เรียนรู้วิถีเก็บเงินแบบคนญี่ปุ่น


ใครๆ ก็รู้ว่าประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการเก็บออมเงิน การเตรียมพร้อมสำหรับเงินใช้จ่ายยามฉุกเฉินและยามเกษียณ จนถึงขั้นมีคำเรียกเฉพาะเกี่ยวกับการเก็บเงินเกิดขึ้นมาหลายคำ K-Expert เลยขอหยิบยกเอาบางเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบางคำเหล่านั้น และประวัติเกี่ยวกับการจัดการเงินแบบชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟัง

Hesokuri – Secret Money ของแม่บ้านญี่ปุ่น

มีเรื่องเล่าว่ายุคของซามูไรในศตวรรษที่ 16 นั้น นาง Chiyo ภรรยาของซามูไรท่านหนึ่งที่ชื่อ Kazutoyo Yamanouchi ได้เก็บซ่อนเงินทีละน้อยไว้อย่างลับๆ เป็นเวลาหลายปี จนสะสมได้จำนวนมากพอ แล้วจึงนำเงินก้อนนั้นไปหาซื้อม้าชั้นดีมาให้สามีใช้ออกรบ ซึ่งในเวลาต่อมา ม้าตัวนี้ได้กลายเป็นม้าคู่หูของสามีทุกครั้งที่ออกรบ ช่วยกันรบจนชนะข้าศึกศัตรูและสร้างชื่อเสียงในช่วงยุคสงครามของญี่ปุ่น

เงินที่ภรรยาซามูไรท่านนี้เก็บซ่อนไว้อย่างลับๆ โดยไม่นำออกมาใช้และไม่ให้ใครรู้ เรียกว่า Hesokuri นั่นเอง

ในยุคต่อๆ มา สังคมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมนั้น ผู้ชายจะเป็นคนออกทำงานหาเงินนอกบ้าน โดยฝ่ายภรรยาจะเป็นแม่บ้านดูแลงานในบ้านต่างๆ เมื่อฝ่ายชายได้เงินเดือนกลับมา ก็จะนำกลับมาให้ภรรยาเป็นคนจัดการค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งภรรยาจะให้เงินเป็นค่าครองชีพจำนวนหนึ่งแก่สามี ซึ่งเรียกว่า Okosukai

จากนั้นแม่บ้านญี่ปุ่นจะจัดสรรเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในครอบครัว และกันเงินที่เหลือบางส่วนเก็บซ่อนไว้ในที่ต่างๆ ในบ้าน เช่น ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางหนังสือ หรือแม้กระทั่งในตู้เย็น โดยไม่มีการนำออกมาใช้ หลายงานสำรวจบอกว่า แม่บ้านชาวญี่ปุ่นเก็บซ่อนเงินเหล่านี้ไว้ก็เพื่อเป็นเงินสำรองในยามฉุกเฉิน หรือใช้ในกรณีที่จำเป็น เช่น เป็นค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัว ช่วยเคลียร์ภาระหนี้สินของสามี หรือเป็นทุนรอนกรณีที่ต้องหย่าร้างกัน

ประเด็นของเรื่องเล่าทั้งสองอยู่ตรงที่ เงินส่วนนี้มักถูกเก็บแบบ “เก็บลืม” อ่ะแฮ่ม...ไม่ใช่ลืมเก็บนะ ซึ่งเก็บลืมในที่นี้ คือ เก็บให้พ้นหูพ้นตา ไม่ไปยุ่งกับมันอีก รวมถึงไม่ให้คนในบ้านรู้ว่ามีอยู่หรือรู้ว่าเก็บที่ไหน ซึ่งหลักคิดแบบ “เก็บลืม”เช่นนี้ ช่วยให้ “เก็บเงินอยู่” ได้จริงๆ

ว่ากันว่า เงินจำนวนนี้มีมูลค่าตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลายล้านบาท โดยจะเพิ่มขึ้นไปตามอายุของแม่บ้านคนนั้น และไม่เพียงเฉพาะแม่บ้านชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่ใช้วิธีเก็บเงินแบบนี้ แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ทำลักษณะคล้ายกัน อย่างเช่น อินเดีย เยอรมัน ชาวยิวที่อยู่ในแถบยุโรปตะวันออก เป็นต้น

