…. จากพระศรีอาริย์ / ยูโทเปีย ถึงพระมหาสุชาติ" .../วัชรานนท์

กระทู้สนทนา
การเมืองกับศาสนาแม้มีการพยายามทำให้ถูกมองว่าอยู่คนละโลก(อันหนึ่งโลิกยะ ส่วนอีกอันคือโลกุตะระ)แต่นั่นเป็นเพียงนามธรรม   หากแต่ในความเป็นจริง...การดำรงอยู่ของ “ศาสนาจักร”ในปัจจุบันนี้  ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีอิทธิพลของ “อาณาจักร”แทรก      เช่นกัน...ความเป็นปึกแผ่นและการดำรงอยู่ของ “อาณาจักร”เองก็มีอิทธิพลของ"ศาสนาจักร”แทรกและผสมอยู่ไม่น้อย   อาจจะนับตั้งแต่การเริ่มตั้งไข่ของบางอาณาจักรเลยก็ว่าได้   ในบางครั้ง...ฝ่ายศาสนจักรสามารถแผ่อิทธิพลแล้วก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งแม่ทัพของฝ่ายอาณาจักรได้อย่างสั้นๆ และอย่างยาวนาน  อย่างกรณีผู้ของ “ชุมนุมเจ้าฝาง” หลังเสียกรุงฯ ครั้งที่สองที่เป็นทั้งผู้นำด้านจิตวิญญาณและ การปกครอง และในสนามรบ    ประเทศในยุโรปอย่างฝรั่งเศส  สเปน อังกฤษ อิตาลี ฯ ยิ่งมีรูปธรรมที่ชัดเจนในเรื่องนี้  อำนาจของโป๊ปแห่งกรุงวาติกันในอดีตแผ่เกือบจะทั่วยุโรปหลาวทศวรรษแทบจะชี้เป็นชี้ตายหลายประเทศในยุโรปได้เลย   อำนาจของของพระองค์แทรกแซงและก้าวก่ายได้ถึงขนาดกำหนดให้เจ้าชายองค์นั้นอภิเษกกับเจ้าหญิงองค์นี้ได้    หรืออย่างประเทศธิเบตที่มีผู้นำที่มาจากประมุขของศาสนา(ดาไลลามะ)นี่ยิ่งเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากที่สุด



การแซกแทรงและก้าวก่ายกันและกันเกิดขึ้นเสมอระหว่างรัฐกับศาสนา  สำหรับประเทศไทยที่โลดเล่นบนหน้าประวัติศาสตร์อย่างโดดเด่นก็เห็นจะเป็นกรณีของอดีตพระเถระอย่างพระพิมลธรรมอนันตปรีชา  ที่แอบซ่องสุมกำลัง(ท้าทายอำนาจรัฐ)เงียบๆ  แล้วต่อมาได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าทรงธรรม   หรือการขัดแย้งและลงโทษพระเถระผู้ใหญ่หลายรูปซึ่งเป็นกรณีคาบเกี่ยวบนสองยุค “กรุงธนบุรี”กับ “รัตนโกสินทร์”  คือกรณีที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงลงโทษกลุ่มพระที่ไม่เห็นด้วยกับพระองค์เรื่องการนั่งวิปัสสนา  แล้วตามมาด้วยการลงโทษพระที่เคยเห็นด้วยกับพระเจ้าตากสินในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  และท้ายสุดก็กรณีพึ่งจะเกิดขึ้นได้ไม่กี่วันคือการ “ลาสิกขา” ในระหว่างเข้าพรรษาของพระมหาอภิชาต  ที่โดนอุ้มทันทีทัน(จนป่านนี้ยังไม่ว่าอยู่ที่ใดอย่างแน่ชัด)หลังจากการลาสึกขา   การแทรกแซงและก้าวก่ายกันและกันระหว่างสองรัฐเคยเกิดขึ้นในอดีต  ปัจจุบัน  และคงจะเกิดต่อไปในอนาคตอย่างเลี่ยงยาก


