::ตามรอยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่าน "รากนครา" กับ "หงามุก" ทับทิมแห่งพม่าที่ไม่มีวันได้คืนจากอังกฤษ


แม้ในเรื่องรากนคราจะไม่ได้เจาะจงว่าเมืองมัณฑ์คือเมืองไหน หรือ เจ้านางปัทมสุดาคือคาแรคเตอร์ที่มีอยู่จริงอิงจากประวัติศาสตร์หรือไม่นั้น แต่เชื่อว่าเรื่องนี้เสน่ห์ก็คือการแอบอิงแบบเลี่ยงๆให้เราค้นคว้ากันเอง  

ในเรื่องรากนครา เจ้านางปัทมสุดามีการพูดถึงทับทิมแดง  ก็มีคล้ายคลึงกับ "หงามุก" ที่ถือว่าเป็นรัตนชาติในตำนานของราชวงศ์พม่าเลยทีเดียว  ก็เลยหาข้อมูลมาให้แฟนละครอ่านกันเป็นความรู้ค่ะจะได้สนุกกับประวัติศาสตร์ผ่านละคร เอามาจาก  fb: นิทรรศการพลังแผ่นดิน
อัศจรรย์งานศิลป์ แผ่นดินสยาม


หงามุก หรือ Padamyar Ngamauk แปลเป็นอังกฤษว่า Royal Ruby เป็นทับทิมขนาดใหญ่เท่าไข่นกพิราบ สีแดงสดงดงามปราศจากตำหนิใดๆ  มีประวัติเล่าเรื่องราวกันว่า มีพม่านายหนึ่งชื่อ "หงามุกคยี" ไปขุดพบพบรัตนชาติสีแดงเลือดนกพิราปขนาดใหญ่เท่าผลหมาก หนักประมาณ ๘๒ กะรัต ที่เหมือง "โมก๊อก" นายคนนี้ก็นำขึ้นถวายพระเจ้าแปร พระเจ้าแปรก็ถวายพระเชษฐาซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งราชวงศ์ยองยาน พระองค์พระราชทานนามทับทิมนี้ว่า หงามุก ตามชื่อคนพบคนแรก

ทับทิมหงามุกกลายเป็นรัตนชาติของหลวงเม็ดเอกในท้องพระคลัง ผ่านจากราชวงศ์ยองยานมาจนถึงราชวงศ์คองบอง เรื่องราวของหงามุกมาทำให้โลกรู้จักก็เมื่อพระเจ้ามินดงนำทับทิมเม็ดนี้ออกมาให้ทูตฝรั่งเศสตีราคา เหล่าทูตและทหารฝรั่งเศสเห็นทับทิมเข้าก็อ้าปากค้าง ตาลุกวาว เพราะความงามของทับทิมเม็ดนี้เกินกว่าจะประเมินราคาได้ถูก ทหารและเหล่าทูตได้แต่ทูลตอบว่าทับทิมนี้มีค่าเท่ากับ "ประเทศหนึ่งประเทศเลยทีเดียว "

คำตอบนี้จะว่าไปก็เหมือนเป็นลางร้ายของพม่า เพราะประเทศนั้นก็คือ"ประเทศพม่า"นั่นเอง โดยพระเจ้ามินดงมิได้เฉลียวใจเอาเลย ทับทิมหงามุกอยู่คู่บัลลังก์พม่าต่อมาจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของราชวงศ์คองบอง เมื่อพระเจ้าธีปอและพระนางศุภยาลัตถูกอังกฤษยึดราชอาณาจักรและเนรเทศสองพระองค์ไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรีประเทศอินเดียซึ่งอังกฤษได้ยึดไปเรียบร้อยแล้ว ( และเนรเทศกษัตริย์อินเดียมาไว้พม่า )

