JJNY : "นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า" งบประมาณไม่พอ ทางออกไม่ใช่ร่วมจ่ายเสมอไป

กระทู้คำถาม
“สารพัดปัญหาสาธารณสุขที่เกิดขึ้นรายวัน แม้จะมีการบ่มเพาะ และถูกหมักหมมมาเป็นเวลานาน แต่ไม่ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ซะทีเดียว” นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า แพทย์ประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าว

คุณหมอสมศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในความเป็นจริงแล้ว ระบบการให้บริการการดูแลสุขภาพคนไทยในภาพรวมทั้งประเทศนั้น หากเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ ยังถือว่าประเทศไทยมีการดูแล และสามารถให้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทุกระดับ ตั้งแต่ประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาข้าราชการ รวมไปถึงบัตรทอง คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิใดสิทธิหนึ่งได้ทั้งหมด หลายๆ ประเทศยังไม่สามารถทำได้อย่างประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ทุกสิทธิก็ยังมีปัญหาไม่แตกต่างกัน

"เรื่องของการให้บริการ เป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก ผมมองว่าสาเหตุหลักของปัญหานี้มาจากไม่กี่เรื่อง หลักๆ ก็คือ คนไข้ และญาติคนไข้มีความคาดหวังสูงจากการรับการรักษา เมื่อเทียบกับในอดีต แต่หลายๆ ครั้งก็ไม่เพียงพอกับการคาดหวังของคนไข้ และญาติคนไข้ จะเห็นว่ากรณีที่มีปัญหาส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีคนไข้มารับบริการจำนวนมาก และการให้บริการในช่วงเวลานั้นมักจะไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการสื่อสารที่จะสร้างความเข้าใจต่อกัน ปัญหาหลักๆ คือ การคาดหวังกับการบริการ ถามว่าจะแก้อย่างไร ผมมองว่า ถ้าสามารถทำให้ประชาชนไว้วางใจในสถานพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งเวลานี้มีการทำโครงการต่างๆ ออกมาหลายโครงการ เช่น หมอครอบครัว ใกล้บ้าน-ใกล้ใจ เป็นต้น การไปใช้บริการในสถานพยาบาลใกล้บ้านนั้นจะช่วงแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ไม่ให้เกิดความแออัดจนเกินไป โดยปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลชุมชน หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านมีศักยภาพพอที่จะดูแลคนไข้ได้ดีมากขึ้น คนไข้ไม่จำเป็นต้องเสียเวลามารอคิว หรือนั่งรถมาไกลๆ ที่โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์เพียงเพื่อเหตุผลว่าอยากได้หมอเก่งๆ หรือหมอเฉพาะทางในโรคนั้นๆ ทั้งนี้ โรงพยาบาลชุมชนก็จะมีมาตรฐานเวชปฏิบัติอยู่แล้วว่าเจ็บป่วยขนาดไหนดูแลได้ หรือเจ็บป่วยขนาดไหนต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใหญ่ ไม่จำเป็นว่าต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ทุกกรณี"
นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ตามประสบการณ์ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์แล้ว พบว่าคนไข้ร้อยละ 70-80 สามารถรักษาตัวในโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ แต่ไม่สบายใจ ไม่ไว้ใจ ที่จะไปใช้บริการ ยอมเสียเงิน เสียเวลารอ เพื่อให้ได้ตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหากแก้ไขวิธีคิดดังกล่าวได้ จะทำให้หลายๆ ปัญหาได้รับการคลี่คลายไปในตัวเอง

แล้วเราต้องทำอย่างไรให้ประชาชนมีความไว้วางใจสถานพยาบาลใกล้บ้าน

นพ.สมศักดิ์บอกว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายระดับชาติที่ต้องทำอย่างจริงจัง ต้องประชาสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจ ที่สำคัญคือ ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนเองก็ต้องหมั่นทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ตัวเองดูแลรับผิดชอบด้วย มั่นใจว่าหากสามารถลดปริมาณคนไข้ให้เบาบางลงได้ ปัญหาความขัดแย้ง กระทบกระทั่งระหว่างหมอ พยาบาล และคนไข้ก็จะเบาบางลง

"หลายๆ ครั้งความขัดแย้งอาจจะเกิดขึ้นนอกเวลาราชการ ตัวอย่างเช่น คนไข้ที่มาใช้บริการห้องฉุกเฉินนั้น เกินกว่าครึ่งไม่ได้ฉุกเฉินจริง แต่เมื่อมาใช้กันจำนวนมากก็จะคิดว่าตัวเองได้รับการดูแลไม่เหมาะสม เนื่องจากทุกคนมักจะคิดว่าเรื่องของตัวเองฉุกเฉินที่สุด แม้ว่าในทางการแพทย์จะมีข้อกำหนดการรออยู่แล้วว่าอาการอย่างไร สามารถรอได้นานแค่ไหน ปัญหาคือ ทนรอไม่ได้ เพราะไม่มีความไว้วางใจหมอ ซึ่งปัญหาก็จะวนกลับไปที่เดิม คือ ความไม่เข้าใจ ไม่ไว้วางใจกัน" นพ.สมศักดิ์กล่าว

ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะหมอไม่ค่อยชอบสื่อสารกับคนไข้หรือเปล่า

