เสียงครวญคร่ำแห่งโคกพระยา (กลอนร้อยบท อิงประวัติศาสตร์)

คำนำ.
..สาธุชน แม้สนใจ ใฝ่สดับ
สิ่งเร้นลับ อันถึงคราว จะกล่าวขาน
ทั้งเรื่องจริง อิงเรื่องเล่า แต่เก่ากาล
เป็นตำนาน และความเชื่อ สืบเชื้อมา

.....ให้สุดแท้ แต่การ อ่านวิเคราะห์
ว่าไพเราะ เหมาะงาม ตามภาษา
หรือลวงหลอน ซ่อนเล่ห์ เจรจา
เชิญตีค่า ตามใจ จะไตร่ตรอง

......ตัวผู้เล่า เฝ้าเพียร  เจียรความคิด
เขียนประดิษฐ์ มาบำเรอ เสนอสนอง
หวังดำรง วงวาร งานร้อยกรอง
ต่อยุคทอง วรรณกรรม ให้อำไพ

......ข้อเท็จจริง สิ่งที่เล่า ยกกล่าวอ้าง
อาจเห็นต่าง จินตนา ว่าเหลวไหล
ก็ขอเห็น เป็นบันเทิง รื่นเริงใจ
เพียงผ่านไป  ในอารมณ์ อย่าตรมเลย

......แต่หากแม้ แลเห็น เป็นกุศล
ว่าเกิดผล ดีงาม ตามที่เผย
ขอส่วนบุญ หนุนไป ได้งอกเงย
ให้ชื่นเชย ผู้ครวญคร่ำ พร่ำรำพัน

......ตอนที่ ๑ .. พ.ศ.๒๕๑๘ .

(๑)...เรือเครื่องเลียบ  เทียบท่า ที่หน้าบ้าน
มี “ลุงชาญ” กับลูกสาว รุ่นราวฉัน
เมื่อเคารพ นบนอบ สอบถามกัน
ทราบชื่อ “วัลลภา” น่ารักดี

.(๒)....แล้วขึ้นเรือน เยือนยาย ทักทายแม่
ว่ามาแต่ ย่ำรุ่ง จากกรุงศรีฯ (อยุธยา)
ธุระด่วน ควรเล่า เบาเต็มที
ด้วยเรื่องนี้  ไม่พึง ให้อึงไป

(๓).....เอาห่อผ้า มาวาง ตรงกลางบ้าน
คล้ายลนลาน มือนั้น จึงสั่นไหว
เมื่อแกะปม ชมดู ที่อยู่ใน
เป็นแหวนใหญ่  ลายโบราณ ตระการตา

(๔).....เรือนทองคำ คำนวณค่า ว่าไม่น้อย
มีหัวพลอย สีชมพู มองหรูหรา
แล้วเล่าเรื่อง เบื้องหลัง  ยังที่มา
ด้วยทีท่า ขวัญแขวน ขนแขนชัน

(๕)......เริ่มครอบครัว หัวรอ*  บ้านพ่อป้า (*ตำบลหัวรอ  พระนครศรีอยุธยา)
ทั้งทำนา เผาอิฐ ติดขยัน
แต่หน้าน้ำ ทำผลิต อิฐไม่ทัน
คิดผายผัน หาที่โคก โยกย้ายเรือน

(๖)......ช่างเป็นโชค โคกพระยา ป่ารกเรื้อ
ถ้าทางเรือ สะดวกนัก ไหนจักเหมือน
ทางถนน วนที่วัด ตัดมาเยือน
ทุกปีเดือน น้ำไม่ถึง จึงอุ่นใจ

(๗)......หลังหักร้าง ถางป่า ไม่ช้าชัก
ก็ลงหลัก ปักฐาน เป็นบ้านใหม่
ทำเตาอิฐ ผลิตขาย สบายไป
มีกำไร พองาม ตามสมควร

(๘) ....มาคืนหนึ่ง ถึงตระหนก อกสั่นคร้าม
เสียงลอยตาม ลมโชย ฟังโหยหวน
กู่ร่ำร้อง ว่าหมองไหม้ ใจรัญจวน
โอดคร่ำครวญ อยู่ครู่หนึ่ง จึงเบาซา

