โหนกระแส Prompt Pay ล่ม : มาดูกันดีกว่าว่าธนาคารกลางสิงคโปร์กำลังทำอะไรอยู่

ขออนุญาตโหนกระแสพร้อมเพย์ล่มในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันนิดนึงแล้วกันนะครับ จากการที่เกิดปัญหาขึ้นที่ ITMX (เปรียบได้เสมือนกับเคลียร์ริ่งเฮาส์ระหว่างธนาคาร) ทำให้การโอนเงินด้วยระบบพร้อมเพย์ระหว่างธนาคารเกิดปัญหาขึ้น จนนำมาสู่กระทู้หลายสิบกระทู้ในพันทิพที่ตั้งขึ้นมาสรรเสริญระบบดังกล่าว ก่อนที่จะไปดูกันว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์หรือ MAS (Monetary Authority of Singapore) กำลังทำอะไรอยู่นั้น มาทำความรู้จักกับ ITMX เพิ่มอีกสักนิดหน่อยดีกว่าครับ

ITMX ย่อมาจาก Interbank Transaction Management and Exchange ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาจากความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย มีจุดประสงค์หลักก็เพื่อรองรับการชำระเงินระหว่างธนาคารในไทยนี่แหละครับ ตามนโยบายของ คณะกรรมการระบบการชำระเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ Bank of Thailand (BoT) นั่นเอง

เจ้าปัญหาที่เกิดขึ้นเนี่ย มันเป็นข้อเสียข้อหนึ่งของระบบประเภทที่มีการรวมศูนย์ (Centralized) โดยหากตัวศูนย์กลางเกิดมีปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะพาลทำให้ทั้งระบบล่มไปด้วยง่ายๆ อย่างในกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันก่อนคือธนาคารต้นทางตัดเงินไปเรียบร้อย และส่งคำสั่งไปให้ ITMX เพื่อดำเนินการต่อแต่ ITMX ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ธนาคารปลายทางก็เลยไม่ได้รับเงิน เงินก็เลยไม่เข้าบัญชีผู้รับเงินปลายทาง

หากเรานำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ในกรณีนี้ ปัญหาที่ว่าก็จะไม่เกิดขึ้นเนื่องจาก Blockchain เป็นระบบแบบ Decentralized ซึ่งไม่มีตัวกลางทำหน้าที่ประมวลผล แต่ไม่ได้แปลว่าแบงค์ชาติเราจะไม่สามารถรับรู้หรือตรวจสอบธุรกรรมได้นะครับ ในทางตรงกันข้าม แบงค์ชาติสามารถเข้าร่วมเป็น Node หนึ่งในวง Private Blockchain ระหว่างธนาคารนี้ได้เช่นกัน อีกทั้งจะได้รับข้อมูลธุรกรรมระหว่างธนาคารแบบ Real-time เลยทีเดียวไม่ต้องติดต่อขอข้อมูลจากธนาคารอีกต่อไป ทีนี้มาดูกันครับว่าทาง MAS นั้นมีแนวคิดในการนำเอา Blockchain เข้ามาปรับใช้กับระบบรับชำระเงินระหว่างธนาคารในประเทศสิงคโปร์กันอย่างไร

