[CR] พระอุโบสถแห่งวัดโพธิ์

วันนี้ตั้งใจจะไปเที่ยววัดในเขตเมืองเก่ากรุงเทพสัก 5 วัด เอาเข้าจริงทำได้แค่ 1วัด + 1 ศาลหลักเมือง สาเหตุไม่ใช่เพราะความเมื่อยล้าหรือความขี้เกียจ แต่เป็นเพราะอากาศอันร้อนอบอ้าวเป็นอย่างยิ่งของเดือนกันยายน นี่ขนาดกาลเวลาเดินทางมาถึงช่วงที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นปลายปีแล้ว อากาศยังร้อนระเบิดขนาดนี้ ความตั้งใจที่ว่าจะเดินเข้าวัดนู้น ออกวัดนี้ ลัดเลาะไปตามถนนสายโบราณและตรอกซอกซอยของเมืองเก่า เป็นอันต้องล้มพับปิดกล่องไป ก็แค่เดินจากวัดโพธิ์ไปท่าเตียน ผ่านไปทางถนนมหาราชเพื่อที่จะไปยังศาลหลักเมือง ยังเล่นเอาลมแทบจับ

แต่ไม่เป็นไรแค่วัดเดียวก็พอแล้ว วันนี้ใช้เวลาอยู่ที่วัดโพธิ์ถึง 3 ชั่วโมงเต็ม ๆ โดยเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงนั้น หมกมุ่นอยู่กับพระอุโบสถและอาณาบริเวณโดยรอบ โดยมีเวลาให้วิหารพระพุทธไสยาสเพียงนิดหน่อยเท่านั้น เวลามากขนาดนี้แต่ยังรู้สึกว่ายังดูได้ไม่ทั่วถึง ยังแลภาพจำหลักทุกภาพได้ไม่ครบถ้วน ยังดูตุ๊กตาจีนได้ไม่ครบทุกตัว ยังเก็บรายละเอียดภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ได้ไม่เต็มอิ่ม แต่ก็ควรค่าแล้ว เพราะงานที่คนโบราณเนรมิตขึ้นมานั้น ใช้เวลาเป็นร้อยปี ประดิดประดอยและรังสรรค์จนเกือบจะเรียกได้ว่า งดงามวิจิตร จนนึกว่าหลงไปอยู่ในชมพูทวีป ดินแดนอันงดงามในจิตนาการที่ผู้สร้างวัดโพธิ์ตั้งใจให้พระอุโบสถแห่งวัดนี้สื่อความหมายไปถึง

- “พระอุโบสถ” ของวัดโพธิ์ เป็นสุดยอดงานสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งวิจิตรงดงาม และยิ่งใหญ่ สร้างด้วยจิตนาการอันบรรเจิดเพริศแพร้วของนายช่างโบราณ และเป็นตัวแทนแห่งคติทางพุทธศาสนาได้ครบถ้วนอย่างไร้ที่ติด

- “พระอุโบสถ” ของวัดโพธิ์ เป็นงานทีคลี่คลายจนแตกต่างออกมาจากสถาปัตยกรรมวัดแบบอยุธยา โดยวัดแบบอยุธยานั้นนิยมสร้างตามคติชมพูทวีป สิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดในวัด ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถหรือเจดีย์ สื่อถึง “เขาพระสุเมรุ” หรือสัตตมหาบรรพต ที่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล
แต่“พระอุโบสถ” ของวัดโพธิ์ จะสื่อถึง“ชมพูทวีป” ในฐานะที่เป็น “มัชฌิมประเทศ”

ดังนั้นความเข้าใจที่ว่าพระอุโบสถของวัดโพธิ์สร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ โดยมีวิหารทิศทั้ง 4 เป็นตัวแทนของทวีปทั้ง 4 ก็ผิดนะครับ ผมเห็นบทความหรือเอกสารทางวิชาการบางชิ้นยังกล่าวผิด ๆ แบบนี้อยู่เลย

ชมพูทวีปคือหนึ่งใน 4 ทวีปที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ แต่ละทวีปมีความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งแห่งจักรวาล แต่ได้มีการกำหนดให้ชมพูทวีปมีลำดับความสำคัญที่สุด เพราะเป็นที่อยู่ของมนุษย์ มีป่าหิมพานต์ และที่สำคัญ คือเป็นที่กำเนิดของพระพุทธเจ้าองค์ต่าง ๆ พระอัครสาวก พระสาวก มีการตรัสรู้เกิดขึ้นมากมายโดยพระพุทธเจ้าเหล่านั้น และทรงโปรดสัตว์ ศาสนาพุทธประดิษฐานขึ้นในทวีปนี้

ชมพูทวีปจึงมีความสำคัญที่สุด จนได้รับการยกเป็น “มัชฌิมประเทศ” คือทวีปที่มีความสำคัญที่สุดในบรรดาทวีปที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ดังนั้นทวีปอื่น ๆ อีก 3 ทวีปจึงเป็นทวีปบริวาร

