อยากทราบว่าวรรณยุกต์ภาษาไทยอยากหรือไม่

จริง ๆ ผมก็เคยตั้งกระทู้เกี่ยวกับการสะกดผิดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งส่วนมากที่ผมตั้งกระทู้ไปก็จะหนักไปทางการสะกดด้วยตัวอักษรผิดตัว แต่วันนี้อยากจะเขียนถึงการใช้วรรณยุกต์ที่ผิด

เรื่องของเรื่องก็คือช่วงนี้ละครเรื่องล่ากำลังโด่งดัง ซึ่งหัวหน้าของแก๊ง ๗ ทรชนนั้นก็มีชื่อว่า ไอ้แป๊ว แต่ผมเห็นหลายท่านสะกดเป็น แป๋ว หรือ แป้ว ซึ่งผิดและทำให้อ่านออกเสียงไปคนละอย่าง และคนละทางเลย คือถ้าลองเทียบเสียงกับคำว่า ป้า หรือ ป๋า ดู จะรู้ทันทีว่า แป้ว และ แป๋ว ออกเสียงวรรณยุกต์ว่าอย่างไร

คาดว่าน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดในวรรณยุกต์ เหมือนกับที่เพื่อนผมคนหนึ่งเขาเป็น คือเขาไม่มีความเข้าใจในเรื่องวรรณยุกต์เลย เขาไม่รู้จักการแยกอักษรกลาง ต่ำ สูงด้วยซ้ำ เขาคิดว่าวรรณยุกต์ไม่ว่าตัวไหน เมื่อนำไปวางไว้บนตัวอักษรตัวไหนก็ให้เสียงอ่านแบบเดียวกันหมด โดยที่เขาหารู้ไม่ว่า แม้จะมีวรรณยุกต์เดียวกัน แต่หากเป็นตัวอักษรคนละกลุ่ม ก็อาจจะให้เสียงที่ต่างกัน เรื่องของเรื่องก็คือเขาจะเขียนคำคำหนึ่ง (เป็นคำหยาบ ช.ช้าง) โดยที่ใช้ไม้โท ซึ่งถ้าจะเขียนให้ถูกตามการออกเสียงมันต้องใช้ไม้เอก เขาก็ยังมาแย้งอีกว่าผมต่างหากที่ผิด แถมเขายังผันเสียงวรรณยุกต์ของ ช ให้ผมดู โดยผันครบทั้งห้าเสียงเลย -*- มาครบทุกวรรณยุกต์ ซึ่งที่ถูกแล้วนั้น

๑.อักษรกลาง มี ๙ ตัว ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ กลุ่มนี้สามารถผันได้ครบทั้ง ๕ เสียง คือสามัญ เอก โท ตรี จัตวา และออกเสียงตรงตามวรรณยุกต์ด้วย เช่น กา (เสียงสามัญ) ก่า (เสียงเอก) ก้า (เสียงโท) ก๊า (เสียงตรี) ก๋า (เสียงจัตวา) ซึ่งชื่อไอ้แป๊วในเรื่องล่านั้นก็เป็น ป และใส่ไม้ตรีไว้ด้านบน หากจะเขียนให้ได้เสียงตรีก็ต้องใช้ไม้ตรี

๒.อักษรสูงมี ๑๑ ตัว ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ศ ห ชื่อก็บอกอยู่ว่าอักษรสูง ก็สังเกตดูว่าแต่ละตัวจะออกเสียงสูงหมด ซึ่งสำหรับอักษรสูงนั้น ผันได้ ๓ รูป ๓ คือ ขา (รูปสามัญ เสียงจัตวา) ข่า (รูปเอก เสียงเอก) ข้า (รูปโท เสียงโท) หากงงก็ลองเทียบเสียงกับอักษรกลางดู

๓.อักษรต่ำมี ๒๔ ตัว ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ พวกนี้ผันได้สามเสียง และออกเสียงไม่ตรงกับวรรณยุกต์ด้วย ซึ่งทำให้กลายเป็นปัญหาของคนที่ไม่แม่นหลายคน สามเสียงที่ว่านั้นก็คือ คา (รูปสามัญ เสียงสามัญ) ค่า (รูปเอก เสียงโท) ค้า (รูปโท เสียงตรี)

