เรื่องของความไม่รู้ ๒๖ ส.ค.๖๐

เรื่องเล่าของคนวัยทอง

เรื่องของความไม่รู้

" เพทาย "


ในสมัยที่ผมรับราชทหารกองประจำการ ที่เรียกว่าทหารเกณฑ์นั้น ผมเป็นเหล่าทหารราบ ซึ่งมีการฝึกทั้งปี เริ่มด้วยการฝึกเบื้องต้น ฝึกการใช้อาวุธ การฝึกภาคสนาม เป็นหมู่ หมวด และกองร้อย

พอการฝึกเบื้องต้นแปดสัปดาห์จบลงแล้ว ก็ถึงคราวต้องฝึกเรื่องยิงปืนด้วย กระสุนซ้อมยิง และกระสุนจริงเสียที สมัยนั้นต้องไปที่สนามยิงปืนเขาอีโต้ จังหวัดปราจีนบุรี ไปกางเต๊นท์อยู่บนเขาแถววัดเนินดินแดง กองบังคับการตั้งอยู่บนศาลาใหญ่ พวกลูกแถวต้องนอนในเต๊นท์บุคคล คู่กันหลังละสองคน เป็นการฝึกภาคสนามไปในตัว

ผมก็จับคู่กับเพื่อนชาวพระโขนงคนหนึ่ง นิสัยดีมาก พื้นที่แห่งนั้นเคยมีทหารหน่วยอื่น มาพักยิงปืนอยู่ก่อนแล้วหลายหน่วย พื้นดินจึงเต็มไปด้วยร่องรอยของการขุดเป็นหลุมเป็นแอ่ง เราก็กางเต๊นท์ทับลงไปบนพื้นดินที่ขรุขระนั้น เอาผ้าใบปูรองนอนเอาเป้หนุนหัว ทนเจ็บหลังไหล่อยู่ครึ่งคืน พอถึงกลางดึกฝนดันตกลงมาอย่างหนัก ทีแรกก็คิดว่าเย็นสบายดี สักพักก็รู้สึกว่ามีลูกคลื่น วิ่งผ่านใต้ผ้าปูที่นอน พอลุกขึ้นนั่ง น้ำก็บ่าเข้ามาในเต๊นท์เก็บข้าวของไม่ทัน เครื่องกระป๋องที่กักตุนเอาไว้ กลิ้งหลุน ๆ ตามน้ำไปหมด เหลือแต่เป้กับผ้ารองนอน ต้องวิ่งไปรวมกันอยู่ตามโคนต้นไม้ใหญ่ เอาผ้าปูนอนคลุมหัว ตกลงทหารทั้งหมดต่างก็วิ่งหนีฝนที่กระหน่ำลงมา จนกระเจิดกระเจิงไปคนละทิศละทาง พอฝนหายเป่านกหวีดเรียกรวมได้ครบแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะนอนที่ไหนดี เพราะพื้นดินเฉอะแฉะไปหมด ต้องนั่งสัปหงกจนถึงเช้า เลยยิงปืนไม่เข้าเป้าไปตาม ๆ กัน

กลับจากการฝึกยิงปืนครั้งนั้นแล้ว ผมกับเพื่อนชาวพระโขนงก็คบหาสนิทสนมกันมากขึ้น เวลากินข้าวซึ่งในสมัยนั้นหมวดสูทกรรมหุงข้าวให้อย่างเดียว กับข้าวต้องซื้อจากแม่ค้าที่ทำมาขาย ชาวพระโขนงที่เป็นอิสลาม มักจะไม่ค่อยซื้อกับข้าว แต่จะกินกับน้ำพริก ซึ่งอัดใส่ขวดมาจากบ้านเป็นประจำ แต่เพื่อนของผมคนนี้ไม่ได้เป็นอิสลาม จึงซื้อกับข้าวคนละอย่างมากินรวมกันได้สบาย