และในขณะเดียวกันนั้นเอง ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๘๕ ตรงกับในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ปีนั้น ในไทยกำลังวุ่นวายกับการปราบฮ่อที่ " หลวงพระบาง " ส่วนพม่าก็วุ่นวายกับรบฝรั่งอังกฤษ วันนี้เป็นวันพ่ายแพ้วันสุดท้ายแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เมื่อพระเจ้าสีป่อและพระมเหสีตลอดจนธิดาถูกขีดเส้นตายเนรเทศออกจากพม่า ไปอินเดีย ในพระราชฐานเต็มไปด้วยความโกลาหล มหาดเล็กและนางข้าหลวงสาละวนกับการเก็บข้าวของมีค่าติดตัวเอาไปด้วยเท่าที่จะทำได้ ส่วนของมีค่าอื่นๆที่เก็บไม่ทันก็ต้องปล่อยให้ตกเป็นเหยื่อแร้งกาพวกฝรั่งตาน้ำข้าวตามยะถากรรม

ในคืนที่ต้องเก็บข้าวของไปอินเดียนั้น พระนางศุภยาลัตมีนางสนองพระโอษฐ์คนหนึ่งคือเจ้าหญิงสุสิริเป็นผู้รักษาดูแลกำปั่นเครื่องเพชรนิลจินดาของพระนางศุภยาลัตโดยตรง และทำการเก็บสมบัติได้ ๓ กำปั้น ก่อนขึ้นเรือนั้นนายทหารอังกฤษชื่อพันเอกสเลเดน บอกว่าเกิดเหตุวุ่นวายชาวพม่าไม่พอใจพระนางที่ทำให้เสียเมืองและมีเสียโวยวายมีการผลักกัน ในบริเวณที่พระนางและพระเจ้าสีป่อจะลงเรือ แต่ก็มีประชาชนกลุ่มใหญ่นั่ง ยืน ร้องร่ำไห้ที่เจ้าชีวิตถูกเนรเทศไป พระนางหลงเชื่อคำของนายสเลเดนจึงฝากทรัพย์สินให้ดูแล แท้ที่จริงแล้วเสียงโวยวายนั้นคือ " พี่ชายของเจ้าหญิงสุสิริ" ที่จะมาส่งแต่ถูกทหารอังกฤษผลักไม่ให้เข้าจึงเกิดการปะทะขึ้นนั่นเอง......

หลังจากถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรี อินเดียทั้งสองพระองค์ได้พบว่า....หงามุกหายไป !! พร้อมกับเครื่องเพชร ๓ กำปั้น ชีวิตที่รัตนคีรีไม่สุขสบายเหมือนวังหลวงนัก ทางอังกฤษได้สร้างบ้านให้หนึ่งหลังและมีเงินเดือนให้ไม่กี่รูปีเท่านั้นเอง

พระเจ้าธีปอพระองค์ทรงร้องเรียนมาว่าพระราชทรัพย์สำคัญๆ สูญหายไปเพราะฝีมือนายทหารอังกฤษในพม่า เซอร์ ชารล์ส์ เบอร์นาร์ด ผู้บัญชาการกลางของประเทศก็จัดแจงส่งหนังสือลับไปถามผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษที่มัณฑะเลย์ให้ช่วยสอบสวนเรื่องนี้ เขาแนบบัญชีพระราชทรัพย์ที่หายไปให้เห็นกันชัดๆด้วย ตามหนังสือที่พระเจ้าธีปอแจ้งมา นอกจากนี้ยังสั่งให้นายทหารอังกฤษฝ่ายการเมืองที่มัณฑะเลย์สอบสวนกับทหารอังกฤษที่นั่น ว่าทับทิมหงามุกอยู่ที่ไหน พันเอกสเลเดน เซอร์ชาร์ลส์ เบอร์นาร์ดก็ส่งหนังสือลับถึงนายคนนี้ทันที ให้ชี้แจงเรื่องพระราชทรัพย์และทับทิมหงามุกที่แหล่งข่าวแจ้งมาว่าอยู่ในความครอบครองของพันเอกสเลเดน

เมื่อนายระดับสูงทวงถามมา พันเอกสเลเดนก็ตอบจดหมายไป ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๑๘๘๗