Project Ubin

Project Ubin คือ ชื่อของโครงการที่ถูกริเริ่มโดย Monetary Authority of Singapore หรือ MAS ที่ทำการศึกษาและพัฒนาร่วมกันกับธนาคารพาณิชย์ในสิงคโปร์ และ R3 (กลุ่มความร่วมมือที่จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและพัฒนา Distributed Ledger ในเชิงพาณิชย์ โดยมีธนาคารกรุงเทพของไทยเราเข้าร่วมเป็นสมาชิกอยู่) ตลอดจนบริษัทผู้ให้คำปรึกษาอย่าง Deloitted (Phase I) และ Accenture (Phase II) เพื่อทดลองนำ Distributed Ledger Technology (DLT) มาปรับใช้เข้ากับระบบการรับชำระเงินระหว่างธนาคารในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่สองต่อจากประเทศแคนาดา (Project Jasper) ที่ทางธนาคารกลางได้มีความคิดริเริ่มนำเทคโนโลยี Distributed Ledger นี้มาทดลองศึกษาถึงความเป็นไปได้ โดยในปัจจุบัน การดำเนินงานของ MAS อยู่ในส่วนของเฟสที่ 2 คือการศึกษาและทดลองใช้ Distributed Ledger ในรูปแบบเครือข่าย Private Ethereum ผ่าน 3 ระบบคือ Corda, Hyperledger Fabric และ Quorum โดยทั้ง 3 ระบบนี้ทำงานอยู่บน Cloud Service ของ Microsoft Azure เพื่อใช้ในการทดลองรับชำระเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์ในสิงคโปร์
ตัว Project Ubin นั้นในเบื้องต้นถูกแบ่งออกเป็น 4-5 เฟส ในส่วนของเป้าหมายของ  Project Ubin เฟสแรกนั้นทาง MAS ต้องการที่จะศึกษาและทดลองการใช้สกุลเงิน SGD ในรูปแบบ token บน Distributed Ledger เพื่อประเมินศักยภาพของระบบ Distributed Ledger ในการนำมาปรับใช้กับระบบการเงินของประเทศสิงคโปร์ โดยระบบ DL จะถูกเชื่อมต่อกับระบบรับชำระเงินระหว่างธนาคารในปัจจุบันที่เรียกว่า MEPS+ ของทาง MAS อีกทอดหนึ่ง
สำหรับเฟสที่สองนั้น เป้าหมายหลักคือการทดสอบการโอนเงินบนเครือข่าย DL ในระบบงานที่ต่างกัน 3 ระบบงานคือ Corda, Hyperledger Fabric และ Quorum ซึ่งระบบงานทั้งสามนี้จะถูกวางอยู่บนระบบคลาวด์ของ Microsoft Azure นอกจากการทดสอบการรับชำระเงินระหว่างธนาคารโดยทั่วไปบนเครือข่าย DL แล้วยังได้มีการทดสอบฟังก์ชันเพิ่มเติมของระบบรับชำระเงินระหว่างธนาคารในปัจจุบัน เช่น Queueing Mechanism (QM), Liquidity Saving Mechanism (LSM) ซึ่งในแต่ละระบบงานที่ได้กล่าวข้างต้น (Corda, Hyper Ledger Fabric, Quorum) จะมีภาพใหญ่ของระบบรับชำระเงินระหว่างธนาคารที่เหมือนกัน หากแต่รายละเอียดของการทำงานของ DL ตลอดจนหลักการทำงานของ LSM จะมีความแตกต่างกันออกไป
กรอบแนวทางในการพัฒนาและศึกษา Project Ubin ในขั้นถัดๆไปนั้น ทาง MAS จะมุ่งเน้นไปที่

1. Domestic Delivery vs Payment (DvP) ซึ่งจะนำไปประยุกต์ใช้กับการรับชำระ Domestic Securities
2. Payment vs Payment (PvP) โดยมุ่งเน้นไปที่ Cross-border settlement
3. Target Operating Model โดยจะทำการศึกษาในเชิง ผลกระทบในด้านต่างๆเพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบาย, กฎหมาย หรือข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย DL ในภาคการเงินการธนาคาร สำหรับแผนระยะยาวจะทำการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับธุรกรรมประเภท Cross-border settlement of payments and securities (DvPvP) ต่อไป

MEPS+ Singapore Real-time Gross Settlement System (RTGS)
ในปัจจุบันระบบการรับชำระเงินระหว่างธนาคาร (RTGS) ในประเทศสิงคโปร์มีชื่อเรียกว่าระบบ MEPS+ (เทียบเท่าระบบ Baht-Net ในประเทศไทย) โดยมี MAS เป็นผู้พัฒนาและดูแล ซึ่งได้มีการเริ่มใช้งานระบบ MEPS+ นี้มาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2549 โดยตัวระบบ MEPS+ เองได้มีการพัฒนาฟังก์ชันรองรับการชำระเงินระหว่างธนาคารเพิ่มเติมจากระบบงาน MEPS เดิมดังนี้

•    รองรับ SWIFT message format ในการสั่งงานเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการส่งคำสั่งผ่านระบบ
•    เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการระบบ Queue ของคำสั่งชำระเงิน
•    เพิ่มระบบ การบริหารจัดการหลักทรัพย์ค้ำประกันแบบอัตโนมัติสำหรับ วงเงินเสริมสภาพคล่องระหว่างวัน
•    เพิ่มระบบ การตรวจจับและแก้ไขปัญหา Gridlock (กรณีที่การชำระเงินระหว่างธนาคารหยุดชะงักเนื่องจาก เกิดการรอรับชำระเงินระหว่างธนาคาร)

Project Ubin Phase I
ในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2016 Bank of Canada หรือ ธนาคารกลางของประเทศแคนาดาได้เริ่มนำร่องการนำ Distributed Ledger Technology เข้ามาใช้กับระบบรับชำระเงินระหว่างธนาคารในประเทศแคนาดาภายใต้ชื่อ Project Jasper โดยตัวโครงการได้รับความร่วมมือจาก กลุ่มธนาคารพาณิชย์ในประเทศแคนาดาที่เป็นสมาชิกของ R3 consortium ซึ่งประกอบด้วย Bank of Montreal, Canadian Imperial Bank of Commerce, Royal Bank of Canada, Scotiabank และ TD Canada Trust

