เริ่มแล้ว จังหวัดเชียงใหม่ ศึกษาขนส่งสาธารณะ ระบบ รถไฟฟ้ารางเบา

จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมติดตามความคืบหน้าการจัดระบบจราจรทางบก และผลดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของชาวเชียงใหม่

      เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ  ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบจราจรทางบกจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2561 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อบูรณาการงานด้านการจราจรทางบก ให้อำนวยความสะดวกและมีความปลอดภัยแก่ประชาชน โดยได้มีการรายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบจราจรทางบก โครงการรถไฟรางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบรถไฟรางคู่ ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ ขณะนี้ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว รวมระยะทาง 189 กิโลเมตร ประกอบด้วย 17 สถานี แนวเส้นทางตัดผ่านจังหวัดแพร่ อำเภอเด่นชัย อำเภอลอง , จังหวัดลำปาง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่เมาะ อำเภอแม่ทะ อำเภอเมืองลำปาง และอำเภอห้างฉัตร , จังหวัดลำพูนผ่าน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ทา และอำเภอเมืองลำพูน และผ่านจังหวัดเชียงใหม่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสารภี และอำเภอเมืองเชียงใหม่ มีจุดตัดทางรถไฟที่จะต้องแก้ไขทั้งสิ้น 131 แห่ง ซึ่งรายงาน EIA อยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

      สำหรับ โครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำขึ้นเนื่องจากสภาพปัญหาจราจร เกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ข้อจำกัดด้านถนน การขาดวินัยจราจร ระบบขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอ โดยได้ศึกษาพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เชื่อมโยงเครือข่ายการเดินทาง ด้านมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาเทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะ ระบบ รถไฟฟ้ารางเบา (LRT: Light Rail Transit) เป็นระบบที่เหมาะสมมากที่สุด โดยแบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือ 1)ระบบขนส่งสาธารณะหลัก เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรมหลัก 2)ระบบขนส่งสาธารณะรอง เชื่อมโยงจากอำเภอรอบนอกสู่ระบบหลัก และ3)ระบบขนส่งสาธารณะเสริม เชื่อมโยงกับแหล่งกิจกรรมย่อยในเมือง ซึ่งมีโครงข่ายจำนวน 2 โครงข่าย มีสถานีรวม 35 สถานี แผนการดำเนินงานอยู่ในช่วงระหว่างเตรียมการในขั้นตอนการก่อสร้างระบบ LRT ผลการศึกษาเสนอให้พัฒนาระบบรองและระบบเสริม เพื่อให้ดำเนินการในช่วงที่ก่อสร้างในปี 2563 อัตราค่าโดยสารอยู่ระหว่าง 15-25 บาท มีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี , พื้นที่ราชการ , พื้นที่ศูนย์กลางเมืองเก่า , พื้นที่ศูนย์กลางเมืองใหม่ , พื้นที่อยู่อาศัยย่านชานเมือง

      นอกจากนี้ ยังมีการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้าง (Taxi OK) ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการพัฒนาด้านบริการด้วยเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ ศักยภาพ การเข้าถึงบริการ อย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย และตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยทุกคันจะติดเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินรถ (GPS Tracking) อุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับ กล้องบันทึกภาพในรถ สามารถเรียกผ่านแอพพลิเคชั่น Taxi OK ซึ่งสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับผิดชอบดำเนินโครงการนำร่องจำนวน 20 คัน เพื่อเพิ่มทางเลือกแก่ประชนและนักท่องเที่ยว และการทดลองเดินรถโดยสาร สาย R3 วัดเกตุการาม-ตลาดไนท์บาซาร์เชียงใหม่-ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ นิมมานเหมินทร์ ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตร เชื่อมต่อสถานที่สำคัญอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน การทดลองเดินรถนี้ใช้รถบัส จำนวน 10 คัน และจะมีระบบประเมินความพึงพอใจของผู้โดยสารตลอดการทดลองเพื่อสรุปแผนการทดลองเดินรถต่อไป โดยจะเริ่มทดลองวิ่งตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน กิจกรรมด้านความปลอดภัยบนถนนทางหลวงชนบท ได้มีโครงการติดตั้งป้ายบอกความเร็วและกล้องตรวจจับความเร็ว สายเชียงใหม่ ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีการติดตั้ง 2 จุดด้วยกัน ที่ทางลอดรวมโชค และทางลวดบวกครกศิวิไล ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีปรึกษากันในการขยายทางเชียงใหม่ลำพูน ในการปรับทัศนียภาพ ให้มีความรวดเร็ว สะดวกสบาย ตอบสนองความต้องการของประชาชนต่อไป
////////////////////////////////
ณัฏฐ์ สินันตา  /  ส.ปชส.เชียงใหม่
14 กุมภาพันธ์ 2561
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอที่มา https://www.cm108.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่