วันเวลาล่วงมาสองปีแล้ว นับแต่พระเจ้าสีป่อถูกเนรเทศๆ
ข้อความตอนหนึ่งของหนังสือราชการที่พันเอกสเลเดนตอบมาก็คือ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
" กระผมขอกราบเรียนให้ทราบว่าเป็นความจริงที่กระผมได้พบพระเจ้าสีป่อในวันนั้น แต่สำหรับบัญชีรายชื่อพระราชทรัพย์นั้นกระผมจำไม่ได้เลยว่ามี ในวันนั้นไม่มีใครสามารถทำรายการบัญชีพระราชทรัพย์ทั้งหลายได้ พระเจ้าสีป่อและพระนางก็มัวแต่ฟูมฟายที่เสียเมือง ผู้คนต่างก็เข้านอกออกในกันสับสนอลหม่านไปหมด กระผมตระหนักว่าพระราชทรัพย์ของแผ่นดินพม่าย่อมมีมูลค่ามหาศาล จึงได้ไปประตูพระราชฐานแล้วออกคำสั่งให้กองทหารอารักขาสถานที่สองแห่งอย่างเข้มงวดคือท้องพระคลังหลวง และตามถนนหนทางเข้าออกในวัง กระผมไม่สามารถจำชื่อหัวหน้า นายทหารผู้รับคำสั่งในวันนั้นได้ ในวันเดียวกันนั้น กระผมพบนายพลปริน ดา การ์ด และแจ้งให้เขาทราบว่ากระผมได้สั่งกองกำลังคุ้มครองท้องพระคลังหลวงเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เขาก็เลยตั้งคณะกรรมการอารักขาท้องพระคลังหลวงขึ้นเพื่อดูแลเรื่องนี้ ชื่อของกระผมไม่ได้อยู่รวมในกรรมการนี้ด้วย นับว่าสิ้นสุดหน้าที่ของกระผมที่เกี่ยวกับพระราชทรัพย์พม่าเพียงแค่นี้ "
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เวลาผ่านไปเนิ่นช้ามากสำหรับพระเจ้าธีปอ จนกระทั่งถึงค.ศ. ๑๙๑๑ พระองค์ก็เกิดความหวังอันริบหรี่ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อบัลลังก์อังกฤษเปลี่ยนอีกครั้ง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ เสด็จสวรรคต พระราชโอรสที่ขึ้นครองราชย์ต่อคือพระเจ้าจอร์จที่ ๕ และได้เสด็จประพาสอินเดีย พระเจ้าธีปอก็ได้โอกาสที่จะทำจดหมาย ส่งไปถวายพระเจ้าจอร์จ ขอพระราชทานโอกาสเข้าเฝ้า เพื่อจะร้องเรียนเรื่องทับทิมหงามุกที่หายไป

ในจดหมายราชการ ๕ ฉบับที่ทรงระดมส่งไปถึง มีคำตอบกลับมาฉบับเดียวสั้นๆว่า

"พันเอกเซอร์เอ็ดเวิร์ด สเลเดน ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว ตั้งแต่ปี ๑๘๙๐ "

จากนั้นก็คือความเฉยเมยว่างเปล่า เป็นข้อสรุปให้พระองค์เข้าใจเอาเอง ว่าเงื่อนงำเรื่องทับทิมหงามุกก็พลอยละลายหายสูญไปพร้อมกับชีวิตของนายพันเอกด้วย

ณ. เมืองพม่า เจ้าชายหม่องหม่องทิน กำลังนั่งดูภาพจากเมืองอังกฤษที่เพื่อนทหารให้มาดูไปดูมาก็เหลือบไปเห็นโปสการ์ดหนึ่งในจำนวนนี้เป็นภาพถ่ายสีของมงกุฎกษัตริย์และราชินีแห่งอังกฤษ ภาพโปสการ์ดนั้นพิมพ์สอดสีชัดเจนสดใสสวยงามมาก มงกุฎล้วนไปด้วยเพชรนิลจินดาขนาดเขื่องส่องประกายแพรวพราว ที่เตะตาเจ้าชายเข้าโครมเบ้อเริ่มก็คือมณีสีแดงที่ประดับอยู่บนมงกุฎนั้น เป็นทับทิมสีแดงสดใสไร้ตำหนิ งามตาและมีราคายิ่ง