การที่หมอไม่ค่อยสื่อสารกับคนไข้ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เรื่องของจำนวนคนไข้ที่มีมาก ทำงานแข่งกับเวลา และการรอคอย การสื่อสารอาจจะทำได้ไม่ดีพอ เกิดเป็นความเข้าใจผิดกันได้ และในยุคสมัยนี้ เมื่อไม่มีใครอธิบาย ก็จะเกิดการฟ้องร้องต่อสังคมโซเชียลขึ้น หลายคนที่ไม่เข้าใจ รับรู้ข้อมูลเพียงข้างเดียวก็จะตำหนิหมอเอาไว้ก่อน หมอก็อยู่ในสภาวะน้ำท่วมปาก จะอธิบายอะไรก็ถูกมองว่าเป็นการแก้ตัว

การเรียน การสอนวิชาแพทย์ ให้ความสำคัญกับเรื่องการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้มากน้อยแค่ไหน นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า โรงเรียนแพทย์ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาตลอด ทั้งเรื่องการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ การวางตัวที่เหมาะสม ย้ำแม้กระทั่งเรื่องของสำเนียงที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังๆ ที่มีเรื่องของการใช้โซเชียลเป็นเครื่องมือสื่อสารกันมากขึ้น ย้ำทั้งนักเรียนแพทย์ และแพทย์ฝึกหัดอยู่เสมอในเรื่องของการใช้สติ คือ การทำอะไรก็แล้วแต่ต้องตั้งสติให้มั่น สติจะเป็นตัวลด และหลีกจากความขัดแย้งที่ดีที่สุด

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ความจริงแล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพที่คนไทยใช้อยู่คือ บัตรทองนี้เป็นระบบการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ปัญหาที่มักจะพบในระบบนี้ก็คือ ความไม่เข้าใจของผู้ที่มาใช้บริการเอง โดยมักจะคิดว่าอะไรก็ตามที่ได้มาฟรีๆ แล้วมักจะไม่ค่อยดีนัก เพราะคนส่วนใหญ่จะค่อนข้างตั้งความหวังไว้กับหมอสูงมาก

"ยกตัวอย่าง กรณีมารักษาโดยใช้สิทธิบัตรทองนั้นก็มีทั้งรักษาแล้วหายจากโรค นั้นๆ และรักษาไม่สำเร็จ หรือตายไปก็มี ขึ้นอยู่กับลักษณะของโรค ไม่ใช่รูปแบบบริการที่เข้ามาใช้ แต่คนส่วนใหญ่มักจะคิดไปเองว่า บัตรทองที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นของฟรี

มันจะไม่ค่อยดีนัก ถ้ามารักษากับบัตรทองแล้วตาย เป็นเพราะรักษาบัตรทองไม่ดี ความเข้าใจแบบนี้แหละคือปัญหา ที่โดยภาพรวมแล้วเราต้องแก้ไขให้ได้"
นพ.สมศักดิ์กล่าว

‘เรื่องการจัดงบประมาณ จากรัฐบาลที่ไม่เคยเพียงพอเลย แม้จะไม่เกินอัตราที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แต่รัฐบาลก็ยังยืนยันว่าจะให้ได้เพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 2 ซึ่งน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ คิดว่าทางแก้ปัญหาเรื่องนี้จะต้องทำอย่างไร และการร่วมจ่ายจะเป็นทางออกได้หรือไม่

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดการร่วมจ่ายมาตลอด แต่ไม่ใช่การร่วมจ่ายในจุดบริการ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก แต่การร่วมจ่ายในที่นี้หมายถึง การหาเงินจากหน่วยงาน อื่นๆ มา

สนับสนุนมากขึ้น เช่น เงินจากภาษีสรรพสามิต หรือคนที่ใช้บริการบัตรทองถ้ามีรายได้สูง ต้องดูจากฐานภาษีว่าจะช่วยตรงจุดไหนได้บ้าง ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม

"เราต้องยอมรับว่า บ้านเราจะไปพึ่งแต่ตัวงบประมาณ เพื่อให้ได้ทุกอย่างมาแบบสมบูรณ์แบบนั้นไม่ได้แน่นอน เราต้องปรับตัวตามสถานการณ์และความเหมาะสมถึงจะอยู่ได้ คอร์สการรักษาโรคหลายๆ โรคนั้นสูงมาก ลำพังเงินจากรัฐบาลอย่างเดียวไม่พอแน่นอน แต่ก็น่าดีใจว่า เวลานี้โรงพยาบาลหลายๆ แห่ง มีการคิดโครงการต่างๆ ขึ้นมา เช่น ที่โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น เขาพยายามให้ชาวบ้านในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มาบริจาคเงินตามกำลังของตัวเองให้โรงพยาบาล เพื่อเอาเงินจำนวนนั้นไปใช้ยามที่ตัวเองเจ็บป่วย เช่น ได้ใช้ห้องพิเศษ ได้ใช้ยานอกบัญชี เป็นต้น คือ ผมจะบอกว่า ลักษณะแบบนี้ก็คือการร่วมจ่ายรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่การจ่ายหน้าจุดให้บริการ" นพ.สมศักดิ์กล่าว

สำหรับปัญหางบประมาณไม่เพียงพอนั้น นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ทางออกของการแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การหางบประมาณมาเพิ่ม หรือการร่วมจ่ายเสมอไป อยู่ที่การบริหารจัดการภายในพื้นที่โรงพยาบาลนั้นๆ ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างน่าชื่นชม โดยมีคนในชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม

ยกตัวอย่าง การเลือกใช้ยาที่เป็นชื่อสามัญซึ่งราคาถูกกว่ายาต้นแบบ แต่การรักษาเหมือนกัน ลดการตรวจเพิ่มแบบไม่จำเป็น หรือการที่คนในชุมชนเข้ามาร่วมเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาล เช่น ช่วยสื่อสารลดความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ เป็นต้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่