ประวัติบุญกฐิน & ความหมายของธงกฐิน

กระทู้สนทนา
คำว่า”กฐิน”  เป็นชื่อของสังฆกรรมชนิดหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่ใช้พระสงฆ์เป็นพยานในการทำ๕รูปเป็นอยางน้อย คือ ๕ รูปเป็นองค์สงฆ์หรือพยาน และอีก ๑ รูปเป็นองค์ครองผ้ากฐิน


         นอกจากนี้คำว่า”กฐิน”เป็นชื่อของไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขึงในเวลาเย็บจีวร ภาษาไทย เรียกว่า”ไม้สะดึง”ภาษาบาลีใช้คำว่า”กฐิน”ขณะเดียวกันภาษาไทยได้ยืมภาษาบาลีมาเป็นภาษาของตัวเองโดยเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า   ผ้ากฐินหรือบุญกระฐิน

          บุญกฐิน ทีกำหนดทำกันในระหว่างวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ สำหรับจุดประสงค์หลักของการทำบุญกฐินนั้น เพื่อที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาแล้วได้ มีผ้าผลัดเปลี่ยนใหม่โดยได้มีมูลเหตุของบุญกฐินปรากฏในกฐินขันธะแห่งพระวินัยปิฎก และฏีกาสมันตปาสาทิกา ไว้ว่า


           สมัยหนึ่ง ได้มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐาจำนวน ๓๐ รูป พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเซตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี  ขณะนั้นวันจำพรรษาได้ใกล้เข้ามา พวกภิกษุเหล่านั้นจึงได้พากันจำพรรษาที่เมืองพระเซตะวันมหาวิหารตลอดระยะเวลา ๓ เดือนที่จำพรรษาภิกษุเหล่านั้น มีความตั้งใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ได้ ครั้นพอออกพรรษาแล้วจึงพากันออกเดินทางกรำฝนทนแดดร้อนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

          ขณะฤดูฝนยังไม่ทันจะล่วงสนิท ทำให้ภิกษุชาวเมืองปาฐาเหล่านั้น มีจีวรเปียกชุ่ม และเปื้อนด้วยโคลนตม พอไปถึงเขตวันมหาวิหารได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงเห็นใจในความยากลำบากของภิกษุเหล่านั้นจึงอนุญาตให้หาผ้ากฐินหรือผ้าที่เย็บด้วยไม้สะดึง มาใช้เปลี่ยนแทนผ้าเก่า ฝ่ายนางวิสาขา มหาอุบาสิกา เมื่อได้ทราบถึงพุทธประสงค์แล้ว นางก็ได้นำผ้ากฐินไปถวายแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประทาน และนางได้เป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้ากฐินในพระพุทธศาสนา

       ++  ธงกฐิน ++


          ในเรื่องของการทอดกฐินนี้ “ธงกฐิน” ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้ว่าวัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้ว โดยเหตุที่ว่าวัดหนึ่งๆ นั้นรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว อีกในหนึ่ง ธงกฐินจะมีรูปสัตว์ 3-4 จำพวกเป็นสัญลักษณ์ คือ รูปจระเข้ รูปตะขาบ รูปแมลงป่อง รูปนางกินรีหรือนางมัจฉา และรูปเต่า

          เรื่องธงกฐินนี้โดยใจความแล้วไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกหรือในหนังสือคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของกฐินอย่างชัดเจน สาเหตุอาจจะเป็นเพราะนักปราชญ์อีสานโบราณท่านสอนคนหรือแนะนำคน จะไม่ใช้วิธีการที่บอกหรือกล่าวสอนกันตรงๆ มักจะใช้ทำนองที่ว่าเรียบๆ เคียงๆ เป็นลักษณะของปริศนาธรรม เช่น ลักษณะที่เด่นและเห็นชัดเจนคือ การใช้คำพูดในบทผญาหรือ อีสานภาษิต ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงเรื่องกำลังพูดกันตรงๆ

          เช่นว่า “เจ้าผู้แพรผืนกว้างปูมาให้มันเลื่อมแด่เป็นหยัง สังมาอ่อมส่อมแพงไว้แต่ผู้เดียว แท้น้อ” ซึ่งสำนวนนี้ก็ได้พูดถึงความใจกว้างหรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

          สำหรับรูปสัตว์ต่างๆ ธงกฐินนี้ท่านบอกสอนไว้ให้รู้ในลักษณะที่ว่า คนที่สามารถทำกฐินหรือเจ้าภาพทอดกฐินได้ ต้องเป็นคนจิตใจกว้าง มีความเสียสละเป็นอันมาก รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม้กระทั่งสัตว์ที่มีพิษร้ายก็สามารถมาร่วมทำบุญได้ หรืออีกความหมายหนึ่งนักปราชญ์อีสานโบราณ ท่านอธิบายเปรียบเทียบกับโลภะ โทสะ โมหะ ได้ชัดเจนว่า


