“อาลี/วีแชท/ยูเนี่ยนเพย์ สมรภูมิสามก๊กยุค 4.0”

“สมรภูมิสามก๊กยุค 4.0”



เห็นขึ้นต้นชื่อเรื่องมาด้วยสามก๊ก หลายคนคงนึกถึงโจโฉ เล่าปี่ ซุนกวน สามเจ้าก๊กใหญ่ที่ห้ำหั่นกันมาตั้งแต่จีนยุคโบราณ แต่แท้ที่จริงแล้ว สามก๊กยุคดิจิตอลในที่นี้หมายถึงสามกลุ่มธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในแผ่นดินจีนยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในธุรกิจชำระเงินออนไลน์ผ่านมือถือ  สามเจ้าก๊กที่ว่านี้ก็คือ อาลีเพย์  วีแชทเพย์ และยูเนี่ยนเพย์ นั่นเอง

ก่อนจะเข้าสู่การวิเคราะห์สมรภูมิรบของสามเจ้านี้ เรามาไล่ทำความรู้จักแต่ละก๊กกันก่อน

อาลีเพย์ (Alipay)

เมื่อพูดถึงชื่อนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากนัก เพราะเป็นชื่อที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ในฐานะบริษัทลูกของอาลีบาบาที่ก่อตั้งโดยแจ๊คหม่า ปัจจุบันอาลีเพย์เป็นบริษัทที่ให้บริการระบบชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ให้บริการลูกค้ากว่า 450 ล้านราย โดยเป็นเจ้าของส่วนแบ่งตลาดชำระเงินผ่านมือถือกว่า 70% ในจีนและยังเป็นผู้นำในตลาดชำระเงินทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (เช่น ผ่านเครื่อง EDC ตามหน้าร้านสะดวกซื้อ) รวมกัน

วีแชทเพย์ (Wechat pay)

ลองคิดดูว่า ถ้าเราสามารถใช้แอพไลน์มาจ่ายค่าอะไรต่ออะไรได้แทบทุกอย่างมันจะสะดวกขนาดไหน นั่นแหละคือสิ่งที่แอพวีแชทได้มอบให้กับผู้ใช้ในปัจจุบันไปแล้ว แอพแชทออนไลน์ที่ชื่อวีแชทอยู่ภายใต้บริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) ซึ่งเป็นเจ้าของระบบชำระเงินผ่านมือถือที่ชื่อวีแชทเพย์ ด้วยกลยุทธ์ในการผนวกบริการดีๆ ให้ผู้ใช้แอพวีแชท ทำให้วีแชทเพย์มีลูกค้าถึงกว่า 600 ล้านคน เทียบกับ PayPal ที่มีลูกค้า 190 ล้านคน และแอปเปิ้ลเพย์ที่มีลูกค้าอยู่ที่ 12 ล้านคน

หากเราเปรียบเทียบอาลีเพย์กับวีแชทเพย์ เครือข่ายของอาลีเพย์ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าออนไลน์หรือจุดชำระผ่านคิวอาร์โค้ดตามสถานที่ต่างๆ ในขณะที่ลูกค้าของวีแชทเพย์จะทำธุรกรรมผ่านแอพที่เชื่อมโยงอย่างแนบเนียนมากับแอพวีแชทนั่นเอง

เราจะเห็นได้ว่า การที่ผู้ใช้งานวีแชทเพย์มีบัญชีที่ลงทะเบียนไว้แล้ว (ผ่านแอพวีแชท) เป็นจุดแข็งสำคัญของธุรกิจเลยทีเดียว ในปัจจุบันธุรกรรมที่วีแชทเพย์ครองตลาดได้แก่ ธุรกรรมที่ลูกค้ารายย่อยโอนระหว่างกันเอง (customer-to-customer) อย่างเช่นการส่งเงินของขวัญหรือเงินทอน(หลังทานอาหาร)ให้กันและกัน ส่วนอาลีเพย์ยังคงครองตลาดธุรกรรมระหว่างธุรกิจกับลูกค้า (business-to-customer) อย่างแข็งแกร่ง

ยูเนี่ยนเพย์ (Union pay)

ยูเนี่ยนเพย์ถือเป็นผู้ให้บริการชำระเงินผ่านบัตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อดูจากมูลค่าของการใช้บัตร ยักษ์ใหญ่รายนี้มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ โดยมีเครือข่ายบริการชำระเงินผ่านบัตรในจีนกว่า 99% (ประมาณ 6,300 ล้านบัตร) เนื่องจากชาวจีนถือบัตรโดยเฉลี่ยประมาณ 4-5 ใบต่อคน  แซงหน้าวีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด ทั้งนี้ มีการประมาณว่า ยูเนี่ยนเพย์มีส่วนแบ่งตลาดกว่าหนึ่งในสี่ของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั่วโลก