อังกฤษในยุคของพระเจ้าเฮนรี่ที่8 ถือว่าเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง  ที่สำคัญยังตกอยู่ภายใต้อิทธิลของโปีปแห่งวาติกันอยู่   พระเจ้าเฮนรี่มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะสลัดอังกฤษออกจากอิทธิพลของวาติกัน   จากความพยายามตรงนั้น  พระองค์ได้สูญเสียโทมัส  มัวร์ ผู้ที่เป็นทั้งผู้นำสูงสุดแห่งศาสนจักรของอังกฤษ  เป็นทั้งพระสหายที่ใกล้ชิด  และเป็นที่ปรึกษาด้านกฏหมายมือหนึ่งของพระองค์ด้วยน้ำมือของพระองค์เอง   โทมัส  มัวร์ท่านนี้คือกุนซือ มันสมองของพระเจ้าเฮนรี่ที่นอกจากจะเป็นบาทหลวงแล้วเขายังเป็นนักกฏหมายที่สามารถร่างกฏหมายสนองความต้องของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี   เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ขัดแย้งกับกรุงวาติกันในกรณีที่พระองค์ต้องการหย่าพระราชินีของพระองค์แต่ถูกเบรคเอาไว้จากคำสั่งโปีป    พระเจ้าเฮนรี่จึงประกาศตัดขาดจากวาติกันแล้วเดินเรื่องหย่าเอง   จากนั้นก็พยายามรวบอำนาจศาสนจักรเอามาไว้ในมือของพระองค์    และโทมัส  มัวร์ได้ต่อต้านการกระทำของพระองค์อย่างแข็งขัน   ซึ่งหากเป็นคนอื่น....คงจะถูกลงโทษประหารไปนานแล้ว  แต่โทมัสถูกคุมขังและเกลี้ยกล่อมให้ยอมรับอำนาจของพระเจ้าเฮนรี่  เมื่อไม่ยอม...สุดท้ายเขาก็ถูกประหาร  เขาทิ้งประโยคให้ศาสนิกชนให้ได้คิดว่า "ไม่มีอำนาจใดจะยิ่งใหญ่กว่าอำนาจของพระเจ้า”     อนึ่ง  โทมัส  มัวร์  ผู้นี้คือผู้ที่เขียนทฤษฏีเรื่อง “ยูโทเปีย”(Utopia) ในความเห็นของผม(วัชรานท์)ก็พอจะเลียบๆ เคียงๆ กับความหมายที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ “ยุคพระศรีอาริย์”  ดินแดนที่เต็มไปด้วยความสุขสบาย  มีการปกครอง  และกระบวนการยุติธรรมที่สมบูรณ์   



“ยุคพระศรีอาริย์” หมายถึงยุคของพระพุทธเจ้าองค์ต่อคือพระศรีอริยเมตไตรยซึ่งมีการการถึงในพระไตรปิกว่าด้วยพุทธทำนาย   ยุคพระศรีอาริย์เป็นความเจริญรุ่งเรืองในอนาคตที่ยังอยู่อีกไกลโพ้นเหมือนๆ ทฤษฏี “ยูโทเปีย” ของโทมัส  มัวร์    แต่กระนั้น...ทั้งยุคพระศรีอาริย์และยูโทเปียได้ถูกนำมาใช้ในบริบททางการเมืองบ่อยขึ้นและถี่ขึ้นในอดีตและปัจจุบัน    กบฏผีบุญในภาคอีสานที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า5 ครั้ง  ได้อ้างยกเอา “ยุคพระศรีอาริย์” ขึ้นมาเป็นสัญญาประชาคม ต่อการพยายามต่อต้านและท้าทายอำนาจรัฐจากกรุงเทพฯ    และแทบไม่น่าเชื่อครับว่า....คำประกาศของคณะราษฏรที่พันเอกพระยาพหลฯ ยืนอ่านตรงหมุดประชาธิปไตย(ทีหายไป)ของเข้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น  ที่ร่างโดยนักกฏหมายปริญญาเอกจากฝรั่งเศสอย่างท่านปรีดี พนมยงค์นั้นมีการระบุยุค “พระศรีอาริย์” ไว้เป็นสัญญาประคมและเหตุผลในการปฏิวัติปี2475 นั้นด้วย!!   จากหนังสืออัตชีวประวัติของรท. จงกล ไกรฤกษ์ (นายทหารร่วมรุ่นของจอมพลแปลก)เล่าเอาไว้ว่า  ในระหว่างเดินทางกลับจากฝรั่งเศสของนายปรีดีโดยทางเรือนั้น  รท.ประยูร ภมรมนตรี ระแคะระคายมาว่าจะมีการตรวจค้นนายปรีดีเมื่อมาถึงไทย  นายประยูรจึงตีโทรเลขด่วนไปถึงนายปรีดีที่เดินทางถึงอินเดียแล้วว่า “Please return those ARAYA books” ถ้อยคำภาษาอังกฤษจริงๆ ในหนังสือของรท. จงกล จริงๆ ผมจำไม่ได้...ขออภัยด้วย   แต่เนื้อหาสำคัญคือคำว่า “ARAYA” books  หรือตำราว่าด้วยยุคพระศรีอาริย์ (ซึ่งตามความเข้าใจของรท. จงกลก็คือตำราคอมมิวนิสต์)  แต่สำหรับกลุ่มคณะราษฏรอย่างรท.ประยูรและนายปรีดีเข้าใจและเรียกมันว่าทฤษฏียุค “พระศรีอาริย์”    นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่คำประกาศของคณะราษฏรมีคำว่ายุค “พระศรีอาริย์” ก็ได้   ถ้าไม่ใช่...ก็ถือว่าเป็นการคิดแบบสะเปะสะปะของผมเองก็แล้วกันนะครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่