@~มาลาริน~**ชาวนาไทยยุค4.0...🌾🌾🌾🌾🌾 หมดหนี้” และ “มีกิน”!! ทางรอดชาวนาไทย ยุค 4.0🌾🌾🌾🌾🌾👍👍👍👍👍👍

ทำอย่างไรถึงจะรอด ชาวนาไทย ยุคไทยแลนด์ 4.0 ฟังทัศนะและข้อมูลจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ ทั้งชาวนาที่ประสบความสำเร็จในการทำนา ซึ่งอาจจะช่วยให้คุณสามารถมองเห็นทางออกและกลายเป็นอีกหนึ่งชาวนาที่ประสบความสำเร็จ “หมดหนี้” และ “มีกินมีใช้”



อย่างที่เราจะได้เห็นอยู่เรื่อยๆ ว่า ปัญหาเรื่องข้าว เรื่องชาวนา มีมาทุกยุคทุกสมัย ทุกรัฐบาล ขณะที่ก็มีความพยายามที่จะทำให้ปัญหาดังกล่าวนั้นหมดไป ... ซึ่งตามจริงก็คือ ยังไม่หมดไป ...

ด้วยเหตุนี้จึงมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามช่วยกันมองหาทางออกของปัญหา ไม่ใช่เพียงแค่คนของรัฐ หากแต่ชาวบ้านหรือบรรดาปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ก็พร้อมจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เป็นวิทยาทานแก่กัน ดังเช่นที่กรมประชาสัมพันธ์ที่ได้ร่วมกันกับสถาบันประชาชนเพื่อการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน และเครือข่ายองค์กรชาวนาไทย จัดเวทีสัมมนา “ชาวนาบอกชาวนา ทางเลือกทางรอดชาวนาไทยยุค 4.0” ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการสัมมนาดังกล่าว ถือเป็นมิติใหม่ของกรมประชาสัมพันธ์กับการทำงานเชิงรุกเพื่อประโยชน์ของสังคม ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยความหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับชาวนาไทยได้อย่างยั่งยืน...

“ปลดหนี้ชาวนาเป็น 0”!!
ทำได้ จริงไหม? อย่างไร?

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติมานมนาน แต่ทว่าชาวนาไทยจำนวนไม่น้อยก็แบกหนี้จนกระดูกสันหลังอาน บางรายหนักถึงขั้นต้องขายทิ้งที่นา จากที่เคยมีที่ทำกินเป็นของตัวเอง กลายเป็นต้องรับจ้างเขาทำ ซึ่งแน่นอนว่า การเป็นหนี้ของชาวนามีมาจากหลากหลายสาเหตุ แต่ในยุคที่ประเทศกำลังย่างก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างทุกวันนี้ จะมีวิธีจัดการกับวิกฤตี้นี้อย่างไร และชาวนามีสิทธิ์ปลดหนี้เป็น 0 อย่างที่หน่วยงานบางหน่วยหวังไว้ได้หรือไม่?

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเกษตรกรอยู่ราวๆ 5.3 ล้านครอบครัว มีที่นาอยู่ 53 ล้านไร่ เฉลี่ย 15 ไร่ต่อครอบครัว นอกจากนั้นแล้ว ยังพบอีกว่า ชาวนาหลายรายเป็นหนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จาก 10,000 บาท กลายเป็น 100,000 บาท ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปี



เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้มีกระแสเสียงออกมาจากสมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทย ถึงความหวังที่จะปลดล็อกหนี้สินชาวนาให้เป็น 0 ซึ่งทำให้เกิดเสียงเซ็งแซ่ตามมาว่า จะเป็นไปได้จริงไหม?