(๙).....ถามสมภาร ท่านเมตตา มาตอบถ้อย
อันเสียงลอย  คร่ำครวญ ชวนผวา
ล้วนมาจาก ซากโศก โคกพระยา
ถวิลหา ส่วนบุญ หวังจุนเจือ

(๑๐) .....ทุกคืนค่อน ก่อนหน้า สิบห้าค่ำ
วานช่วยทำ บุญพระ สละเหลือ
วิญญาณเขา เฝ้าเวียนวาด หาญาติเครือ
จะเอื้อเฟื้อ  ขุดศพ  บรรจบไฟ

(๑๑).....ด้วยวัดนี้ ที่ประหาร วงศ์วานเจ้า
เขาทุบเอา ด้วยท่อนจันทน์ อันสมัย-
ครั้งกรุงศรี อยุธยา ธานีไทย
ศพฝังไว้ โคกพระยา มานมนาน

(๑๒).....ตรงไหนนี่ ที่ฝัง เกินหยั่งรู้
ก็มองดู ล้วนป่ารก ปกสถาน
จะหาหน ค้นขุด สุดประมาณ
แต่โบราณ  ผู้เฒ่า เล่าให้ฟัง

(๑๓).....ว่ามีจุด ขุดถูก กระดูกเด็ก
ร่างเล็กเล็ก คล้ายคอหัก แล้วผลักฝัง
กำไลทอง คล้องเท้ามือ พอสื่อยัง
แต่เมื่อครั้ง  กรุงเก่า เรารุ่งเรือง

(๑๔)......ผู้ค้นขุด จุดนั้น ฝันมาก่อน
ระลึกย้อน ยามอุษา เมื่อฟ้าเหลือง
มีเด็กน้อย คอยนำพา มาเนืองเนือง
ว่าครั้งเมือง ยังดี พี่น้องกัน

(๑๕).....ผลัดแผ่นดิน สิ้นวงศ์ ทรงอำนาจ
เขาพิฆาต เชื้อสาย ชายอาสัญ
ส่วนพี่สาว พราวตา โสภาพรรณ
เพียงแค่ทัณฑ์ เป็นสนม อยู่กรมใน

(๑๖) .....ตัวพี่สาว คราวนั้น ครั้นมาเกิด
ถิ่นกำเนิด  อยู่ถัด วัดใกล้ใกล้
เมื่อระลึก ตรึกฝัน ให้หวั่นใจ
เที่ยวชวนใคร มาค้นจุด จึงขุดเจอ

(๑๗)....แล้วเผาร่าง สร้างเจดีย์ ไว้ที่นั่น
จึงเลิกฝัน  อันประสบ พบเสมอ
ส่วนกำไล ได้ยินมา ว่าตัวเธอ
ไม่ฟุ้งเฟ้อ รวมหลอมพระ สละบุญ

(๑๘)......ผู้โลภมาก อยากได้ ไม่ใช่ญาติ
ไร้โอกาส วาสนา มาเกื้อหนุน
ถึงพากัน ดั้นค้น จนโคกพรุน
ไม่มีบุญ  พบร่องรอย สักหน่อยเลย

(๑๙).....อันตัวสู ผู้ต่างถิ่น ได้ยินเสียง
อย่าคิดเพียง  แต่วิตก ประสกเอ๋ย
จงกรวดน้ำ ทำบุญไว้ ให้งอกเงย
อุทิศเอ่ย ไปเพื่อเขา พ้นเศร้าตรม

(๒๐).....ปีถัดมา ป้าท้อง น้องคนใหม่
หลังมีไว้  สามคน ซนกันขรม
แต่ที่แปลก แรกท้อง ร้องระงม
ฝันว่าจม หลุมดิน ดิ้นเกลือกกาย

