ช่วงเสียกรุงครั้งที่สอง ทำไมพม่าต้องเลี้ยงเชื้อพระวงศ์สยามด้วยละครับ

ตอนที่ตีพระนครได้ทำไมไม่ฆ่าพวกเชื้อพระวงศ์บ้านพลูหลวงทิ้งให้หมดละครับ จะเก็บเลี้ยงไว้เป็นเสี้ยนหนามทำไม โดยเฉพาะพระเจ้าอุทุมพรที่เป็นอดีตกษัตริย์อยุธยาน่าจะอันตรายต่อความมั่นคงพม่านะครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 8
การทำสงครามในยุคจารีตของภูมิภาคอุษาคเนย์เน้นในเรื่องการประกาศอาณาบารมีของพระมหากษัตริย์ การที่จะอุปถัมภ์กษัตริย์ต่างเมืองที่ตกเป็นเชลยอย่างดีสมฐานะก็เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกถึงพระบารมีและขันติธรรมของกษัตริย์พระองค์นั้นที่มีเจ้าประเทศราชองค์อื่นยอมสยบอยู่ใต้พระพระบรมโพธิสมภารของพระองค์

นอกจากนี้ก็ยังมีการนำเชื้อพระวงศ์ที่เป็นสตรีมาเกี่ยวดองกับราชสำนักด้วย ซึ่งจากการศึกษาของมิคกี้ ฮาร์ท (Myin Hsan Heart) นักประวัติศาสตร์อิสระชาวพม่าก็ระบุว่าพระเจ้ามังระทรงเอาเชื้อพระวงศ์บ้านพลูหลวงมาเป็นสนมด้วยเหมือนกันครับ ซึ่งฮาร์ตอ้างว่า พระเจ้าสายาวดี (သာယာဝတီမင်း Tharrawaddy Min) กษัตริย์พม่ามีมเหสีองค์หนึ่งเป็นชาวไทยชื่อหม่อมอิ่มบุญ เป็นพระนัดดาของพระเจ้าเอกทัศน์ และมีพระโอรสด้วยกันชื่อพระเจ้าทองหรือ สิริธรรมราชา (Thiri-dhammayaza) ได้เมืองไหล่เป็นเมืองส่วย จึงเรียกกันว่าพระเจ้าไหล่ (လှိုင်မင်း Hlaing Min) ภายหลังได้เป็นพระมหาอุปราชา

พระเจ้าไหล่มีโอรสธิดาหลายองค์ หนึ่งในนั้นคือ เจ้าชายหม่องลัต (Maung Lat) หรือ John William Lat ซึ่งภายหลังตกเป็นนักโทษการเมืองของอังกฤษ แต่ต่อมาก็ถูกปล่อยตัว ได้แต่งงานกับชาวอังกฤษและมีลูกหลานสืบมาหลายคนจนปัจจุบัน


ฮาร์ทยังอ้างถึง พระองค์เจ้าประทีป พระธิดาองค์ใหญ่ของพระเจ้าเอกทัศน์ (ไม่ปรากฏในพงศาวดาร ที่ใกล้เคียงน่าจะเป็น 'ประพาฬสุริยวงศ์' พระธิดาที่ประสูติจากหม่อมเพ็งสนมเอก) ได้เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้ามังระ (ဆင်ဖြူရှင် Hsinbyushin) มีพระธิดาองค์หนึ่งชื่อศรีประภาเทวี ได้รับเมืองทั่นตะเปงเป็นเมืองส่วย

ต่อมาพระนางก็อภิเษกสมรสกับศรีมหาอุชนา เจ้าเมืองโกลังที่เป็นโอรสพระเจ้าปดุง และมีโอรสด้วยกันคือศรีสุธรรมราชาซึ่งได้เป็นสมาชิกสภาสูงตั้งแต่สมัยพระเจ้าพุกามถึงพระเจ้าสีป่อ ศรีสุธรรมราชาอภิเษกสมรสกับหม่อมสัจจะ ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระเจ้าเอกทัศน์ มีโอรสคือมังรายสีหกะยอ (Min Ye Thiha Kyaw) เจ้าเมืองเมียงมู (မြင်းမူ Myinmu) ในสมัยพระเจ้าพุกาม ซึ่งองค์นี้ก็อภิเษกกับหม่อมยุวดีซึ่งเป็นหลานหม่อมสัจจะอีก มีโอรสคือเจ้าชายหม่องติง (မောင်မောင်တင် Maung Muang Tin)

เจ้าชายหม่องติงเคยเป็นผู้นำการต่อต้านอังกฤษหลังจากที่พม่าเสียกรุง แต่ภายหลังก็มอบตัวและกลับมารับราชการอยู่ในพม่าสมัยอังกฤษปกครอง
เจ้าชายมองติงมีบทบาทสำคัญคือเป็นผู้แต่งพงศาวดารพม่าราชวงศ์กงบ่อง (ကုန်းဘောင်ဆက် ရာဇဝင်တော်ကြီး Konbaung Set Yazawin)

ผมไม่ทราบว่าฮาร์ตได้ใช้หลักฐานชิ้นใดในการอ้างอิงบ้าง เพราะข้อมูลบางตอนดูไม่สอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆ อย่างบัญชีรายชื่อพระมเหสีและพระโอรสธิดาของกษัตริย์พม่า รวมถึงพระนามเจ้านายไทยที่ปรากฏในพงศาวดารพม่า แต่ถ้าเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย



ซึ่งโดยมากแล้วถ้ากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ที่เป็นเชลยไม่ได้มีท่าทีแข็งข้อหรือจะเป็นกบฏต่อราชสำนักพม่า ก็จะได้อยู่โดยปลอดภัยตามสถานะ

นอกจากนี้ สันนิษฐานว่าการที่มีกษัตริย์และพระราชวงศ์อยู่ควรมีบทบาทในฐานะศูนย์รวมความเคารพของเชลยชาวอยุทธยาอยู่บ้าง เพื่อให้เชลยอยู่ในความสงบโดยเรียบร้อย หากไปประหัตประหารจนสิ้นจะกลับเป็นการสร้างความแค้นความเกลียดชังให้เชลยอยุทธยามากกว่าครับ และต่อให้ไม่ได้ชื่นชมราชวงศ์นี้ก็น่าจะสร้างความหวาดระแวงในหมู่เชลยให้เห็นถึงความโหดร้ายของพม่าจนอาจเกิดการต่อต้านได้ในเวลาต่อมา ดังนั้นการที่เลี้ยงดูอย่างดีให้เชลยมีความพึงพอใจในสถานะของตนน่าจะเกิดประโยชน์ในด้านความมั่นคสูงกว่าครับ


และการจะก่อกบฏก็น่าจะเป็นไปได้ยากโดยเฉพาะเมื่ออยู่ใจกลางอำนาจของศัตรูด้วยแล้ว เพราะเชื้อพระวงศ์แม้จะถูกเลี้ยงดูตามฐานะแต่ก็ไม่น่าจะปล่อยให้มีอิสระไปซ่องสุมกับใครก็ได้ตามใตชอบ และพม่าไม่น่าปล่อยให้มีโอกาสได้บังคับบัญชาผู้คนของตนได้โดยตรงแน่ นอกจากนี้ก็เป็นตามความเห็นบนคือไม่ได้รวมเชลยเก็บไว้ที่ราชธานีอังวะเมืองเดียว แต่มีการกระจายผู้คนออกไปหลายเมือง เช่นเมืองสะกาย ลงไปถึงเมืองทวายทางใต้ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่