- งานสร้างวัดในรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงคลี่คลายปรับเปลี่ยนออกมาในลักษณะนี้ คือสร้างตามคติ “มัชฌิมประเทศ” ซึ่ง “พระอุโบสถ” ของวัดโพธิ์ เป็นตัวอย่างที่สำคัญและโดดเด่นที่สุด

- การสร้างพระอุโบสถตามคติ“มัชฌิมประเทศ” มีรูปแบบดังนี้

- จัดวางพระอุโบสถอยู่ตรงกลาง ให้เป็นศีรษะแห่งแผ่นดิน หมายถึงต้นกำเนิดแห่งทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นศูนย์กลางแห่งมัชฌิมประเทศ สังเกตุว่าพระพุทธรูปในอุโบสถวัดโพธิ์นั้นจะไม่ใช่ปางมารวิชัยตามแบบที่นิยมกันมาในสมัยอยุธยา แต่เป็นปางสมาธิ อันหมายถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นปฐมบทของแผ่นดินทองแห่งพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์ว่าดินแดนแห่งพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กำเนิดขึ้นแล้ว

- ระเบียงคดชั้นใน หมายถึง มหานครใหญ่ นครอันรุ่งเรือง ซึ่งเป็นผลมาจากพระธรรมแห่งศีรษะประเทศ

- ระเบียงคดชั้นนอก หมายถึงนครชนบท หรือเมืองรอบนอกออกมา

- พระวิหารทิศทั้ง 4 ทิศ ที่คร่อมอยู่ที่ระเบียงคดชั้นนอก หมายถึงนิคม หรือดินแดนประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไป

- จะเห็นได้ว่าการจัดวางผังของพระอุโบสถ นอกจากจะสร้างตามคติ “มัชฌิมประเทศ” ในคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัยแล้ว การจัดวางผังแบบนี้ยังสื่อถึงนัยที่สอง คือคติ“ธรรมราชา” การปกครองของสมเด็จพระมหากษัตริย์ ที่ปกครองเมืองหลวง เมืองบริวาร ประเทศราช โดยอาศัยหลักแห่งพระพุทธศาสนา(ศีรษะของแผ่นดิน)

- ดังนั้น “พระอุโบสถ” ของวัดโพธิ์ จึงสื่อถึงคติธรรมราชาได้แยบยลอย่างยิ่ง เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่ทรงมีพระดำริให้สร้างวัดโพธิ์ขึ้นมา และให้มีความสำคัญ ถึงขนาดเป็นวัดประจำรัชกาล คือมีความสำคัญมากในรัชสมัยของพระองค์ รองลงมาจากวัดพระแก้วเท่านั้น

- ภายในอาณาบริเวณ “พระอุโบสถ”ของวัดโพธิ์ มีของดีอีกมากมายที่น่าดู ตุ๊กตาจีน ที่มีมากมายและยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซุ้มประตูและซุ้มพัทธสีมาที่กำแพงแก้ว (กำแพงที่ล้อมพระอุโบสถ) ซึ่งมีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม ภาพจำหลักเรื่องรามเกียรติ์ที่เฉลียงของพระอุโบสถที่สวยงามวิจิตรจำนวน 152 รูป ซุ้มประตูหน้าต่างของพระอุโบสถเป็นรูปมงกุฎประดับกระจกและมีจิตรกรรมภาพวาดอันงดงาม และที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือองค์พระประธานในอุโบสถนาม“พระพุทธเทวปฎิมากร” ซึ่งมีพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารของล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 บรรจุไว้ที่ฐานชุกชี

- การไปดูวัดจะให้สนุกนั้น ต้องเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ในลักษณาการตามที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ ถึงจะแลเห็นที่คุณค่าที่คนโบราณสร้างให้เรา และจะตระหนักว่าแผ่นดินของเรานั้นมีงานพุทธศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่แพ้ที่ใด ๆ ในโลก

- ผมบอกไม่ถูกเหมือนกันว่าการไปเที่ยวชมวัดและแลเห็นเข้าใจสิ่งต่าง ๆ แบบที่ผมทำนี้จะได้ประโยชน์อะไร มันอาจไม่มีประโยชน์อะไรเลยก็ได้ รู้แต่ว่าทำแล้วรู้สึกมีความสุขอย่างใรก็ไม่รู้ รู้สึกว่าเงินทองทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล ตายแล้วเราไม่มีทางเอาไปได้ แต่จิตวิญญาณที่ผูกติดอยู่กับประวัติศาสตร์แห่งพุทธศิลป์แบบนี้ ย่อมจักติดตัวเราไปในภพใหม่แน่นอน

- ข้อสังเกตอีกอย่างคือบริเวณพระอุโบสมีนักท่องเที่ยวพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับวิหารพระพุทธไสยาสแล้ว กลายเป็นจิ้บจ๊อยไปเลย ที่วิหารแห่งนั้นคนเยอะมากถึงมากที่สุด อาจจะเป็นเพราะความโดนแด่นขององค์พระที่นอนแบบ“สีหไสยาส” หรือนอนแบบราชสีห์ และมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร





















ชื่อสินค้า:   วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดโพธิ
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่