     ธงกฐินอันที่ 1 เป็นรูปจระเข้คาบดอกบัว หมายถึง ความโลภ โดยปกติแล้วจรเข้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ในบางช่วงขึ้นมานอนอ้าปากอยู่บนบกให้แมลงวันเข้ามาตอมอยู่ในปาก พอแมลงวันเข้าไปรวมกันหลายๆ ตัวเข้า จึงได้งับปากเอาแมลงเป็นอาหาร ท่านได้เปรียบถึงคนเราที่มีความโลภ ไม่มีความรู้สึกสำนึกชั่วดี ความถูกต้องหรือไม่ มีแต่จะเอาให้ได้ท่าเดียว โดยไม่คำนึงว่าที่ได้มานั้น มีความสกปรกแปดเปื้อนด้วยความไม่ดีไม่งาม คืออกุศลหรือไม่ ผู้อื่นจะได้รับผลอย่างไรจากการกระทำของตนไม่ได้ใส่ใจ ดังนั้น ธงรูปจระเข้ท่านจึงได้เปรียบเหมือนกับความโลภ ที่ทำให้คนกอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จะมีช่องทางหรือโอกาส


     ธงกฐินอันที่ 2 เป็นรูปตะขาบหรือแมลงป่องคาบดอกบัว หมายถึง ความโกรธ โดยธรรมชาติแล้วสัตว์ทั้งสองอย่างนี้เป็นสัตว์ที่มีพิษร้าย ถ้าใครโดนตะขาบและแมลงป่องกัดหรือต่อยเข้าแล้ว จะรู้สึกเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดเหล่านั้นมียาหรือของที่แก้ให้หาย หรือบรรเทาปวดได้ ท่านได้เปรียบถึงโทสะ เพราะโทสะนี้เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นง่าย เกิดขึ้นเร็ว และรุนแรง แต่ก็หายเร็ว หรือที่เรียกว่าโกรธง่ายหายเร็ว โทสะหรือความโกรธมีความเจ็บปวด มีความเสียหายเป็นผล ดังนั้น ท่านจึงเปรียบธงรูปตะขาบและธงรูปแมงป่อง ว่าเหมือนกับความโกรธ เพราะมีลักษณะคล้ายกันคือเกิดขึ้นง่าย เกิดขึ้นเร็ว และรุนแรง มีความเจ็บปวด มีความเสียหาย แต่หายเร็วหรือมีทางที่จะรักษาให้หายได้


     ธงกฐินอันที่ 3 เป็นรูปนางกินรีหรือนางมัจฉาถือดอกบัว หมายถึง ความหลงหรือโมหะ โดยที่รูปร่างและศัพท์ที่ใช้เรียกก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว กินรี แปลว่า คนอะไรหรือสัตว์อะไร ดูไม่ออกบอกไม่ถูกว่าเป็นรูปสัตว์หรือรูปคนกันแน่ เพราะว่าท่อนล่างมีรูปเป็นปลา ท่อนบนมีรูปร่างเป็นคน ศัพท์ว่ากินรีมาจากภาษาบาลีว่า “กินนรี” แต่ผ่านกระบวนการแปลงศัพท์ของภาษาบาลีเป็น “กินนรี” แปลว่า “คนอะไร” หรือว่า คนผู้สงสัย, ผู้ยังสงสัย หรือผู้ที่ค้นพบเห็นก็เกิดความสงสัย คือคนที่ไม่เป็นตัวของตัวเองนั่นเอง ทั้งทางด้านความคิด ทั้งทางด้านการกระทำหรือพฤติกรรม เพราะฉะนั้น กินนรี หรือ กินรี ท่านจึงเปรียบเสมือนโมหะ คือความหลงหรือผู้หลง ความลังเลสงสัยนั่นเอง


     ธงกฐินอันที่ 4 เป็นรูปเต่าคาบดอกบัว หมายถึง ศีลหรืออินทรีย์สังวร (การสำรวมระวังอินทรีย์) โดยปกติสัญชาติญาณการหลบภัยของเต่าคือ การหดส่วนต่างๆ ของร่างกายเข้าไว้ในกระดอง อันตรายที่จะเกิดจากสัตว์ไม่ว่าจะมีรูปร่างใหญ่โตสักปานใด ก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายอะไรแก่เต่าได้ หรือสังเกตง่ายๆ เวลาหมาเห่าเต่าก็จะเก็บอวัยวะส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหัว หางและขาไว้ภายในกระดอง หมาไม่สามารถทำอันตรายใดๆ แก่เต่าได้

          ฉะนั้น บุคคลที่สามารถทำบุญกฐินให้ได้บุญจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีศีลคือมีความสำรวมระวัง ไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นจากการที่อินทรีย์ทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบสิ่งที่เป็นสาเหตุแห่งอารมณ์ขัดเคืองหรือความไม่ได้ดั่งใจตนคิด อันทำให้เกิดความท้อถอย ทั้งนี้ โดยการอาศัยศีลคือความมั่นคงในตัวเองนั่นเอง


เครดิตจาก : www.gotoknow.org/posts/464919
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่