“ทางสมาคมได้ร่วมกับสมาคมชาวนาและโรงสีข้าวไทย และเครือข่ายสถาบันประชาชนเพื่อการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน จัดทำโมเดลเรื่อง “การปลดหนี้ชาวนาเป็นศูนย์” โดยนำร่องด้วยลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. สถาบันการเงินของรัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ใช่ประกอบธุรกิจพาณิชย์แบบธนาคารพาณิชย์ทั่วไป”ระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทย เปิดเผยถึงแนวทางที่กำลังดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

โดยในเบื้องต้น หนึ่งในสองแนวทางที่สมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทย ได้เสนอไว้เป็นวิธีการปฏิบัติเพื่อปลดหนี้ชาวนาให้เป็น 0 ก็คือ จะมีการคัดเลือกชาวนาซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นดีของ ธ.ก.ส. ที่มีการชำระหนี้ปกติ มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันที่มีมูลค่ามากกว่าหนี้สิน เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ให้นำหนี้สินมาหักลบกัน เมื่อหักลบกันแล้วนำมูลค่าที่เหลือไปคำนวณเป็นหุ้นในการลงทุนในนาแปลงใหญ่ และบริหารด้วยระบบสหกรณ์ ซึ่งโครงการนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายเดือนละ 3,000 บาท เพื่อเป็นค่าครองชีพประจำวัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก

“แนวทางที่ 2 ให้ชาวนากันพื้นที่จำนวนสองไร่ เพื่อไว้นำไปพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ขุดสระน้ำ เลี้ยงปลา และปลูกพืชผักแบบไร่นาสวนผสม เพื่อให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ต้องรอแค่ผลผลิตจากการทำนาแต่เพียงอย่างเดียว”

“แต่ผู้ที่จะตัดสินใจเข้าโครงการ จะต้องมีความเชื่อว่าตนเองพร้อมจะปลดหนี้ได้” ดร. เมธี จันท์จารุภรณ์ ประธานสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน กล่าวถึงหลักการที่จะนำชาวหน้าปลอดหนี้

“ชาวนาเป็นหนี้ด้วยตัวเองและแก้ไขได้ด้วยตัวเอง เราเป็นหนี้ ต้องแก้ไขหนี้ทั้งระบบ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ นาแปลงใหญ่เราลดค่าใช้จ่าย เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ใช้พื้นที่ให้มีประโยชน์สูงสุด ปรับพื้นที่ในนาแปลงใหญ่ เป็นการท่องเที่ยว เป็นประโยชน์อื่นๆ เราต้องการชาวนาที่มีความคิดเห็นตรงกัน ลงมือทำอย่างมีวิธีคิด”



การบริหารจัดการ ต้องดี!
ถ้าอยาก “ปลอดหนี้” และ “มีกิน”

เมื่อประเทศก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ที่สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกระพือพัดไปทุกแห่งหน การเดินอยู่บนวิถีเดิมๆ อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป คำถามก็คือ ในสภาวะที่โลกแปรเปลี่ยนไปรวดเร็วเช่นนี้ ชาวนาจะจัดวางตัวเองอย่างไรเพื่อให้อยู่รอด?

“การประกอบอาชีพทำนาในปัจจุบัน มิใช่แค่มีความรู้ความเข้าใจเท่านั้น หากแต่ต้องอาศัยองค์ประกอบอย่างอื่นด้วย อย่างเช่น เทคโนโลยี การบริหารจัดการ การตลาด”นายวลิต เจริญสมบัติ ประธานเกษตรแปลงใหญ่ระดับประเทศ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดราชบุรี แสดงความคิดเห็น

“การนำองค์ความรู้จากชาวนามาปรับเข้าสู่กระบวนการทางความคิด การวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนช่วย เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการแข่งขันให้เกิดคุณภาพและปริมาณผลผลิตสูง พร้อมที่จะผลิตออกจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อันจะนำมาซึ่งรายได้ที่สูงตามมา อีกทั้งยังประโยชน์ให้ชาวนาสามารถยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย”

