เอาข่าว THCOM จาก กรุงเทพธุรกิจมาฝาก(ต้นข่าวและบทวิเคราะห์จากโบรคบัวหลวง) ตกลงมันดีหรือแย่กันแน่

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/779337

ประเด็นการลงทุน

ตลาดตื่นตระหนกเกินไปสำหรับประเด็นเรื่องข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ระหว่าง THCOM กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวได้ถูกยื่นไปยังสถาบันอนุญาโตตุลาการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีสำหรับขั้นตอนการวินิจฉัยข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการกว่าที่จะได้ข้อสรุป รวมถึงขั้นตอนของการยื่นอุทธรณ์ต่อไปในชั้นศาล ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เรายังคงจุดยืนข้างเดียวกับ THCOM บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ว่าดาวเทียมทั้งสองดวงข้างต้นอยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาตของกสทช. ไม่ใช่อยู่ภายใต้ระบบสัมปทานของกระทรวงดีอี เราประเมินว่าราคาหุ้น THCOM ที่ปรับตัวลดลง 20% ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ได้สะท้อนปัจจัยลบภายใต้สมมติฐานว่าดาวเทียมทั้งสองดวงจะต้องกลับไปจ่ายส่วนแบ่งรายได้เหมือนเดิมภายใต้ระบบสัมปทานไปแล้ว รวมถึงผลกำไรสุทธิในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ที่คาดว่าจะปรับตัวแย่ลง และการไม่มีความคืบหน้าสำหรับการยิงดาวเทียมดวงใหม่แต่อย่างใด  เราประเมินว่าราคาหุ้นของ THCOM ณ ปัจจุบันถือว่าถูกมากและน่าสนใจ โดยอัตราส่วน EV/EBITDA ปรับลดลงเหลือเพียงแค่ 3.2 เท่าในปี 2561 ซึ่งถือว่าต่ำ สุดในรอบประวัติศาสตร์ และต่ำ มากถ้าเทียบกับอัตราส่วน EV/EBITDA เฉลี่ยในระยะยาวของหุ้น THCOM เองซึ่งอยู่ที่ 8.3 เท่า เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ THCOM

ข้อพิพาทของดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ยื่นไปยังสำนักอนุญาโตตุลาการแล้ว

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา THCOM ได้รับหนังสือแจ้งจากกระทรวงดีอีซึ่งระบุว่าดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 อยู่ภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศหรือสัญญาสัมปทานซึ่งได้เซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2534 ระหว่าง INTUCH (ซึ่งได้แต่งตั้งให้ THCOM ดำเนินการภายใต้สัญญาดำเนินกิจการ) และกระทรวงดีอี
กระทรวงดีอีได้ระบุให้ THCOM ต้องปฏิบัติตามสัญญาดำเนินกิจการให้ครบถ้วนอย่างเร่งด่วนสำหรับดาวเทียมทั้งสองดวง ซึ่งได้แก่ การโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบสินทรัพย์ การจัดหาดาวเทียมสำรอง และการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของส่วนแบ่งรายได้ ด้านจุดยืนของ THCOM ยังคงชัดเจนว่าดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ไม่ได้อยู่ภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดังกล่าวกับกระทรวงดีอี แต่ดำเนินกิจการอยู่ภายใต้ใบอนุญาตที่ออกโดยกสทช. ดังนั้น THCOM ถือว่าปฏิบัติตามและทำถูกต้องตามเงื่อนไขของใบอนุญาตของกสทช. และเนื่องจาก THCOM มีความเห็นที่แตกต่างไปจากกระทรวงดีอี THCOM จึงทำการยื่นข้อพิพาทดังกล่าวไปยังสำนักอนุญาโตตุลาการเพื่อให้ทำการวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา


ตลาดตื่นตระหนกเกินเหตุต่อความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้น


เราเชื่อว่าข้อพิพาทดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาอีกหลายปี (ซึ่งมีแนวโน้มมากกว่า 5 ปี) เพื่อที่จะได้ผลคำตัดสินสุดท้ายในชั้นศาล โดยขบวนการจะเริ่มต้นจากการยื่นข้อพิพาทไปยังชั้นอนุญาโตตุลาการ และไปยังศาลปกครองกลางในขั้นตอนต่อไป และท้ายที่สุดไปยังศาลปกครองสูงสุด
แต่ในระหว่างนี้ THCOM จะยังคงไม่ต้องทำการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายหรือรับรู้ค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวเนื่องกับข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น จนกว่ากว่าอย่างน้อยจะได้ข้อสรุปในชั้นอนุญาโตตุลาการ ถึงแม้ว่าความเสี่ยงด้านกฏระเบียบของ THCOM จะเพิ่มสูงขึ้น แต่เรายังคงยืนยันในมุมมองเดิมว่าดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 อยู่ภายใต้ใบอนุญาตซึ่งออกโดยกสทช. ไม่ใช่อยู่ภายใต้สัญญาดำเนินกิจการหรือสัญญาสัมปทานกับกระทรวงไอซีที (ซึ่งปัจจุบันคือกระทรวงดีอี) ถึงแม้ว่ากระทรวงดีอีจะมีหน้าที่ที่ต้องทำการรักษาวงโคจรกับไอทียูให้กับ THCOM ก็ตาม ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าข้อโต้แย้งของ THCOM จึงน่าจะมีน้ำหนักเพียงพอ

กรณีที่เลวร้ายที่สุดซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ได้แก่ มูลค่า DCF ลดลงไปอีก 4.5 บาทต่อหุ้น

ภายใต้สมมติฐานในกรณีที่แย่ที่สุด ซึ่งได้แก่ หาก THCOM จะต้องกลับไปจ่ายส่วนแบ่งรายได้รายปีภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานสำหรับดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ที่อัตรา 22.5%(แทนที่อัตราค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตรายปี ณ ปัจจุบันที่ 4%) เราประเมินว่ากำไรสุทธิของ THCOM มีแนวโน้มลดลงอีก 17-18% ในช่วงปี 2561-62 และลดลงอีก 15% ในปี 2563 และจะส่งผลให้มูลค่า DCF ปรับลดลงอีก 18% (เหลือ 21 บาท) เราเชื่อว่าราคาหุ้น THCOM ที่ปรับตัวลดลงเมื่อเร็วๆ นี้ได้สะท้อนสมมติฐานในกรณีที่แย่ที่สุดไปแล้ว

บทวิเคราะห์เต็ม
http://image.bangkokbiznews.com/kt/media/file/news/2017/11/01/779337/bls_THCOM171101(T).pdf
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่