ทาง Monetary Authority of Singapore ได้เล็งเห็นถึงโอกาสที่จะใช้ความชำนาญและประสบการณ์ของกลุ่ม R3 ที่ได้เรียนรู้ในช่วง Project Jasper กับทางธนาคารกลางของประเทศแคนาดาในการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะนำ DLT เข้ามาประยุกต์ใช้กับระบบรับชำระเงินระหว่างธนาคารในประเทศสิงคโปร์ เพื่อลดความเสี่ยงและต้นทุนค่าใช้จ่ายในการ รับชำระเงินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งธุรกรรมประเภท Delivery versus Payment หรือ DvP ในกรณีของสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆไม่ว่าจะเป็น หุ้น หรือ พันธบัตร โดยเป้าหมายในเฟสแรกอยู่ที่การทดลอง digitized SGD ให้อยู่ในรูปของ token บนเครือข่าย Ethereum เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการรับชำระเงินระหว่างธนาคาร
ระบบต้นแบบได้ถูกพัฒนาผนวกเข้ากับระบบรับชำระเงินระหว่างธนาคาร ที่ MAS ใช้อยู่เดิมที่ชื่อว่า MEPS+ ผ่านรูปแบบของ Current Account เพื่อใช้ในการบริหารสินทรัพย์หลักประกัน ในการค้ำประกันตัว SGD token บนเครือข่าย Ethereum ซึ่งระบบต้นแบบนี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบศัพยภาพของระบบ เพื่อรองรับการทำธุรกรรม ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เสถียรภาพ และความเที่ยงตรงในการรับชำระเงิน



Project Ubin Phase II

หลังจากการศึกษาและทดลองในเฟส 1 ประสบความสำเร็จ ในช่วงปลายปี 2016 ทาง MAS ได้เริ่มสานต่อ Project Ubin ในเฟส 2 ซึ่งจุดประสงค์หลักคือเพื่อทดสอบ ฟังก์ชันหนึ่งที่สำคัญในระบบ RTGS ที่ช่วยในการบริหารสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ หรือ Liquidity Saving Mechanism ตลอดจนเพื่อศึกษาในเชิงลึกในเรื่องของ Privacy สำหรับธุรกรรมการรับชำระเงินระหว่างธนาคาร โดยในเฟสที่ 2 นี้บริษัท Accenture ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาและทดสอบระบบด้วย

ทาง MAS คาดหวังให้ Project Ubin กลายเป็นต้นแบบของ Decentralized RTGS Platform ที่ลบล้างปัญหา single point of failure ในระบบ RTGS ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง หรือแม้กระทั่งลดภาระงานในด้าน Reconciliation

แผนภาพด้านล่างแสดงการเชื่อมโยง ของเครือช่ายแบบ Centralized และ Decentralized




โดยในการศึกษาและทดสอบในเฟสที่ 2 นี้ ทาง MAS ได้เลือกพัฒนาต้นแบบบน Distributed Ledger Technology ที่แตกต่างกัน 3 ระบบ คือ Corda, Hyperledger Fabric และ Quorum ซึ่งทั้ง 3 ระบบนี้จะทำงานบน Microsoft Azure Cloud Platform ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่สามารถทำให้ฟังก์ชัน Liquidity Saving Mechanism สามารถทำงานได้โดยยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวในข้อมูลของแต่ละธนาคารที่เป็นสมาชิกในเครือข่าย DLTเอาไว้ได้

ข้อแตกต่างที่สำคัญของ Corda, Hyperledger Fabric และ Quorum



โดยในเฟสถัดๆไป MAS ก็เล็งที่จะทดลองนำเอาการชำระเงินระหว่างธนาคารสำหรับกรณีการซื้อขายพันธบัตร มาทดลองทำกันบน DLT นี้ล่ะครับ
ก็ต้องลองดูกันต่อไปว่า MAS จะเป็นเจ้าแรกหรือเปล่าที่เอา Blockchain มาใช้งานจริงในภาคการเงินการธนาคารสำหรับฟากของ ธนาคารกลาง

เอาคร่าวๆกันพอหอมปากหอมคอเท่านี้ก่อนแล้วกันนะครับ ถ้าหากข้อมูลที่ผมสรุปมามีข้อผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

หากท่านใดสนใจอยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ตาม Link ด้านล่างกันไปเลยครับผม
ข้อมูลทั้งหมดผม Reference มาจากเอกสารนำเสนอ Project Ubin ของทาง MAS นี่แหละครับ
http://www.mas.gov.sg/Singapore-Financial-Centre/Smart-Financial-Centre/Project-Ubin.aspx
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่