เพื่อนอีกคนหนึ่งเป็นชาวอำเภอสัมพันธวงศ์ มีเชื้อสายจีน เขาอ่านหนังสือไทย ไม่ออกเลย ได้ความว่าเมื่อเด็ก ๆ เรียนโรงเรียนจีน แล้วก็ไม่สนใจภาษาไทย พอโตขึ้นก็ลืมหมด ผมต้องเป็นครูสอนให้เขาหัดอ่านหนังสือไทยในเวลาว่าง จนพอจะอ่านหนังสือพิมพ์ได้บ้าง ก็พอดีผมแยกไปเข้านักเรียนนายสิบ แล้วไม่เจอกันอีกเลย

ส่วนอีกคนหนึ่งนามสกุลใหญ่มาก ญาติสกุลเดียวกับเขาหลายคน ได้ร่วมกันก่อตั้งสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่องเจ็ด เขาเป็นคนมีเงินมาก ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ซึ่งตรงกันข้ามกับผม ซึ่งกินแต่เบี้ยเลี้ยงเงินเดือนที่ได้รับจ่าย อย่างกระเบียดกระเสียนเต็มที จนเมื่อเขาและผมได้รับการคัดเลือก ให้เป็นครูฝึกทหารใหม่รุ่นถัดไป จึงได้สนิทสนมกันมากขึ้น เมื่อเวลาพักการฝึกประจำชั่วโมง ผมไม่มีเงินก็นั่งคุยอยู่กับทหารใหม่ในแถว กินแต่น้ำแช่น้ำแข็งที่เขาใส่ถังมาเลี้ยงทหาร เพื่อนคนนี้ก็เข้าไปนั่งในเพิงขายกาแฟ ใกล้กับสนามฝึกในวังสวนสุนันทา เขาก็มักชวนผมไปกินกาแฟกับเขาเสมอ จนผมกระดาก แต่ก็ยอมให้เขาออกค่าโอเลี้ยงหลายครั้ง

ต่อมาเขาก็สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบเหล่าเดียวกับผมรุ่นถัดไป ผมจึงกลับเป็น ครูฝึกเขาอีก ช่วงหลังของการรับราชการนั้น เขาอยู่ทางกองบัญชาการทหารสูงสุด ได้พบกันไม่กี่ครั้งก็เห็นกินเหล้ายังกับน้ำประปา แต่ถึงขณะนั้นเขาก็เกษียณอายุราชการในยศ พันเอก

หลังจากการฝึกยิงปืนแล้ว ก็เป็นการฝึกวิธีรบ เราฝึกกันในสนามหญ้าสูงท่วมหัว ใกล้ชิดติดกับกองร้อยของเราเอง พื้นที่นั้นก็คือหอประชุมกองทัพบกในปัจจุบัน ฝึกการแปรขบวน การหมอบคลานเข้ายึดพื้นที่จนหญ้าราบลงเกือบหมด ครั้งสุดท้ายของผม ก็คือการวิ่งเข้ายึดที่หมาย ต้องติดดาบปลายปืนเล็กยาวรุ่น ๖๖ หนักหลายกิโล วิ่งเข้าหาข้าศึกในระยะ ๑๐๐ เมตร ทีละหมู่ ๑๒ คน ผมเฉียงอาวุธวิ่งไปได้ไม่เท่าไร ก็ล้มตัวลงนอนกลิ้งตามแบบฝึก แต่ลุกไม่ขึ้น เพราะปวดไข่จนน้ำตาแทบเล็ด ทีแรกครูฝึกนึกว่าผมทำมารยา จึงเอาเท้าสะกิดให้ผมลุกขึ้นวิ่ง ต่อไป แต่ผมถึงกับทิ้งปืนนอนกุมไข่ดิ้นพราด ๆ จึงถูกพาไปหาหมอ ผมนอนอยู่ที่เสนารักษ์ตั้งหลายชั่วโมง แต่ทำอย่างไรก็ไม่หายปวด จนต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ได้ความว่าผมเป็นโรคไส้เลื่อนมาแต่กำเนิด เป็นความพิการอย่างหนึ่ง คือระหว่างช่องท้องกับถุงอัณฑะ โดยปกติจะมีช่องว่างและมีพังผืดบาง ๆ ที่มีรูเล็ก ๆ กั้นอยู่ แต่ของผมรูมันค่อนข้างกว้าง เมื่อโตขึ้นลำไส้เล็กก็สามารถเลื่อน ผ่านรูนั้นลงไปในถุงอัณฑะได้ รูนั้นก็กว้างขึ้นทุกที จนเมื่อเดินหรือยืนนาน ๆ ลำไส้จะลงมากองเป็นก้อนโต ถ้าเอามือบีบดันก็กลับคืนที่เดิมได้ แต่ไม่นานก็ลงมาอีก นอกจากเวลานอนลำไส้กลับไปอยู่ในที่ทางของมันแล้ว เราก็สบายเหมือนไม่เป็นอะไร

