รีวิว: Hans Zimmer Live in Seoul ครั้งหนึ่งในชีวิตได้ดูลุง Hans แบบสดๆ !!!

เชื่อว่าทุกคนในห้องนี้คงรู้จักชื่อ Hans Zimmer กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว คงไม่ต้องแนะนำอะไรกันมาก แต่สำหรับเราแล้วลุง Hans ไม่ได้เป็นแค่คอมโพเซอร์คนดังของฮอลลีวูดเท่านั้น แต่เป็นทั้งชีวิตเลยทีเดียว หนังเรื่องแรกที่ไปดูในโรงเองคนเดียวก็คือ Broken Arrow ตามด้วย The Rock ในปี 1996 นับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ฟังเพลงประเภทอื่นเลยจริงๆ นอกจากดนตรีประกอบภาพยนตร์ ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา เข้าโรงไปดูหนังของลุง Hans เกือบทุกเรื่อง สมัยที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตก็รู้สึกว่าตัวเองแปลกเหมือนกัน เพื่อนคุยกันเรื่องเพลงก็ไม่เคยรู้เรื่อง แต่พอมายุคมีอินเตอร์เน็ตก็รู้ว่ามีคนฟังเพลงแบบนี้เยอะ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ส่วนบ้านเราเดี๋ยวนี้ก็มีคนฟังเยอะขึ้น เพราะหาฟังง่ายจากยูทูป ไม่ต้องไปตามหาซื้อเทปซื้อซีดี หรือโหลด mp3 เหมือนสมัยก่อน

และตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ไม่เคยดูคอนเสิร์ตเลยซักครั้งในชีวิต ความใฝ่ฝันอันดับ 1 ก็คือการได้ดูคอนเสิร์ตของลุง Hans หรือคอนเสิร์ตดนตรีประกอบภาพยนตร์อะไรก็ได้ ซึ่งก็ไม่ได้จะหาดูกันง่ายๆ ในบ้านเราไม่มีวันได้ดูแน่นอน จนช่วงปลายปี 2014 ลุง Hans เริ่มฟอร์มวงเล่นคอนเสิร์ต Hans Zimmer Revealed ตอนนั้นก็คิดว่าคงไม่ได้เดินสายเล่นจริงจังอะไรหรอกมั้ง พอปี 2016 ลุง Hans จัดทัวร์คอนเสิร์ต Hans Zimmer Live ในยุโรป แล้วเสียงตอบรับดีมาก และกลับมาจัดเวิลด์ทัวร์ในปี 2017 กว่า 50 รอบ ทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย โดยไม่มีเอเชีย เคยลุ้นว่าถ้ามาใกล้ๆ ไปง่ายๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ต้องไปดูแน่นอน ระหว่างนั้นก็ได้แต่นั่งดูในยูทูปตาละห้อย


จนกระทั่งช่วงใกล้จะจบทัวร์คอนเสิร์ตที่อเมริกา ลุง Hans ก็ประกาศเปรี้ยงว่าจะมาเล่นที่เกาหลีใต้! วันที่ 7 ตุลาคม ในงาน Slow Life Slow Live 2017 ที่โอลิมปิกสเตเดี้ยม กรุงโซล ถ้าไม่ไปตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะได้ดูตอนไหน เพราะนี่คือการมาเล่นใกล้ที่สุดแล้ว และเป็นการมาเล่นในเอเชียประเทศเดียว และรอบสุดท้ายของทัวร์คอนเสิร์ตในปีนี้ ก็เริ่มศึกษาวิธีซื้อตั๋วคอนเสิร์ต ชีวิตนี้เคยดูแต่หนัง ไม่เคยซื้อตั๋วคอนเสิร์ตเลย ถึงวันขายตั๋วปุ้บซื้อทันที ราคา 135,000 วอน หรือประมาณ 4 พันบาท ราคาเดียว ทุกโซน ถือว่าไม่แพงมาก เพราะนอกจากคอนเสิร์ตลุง Hans แล้ว ยังมี La La Land in Concert ของ Justin Hurwitz ด้วย เลยตัดสินใจง่าย เพราะคุ้มมาก