ความงามของทับทิมที่ประดับบนมงกุฎพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ นอกจากกระทบตาเจ้าชายแล้วยังกระทบใจจนทนไม่ไหว อดรนทนไม่ได้ เจ้าชายก็ส่งคนไปเชิญเจ้าหญิงสุสิริ น้องสาวซึ่งอยู่ในมัณฑะเลย์ให้มาหา เมื่อเจ้าหญิงสุสิริมาถึง เจ้าชายก็ส่งภาพโปสการ์ดให้ดู เราคงจำกันได้ว่าเจ้าหญิงสุสิริคือผู้ที่ได้รับบัญชาจากพระนางศุภยาลัตให้เป็นผู้เก็บทับทิมหงามุกในวันที่ถูกเนรเทศ แม้ว่าเป็นเวลานานร่วม ๒๖ ปีจากวันนั้นถึงวันนี้ ที่เธอไม่ได้เห็นทับทิมเม็ดนี้อีก แต่ลักษณะสีสันและความงามอันหาที่เปรียบมิได้ของมันก็ทำให้เจ้าหญิงจำได้ทันที ไม่ว่าจะเห็นที่ไหนในลักษณะใดก็ตาม........

ในช่วงเวลายาวนานถึง ๒๖ ปีนับแต่สเลเดนถึงแก่กรรม พระเจ้าธีปอกับพระนางศุภยาลัตก็ถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ถึงเมืองรัตนคีรี อินเดีย ร้องเรียนอะไรไปเท่าไร รัฐบาลอังกฤษก็เอาหูทวนลมท่าเดียว เมื่อพระเจ้าธีปอสิ้นพระชนม์ ในปี ๑๙๑๖ พระนางศุภยาลัตกลับพม่าและใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายพึ่งศาสนาด้วยการบวชชี พระนางมีโอกาสประทานสัมภาษณ์แก่นักข่าว และได้ยืนยันว่าทับทิมหงามุกตกไปอยู่ในมือของพันเอกสเลเดนตั้งแต่สองพระองค์ออกจากพม่า เมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ไปใน ค.ศ. ๑๙๒๕ พระธิดาองค์สุดท้องก็ทำหนังสือถึงรัฐบาลอังกฤษ ให้ติดตามพระราชทรัพย์กลับคืนมาและส่งหนังสือร้องเรียนไปถึงองค์การสันนิบาตชาติ (องค์การสหประชาชาติ) อีกด้วย

ผลที่เจ้าหญิงได้รับจากการทำหนังสือร้องเรียน รวมทั้งแนบรายละเอียดการร้องเรียนครั้งแล้วครั้งเล่าในอดีตไปให้องค์การรู้ก็คือ นอกจากรัฐบาลอังกฤษไม่ติดตามให้แล้ว เธอยังถูกส่งตัวไปอยู่ที่เมืองเมาะละเหม่งแล้วถูกจำกัดบริเวณอยู่ที่นั่นจนถึงแก่กรรม .....

หลังเจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ไป ลูกๆ ของเธอก็ยังทำเรื่องร้องเรียนต่อไปถึงรัฐบาลอังกฤษอีกสองครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่เราก็คงเดาได้ว่าไม่มีความคืบหน้าอะไรอยู่ดี เรื่องนี้จึงจำต้องจบลงอย่างตำนาน มีแต่คำบอกเล่าถ่ายทอดสู่ลูกหลานที่สืบเชื้อสายพระราชวงศ์พม่ามาเพียงเท่านั้น.....

ปัจจุบันนี้ทางการพม่าก็ยังทวงถามถึงทับทิมเม็ดนี้ต่ออังกฤษอยู่ เพื่อให้ได้กลับมาสู่...บ้านเกิดอีกครั้ง แต่ก็ยังไร้วี่แววของ.....หงามุก

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มาข้อมูล :   fb: นิทรรศการพลังแผ่นดิน
อัศจรรย์งานศิลป์ แผ่นดินสยาม
https://m.facebook.com/profile.php?id=388723421244559
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่