แต่คราวนี้ฝึกหนักเป็นเวลานาน มันก็ลงมามากเป็นก้อนใหญ่ แล้วกลับคืนที่ไม่ได้ ช่องว่างที่ผนังเป็นเหมือนยางยืดก็บีบรัดเอาไว้ จึงทำให้ปวดมาก และมากขึ้นจนถึงกับอาเจียน ผู้หมวดจึงสั่งให้ขอรถเอาไปส่งโรงพยาบาลของทหารบกทันที

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในยุคนั้นเพิ่งจะเริ่มขยายกิจการให้ทันสมัย นายแพทย์สั่งให้เอาผมเข้าห้องผ่าตัดฉุกเฉิน เพราะถ้าปล่อยไว้นาน โลหิตลงไปเลี้ยงลำไส้ที่ถูกรัดไว้ไม่ได้ก็จะเน่า และมีหวังตายได้ ทั้ง ๆ ที่โรคนี้เป็นเรื่องเล็ก ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะผ่าอะไรและตัดอะไร แต่ก็ปลงแล้วว่าขอให้หายปวดเถิดจะตัดทิ้งเสียทั้งพวงก็ยอม

แต่ปรากฏว่าผ่าไปนิดเดียวไม่ถึงคืบ โดยไม่ได้วางยาสลบ นายแพทย์ซึ่งจำได้ว่าเป็นพันตรี ให้ผมนอนตะแคงกอดหมอนไว้ที่หน้าอก แล้วงอหัวเข่ามาอัดไว้ ทำให้หลังงอเป็นกุ้ง แล้วก็ฉีดยาเข้าไขสันหลัง ระหว่างที่แทงเข็มเข้าไป และควานหาจุดที่เหมาะสม มันทั้งเจ็บทั้งเสียวจนมืออ่อนตีนอ่อนไปหมด จากนั้นก็ชาตั้งแต่สะดือลงไปจนถึงปลายนิ้วเท้า หมอถามว่าชาหรือยัง ผมก็บอกไปตามความรู้สึก จนชาเรียบร้อยแล้ว จึงเอาผ้ามาปิดตาผมไว้ มือทั้งสองข้างถูกมัดไว้กับเตียงผ่าตัด และดูเหมือนจะมีการให้น้ำเกลือด้วย

ผมทราบทีหลังว่าหมอผ่าตรงโคนขาขวาเหนือลูกอัณฑะ เปิดออก ดึงลำไส้ขึ้นมาให้อยู่ที่เดิม แล้วเย็บช่องพังผืดนั้นให้ปิดสนิท แล้วจึงเย็บแผลภายนอก โดยที่ผมรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา หมอพยายามชวนผมคุยโดยซักถามประวัติส่วนตัว ผมก็ตอบไปเรื่อย พอถึงตอนสำคัญท่านถามว่าเจ็บไหม ผมก็บอกตามตรงว่าไม่รู้สึกเจ็บ แต่เสียวหน่อย ๆ บางครั้งหมอเอาเครื่องมือวาง เลยสะดือผมขึ้นมาก็รู้สึกว่าเป็นโลหะเย็น ๆ