สามยักษ์ในสมรภูมิชำระเงินผ่านมือถือ

การแข่งขันในตลาดชำระเงินผ่านมือถือในจีนล่าสุดถือว่าหินมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ยูเนี่ยนเพย์ได้นำเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดมาใช้เมื่อปลายปี 2560  ในขณะเดียวกันก็ยังมีการแข่งกันให้บริการส่งอั่งเปาดิจิตอลระหว่างวีแชท์เพย์และอาลีเพย์ในทุกๆ ช่วงตรุษจีน เบื้องหลังของสมรภูมิเหล่านี้ ก็ยังมีความพยายามที่จะใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาล (big data) มาใช้สร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับผู้ใช้ นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ ธุรกิจให้บริการชำระเงินนี้ก็จะมีการกำกับดูแลจากทางการอย่างเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ

ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ในจีนก็มีการให้อั่งเปาโดยการใส่ซองแดงของจริง แต่ในประเทศจีนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การให้อั่งเปาจะทำผ่านมือถือออนไลน์แทบจะทั้งนั้น ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2560 มีการส่งอั่งเปาออนไลน์ในจีนมากกว่า 4,600 ล้านหยวนผ่านแอพวีแชท เพิ่มขึ้นถึง 43% จากปีก่อน จากการที่เทนเซ็นต์ เจ้าของวีแชทได้พยายามกระตุ้นให้คนจีนจ่ายอั่งเปาทางดิจิตอล เนื่องจากตลาดชำระเงินออนไลน์ผ่านมือถือในจีนนั้นโตเร็วมาก นักช้อปชาวจีนในทุกวันนี้ใช้มือถือใช้จ่ายแทบจะทุกสิ่งอย่างตั้งแต่ค่าแท็กซี่ไปจนถึงค่ารักษาพยาบาล

ในปี 2559 ตลาดให้ชำระเงินผ่านตัวกลางในจีนมีมูลค่าสูงถึง 20 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 45% จากปี 2558 โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดจะโตปีละ 20% ไปถึง 33 ล้านล้านหยวนในปี 2561 ตลาดที่โตเร็วขนาดนี้ก็ได้ดึงดูดบริษัทต่างๆ จำนวนมากให้เข้ามาร่วมแข่งขันในสมรภูมิจ่ายเงินผ่านมือถือของจีนนี้

สองผู้เล่นที่เข้ามาในตลาดนี้ก่อนใครก็คือวีแชทและอาลีเพย์ ซึ่งได้พัฒนาระบบการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด โดยทั้งสองบริษัทนี้ครองตลาดกว่า 70% และยังคงรักษาส่วนแบ่งนี้ไว้จากการออกโปรโมชั่นส่วนลดให้แก่ลูกค้าอย่างมหาศาล

ผลที่ตามมาก็คือ การใช้บัตรเครดิตลดลงอย่างต่อเนื่อง  ต่อมาเมื่อปลายปี 2559 ยูเนี่ยนเพย์ได้ประกาศมาตรฐานการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดของตัวเองขึ้นมา แล้วก็ตามมาด้วยโปรโมชั่นส่วนลดการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ตั้งแต่ในช่วงสิ้นปีไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีถัดมา

ยูเนี่ยนเพย์ตามมาทีหลัง ดังกว่า?

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ยูเนี่ยนเพย์พยายามเข้ามาแข่งในตลาดชำระเงินผ่านมือถือ ในปี 2558 ยูเนี่ยนเพย์ก็ได้ออกใช้ระบบชำระเงินโดยใช้มือถือโบกผ่านเครื่องชำระเงิน หรือที่เรียกกันว่าเครื่องมือ near-field communication (NFC) แต่ปรากฎว่าการชำระเงินด้วยวิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมเท่ากับวิธีคิวอาร์โค้ด

นี่ก็คือเหตุผลที่ยูเนี่ยนเพย์พัฒนาคิวอาร์โค้ดของตัวเองขึ้นมาในภายหลัง อย่างไรก็ดี ถึงแม้ยูเนี่ยนเพย์จะมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แต่ก็ไม่ง่ายที่จะฝ่าวงล้อมของวีแชทกับอาลีเพย์เข้าไปในสมรภูมิสุดหินนี้

จุดแข็งของยูเนี่ยนเพย์คือมีเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้มากกว่า จากการที่ยูเนี่ยนเพย์มีความเชี่ยวชาญในธุรกรรมชำระเงินมูลค่าสูง ในขณะที่วีแชทและอาลีเพย์มักจะถูกใช้งานในการชำระเงินจำนวนไม่สูงนัก  เราจะเห็นได้ว่าสองเจ้าหลังมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 80% ในการชำระเงินผ่านมือถือซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 หยวน (ประมาณ 25,000 บาท) เท่านั้น