(๒๓).....แม่ชีสาว ขาวงาม รี่ตามรุด-
เอื้อมมือฉุด ขึ้นจากเลน แล้วเร้นหาย
ในความฝัน วันทา พารอดตาย
หมอทำนาย ได้ลูกหญิง ให้พิงพา

(๒๔) ....ถึงยามปลอด คลอดง่าย อย่างคล้ายเคลื่อน
เพียงเจ็บเตือน แล้วไหลล่อง กองหน้าขา
ทั้งอวบอั๋น พรรณพักตร์ ลักขณา
ให้ชื่อว่า “วัลลภา” ผู้น่าชัง

(๒๕)....จนอายุ ลุวัย ได้ภาษา
กลับพูดจา รู้เรื่อง ชาติเบื้องหลัง
ทั้งสำเนียง เคียงคร่าว เป็นชาววัง
ในบางครั้ง ว่า “เพคะ “  แปลกกระไร

(๒๖)......เล่าเป็นคุ้ง เป็นแคว โอ้..แม่จ๋า
หนูเกิดมา เพียงพอ ขออาศัย
เมื่อชาติก่อน ย้อนกำเนิด  เกิดฝ่ายใน
รั้ววังใหญ่ ใกล้ปราสาท ราชมนเทียร

(๒๗)......อันแม่เก่า เป็นเจ้านาย  สืบสายเชื้อ
แห่งเจ้าเหนือ ชีวิต สถิตเศียร
ชีวิตหนู อยู่สุข สนุกเวียน
จนจวนเจียน วัยสาว จึงร้าวรอน....

(หมายเหตุ ..เหตุการณ์จากนี้ ผู้เขียนได้สอบเทียบเรื่องระลึกชาติของวัลลภา กับพงศาวดารอยุธยา และแสดงไว้ท้ายวรรคกลอนเพื่อให้ทราบว่าเรื่องเกิดขึ้นในยุคสมัยใด เหตุการณ์ปลายสมัยอยุธยา มีแต่รบราฆ่ากันในหมู่ญาติเป็นเหตุให้คนดี คนเก่งหายไปจากนคร จนเมื่อเกิดศึกนอกก็อ่อนแอจนเสียกรุงในที่สุด)

(๒๘)......ครั้งแผ่นดิน เสด็จตา ที่ว่าสุข   (รัชสมัยพระเจ้าเสือ)
หนูคลอขลุก กับบิดา ที่พาสอน
ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กานท์ งานละคร
อนาทร ร้อนใจ ไม่เคยมี

(๒๙).......ครอบครัวเรา เช้าเย็น ไม่เป็นทุกข์
จนผลัดยุค น้าคนรอง ครองกรุงศรี (รัชสมัยขุนหลวงท้ายสระ )
จึงเริ่มเรื่อง เคืองเข็ญ เป็นทวี
ประชาชี ทุกข์เทวษ ไม่เมตตา

(๓๐).....แม้แต่ว่า ปลาตะเพียน  ที่เวียนว่าย
เคยจับง่าย  จับทาน นานนักหนา
พิลึกเล่า เจ้าแผ่นดิน ชอบกินปลา
มีอาญา แก่ผู้ล่า ปลาตะเพียน

(๓๑)......พ่อของหนู ดูรุ่งเรือง เรื่องตำแหน่ง
ตาตั้งแต่ง  เจ้าอารักษ์ สำนักเขียน
แต่เรื่องรบ จบกระบวน ด้วยล้วนเพียร
น้าจึงเปลี่ยน คุมกรมดาบ ปราบไพรี

(๓๒).....คือสาเหตุ เภทภัย อันใหญ่หลวง
คล้ายว่าดวง คนผูก ไม่ถูกศรี
เมื่อใกล้สิ้น แผ่นดินน้า  ที่ปรานี
การเมืองมี เหตุพลิกผัน ประจัญบาน

(๓๓).....สาธุชน ผู้สนใจ ในที่กล่าว
อันเรื่องราว มากมาย หลายขนาน
ไยเด็กน้อย ร้อยเรียง เคียงตำนาน
คงคิดค้าน ว่าเกินวัย  ไขเค้ามูล....
(โปรดอ่านต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่