วิเคราะห์ รากนครา (2560) การถวิลหาตัวตนในสังคมอำนาจนิยมรวมศูนย์

ไม่เกี่ยวกับการเมือง อย่าเข้าใจเราผิด ไม่ดราม่าไม่เครียดนะคะ
เราเห็นว่าบทวิเคราะห์น่าสนใจ อยากให้ลองศึกษาค่ะ


เจ้าศุขวงศ์ ตัวแทนของโลกสมัยใหม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงและรับอุดมการณ์แบบสยามอันหมายถึงการรับผลประโยชน์จากชาติมหาอำนาจและพยายามสถาปนาตนขึ้นเป็นตัวแทนของชุดผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจในภูมิภาค  (ซึ่งก็คือตัวแทนรัฐสยาม) ในบทละครพยายามพูดถึงเรื่องการเสียน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ ตามกรอบอรรถาธิบายของชนชั้นนำไทยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงนี้ แต่หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มันคือการพยายามแย่งยื้อของชนชั้นนำกลุ่มต่างๆในพื้นที่เพื่อที่จะเป็นตัวแทน ของชาติตะวันตกเพื่อผลประโยชน์ชุดใหม่มหาศาล ภาพของเจ้าศุขวงศ์จึงเป็นภาพสะท้อนของชนชั้นนำไทยทุกยุคทุกสมัยที่มักมีข้ออ้างในนามธรรมสูงส่งไม่ว่าเพื่อชาติ เพื่อบ้านเมือง ประชาชน ในการกระทำใด ๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวาทะ ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว เสียสัตย์เพื่อชาติ ขอเป็นสะพาน ฯลฯ ที่เราเห็นจากชนชั้นนำไทยบ่อยครั้ง

เจ้าแม้นเมือง เจ้าหญิงจากเชียงเงินเป็นภาพสะท้อนความไม่เดียงสาทางการเมือง ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ชีวิตทั้งชีวิตเริ่มต้นด้วยการผูกใจเจ็บต่อชาติมหาอำนาจรวมถึงสยาม ใช้ชีวิตตามคำสั่งและแผนการของพ่อ และพี่ชาย รวมถึงอุดมการณ์ของอาที่ตายไปแล้ว ความไร้เดียงสาทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมานี้นำสู่การวางโครงเรื่องให้ตัวละครตัวนี้เผชิญแต่ความทุกข์ทางใจ ตั้งแต่ต้นเรื่องจนกระทั่งตายในตอนจบ ละครถ่ายทอดให้การตัดสินใจของตัวละครเต็มไปด้วยความไม่สมเหตุสมผล ยิ่งคิดยิ่งทำอะไรก็มีแต่จะทำให้แย่ลง การสร้างเจ้าแม้นเมืองลักษณะนี้ขึ้นมาสะท้อนฐานวิธีการมองของอนุรักษ์นิยมต่อประชาชนและการต่อต้านอำนาจรัฐ ที่มองว่าประชาชนไม่สามารถคิดเองเป็นและถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามอำนาจรัฐอยู่เสมอ กระนั้นก็วางไว้ว่าประชาชนก็จะเข้าใจเจตนาสูงส่งของอำนาจรัฐในท้ายสุด แต่ด้วยการถูก “ใช้เป็นเครื่องมือ” ที่ยาวนานของฝ่ายตรงข้ามก็สายเกินไปแล้วทำให้ตัวประชาชนไม่สามารถพบกับความสุขในช่วงท้าย

เจ้ามิ่งหล้า น้องสาวของเจ้าแม้นเมืองเป็นตัวละครที่มีความเป็นมนุษย์มากที่สุดมีอารมณ์รัก โกรธ แค้น ทะเยอทะยาน มีความเป็นนักการเมืองสูงที่สุดและเป็นตัวละครที่พูดเรื่องชาติบ้านเมืองในฐานะอุดมการณ์น้อยที่สุด ในมุมมองของมิ่งหล้า ชาติบ้านเมือง ก็คือชาติบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตน แต่อุดมคติในลักษณะนั้นก็ถูกวางให้เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม โครงเรื่องวางให้ผู้ที่คิดแบบนี้ “แพ้ภัย” ตัวเอง  และล้มเหลวทางการเมืองในท้ายที่สุดก็ต้องพึ่งพาอุดมคติของอำนาจรัฐอันถูกต้องดีงามแบบรัฐไทยตามแบบศุขวงศ์ เหมือนภาพนักการเมืองที่มักถูกสร้างโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมให้เห็นว่าการคิดถึงประโยชน์เฉพาะหน้าไม่คำนึงถึงบ้านเมืองมีแต่จะนำพาสู่ความพินาศของบ้านเมืองและตนเอง

เจ้าหน่อเมือง เป็นตัวละครที่ถูกทำให้มีมิติน้อยที่สุด ถูกทำให้พร่ำเพ้อเรื่องอุดมคติของเอกราชที่ไร้สาระตลอดทั้งเรื่อง นำสู่การวางแผนจัดฉาก ทรยศหักหลังเพื่ออุดมคติของตน และท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อตัวแทนอำนาจรัฐไทย จากการสังหารเจ้าแม้นเมืองด้วยความเข้าใจผิดและกลายเป็นบ้าเข้าป่าไป ภาพของเจ้าหน่อเมืองจึงแตกต่างจากอุดมคติต่างชาติแบบ “โกโบริ-โมเดล” ของทมยันตี หรือนิยายหลายเรื่องของหลวงวิจิตรวาทการที่เชิดชูอุดมคติของผู้รุกรานว่ายังสวยงามและเข้าใจได้ ทางตรงกันข้ามภาพสร้างอุดมคติของเจ้าหน่อเมืองเป็นการผลิตซ้ำว่าอุดมคติของฝั่งตรงข้ามรัฐไทย คือเรื่อง “อุดมคติของคนบ้า” ซึ่งตรงนี้อาจหมายรวมถึง สำนึกท้องถิ่นนิยมต้านอำนาจส่วนกลาง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบสากล หรือการสร้างนโยบายเพื่อยกระดับชีวิตประชาชนในพื้นที่ ก็มักถูกจัดเป็นอุดมคติที่เพ้อฝัน เกิดขึ้นไม่ได้จริงและนำสู่สิ่งผิดเพี้ยนอันตรายต้องยกเลิกและยอมรับอุดมคติแค่แบบเดียว


ที่มา:http://gmlive.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2-2560-%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่