จำได้ไหม? มหากาพย์คดีรถหรูปี 56 จากวันนั้นถึงวันนี้ ภาษีหาย 9 พันล้าน!!



ย้อนรอยมหากาพย์คดีรถหรู ปี 2556

คดีการลักลอบนำเข้ารถหรู ที่ถูกพบมีการทำผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2556 เวลาผ่านมานานเกือบ 5 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มีการดำเนินคดีไปอย่างไรบ้าง เราจะไปย้อยรอยดูคดีมหากาพย์นี้ จากรายงาน

มิถุนายน 2556 อุบัติเหตุรถบรรทุกรถยนต์จดประกอบนำเข้าที่เกิดไฟไหม้ระหว่างการขนย้าย เป็นจุดเริ่มต้นของคดีมหากาพย์ การตรวจสอบรถนำเข้าจดประกอบผิดกฎหมาย ที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน  

โดยบทสรุปการตรวจสอบรถนำเข้าฯ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ จากจำนวนกว่า 7,000 คัน ดีเอสไอชี้แจงไว้เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาว่า มีรถอยู่ในข่ายความผิด 3,773 คัน ผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร 1,038 คัน มีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัท นักการเมืองท้องถิ่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มผู้นำเข้ารถจดประกอบ และผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียน ซึ่งได้แจ้งข้อหาไปหมดแล้ว

ส่วนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน ที่ล่าช้าและเป็นปัญหา อยู่ในกลุ่มผู้ถือครองรถราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท 940 คัน ที่แม้จะทยอยออกหมายเรียกไป แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร

ซึ่งนอกจากคดีนี้ ดีเอสไอยังขยายผลตรวจสอบประสานขอข้อมูลกับหลายประเทศ โดยเฉพาะหน่วยต่อต้านการโจรกรรมรถยนต์ของสหราชอาณาจักร ที่ส่งข้อมูลขอให้ดีเอสไอตรวจสอบรถซุปเปอร์คาร์นำเข้า 42 คัน ที่เชื่อว่ามีการสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า ทำให้รัฐเสียหายอีกกว่า 2,400 ล้านบาท ซึ่งหลังรับเป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอได้อายัดรถต้องสงสัยไว้ตรวจสอบ 122 คัน และสั่งตรวจสอบย้อนหลังรถกว่า 10,000 คัน ที่มีพฤติการณ์เดียวกัน ส่งผลถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่รับผลกระทบ ตัดสินใจนำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลฯ และมีข่าวลือตามมาว่าจะมีการลงขันเพื่อขอให้เปลี่ยนเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนคดีนี้ออกไป ซึ่งดีเอสไอก็ออกมายืนยันความโปร่งใสการทำคดีนี้ทันที

อย่างไรก็ตาม ปริศนาการสั่งล้มคดียังไม่หายไปจากความสงสัยของคนในสังคม เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันกับเงินภาษีที่อาจสูงเกินหมื่นล้านบาท และข่าวคราวคดีนี้ที่เงียบหายไปนาน ก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าจะกลับไปสู่วงจรเดิมอีกหรือไม่ ซึ่งเราจะมาหาคำตอบนี้กันต่อในวันพรุ่งนี้

เครดิตข่าว [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


DSI จ่อฟ้องคดีรถหรูต้นปีหน้า หลังพบภาษีขาดหายกว่า 9,000 ล้านบาท

คดีการนำเข้ารถหรูสำแดงราคา นำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง ดีเอสไอเปิดเผยว่าในต้นปีหน้าจะเริ่มทยอยส่งฟ้องได้ ขณะที่ตัวเลขคำนวนภาษีที่ขาดหายไปพบว่าสูงเกินกว่า 9,000 ล้านบาทแล้ว ไปติดตามจากรายงาน

จากคดีไฟไหม้รถบรรทุกรถยนต์จดประกอบนำเข้าที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2556 นำไปสู่การขยายผลตรวจสอบคดีรถหรู หลีกเลี่ยงภาษีสำแดงราคาเป็นเท็จ ที่หน่วยต่อต้านการโจรกรรมรถยนต์ของสหราชอาณาจักร ส่งข้อมูลขอให้ดีเอสไอตรวจสอบรถหรู 42 คัน ที่ถูกโจรกรรมไป และมีการสำแดงราคาหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ามาในไทย ทำให้รัฐเสียหายไม่ต่ำกว่า 2,400 ล้านบาท ทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้ารถหรูในไทย ที่มีกระแสข่าวตามมาถึงเรื่องของการลงขัน เพื่อขอให้ย้ายเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่รับผิดชอบคดีนี้ออกไป

