สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
พม่าเริ่มมีปัญหากับต้าหมิงมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองแล้วครับ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พระเจ้าบุเรงนองทรงขยายอำนาจไปพิชิตดินแดนไทใหญ่ทั้งหมดไว้ในอำนาจ ซึ่งในเวลานั้นก็มีไทใหญ่อยู่หลายเมืองที่อยู่ใต้อำนาจของอุปราชมณฑลหยุนหนานของจีนด้วย จึงทำให้มีความกระทบกระทั่งกันอยู่บ้าง
ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับต้าหมิงถึงจุดแตกหักอย่างชัดเจนในสมัยพระเจ้านันทบุเรง โดยพงศาวดารพม่าระบุว่าในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๑๒๕ เจ้าฟ้าไทใหญ่สองเมืองไม่ยอมถวายบรรณาการให้หงสาวดีคือเมืองจันตา (Sanda) กับสองสบ (Thaungthut ช่องชุบ/สมโชค) เข้าใจว่าทั้งสองเมืองนี้เป็นเมืองสองฝ่ายฟ้าที่ส่งบรรณาการให้ทั้งหงสาวดีและต้าหมิง เจ้าฟ้าทั้งสองหนีมาตั้งมั่นที่เมืองจันตาซึ่งอยู่ในมณฑลหยุนหนาน พระเจ้านันทบุเรงจึงให้พระเจ้าแปรสะโตธรรมราชาผู้เป็นอากับพระเจ้าเชียงใหม่นรธามังช่อน้องชายไปล้อมอยู่ห้าเดือนจึงจับเจ้าฟ้าทั้งสองลงมาได้ (น่าสังเกตว่าเมืองเล็กๆอยู่ไกลมาก แต่กลับส่งพระญาติถึงสององค์ไปเอง)
เมืองจันตาเป็นเมืองไทใหญ่ที่อยู่ในเขตจังหวัดเป่าซาน (保山) และเต๋อหง (德宏 แคว้นใต้คงของไทใหญ่) ในมณฑลหยุนหนาน เข้าใจว่าจันตาเป็นเมืองเดียวกับจ่านต๋า (盏达) ในเอกสารหมิงสื่อลู่ (明實錄) ซึ่งระบุว่าเป็นหนึ่งในหลายๆเมืองที่หงสาวดียกทัพไปตีและเผาทำลายในมณฑลหยุนหนานโดยอาศัยความช่วยเหลือจากชาวฮั่นชื่อเยว่เฟิ่ง (岳鳳) และอีกหลายๆคน จนเกิดเป็นสงครามระหว่างหงสาวดีกับจีนราชวงศ์หมิงเพื่อแย่งชิงอำนาจเหนือหัวเมืองไทใหญ่ในมณฑลหยุนหนาน
สันนิษฐานว่าการตีเมืองจันตาของหงสาวดีเป็นหนึ่งในศึกที่พระเจ้านันทบุเรงต้องการจะขยายอำนาจไปยังไทใหญ่ในหยุนหนาน ซึ่งตามรับสั่งพระเจ้านันทบุเรงทัพของเยว่เฟิ่งนั้นรุกไปถึงเมืองว่านเตี้ยน (湾甸) และหมางซื่อ (芒市 เมืองขอนในแคว้นใต้คง)
ต้าหมิงต้องส่งแม่ทัพจากส่วนกลางนำโดยเติ้งจื่อหลง (鄧子龍) มารับศึกที่ว่านเตี้ยนและเกิ๋งหม่า (耿馬-เชียงม้า ในหยุนหนาน) และหลิวทิง (劉綎) ยกมาตั้งรับที่เมืองหล่งชวน (隴川 ในแคว้นใต้คง) ซึ่งสามารถชนะเยว่เฟิ่งได้ หลังจากนั้นต้าหมิงจึงรุกตีจนหงสาวดีเสียอำนาจเหนือหัวเมืองไทใหญ่ทางเหนือไปหลายเมือง หลังจากที่รบกันยืดเยื้อเป็นสิบปี หงสาวดีเสียทั้งเมืองเมิ่งมี่ (孟密-เมืองมีด) เมิ่งหย่าง (孟養-เมืองยาง) หมานโม่ (蠻莫-บ้านหม้อ/พะโม) เมิ่งเหลียน (孟連-เมืองแลม อยู่ในหยุนหนาน) มู่ปัง (木邦-แสนหวี) ให้กับจีน
การรบในดินแดนไทใหญ่ยังมีมาจนหงสาวดีล่มสลายแล้ว พระเจ้าสีหสูรมหาธรรมราชาแห่งอังวะก็ทรงขยายอำนาจในพม่าตอนบนตีชิงหัวเมืองไทใหญ่ทั้งมวลไว้ในอำนาจ ในเวลานั้นจีนไม่ได้อยู่ในภาวะที่จะรับศึกเต็มอัตรากับอังวะได้เนื่องจากมีสงครามกับญี่ปุ่นและมองโกล จีนจึงยอมยกเมืองยางกับแสนหวีให้อังวะใน พ.ศ. ๒๑๔๕ (แต่ปรากฏว่าแสนหวีมาขึ้นอยุทธยาภายหลัง) แต่ก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ โดยอังวะพยายามจะตีเมืองนายที่ขึ้นกับอยุทธยา ทำให้ต้าหมิงหวังจะอาศัยกำลังของอยุทธยาในการพิชิตพม่าด้วย แต่ไม่เป็นผลเนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตเสียก่อน
