Medicine.. ‘การแพทย์ที่เชื่อไม่ได้’ หยุดเชื่อ เริ่มถาม เรื่องการรักษา 13/12/2560 สรายุทธ กันหลง

‘การแพทย์ที่เชื่อไม่ได้’ หยุดเชื่อ เริ่มถาม เรื่องการรักษา กับ ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์
Patchar Duangklad | Dec 11, 2017
Cr: Orathai Ard-am

บทความนี้ชี้ให้เห็น "ความเชื่อ" ที่ไม่ถูกต้องทางการแพทย์ ท้งตัวผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ที่มีความเชื่อที่ว่า ‘ใหม่ดีกว่าเก่า’  ‘ทำมากดีกว่าทำน้อย’ และ  ‘ทำก่อนดีกว่าทำทีหลัง’ นายแพทย์ระดับ PhD นักวิจัยท่านน้ได้ให้ข้อคิดให้หลุดพ้นจากความเข้าใจผิดและอคติเหล่านี้ได้  ไปอ่านที่

https://ppantip.com/topic/37182477/comment2

หรือที่เวปต้นฉะบับ
https://www.the101.world/thoughts/myth-in-health-system/
.. สรายุทธ พุธ 13/12/2560

==

ความคิดเห็นของหมอ / งานวิจัยทางการแพทย์ที่ถูกตีพิมพ์ / ข้อมูลที่ส่งต่อกันทางไลน์ คุณคิดว่าข้อมูลจากแหล่งไหน เชื่อถือได้มากที่สุด?
ถ้าคำตอบคือ อาจไม่มีอะไรที่เชื่อถือได้เลย แล้วคุณคิดว่าปัญหาของความรู้เหล่านี้คืออะไร และความรู้แบบไหนกันแน่ที่เราควรเชื่อ
แต่ไหนแต่ไรมา การดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่มีช่องว่างทางความรู้ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการอยู่มาก เราในฐานะคนไข้ผู้รับบริการจึงมักเลือกดูแลสุขภาพของตัวเองด้วย ‘การเชื่อ’ สิ่งที่เราคิดว่าเชื่อได้ ไม่ว่าจะเป็นหมอ เทคโนโลยีการแพทย์ล้ำสมัย แหล่งข้อมูลหรือบุคคลที่เราไว้ใจ โดยปราศจากการตั้งคำถามใดๆ ในขณะที่ผู้ให้บริการเช่นหมอ ก็เชื่อมั่นในความรู้และประสบการณ์ของตัวเอง อย่างไม่ตั้งข้อสงสัยเช่นกัน
101 อยากชวนคุณตั้งคำถามกับความรู้เรื่องการรักษาพยาบาลที่แสนจะใกล้ตัวกับนายแพทย์นักวิจัย ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้ก่อตั้งและนักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program หรือ HITAP) หน่วยงานวิจัยสำคัญภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายของหน่วยงานรัฐ เช่น คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงสาธารณสุข
มาสำรวจทุกแง่มุมของปัญหาความรู้ในการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาล ด้วยการหยุดเชื่อ แล้วเริ่มตั้งคำถาม เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณเอง ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษชิ้นนี้