ตัดภาพมาที่เกาหลีใต้เลย

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมลุง Hans ถึงเลือกมาเล่นที่นี่เป็นครั้งแรกของเอเชีย แต่หนังลุง Hans ในยุคหลังๆ อย่าง The Dark Knight/Rises, Inception, Interstellar ค่อนข้างทำเงินในเกาหลีใต้ อย่างช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีโรง IMAX เปิดใหม่ เป็นโรง IMAX ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ ฉาย Dunkirk ด้วยเครื่องฉายเลเซอร์ และเอา 3 เรื่องข้างต้นกลับมาฉายใหม่ คนดูเกือบเต็มโรงทุกรอบ โดยเฉพาะ Inception ตอนแรกก็คิดว่าถ้ายังฉายอยู่ก็จะไปดู แต่เสียดายออกไปก่อน และคิดว่าจะไปดู Blade Runner 2049 งานใหม่ของลุง Hans ก็ได้ แต่ดันเข้าโรงที่เกาหลีใต้วัน 12 ตุลาคม เลยต้องรอกลับมาดูที่ไทย (แอบเสียดายเล็กน้อย)


เดินทางมาถึงเกาหลีใต้ก่อนวันคอนเสิร์ต 2-3 วัน เพื่อเที่ยวก่อนเล็กน้อย และกลับมาที่โซล จองที่พักไม่ไกลจากสนามโอลิมปิกสเตเดี้ยม เวลาคอนเสิร์ตจบจะได้เดินกลับที่พักได้เลย ไม่ต้องไปเบียดเสียดผู้คนขึ้นรถไฟฟ้า


สำหรับโปรแกรมคอนเสิร์ต Slow Life Slow Live 2017 มีดังนี้ เริ่มด้วย La La Land in Concert โดย Justin Hurwitz มาเป็นคอนดักเตอร์ด้วยตัวเอง แล้วจึงต่อด้วยคอนเสิร์ตของลุง Hans ที่มาพร้อมสมาชิกอีก 19 คน


ถึงวันที่ 7 ตุลาคม ก็นั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียว Line 2 จากที่พักไปลงสถานี Sport Complex แค่สถานีเดียว เวลาเปิด Ticket Box คือ 12:00 รีบไปถึงตั้งแต่เนิ่นๆ คนจะได้ยังไม่เยอะมาก ไปถึงก็เอารหัสการจองจากในเว็บไซต์ไปแลกตั๋ว แล้วก็เอาตั๋วไปแลก wristband อีกทีเพื่อใช้ผ่านเข้าประตู


แลกเสร็จแล้วก็หาอะไรกินให้เรียบร้อย พกแซนด์วิชกับน้ำเปล่าขวดเล็กเข้าไปด้วย ที่จริงในงานก็มีบูธขายอาหารเครื่องดื่ม แต่ขี้เกียจไปต่อคิวซื้อ เลยเตรียมไปเองดีกว่า จากนั้นก็เดินไปทางเข้าสนามด้านข้าง เวลาประตูเปิดคือ 14:30 แต่คนเริ่มไปต่อคิวกันตั้งแต่ยังไม่บ่ายโมง


ถึงเวลา 14:30 เป๊ะก็เริ่มเปิดประตูให้คนเข้าสนาม พื้นที่ในสนามแบ่งเป็น โซนยืนหน้าเวที โซนนั่งปูเสื่อกับพื้น กับบนอัฒจันทร์ สังเกตว่าโซนที่คนเกาหลีนิยมมากที่สุดคือโซนนั่งปูเสื่อกับพื้นแบบชิลๆ เพราะนั่งๆ นอนๆ ได้ โซนนี้เลยเต็มก่อน เลยเลือกขึ้นไปนั่งบนอัฒจันทร์ เพราะคอนเสิร์ต La La Land เล่นก่อน ขอนั่งสบายๆ ถึงคิวลุง Hans ค่อยลงไปยืนเกาะหน้าเวที โซนยืนหน้าเวทีเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่คนไม่เต็มมาก เพราะไม่ใช่คอนเสิร์ตศิลปินที่มีติ่งกรี้ดเยอะๆ


15:30 เป็นคิวของ Lee Dong Jin นักวิจารณ์หนัง ออกมาพูดก่อน 30 นาที แน่นอนว่าฟังไม่รู้เรื่อง


16:30 ก็ถึงเวลาเริ่มคอนเสิร์ต La La Land ของ Justin Hurwitz โดยเจ้าตัวมาเป็นคอนดักเตอร์ พร้อมกับ Jazz Band วงเดียวกับที่เล่นประกอบหนัง ส่วนวงออเคสตร้าใช้วงของเกาหลีใต้ Ditto Orchestra