Kakeibo – บันทึกรับจ่าย

Kakeibo เป็นสมุดบันทึกรายรับรายจ่ายฉบับญี่ปุ่น มีมาตั้งแต่ปี 1904 โดย Motoko Hani และยังใช้กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งขั้นตอนการจดบันทึกเป็นดังนี้

1. ค้นหาเงินที่จะใช้ได้ ด้วยการจดรายรับและรายจ่ายประจำออกมาก่อน ส่วนต่างระหว่างสองรายการนี้ คือเงินที่จะนำไปจัดสรรเพื่อใช้จ่ายต่อ
2. กำหนดจำนวนเงินที่ต้องการจะเก็บ แล้วแยกเงินจำนวนนั้นออกไปเลย
3. ตั้งเป้ารายจ่ายในหมวดหมู่ต่างๆ โดยแยกเป็น รายจ่ายจำเป็น (ค่าอาหาร ค่าเดินทาง) รายจ่ายเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ (หนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง) รายจ่ายฟุ่มเฟือย (ค่าสันทนาการต่างๆ อย่าง กินข้าวนอกบ้าน สังสรรค์กับเพื่อน ชอปปิง) รายจ่ายพิเศษ (ของขวัญ ซ่อมแซม ซื้อเฟอร์นิเจอร์)
4. เขียนคำมั่นสัญญากับตัวเองในแต่ละเดือน เช่น เดือนนี้จะประหยัดค่าน้ำมันลงจากเดือนก่อนให้ได้ XX บาท, จะลดการออกไปกินข้าวนอกบ้านให้เหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นต้น
5. คำนวณส่วนต่างทุกสิ้นสัปดาห์/ทุกเดือน แล้วทบทวนว่าเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้เมื่อต้นเดือนหรือไม่

ตัวอย่าง Kakeibo (ที่มาwww.stylist.co.uk/books/how-to-save-money-kakeibo-japan-career-work-cash/174560)

ความน่าสนใจของ Kakeibo นั้น ไม่ใช่แค่การจดบันทึกรายการรับจ่ายเพียงตัวเลข แต่เป็นความเชื่อว่าการที่ใครก็ตามกลับมาจับดินสอปากกาเพื่อเขียนบันทึกเป้าหมายและรายการที่ตัวเองจับจ่ายใช้สอยเป็นประจำ เท่ากับคนนั้นกำลังได้ทบทวนพฤติกรรมการใช้เงินของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และสะท้อนถึงวิถีการใช้ชีวิตว่าเป็นไปตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ หากคลาดเคลื่อน เป็นไปเพราะเหตุใด มีอะไรต้องนำกลับมาปรับปรุงได้อีกในเดือนถัดๆ ไป

สรุปสิ่งที่เรียนรู้จากเรื่องราวทั้งสอง
1. เก็บเงินในสภาพเหมือนถูกลืม โดยเฉพาะใครที่รู้ตัวเองว่าเก็บเงินไม่ค่อยอยู่ อาจเลือกช่องทางเก็บเงินที่ไกลหูไกลตาหรือใช้ระบบเข้ามาช่วยจัดการแทนตัวเอง เช่น เลือกเก็บเงินทุกเดือนผ่านบัญชีเงินฝากแบบ 24 เดือน หรือ หักเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในสัดส่วน (%) ที่สูงหน่อย หรือ ตั้งการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมแบบอัตโนมัติทุกเดือน เป็นต้น
2. แบ่งเงินตามวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยควบคุมให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ สำหรับคนที่ต้องการยาแรงหน่อย อาจเข้มงวดอีกนิดด้วยการนำเงินสดแยกใส่ซองจดหมายตามประเภทการใช้จ่ายไว้เลย เมื่อเกิดรายจ่ายในหมวดหมู่ใด ก็นำเงินจากซองนั้นๆ ออกมาใช้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เงินสดในซองหมด เราก็จะรู้ตัวได้เลยว่าเงินสำหรับหมวดหมู่นั้นหมดแล้ว
3. ตั้งงบประมาณให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้ อย่างเช่น ค่ากินข้าวนอกบ้าน หรือสันทนาการต่างๆ เพื่อสร้างสมดุลในการใช้ชีวิตของตัวเอง และลดทอนความรู้สึกว่าการเก็บเงินเป็นความเจ็บปวด

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่