แม้ข่าวคราวความคืบหน้าคดีนี้ จะเงียบหายไปจนเกิดข้อสงสัยต่าง ๆ นานา แต่จากการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดของดีเอสไอ ยืนยันว่า เหตุที่คดีนี้ล่าช้าเป็นเพราะต้องให้เวลาหน่วยงานต่างประเทศไปตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังส่งกลับมาให้ไทย ที่ขณะนี้มีข้อมูลส่งมาให้ 3 ประเทศ เป็นรถนำเข้าจากสหราชอาณาจักรกว่า 9,000 คัน จากอิตาลีกว่า 500 คัน และญี่ปุ่น 5 คัน ในจำนวนนี้มีการประเมินอากรเสร็จสิ้นแค่ 1,383 คัน คิดเป็นมูลค่าอากรที่ขาดไปกว่า 9,070 ล้านบาท

ขณะที่ ดีเอสไอ อยู่ระหว่างขอให้ทางการอิตาลี ตรวจสอบรถหรูเพิ่มเติมอีก 689 คัน และอยู่ระหว่างรอการประเมินอากรขาดเพิ่มเติมอีก 79 คัน โดยเชื่อว่าคดีนี้จะมีความเสียหายสูงเกินกว่า 10,000 ล้านบาท คาดว่ามกราคม 2561 จะเริ่มทยอยส่งสำนวนคดีให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อไปได้

สำหรับข้อสงสัยเรื่องลงขันล้มคดีนี้ จะเป็นไปได้จริงหรือไม่ และในฝั่งของผู้ประกอบการจะมองทางออกเรื่องนี้อย่างไร เราจะมาติดตามความคืบหน้ากันต่อไป

เครดิตข่าว [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


มุมมองทางออกคดีรถหรู

การดำเนินคดีรถหรูเลี่ยงภาษีนำเข้า แม้ ดีเอสไอ จะยืนยันว่า จะดำเนินคดีเฉพาะกลุ่มผู้นำเข้าผิดกฎหมาย แต่ผู้ที่ซื้อรถมาใช้งาน ที่รถอยู่ในข่ายความเสี่ยง จะต้องถูกอายัดไปด้วย จะมีทางออกให้กับปัญหานี้อย่างไร ไปติดตามจากรายงาน

การตรวจสอบคดีรถหรูหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า โดยสำแดงราคาอันเป็นเท็จ หลังมีความคืบหน้าว่า ดีเอสไอ ได้ข้อมูลรถนำเข้าสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงจาก 3 ประเทศ จำนวนกว่า 9,000 คัน ซึ่งตรวจเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 1,300 คัน และพบอากรที่ขาดหายไปกว่า 9,000 ล้านบาท

การดำเนินคดีนี้ ดีเอสไอ ชี้แจงว่าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ผู้นำเข้ารถหลีกเลี่ยงภาษี ที่ต้องถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร และสำแดงเท็จ ส่วนอีกกลุ่มซึ่งเป็นผู้ซื้อรถไปใช้งาน กลุ่มนี้ ดีเอสไอ จะสอบปากคำเป็นพยาน พร้อมกับยอมรับว่ายังไม่มีทางออกที่ชัดเจนว่าจะเยียวยาอย่างไร

ขณะที่ความเห็นอีกด้าน จากมุมมองผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์ เห็นว่าทางออกช่วยเหลือผู้ที่ซื้อรถไปใช้งาน อาจใช้วิธีการชำระภาษีเพิ่มในส่วนที่ขาด ดีกว่าปล่อยให้ยึดรถไป โดยไม่สามารถเรียกเก็บภาษีใด ๆ ได้

การอายัดรถเป็นของกลางในคดี แม้ ดีเอสไอ จะมอบให้ผู้ที่ซื้อนำไปเก็บไว้ได้ แต่การที่ไม่สามารถนำออกมาขับขี่ หรือขายต่อได้ ทั้งคดีก็ยังผ่านไปอย่างล่าช้า เป็นคำถามหาความยุติธรรมจากใจผู้ซื้อ ที่ต้องตั้งความหวังรอคำตอบจากการหารือกับกรมศุลกากรในปีหน้า ที่เราจะมาติดตามกันต่อไป

เครดิตข่าว [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่