ลักษณะคอนเสิร์ตจะเป็นการฉายหนังบนจอทั้งเรื่อง พร้อมกับวงแจ๊สและออเคสตร้า เล่นสดไปพร้อมหนัง ทั้งในส่วนของเพลงร้อง (เสียงร้องใช้จากในหนัง) และสกอร์ เท่ากับว่าได้มานั่งดูหนังทั้งเรื่องอีกรอบ ซึ่งก็ถือว่าดูเพลินๆ เป็นของแถม ครึ่งแรกเล่นชั่วโมงกว่าๆ แล้วก็พักครึ่ง 20 นาที


ครึ่งแรกออกแนวชิลๆ มาเริ่มเข้มข้นครึ่งหลัง แต่เพลงที่คนกรี้ดมากที่สุดกลับเป็น Start a Fire แฮะ พอช่วงท้ายๆ เริ่มเข้าซีนดราม่าระหว่างพระเอกกับนางเอก วงแจ๊สเริ่มเมามันกับการด้นสดนอกบทจากในหนัง ร่ายยาวไปจนถึงช่วงพีคคือ Epilogue ใส่กันเต็มที แถมต่อให้อีกช่วง End Credits ช่วงจบมีจุดพลุปิดท้าย Justin Hurwitz คว้าไมค์จะมาพูดปิดท้าย แต่เจอพลุนานไปหน่อย เลยเซ็งๆ เดินเข้าข้างเวทีไปเลย จนพลุหมด ค่อยเดินออกมาพูดแค่คัมซานีดา ซารังเฮโย จบ


คอนเสิร์ต La La Land จบประมาณ 19:00 ก็เป็นช่วง Set Change ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. 30 นาที เลยลงจากอัฒจันทร์ ไปเข้าห้องน้ำ กินแซนด์วิช กินน้ำ เรียบร้อย พุ่งตัวลงไปโซนยืนหน้าเวทีทันที ตอนแรกก็คิดว่าคนจะออกไปเข้าห้องน้ำ หาของกินกัน จะได้ไปจองหน้าเวทีเลย แต่ที่ไหนได้ คนหน้าเวทีไม่ยอมหนีไปไหนเลย เลยเข้าใกล้สุดได้แค่ประมาณแถว 3-4 จากเวที


ตอนแรกคิดว่าที่คนดูเต็มสนาม จนล้นออกไปนั่งอัฒจันทร์ด้านหลังไกลๆ ตั้งใจมาดู La La Land กัน แต่ที่ไหนได้ ดูเหมือนส่วนใหญ่ตั้งใจมาดูลุง Hans เพราะแทบไม่มีใครลุกไปไหนเลย ระหว่างนั่งรอ คนรอบข้างก็ฮัมสกอร์ของลุง Hans กันเฉย เป็นวินาทีที่ไม่คิดว่าจะได้พบเจอในชีวิต นั่งอมยิ้มอยู่คนเดียว ไม่มีทางได้เห็นแบบนี้ในไทยแน่นอน ยังคิดว่าถ้าคอนเสิร์ตแบบนี้มาเล่นที่เมืองไทย จะมีคนดูซักกี่คน จะมีคนดูหลายหมื่นคนแบบนี้รึเปล่า


20:30 คือเวลาเริ่มคอนเสิร์ต สำหรับ Set List ก็จะเหมือนๆ กับที่เล่นในทัวร์คอนเสิร์ตยุโรป อเมริกา แต่จะมีการปรับเปลี่ยนลำดับต่างกันเล็กน้อย


ลักษณะของคอนเสิร์ต Hans Zimmer Live จะไม่เหมือนกับคอนเสิร์ตออเคสตร้าดนตรีประกอบภาพยนตร์แบบที่เห็นทั่วไปที่มีคอนดักเตอร์มีออเคสตร้าเต็มวง แต่ของลุง Hans จะไม่มีคอนดักเตอร์ เป็นวงที่ประกอบไปด้วยกีตาร์ คีย์บอร์ด เปียโน (ลุง Hans เล่น 3 อย่างนี้เป็นหลัก) เบส ไวโอลิน เซลโล่ เครื่องเป่า เพอร์คัสชั่น และมีออเคสตร้ากับคอรัสเสริม ซึ่งสองอย่างหลังใช้วงของเกาหลีใต้

