ยูกิซาดะ

ซาคุทาโร่ผ่านประสบการณ์เจ็บปวดอย่างลึกล้ำในเรื่องของความรักเหมือนกับเชน เขาออกเดินทาง (เช่นเดียวกับพระเชนที่ออกบวช) และหวนกลับไปหาความทรงจำในอดีตผ่านเทปบันทึกเสียง (เช่นเดียวกับที่พระเชนหวนกลับไปนึกถึงพิชผ่านการเพ่งอสุภะ) แต่มิใช่เพื่ออ้อยอิ่งกับมัน แต่เป็นการรื้อฟื้นขึ้นเพื่อตรวจสอบความทรงจำเก่าในมุมมองใหม่ (เช่นเดียวกับเชนที่เอ่ยคำขอโทษ ราวกับจะเป็นการขออโหสิกรรมจากพิช) จนในที่สุดซาคุทาโร่ก็พร้อมที่จะก้าวพ้นอดีตได้อย่างมีความสุข

ภาวะเติบโตขึ้นของตัวละครใน “มะลิลา” ก็มาจากการเล็งเห็นและเข้าใจความเกิดดับของทุกข์นั่นเอง แม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นนิพพาน แต่ตัวละครก็มีการเรียนรู้ขึ้นไปทีละขั้นๆ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นและดับลงแต่ละครั้งจึงมีประโยชน์ในตัวมันเอง

(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่