ในขณะที่ความร่วมมือของยูเนี่ยนเพย์กับธนาคารพาณิชย์อย่างแนบแน่นก็อาจจะทำให้ยูเนี่ยนเพย์ค่อยๆ ก้าวเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ

หากมองในมุมของธนาคารพาณิชย์ ถึงแม้ว่ายูเนี่ยเพย์ได้พยายามโปรโมทการใช้คิวอาร์โค้ดกับธนาคารต่างๆ แต่ธนาคารพาณิชย์เองกลับต้องการที่จะขยายฐานลูกค้าผ่านแอพมือถือของธนาคารเองเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับลูกค้าได้โดยตรง นั่นก็แปลว่า ธนาคารต่างๆ ก็อาจจะหันมาร่วมมือกับวีแชทและอาลีเพย์ด้วย ถ้าหากโปรโมชั่นของยูเนี่ยนเพย์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์นี้

กลยุทธ์ระดับเทพของวีแชทและอาลีเพย์

มาถึงวันนี้ การแข่งขันในตลาดชำระเงินผ่านมือถือระหว่างอาลีบาบาและเทนเซ็นต์ก็ยังคงระอุมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างในช่วงตรุษจีน วีแชทได้ริเริ่มกิจกรรมตามล่าหาอั่งเปา ในขณะที่อาลีเพย์ก็ออกเกมส์เก็บอั่งเปาผ่านโลกเสมือนจริง (คล้ายกับโปเกมอนโก) โดยเสนอรางวัลมูลค่ารวมกว่า 200 ล้านหยวน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ในการดึงดูดผู้ใช้บริการ ทั้งสองเจ้าก็พยายามเข้ามาครองจุดชำระเงินแบบออฟไลน์ตามบริษัทห้างร้านต่างๆ อย่างร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้า ซึ่งจุดชำระเงินดังกล่าวก็จะมีการเชื่อมโยงกับตัวกลางในการให้บริการ (third party services provider) ที่เชี่ยวชาญในการออกโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าใช้จ่ายมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น วีแชทได้ประกาศเมื่อกลางปี 2560 ถึงแผนในการดึงดูดตัวแทนที่ให้บริการโดยทุ่มเงินลงทุนกว่า 300 ล้านหยวน ในขณะที่อาลีเพย์ก็จัดงบประมาณไว้เพื่อตอบแทนตัวแทนประเภทนี้กว่า 1 พันล้านหยวนในอีก 3 ปีข้างหน้า

นอกจากการทุ่มทุนในเรื่องเหล่านี้แล้ว ทั้งสองยักษ์ใหญ่ต่างก็มีเป้าหมายที่สูงขึ้นไปกว่านั้นอีก นั่นคือการเก็บข้อมูลจากธุรกรรมจำนวนมหาศาล (big data) ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจและคิดค้นบริการทางการเงินแบบใหม่ๆ ได้อย่างมากมาย อาทิ กลยุทธ์การตลาด การลงทุนและการให้สินเชื่อแก่ลูกค้านั่นเอง

ทางการเริ่มเข้ามาคุมเข้ม

ในอนาคตอันใกล้ ธุรกิจให้บริการชำระเงินกำลังจะถูกทางการคุมเข้มมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อช่วงต้นปี 2560 ธนาคารกลางจีนได้ออกกฎระเบียบให้ตัวกลางการชำระเงิน กันเงินที่ได้รับจากลูกค้าส่วนหนึ่งมาฝากไว้กับธนาคารกลางโดยไม่ได้รับดอกเบี้ย กฎนี้ออกมาเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทผู้ให้บริการชำระเงินเหล่านี้จะไม่นำเงินลูกค้าไปออกผลิตภัณฑ์อะไรที่เสี่ยงจนเกินไป

ถึงแม้ว่าโฆษกของบริษัทอาลีบาบาจะออกมาแสดงการต้อนรับและยินดีทำตามกฎที่เพิ่งออกมานี้ แต่ก็มีนักวิเคราะห์คาดว่า ตั้งแต่กฎนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ให้บริการชำระเงินทั้งอาลีบาบาและเทนเซ็นต์จะได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะทางการไม่ต้องการให้บริษัทนำเงินลูกค้าไปสร้างรายได้หรือขยายธุรกิจ อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบดังกล่าวก็คือยูเนี่ยนเพย์ซึ่งเป็นของรัฐนั่นเอง

=====================================
แหล่งอ้างอิง :

http://beiwei55.co.uk
http://www.globaltimes.cn
https://technode.com
http://www.businessinsider.com
http://uk.creditcards.com

ภาพประกอบจาก  http://www.globaltimes.cn

อ่านบนเฟสบุ๊คได้ที่ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=325176491321112&id=244466562725439
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่