ปล. ภาพที่ถ่ายมาอาจจะไม่ชัด (บางภาพเซฟมาจากเพจ official) เพราะพยายามไม่ยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายมาก ผู้ชมเกาหลีใต้ก็มียกขึ้นมาถ่ายบ้าง แต่ไม่เยอะ มีแค่บางคนที่ตั้งใจวิดีโอจริงจัง แต่ส่วนน้อย สำหรับวิดีโอคอนเสิร์ต หาดูได้ในยูทูป มีคนถ่ายมาเยอะมาก แต่อรรถรสคนละเรื่องกับการไปยืนชมหน้าเวทีเลย

วินาทีที่ลุง Hans เดินออกมา ผู้ชมกรี้ดหนักมาก คืองงเลยว่าคนเกาหลีใต้คลั่งลุง Hans ขนาดนั้นเลยเหรอ หรือว่ากรี้ดตามประสาคนมาดูศิลปินทั่วไป เริ่มต้นเซ็ตแรกแบบเบาๆ กับ Driving จาก Driving Miss Daisy ลุง Hans ใส่สูทออกมาเล่นเปียโน แล้วก็ต่อด้วย Discombobulate จาก Sherlock Holmes ลุง Hans เล่นเปียโนอยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นมาดีดแบนโจ ก่อนจะจบด้วย Zoosters Breakout จาก Madagascar


แค่จบเซ็ตแรกคนก็โห่ร้องปรบมือกันสนั่น โดยเฉพาะ Madagascar ที่หลายคนอาจจะลืมว่าลุง Hans ทำสกอร์ (ลุง Hans และลูกน้องเหมาทำสกอร์แอนิเมชั่นของดรีมเวิร์ค) จากนั้นลุง Hans ก็ทักทายผู้ชมเป็นภาษาเกาหลีตามธรรมเนียม ต่อด้วยแนะนำสมาชิกในวง อันนี้คือจุดเด่นของคอนเสิร์ตลุง Hans เลยคือ ให้ความสำคัญกับสมาชิกในวงทุกคน แต่ละเพลงจะมีตัวเด่นว่าเครื่องดนตรีชนิดไหนเป็นพระเอกของเพลงนั้น

เซ็ตต่อไปเป็น Gladiator อย่างที่ทราบกันดีว่า Vocal ต้นฉบับเป็นของ Lisa Gerrard แต่เจ้าตัวมาร่วมแจมด้วยตอนทัวร์ที่ออสเตรเลียเท่านั้น ส่วนคนที่มาเป็นตัวหลักแทนคือ Czarina Russell ซึ่งก็เสียงดีมากไม่แพ้ต้นฉบับเลย เซ็ตนี้ประกอบไปด้วยแทร็ค The Wheat - The Battle - Elysium และปิดด้วย Now We Are Free


พระเอกคนต่อมาคือ Guthrie Govan มือกีตาร์อันดับต้นๆ ของโลกในยุคปัจจุบัน เริ่มต้นด้วยเปียโนเบาๆ ของลุง Hans จาก Rain Man แล้วต่อด้วย Thunderbird จาก Thelma & Louise ซึ่งเป็นแทร็คที่เป็นการโชว์โซโล่กีตาร์เต็มๆ


เพลงต่อไปคือ Chevaliers de Sangreal จาก The Da Vinci Code แน่นอนว่าตัวเด่นคือไวโอลิน ที่มีสองคนคือ Molly Rogers กับ Leah Zeger จะเห็นว่าเซ็ตลิสต์ช่วงต้นๆ จะเริ่มแบบเบาๆ นวดๆ ก่อนจะเริ่มช่วงไฮไลท์ก่อนจบครึ่งแรก คือ The Lion King ซึ่งได้เจ้าของ Vocal ต้นฉบับอย่าง Lebo M ที่มาเดินสายทัวร์ด้วยทุกรอบพร้อมกับลูกสาว ถึงตอนนี้รู้สึกได้เลยว่าคนดูอินมาก เพราะเป็นงานของลุง Hans ที่เป็นที่รู้จักอันดับต้นๆ (และเป็นออสการ์ตัวเดียวจนถึงทุกวันนี้)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่