ตัวอย่างที่น่าจะช่วยให้เห็นภาพได้เด่นชัดที่สุดก็คือ “ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ตำบลเจดีย์หัก” (อ.เมือง จ.ราชบุรี) ขึ้น เมื่อปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว การคิดปรับปรุงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและปริมาณสูง พร้อมๆ ไปกับการปรับปรุงบำรุงดิน น้ำ ตลอดจนระบบนิเวศน์ทุกอย่าง ที่สำคัญคือต้องการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในตำบลเจดีย์หัก จำนวน 33 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 21 ล้านบาท ทั้งยังต้องการปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของบรรดาเกษตรกรชาวนาทุกคนให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

“ช่วงก่อตั้งศูนย์ ครั้งแรกมีสมาชิกเพียง 25 คน ในพื้นที่ที่ทางราชการกำหนด คือ 200 ไร่ ซึ่งก็คือบริเวณนี้ และถือเป็นความโชคดีของชาวเจดีย์หัก ที่เจ้าของที่ดินซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ตั้งศูนย์ เป็นเครือญาติกันเพียงไม่กี่คน ทำให้สะดวกต่อการเจรจา”

แม้ว่าในจำนวนสมาชิก 25 คน จะประสบความสำเร็จเพียง 7 คน ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่พอปี 2546 ได้สร้างมาตรฐานขึ้นมาอีกหลายอย่าง เพื่อให้มีความเข้มข้นที่จะสามารถรองรับการพัฒนาที่กำลังจะดำเนินต่อไป และในปีนั้น เมื่อส่งเมล็ดพันธุ์เข้าไปตรวจสอบทั้งความบริสุทธิ์และความงอกตามหลักเกณฑ์ที่ราชการกำหนดมา ปรากฏผลออกมาว่า เมล็ดพันธุ์ที่ส่งตรวจมีค่าเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด จากผลความสำเร็จจึงได้ต่อยอดไปอีกหลายอย่าง และแล้วความฝันของชาวบ้านที่ต้องการมีโรงสีข้าวในปี 2550 ก็สามารถทำได้ก่อนล่วงหน้า คือทำสำเร็จในปี 2548 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความร่วมมือในการทำงานของทุกคนในชุมชนตำบลเจดีย์หัก ตามแผนที่วางไว้



ภายหลังประสบความสำเร็จด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและปริมาณ จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นจากชาวบ้านได้เป็นผลสำเร็จ พร้อมกับเงินในกองทุนที่มีมากจำนวนหนึ่งแล้ว จึงมีความเห็นร่วมกันว่าสมควรสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อคุณภาพชีวิตของชาวนา ทั้งด้านความเป็นอยู่ สวัสดิการ และการใช้เงิน ดังนั้น จึงเชิญสมาชิกทุกคนมาหารือเพื่อกำหนดโครงสร้างของศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย คณะกรรมการบริหาร จำนวน 9 คน และในจำนวนนี้ถูกแยกไปรับผิดชอบงานในกิจกรรมของแต่ละกลุ่มย่อยอีก นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมาอีก จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ กลุ่มผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพ กลุ่มแปรรูป และกลุ่มออมทรัพย์ระบบการออมทรัพย์ที่ดี ซึ่งเป็นหัวใจของการปลดหนี้เกษตรกร

“ปัจจุบัน ศูนย์แห่งนี้มีสมาชิกทั้งหมด ประมาณ 400 คน มีเงินทุนหมุนเวียน ปีละ 2 - 3 ล้านบาท มีกฎเกณฑ์การฝากเงินว่า หากคุณฝากครบ 20,000 บาทเมื่อใด จะต้องถอนออกไป 10,000 บาท เจตนาเพราะไม่ต้องการให้มีเงินในกองทุนมากจนเกินไป จึงกำหนดไว้ว่าต้องมีเงินหมุนเวียนไม่เกิน 4 ล้านบาท”

สิ่งที่น่าดีใจคือ เงินที่ได้รับมาในรูปกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 1 ล้านบาท ไม่มีใครได้ใช้เลย เหตุเพราะทุกครัวเรือนสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนแทบจะไม่มีปัญหาทางด้านการเงินอีกเลย ผิดกับเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น หลายคนผิดนัดชำระหนี้ อันเป็นผลมาจากด้านการบริหารเงิน