เรื่องที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลมีอะไรบ้าง

หนึ่ง ความเชื่อที่ว่า ‘ใหม่ดีกว่าเก่า’  ในกรณีของคนไข้เวลาไปหาหมอก็อยากได้ยาตัวใหม่ๆ หรือวิธีการรักษาใหม่ๆ เพราะเชื่อว่าได้ผลดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ยาแก้แพ้ ทุกวันนี้ถ้าเราไปหาหมอจะได้ยาแก้แพ้แปลกๆ ที่มีคุณสมบัติใหม่ๆ เช่น ทานแล้วไม่ง่วงนอน ไม่ใช่ว่ายาพวกนี้ไม่ดี แต่ผ่านไป 3-4 ปี เราอาจจะเจอข้อเสีย มียาหลายตัวที่พอใช้ไป 10-20 ปีแล้วพบข้อเสียมากมาย ในขณะที่ยาที่ใช้กันมาเป็นเวลานานมีความปลอดภัยกว่า เช่น ยาคลอเฟนิรามีน (CPM) ใช้ช่วยอาการแพ้หรือเป็นหวัดมาเป็นเวลา 60-70 ปีแล้ว ได้รับการพิสูจน์ว่าดีและปลอดภัย ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ก็ได้
สอง ความเชื่อที่ว่า ‘ทำมากดีกว่าทำน้อย’  เช่น การรักษามะเร็งเต้านมในสมัยก่อน นิยมรักษาด้วยการตัดเต้านมและกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกออกทั้งหมด บางทีคนไข้ก็แขนบวมเพราะท่อน้ำเหลืองถูกตัดไปหมด ปัจจุบันพบข้อพิสูจน์แล้วว่าไม่จำเป็นต้องทำตัดออกหมดขนาดนั้นก็ได้ผลการรักษาเท่ากัน
อีกตัวอย่างหนึ่งคือการใช้ CT Scan ตรวจไส้ติ่งอักเสบ สมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์เราจะวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบด้วยการซักถามและตรวจด้วยมือ อย่างมากที่สุดก็เจาะเลือดดู จนกระทั่งมาระยะหลังมีการใช้เครื่อง CT Scan ซึ่งไม่รู้ว่าช่วยอะไร ผลสุดท้ายคนไข้บางรายไส้ติ่งแตกหรือเกือบแตกอยู่ดีไม่ต่างกับการตรวจด้วยวิธีเดิม
การใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไปอาจละเลยสิ่งพื้นฐานสำคัญที่เป็นประโยชน์ เช่น การซักประวัติหรือการตรวจร่างกายคนไข้ บางอย่างตรวจดูจากการทำ CT Scan อาจจะไม่เห็น แต่เมื่อดูประวัติคนไข้อย่างละเอียดแล้ว ใช่แน่นอน แต่ก็ไม่ยอมทำ นี่คือตัวอย่างความสิ้นเปลือง คนไข้เสียประโยชน์ โรงพยาบาลก็บ่นว่าขาดทุน นอกจากนี้ยังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเสียด้วยซ้ำ เพราะการทำ CT scan ครั้งหนึ่งเท่ากับการทำ X-ray กว่า 100 ครั้ง
สาม ความเชื่อที่ว่า ‘ทำก่อนดีกว่าทำทีหลัง’ ตัวอย่างเช่น การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ก่อนมีคำแนะนำให้ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก พอเจอก็รีบรักษาก่อนเลย ปรากฏว่าคนไข้ตายมากกว่าเดิม
ต้องเข้าใจว่าคนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากไม่ได้ตายเพราะมะเร็งต่อมลูกหมากกันทุกคน ถ้าคุณเอาคนที่ตายตอนอายุ 80-90 ปีมาตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก จะพบว่าเป็นมะเร็งกันเกือบทุกคน แต่เขาตายด้วยโรคอื่นๆ ทุกวันนี้เราอาจมีมะเร็งกันอยู่ทุกคน แต่เป็นมะเร็งที่เป็นมิตรต่อร่างกายไม่ได้ทำให้เสียชีวิต
การรีบรักษามะเร็งต่อมลูกหมากโดยไม่จำเป็นทั้งการผ่าตัด ฉายแสง ฝังแร่ ให้ฮอร์โมน หรือบางคนอาจต้องตัดลูกอัณฑะออกไปเลย อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต คนไข้ส่วนใหญ่ตายเพราะผลข้างเคียง ตายเพราะตรอมใจตาย หรือตายเพราะกลัวตายนี่แหละ
ตอนนี้หลายประเทศจึงไม่แนะนำให้ทำการตรวจมะเร็งบางประเภทเสียด้วยซ้ำ แต่ทุกวันนี้เรายังพบการตรวจที่เกินความจำเป็นอยู่เสมอ เพราะทุกวันนี้หมอกลัวคนไข้มากกว่าคนไข้กลัวหมอ สมมติว่ามีคนไข้มาขอให้หมอตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากแล้วหมอปฏิเสธ เพราะพิจารณาตามสถิติแล้วเห็นว่าไม่มีความเสี่ยง แต่ภายหลังคนไข้ไปตรวจเจอมะเร็งที่โรงพยาบาลอื่น ก็กลับมาฟ้องหมอได้ ดังนั้นหมอจึงไม่อยากยุ่งอะไรมาก ถ้าคนไข้เรียกร้องก็ยอมตรวจให้
คนไข้จะเอาแต่เรียกร้องให้ตรวจโน่นตรวจนี่อยู่ตลอดโดยไม่มีข้อมูลคงไม่ได้ โรคที่เราเป็นกันทุกวันนี้ 1 ใน 3 ไม่ต้องรักษาก็หายเองได้ 1 ใน 3 จะรักษาหรือไม่รักษาก็ไม่ต่างกัน และอีก 1 ใน 3 หมอช่วยได้ ซึ่งจะเห็นว่าสิ่งที่หมอช่วยได้มันนิดเดียวเท่านั้น ที่สำคัญยังขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและการดูและสุขภาพของเราด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่