ใช้เวลาผ่าตัดประมาณหนึ่งชั่วโมงก็เสร็จ พยาบาลเข็นจากห้องผ่าตัดไปขึ้นเตียงนอนของผมที่หมวดอะไรก็ไม่ทราบ สมัยนั้นที่พักของคนไข้เป็นเรือนไม้ยาว ๆ เรียงรายไปตามแนวรั้วของโรงพยาบาลด้านถนนราชวิถีแถว ๆ ที่เป็นธนาคารทหารไทยเดี๋ยวนี้ มีด้วยกันหลายโรง เรียกเป็นหมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ ตามลำดับ

ถึงเตียงนอนใหม่ ๆ ยายังไม่หายชาก็รู้สึกสบายดี ผงกหัวดูปลายเท้าเห็นมันเกยกันอยู่ไม่เรียบร้อย จะเอาลงพยายามเท่าไรก็ไม่สำเร็จเพราะมันไม่รับคำสั่ง แต่พอยาชาหมดฤทธิ์ มันเจ็บปวดที่แผลอย่าบอกใครเชียว เหมือนใครเอามีดโกนมาผ่า แล้วทิ้งคาไว้อย่างนั้น

สมัยนี้เมื่อผ่าตัดที่ใดหมอก็เอาผ้าก๊อสโปะแผลไว้ แล้วปิดด้วยเทปเหนียวไม่ให้อากาศเข้า กินยาตามเวลา ๗ วันจึงจะเปิดดูแผล สมัยก่อนไม่มียากินดี ๆ ต้องเปิดผ้าก๊อสทำความสะอาดแผลทุกเช้า และฉีดยาปฏิชีวนะเข้ากล้ามทุก ๖ ชั่วโมงจนแขนซ้ายขวาระบม ต้องเปลี่ยนเป็นฉีดที่สะโพกซ้ายขวา แล้วก็ย้ายกลับมาที่แขนอีก ๗ วันโดนเข้าไป ๒๘ เข็ม พลิกข้างไหนก็ไม่ได้เจ็บก้นเจ็บแขนไปหมด

พอตัดไหมที่เย็บภายนอกแล้วหมอก็ให้กลับกองร้อย ให้นายสิบเสนารักษ์ทำความสะอาดแผลทุกเช้า เกิดแผลไม่หายเป็นหนองตรงกลาง เพราะมีไหมที่เย็บแผลข้างในโผล่ยื่นออกมานิดหนึ่ง ต้องเอากรรไกรขุดลงไปตัดให้ต่ำกว่ารอยแผล แล้วรักษาต่ออีกหลายวันกว่าแผลจะปิดสนิท และแผลเป็นเลยกว้างกว่าธรรมดา แต่ดีที่ไม่มีใครเห็น

เมื่อหายจากการผ่าตัดในครั้งนั้นแล้ว ผมก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูทหารใหม่ผลัดต่อไป พอดีทางราชการรับสมัครทหารเกณฑ์ปีที่ ๒ เข้าเป็นนักเรียนนายสิบ ผมจึงขออนุญาตผู้หมวด ขอไปสมัครเรียน ท่านก็เซ็นค้ำประกันให้ แล้วสั่งว่าให้เลือกเหล่าทหารราบ พอผมไปถึงที่รับสมัคร เขากลับมีให้เลือกเพียง ๓ เหล่าเท่านั้น คือ ทหารปืนใหญ่ ทหารสื่อสาร และทหาร เสนารักษ์