หลังจากนั้นก็ยังปรากฏว่ามีการรบระหว่างพม่ากับจีนในไทใหญ่อยู่ประปราย รวมถึงมีการขยายอำนาจในแถบสิบสองปันนาซึ่งจีนเองเห็นว่าเป็นปัญหาอยู๋แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นรูปธรรมมาจนสิ้นราชวงศ์หมิงครับ
ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับต้าหมิงถึงจุดแตกหักอย่างชัดเจนในสมัยพระเจ้านันทบุเรง โดยพงศาวดารพม่าระบุว่าในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๑๒๕ เจ้าฟ้าไทใหญ่สองเมืองไม่ยอมถวายบรรณาการให้หงสาวดีคือเมืองจันตา (Sanda) กับสองสบ (Thaungthut ช่องชุบ/สมโชค) เข้าใจว่าทั้งสองเมืองนี้เป็นเมืองสองฝ่ายฟ้าที่ส่งบรรณาการให้ทั้งหงสาวดีและต้าหมิง เจ้าฟ้าทั้งสองหนีมาตั้งมั่นที่เมืองจันตาซึ่งอยู่ในมณฑลหยุนหนาน พระเจ้านันทบุเรงจึงให้พระเจ้าแปรสะโตธรรมราชาผู้เป็นอากับพระเจ้าเชียงใหม่นรธามังช่อน้องชายไปล้อมอยู่ห้าเดือนจึงจับเจ้าฟ้าทั้งสองลงมาได้ (น่าสังเกตว่าเมืองเล็กๆอยู่ไกลมาก แต่กลับส่งพระญาติถึงสององค์ไปเอง)
เมืองจันตาเป็นเมืองไทใหญ่ที่อยู่ในเขตจังหวัดเป่าซาน (保山) และเต๋อหง (德宏 แคว้นใต้คงของไทใหญ่) ในมณฑลหยุนหนาน เข้าใจว่าจันตาเป็นเมืองเดียวกับจ่านต๋า (盏达) ในเอกสารหมิงสื่อลู่ (明實錄) ซึ่งระบุว่าเป็นหนึ่งในหลายๆเมืองที่หงสาวดียกทัพไปตีและเผาทำลายในมณฑลหยุนหนานโดยอาศัยความช่วยเหลือจากชาวฮั่นชื่อเยว่เฟิ่ง (岳鳳) และอีกหลายๆคน จนเกิดเป็นสงครามระหว่างหงสาวดีกับจีนราชวงศ์หมิงเพื่อแย่งชิงอำนาจเหนือหัวเมืองไทใหญ่ในมณฑลหยุนหนาน
สันนิษฐานว่าการตีเมืองจันตาของหงสาวดีเป็นหนึ่งในศึกที่พระเจ้านันทบุเรงต้องการจะขยายอำนาจไปยังไทใหญ่ในหยุนหนาน ซึ่งตามรับสั่งพระเจ้านันทบุเรงทัพของเยว่เฟิ่งนั้นรุกไปถึงเมืองว่านเตี้ยน (湾甸) และหมางซื่อ (芒市 เมืองขอนในแคว้นใต้คง)
ต้าหมิงต้องส่งแม่ทัพจากส่วนกลางนำโดยเติ้งจื่อหลง (鄧子龍) มารับศึกที่ว่านเตี้ยนและเกิ๋งหม่า (耿馬-เชียงม้า ในหยุนหนาน) และหลิวทิง (劉綎) ยกมาตั้งรับที่เมืองหล่งชวน (隴川 ในแคว้นใต้คง) ซึ่งสามารถชนะเยว่เฟิ่งได้ หลังจากนั้นต้าหมิงจึงรุกตีจนหงสาวดีเสียอำนาจเหนือหัวเมืองไทใหญ่ทางเหนือไปหลายเมือง หลังจากที่รบกันยืดเยื้อเป็นสิบปี หงสาวดีเสียทั้งเมืองเมิ่งมี่ (孟密-เมืองมีด) เมิ่งหย่าง (孟養-เมืองยาง) หมานโม่ (蠻莫-บ้านหม้อ/พะโม) เมิ่งเหลียน (孟連-เมืองแลม อยู่ในหยุนหนาน) มู่ปัง (木邦-แสนหวี) ให้กับจีน
การรบในดินแดนไทใหญ่ยังมีมาจนหงสาวดีล่มสลายแล้ว พระเจ้าสีหสูรมหาธรรมราชาแห่งอังวะก็ทรงขยายอำนาจในพม่าตอนบนตีชิงหัวเมืองไทใหญ่ทั้งมวลไว้ในอำนาจ ในเวลานั้นจีนไม่ได้อยู่ในภาวะที่จะรับศึกเต็มอัตรากับอังวะได้เนื่องจากมีสงครามกับญี่ปุ่นและมองโกล จีนจึงยอมยกเมืองยางกับแสนหวีให้อังวะใน พ.ศ. ๒๑๔๕ (แต่ปรากฏว่าแสนหวีมาขึ้นอยุทธยาภายหลัง) แต่ก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ โดยอังวะพยายามจะตีเมืองนายที่ขึ้นกับอยุทธยา ทำให้ต้าหมิงหวังจะอาศัยกำลังของอยุทธยาในการพิชิตพม่าด้วย แต่ไม่เป็นผลเนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตเสียก่อน
หลังจากนั้นก็ยังปรากฏว่ามีการรบระหว่างพม่ากับจีนในไทใหญ่อยู่ประปราย รวมถึงมีการขยายอำนาจในแถบสิบสองปันนาซึ่งจีนเองเห็นว่าเป็นปัญหาอยู๋แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นรูปธรรมมาจนสิ้นราชวงศ์หมิงครับ
แสดงความคิดเห็น
ในสมัยราชวงศ์หมิง พม่าไม่เคยมีปัญหากับต้าหมิงเลยหรอครับ