นี่ยังแค่พื้นฐานนะครับ ยังไม่มีแบบพวกอักษรนำอีก ซึ่งหากไม่อยากจำอักษรต่ำ กลาง สูงให้มันมากมาย ก็มีวิธีง่าย ๆ คือเทียบเสียงกับคำที่เราคุ้นเคย ส่วนมากที่มีปัญหาก็คือไปเจอคำแปลก ๆ ที่ไม่ค่อยเจอในชีวิตประจำวัน หรือเป็นพวกชื่อคน ชื่อเฉพาะ อย่างเช่นไอ้แป๊วที่ผมยกตัวอย่างเป็นต้น ทำให้เขียนหรืออ่านผิดเพี้ยนไปหมด อย่างรายการคนอวดผี เคยมีผู้มีจิตสัมผัสคนหนึ่งมาออกรายการ ขอพาดพิงว่าชื่อ มุ่ย ซึ่งในรายการออกเสียงแบบนี้อย่างชัดเจน แต่ในแฟนเพจของคนอวดผี มีแต่คนเขียน มุ้ย กันเยอะแยะไปหมด ซึ่งถ้าหากเทียบเสียงกับคำว่า ม้า จะรู้ทันทีว่ามุ้ยที่เขียน ๆ กันอ่านออกเสียงว่าอะไร

เพื่อนผมคนนั้นบอกว่าเวลาเขียนใครมันจะมานั่งเทียบเสียง ผมเลยบอกว่าปัญหามันก็เกิดมาจากความไม่แม่นนั่นแหละ ถ้าแม่นแต่แรก การเทียบเสียงมันก็ไม่จำเป็น และผมคิดว่านะ ถ้าคนที่ให้ความสำคัญจริง ๆ เทียบเสียงนิดหน่อยคงไม่มีปัญหาอะไร ปัญหาก็คือไม่ให้ความสำคัญนี่แหละ จะผิดอย่างไรก็ช่างมัน ก็อย่างที่ผมเคยบ่นไปหลายรอบว่ารู้สึกเจ็บที่คนให้ความสำคัญกับภาษาต่างประเทศมาก ต้องสะกดให้ถูกที่สุด ต้องไวยากรณ์ถูกที่สุด แต่พอภาษาไทยที่เป็นภาษาของตัวเองกลับไม่ให้ความสำคัญแบบนั้น

อาจจะมีคนย้อนว่าก็ภาษาอังกฤษสำคัญ ก็ใช่ไง ภาษาอังกฤษสำคัญ แต่ไม่ใช่สำคัญแค่ภาษาเดียว ภาษาไทยก็สำคัญในฐานะที่เป็นภาษาแม่ ไม่ใช่เน้นแต่จะเอาอังกฤษจนไม่คิดที่จะสนใจ ไม่คิดที่จะเอาภาษาไทยอีกเลยตลอดชีวิตนี้ ควรจะเก่งทั้งสองภาษาควบคู่กันไป อีกอย่างทุกวันนี้ภาษาไทยก็เป็นภาษาที่ไม่แพร่หลายเท่าหลาย ๆ ภาษาอยู่แล้ว ถ้าจะยังไม่สนใจ ยังจะพยายามกดให้มีที่ใช้น้อยที่สุด ก็คงแย่

ผมก็ไม่นึกว่าจะต้องมาตั้งกระทู้นี้ เพราะมันเป็นเรื่องที่เรียนมาตั้งแต่อนุบาล ตอนมหาวิทยาลัย อาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่นที่สอนเรื่องการแปลต้องเอาเรื่องการผันวรรณยุกต์กลับมาสอนพวกผมใหม่อีกครั้ง เพราะตอนที่แปลภาษาไทยส่งให้อาจารย์ พวกผมเขียนผิดกันหลายคนเลย ก็ผิดในเรื่องของวรรณยุกต์นี่แหละครับ

ท่านไหนที่ไม่ให้ความสำคัญกับภาษาไทยจริง ๆ ก็ขอให้ข้าม ๆ กระทู้นี้ไปเถอะ เพราะถึงอ่านไปก็คงจะไม่สนใจ หรือก็จะพยายามหาอะไรมาแย้งผมอยู่ดี อย่างที่เจอมาในหลาย ๆ กระทู้ แต่ผมก็แค่อยากจะเขียนขึ้นมาโดยหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจไม่มากก็น้อย ผมก็ได้แต่เขียน แต่คนอ่านจะนำไปปฏิบัติหรือเปล่า ก็สุดแล้วแต่ ผมไปบังคับไม่ได้
1. อยากทราบว่าวรรณยุกต์ภาษาไทยอยากหรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่