ผมเห็นว่าผมไม่ถูกกับเข็มฉีดยามาแต่ไหนแต่ไร และไม่ชอบพยาบาลคนเจ็บป่วยจึงไม่เลือกเสนารักษ์ และผมเพิ่งหายจากการผ่าตัด ปืนใหญ่นั้นคงหนักน่าดู ขืนไปแบกหามหรือลากเข็นมันเข้า เกิดแผลปริออกมาก็จะยุ่งกันอีก จึงเลือกทหารสื่อสาร ซึ่งอาจจะมีความรู้วิชาวิทยุหรือโทรศัพท์ออกมาหากินนอกเวลาได้บ้าง โดยไม่ได้กลับไปบอกผู้หมวดที่กองร้อยเลย แต่ก็ไม่เคยลืมพระคุณท่าน เพียงแต่นึกชื่อท่านไม่ออกเท่านั้น

หลังจากสำเร็จหลักสูตรนักเรียนนายสิบทหารสื่อสารแล้ว ผมจึงได้ทำมาหากิน เป็นทหารสื่อสาร ตั้งแต่เป็นนายสิบ จนได้เลื่อนเป็นนายทหาร มาสามสิบกว่าปี โดยไม่มีวิชาความรู้ในด้านวิทยุหรือโทรศัพท์เลยแม้แต่น้อย เพราะต้องทำงานเกี่ยวกับธุรการ หรือสารบรรณ ที่ใช้แต่ดินสอ ปากกา เครื่องพิมพ์ดีด จนถึงคอมพิวเตอร์เท่านั้น

แต่ยังโชคดีที่มีวิชาถ่ายภาพติดตัวมา ตั้งแต่ก่อนเป็นทหาร จึงถูกส่งตัวไปเป็นพนักงานกล้องโทรทัศน์ ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่องเจ็ดขาวดำ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ ถัดจากที่แต่งตั้ง พันเอก ถาวร ช่วยประสิทธิ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ เพียงปีเดียว ผมทำงานหนักอยู่สิบสองปี โรคไส้เลื่อนก็กลับเป็นอีกข้างหนึ่ง ทนไม่ไหวต้องขอลากลับมาทำงานหลักที่กรมเพียงด้านเดียว

ขณะนั้นสงครามอินโดจีนกำลังเสียเปรียบ คอมมิวนิสต์ตีเมืองไซ่ง่อนกับเมืองพนมเปญแตก และประกาศว่าจะมากินข้าวกลางวันที่สนามหลวง ผมกลัวว่าจะวิ่งไม่ไหว จึงไปผ่าตัดอีกครั้ง ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเจ้าเก่า คราวนี้นอนอยู่ไม่กี่วันก็หายดี แต่เป็นเพราะบารมีของ พระสยามเทวาธิราช และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา จึงไม่มีใครเยี่ยมกรายเข้ามาได้ดังที่ว่านั้นเลย

หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี ก็ได้รับการแต่งตั้งให้กลับไป เป็นรองหัวหน้าฝ่ายกำลังพล สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่องห้า(สี) เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ขณะที่มียศร้อยเอก จึงเป็นผู้บริหารที่มีอาวุโสน้อยที่สุด คราวนี้ทำอยู่อีกสิบหกปี

จนถึง พ.ศ.๒๕๓๕ ผมจึงได้เกษียณอายุราชการ พร้อมกันทั้งสองด้าน ในยศที่สูงสุดเท่าที่พลทหารจะสามารถเป็นได้ และมีบำนาญเหลือเฟือ

ข้อที่สำคัญมากก็คือ ผมไม่ทราบว่าโรคไส้เลื่อน ที่เป็นมาแต่กำเนิดนั้น เขายกเว้นไม่ต้องเกณฑ์เป็นทหาร

ผมจึงได้ดีมาถึงขนาดนี้ ก็เพราะความไม่รู้นี่เอง.

##########

นิตยสารทหารปืนใหญ่
เมษายน ๒๕๔๘
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่