“อย่างไรก็ตาม การบริหารงานของศูนย์มุ่งเน้นนโยบายไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง แต่งานจะเป็นตัวเดิน และเงินเป็นเพียงตัวตามเท่านั้น เพราะฉะนั้น การสร้างให้องค์กรร่ำรวย เป็นสิ่งที่ชุมชนต้องตระหนักให้รอบคอบ เพราะอาจเป็นความคิดที่ผิด ทั้งนี้ หากองค์กรมีความร่ำรวยเมื่อใด ความโลภและความขัดแย้งจะตามมาทันที ซึ่งเรื่องอย่างนี้เคยมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว”

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่เกิดจากพลังของชุมชนเองในการที่จะลุกขึ้นมาปฏิรูปชีวิตของตนเองให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ปลอดหนี้และอยู่ได้ โดยอาศัยองค์ความรู้และความร่วมมือสามัคคีกัน ผลักดันสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น เรียกว่า ยืนได้ด้วยขาของตนเอง และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ได้นำไปศึกษาต่อยอดด้วย



“องค์ความรู้” ต้องมี
วิถีชาวนายุค 4.0

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ถ้าหากติดตามเรื่องการทำนา หรือวิถีชาวนา เราจะพบว่า หลายพื้นที่มีการ “ปรับตัว” เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและโลกที่เปลี่ยนไป ผสานองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ากับภูมิปัญญาดั้งเดิม และเพิ่มเติมเรื่องของนวัตกรรม การนำเทคโนโลยีการเกษตรและวิธีการบริหารจัดการแบบใหม่มาใช้

บางพื้นที่หันมาทำการเกษตร หรือ ทำนา เชิงการท่องเที่ยว และลักษณะ โฮมสเตย์ ซึ่งช่วยสร้างรายได้อีกช่องทางให้กับเกษตรกรในยุค 4.0

บางพื้นที่เน้นการเกษตรแบบผสมผสาน
บางพื้นที่เน้นเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์

“ทางเลือกทางรอดอย่างหนึ่งของชาวนา คือการทำนาแบบวิทยาศาสตร์”ประยูร แตงทรัพย์ ชาวนาวัย 50 กว่าปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ที่สามารถผลิตข้าวพันธุ์ชั้นดีซึ่งโรงสีรับซื้อโดยไม่ต้องตรวจสิบสินค้า เอ่ยแสดงความเห็น

“ประการสำคัญ คือการนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการสังเกต ทดลอง เพาะปลูกหลากหลายรูปแบบ เพราะชาวนานั้นเมื่อเจอปัญหาอุปสรรค จะเลือกปรับตัว โดย 1. เลือกทำการเกษตรที่หลากหลาย ทำให้เห็นได้ว่าจำนวนคนทำนาลดลง 2. ลดต้นทุนการทำนา เพื่อไม่ให้ขาดทุน โดยลดใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ใช้แรงงานตัวเอง เก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกเอง แต่เหล่านี้จะเป็นการปรับตัวเป็นครั้งคราว ไม่ได้เป็นการปรับโครงสร้าง และ 3. มีการปรับตัวเพื่อดำรงอาชีพ ด้วยความพอใจส่วนตัว รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการตลาด โดยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ ในการผลิตและจำหน่าย”

อย่างไรก็ดี หากจะยกตัวอย่างการนำองค์ความรู้มาปรับใช้ในการพัฒนาการทำเกษตร คงละเลยไม่ได้ที่จะเอ่ยถึงผู้ชายคนนี้ “สุภชัย ปิติวุฒิ” พนักงานบริษัทที่ใช้ช่วงเวลาวันหยุดในการศึกษาค้นคว้าวิธีการทำนาให้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้น้ำ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เขาได้รับการยอมรับนับถือในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้น้ำทำนา และเดินทางไปให้ความรู้แก่ชาวนาทั่วประเทศ ด้วยองค์ความรู้ที่เขาเรียกว่า การทำนาแบบ “เปียกสลับแห้ง”




มีต่อค่ะ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่